ยานาพรอกเซน (Naproxen)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 เมษายน 2557
- Tweet
- ทั่วไป
- ยานาพรอกเซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยานาพรอกเซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยานาพรอกเซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยานาพรอกเซนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยานาพรอกเซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยานาพรอกเซนอย่างไร?
- ยานาพรอกเซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายานาพรอกเซนอย่างไร?
- ยานาพรอกเซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาแก้ปวด และยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
- มะเร็ง (Cancer)
- โรคกล้ามเนื้อ โรคระบบกล้ามเนื้อ (Muscle disease)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- ปวดท้อง (Abdominal pain)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
ทั่วไป
นาพรอกเซน (Naproxen) จัดเป็นยากลุ่ม เอ็นเสด (NSAIDs: Non steroidal anti inflammatory drugs) ถูกนำมาใช้รักษาอาการปวด เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดประจำเดือน ปวดจากฟกช้ำ ลดไข้ เป็นต้น ถูกนำมาจัดจำหน่ายในปี ค.ศ. 1976 (พ.ศ.2519) โดยบริษัทยาซินเท็ก ประเทศแม็กซิโก จากนั้นจึงมีการจัดจำหน่ายในหลายประเทศ นอกจากนำไปใช้เป็นยาแก้ปวดแล้ว นาพรอกเซนยังถูกนำไปวิจัยและทดลองเป็นยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่อีกด้วย
หลังรับประทาน นาพรอกเซน จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจากทางเดินอาหารแล้วรวมตัวกับโปรตีนในกระแสเลือด และถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ การกระจายตัวยาจะหมุน เวียนอยู่ในร่างกายได้นานถึง 12 – 24 ชั่วโมง จากนั้นจะถูกขับออกทางปัสสาวะ
ยานาพรอกเซนนี้จัดเป็นยาอันตราย มีผลข้างเคียง และข้อห้ามใช้มากมาย การใช้ยาจึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์ ไม่สมควรซื้อยามารับประทานเอง
ยานาพรอกเซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
นาพรอกเซนมีสรรพคุณใช้รักษาอาการ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดเส้นเอ็น ปวดจาก โรคข้อรูมาตอยด์ ปวดจากเก๊าต์ ปวดไมเกรน ปวดประจำเดือน และลดไข้
ยานาพรอกเซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยานาพรอกเซนมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะไปยับยั้งเอนไซม์ 2 ตัว คือ COX-1 Enzyme และ Cox-2 Enzyme รวมไปถึงยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด ด้วยกลไกดังกล่าวทำให้เกิดฤทธิ์ต้านการอักเสบ และบรรเทาอาการปวดในที่สุด
ยานาพรอกเซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
นาพรอกเซนจัดจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ดขนาด 250 และ 275 มิลลิกรัม
ยานาพรอกเซนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ด้วยยานาพรอกเซนไม่ละลายน้ำ แต่ละลายได้ดีในไขมัน จึงเป็นเหตุผลที่ต้องรับประทานยาหลังอาหาร หรือพร้อมอาหาร เพื่อช่วยให้การดูดซึมยาดีขึ้น
ผู้ใหญ่
- สำหรับอาการปวดข้อรูมาตอยด์ ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ รับประทานครั้งละ 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือ รับประทานครั้งละ 500 – 1,000 มิลลิกรัม วันละครั้ง
- สำหรับรักษาเก๊าต์ รับประทานครั้งแรกขนาด 750 มิลลิกรัม
จากนั้นปรับขนาดรับประทานเป็น 250 มิลลิกรัมทุกๆ 8 ชั่วโมง
- สำหรับปวดไมเกรน รับประทาน 750 มิลลิกรัม เมื่อเริ่มมีอาการ
การรับประทานยาไม่ควรเกิน 1,375 มิลลิกรัมต่อวัน การปรับขนาดและระยะเวลา ในการรับประ ทาน ต้องขึ้นอยู่กับคำสั่งแพทย์เท่านั้น
อนึ่ง การใช้ยานาพรอกเซนในเด็ก ต้องแพทย์เป็นผู้สั่งยาเท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมถึงยานาพรอกเซน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยานาพรอกเซน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
ยานาพรอกเซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
สามารถพบอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง หรือผลไม่พึงประสงค์) ต่างๆของยานาพรอกเซน อาทิเช่น รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร เวลาในการแข็งตัวของเลือดเมื่อมีบาดแผลยาวนานขึ้น ปวดท้อง ตับอ่อนอักเสบ แผลในลำไส้ ผื่นคัน นอนไม่หลับ การมองเห็นไม่ชัด (ตาพร่า) ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ บวมปลายมือปลายเท้า Stevens-Johnson Syndrome ตับอักเสบ หอบหรือมีอาการหลอดลมหดเกร็ง ความดันโลหิตสูง
มีข้อควรระวังการใช้ยานาพรอกเซนอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยานาพรอกเซน ได้แก่
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่ม เอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบรูเฟน, Diclofenac
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลว
- ห้ามใช้กับหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจเกิดการแท้งบุตร หรือทารกพิการแต่กำเนิดได้
- ระวังการใช้ยากับผู้ที่ป่วยด้วยโรคไต ผู้สูงอายุ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรเพราะยาผ่านจากน้ำนมสู่ทารกส่งผลข้างเคียงต่อทารกได้
ยานาพรอกเซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปฏิกิริยาระหว่างยาของยานาพรอกเซนกับยาอื่นๆ คือ
- การใช้ยาพรอกเซนร่วมกับยารักษาโรคกระเพาะ สามารถทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของนาพรอกเซนลดต่ำลง ยารักษาโรคกระเพาะดังกล่าว เช่น Esomeprazole
- การใช้ยานาพรอกเซนร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด สามารถทำให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย หรืออาจพบว่ามีเลือดปนมากับปัสสาวะ (ปัสสาวะเป็นเลือด) และ/หรือ อุจจาระ(อุจจาระเป็นเลือด) นอกจากนี้อาจพบอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หรือมีอาการอ่อนเพลีย ยาต้านการแข็งตัวของเลือดดังกล่าว เช่น Warfarin
- การใช้ยานาพรอกเซนร่วมกับยารักษาโรคมะเร็งบางตัว สามารถทำให้ระดับยาต้านมะเร็งในร่างกายเพิ่มมากยิ่งขึ้น และก่อให้เกิดผลข้างเคียงของยาต้านมะเร็งเพิ่มตามมาเช่นเดียวกัน อา การข้างเคียงที่พบเห็น เช่น ปากเป็นแผล เบื่ออาหาร ปวดตามข้อต่อของกระดูก ตัวเหลือง ปัสสาวะมีสีคล้ำ (ปัสสาวะเป็นเลือด) ไอแห้งๆ วิงเวียน เป็นลม อาจพบอาการชัก หรือมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดตามร่างกาย เจ็บคอ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งดังกล่าว เช่น Methotrexate
- การใช้ยานาพรอกเซนร่วมกับยาขับปัสสาวะบางตัว ต้องเฝ้าระวังเรื่องความดันโลหิต และตรวจสอบการทำงานของไตว่า ผิดปกติหรือไม่ อาจได้รับคำแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ ยาขับปัสสาวะดังกล่าว เช่น Furosemide
ควรเก็บรักษายานาพรอกเซนอย่างไร?
สามารถเก็บยานาพรอกเซน ในอุณหภูมิห้อง บรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็ก
ยานาพรอกเซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ในประเทศไทย ยานาพรอกเซนมีชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อทางการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
Annoxen-S (แอนโนเซน) | Siam Bheasach |
Buproxen (บูพรอกเซน) | Burapha |
Naproflex (นาโพรเฟลกซ์) | Pharmasant Lab |
Naprosian (นาโพรเซียน) | Asian Pharm |
Naprosyn LE (นาโพรซิน แอลอี) | Roche |
Naproxen 250 Community Pharm (นาพรอกเซน 250 คอมมูนิตี้ ฟาร์ม) | Community Pharm PCL |
Naproxen GPO (นาพรอกเซน จีพีโอ) | GPO |
Naproxen Utopian (นาพรอกเซน ยูโทเปียน) | Utopian |
Nasin (นาซิน) | Medicpharma |
Naxene (แนกเซน) | Medicine Products |
Polyxen (โพลีเซน) | Pharmasant Lab |
Prodaril-N (โพรดาริล-เอ็น) | Medicine Products |
Proxen (พรอกเซน) | Pharmaland |
Sonap (โซแนพ) | Sriprasit Pharma |
Soproxen (โซพรอกเซน) | Berlin Pharm |
Synflex (ซินเฟล็กซ์) | Roche |
Synogin (ไซโนจิน) | Chinta |
Vinsen (วินเซน) | Chew Brothers |
บรรณานุกรม
- http://en.wikipedia.org/wiki/Naproxen [2014,March27].
- https://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=naproxen [2014,March27].
- https://www.mims.com/THAILAND/drug/info/Naprosyn%20LE/ [2014,March17].
- http://www.drugs.com/drug_interactions.php [2014,March27].