ยาทากันยุง (Mosquito Repellents)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 6 เมษายน 2561
- Tweet
- ไข้ซิกา (Zika fever) โรคติดเชื้อซิกาไวรัส (Zika virus infection)
- ไข้สมองอักเสบ (Infectious encephalitis)
- ไข้จับสั่น (Malaria)
- ไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever)
- โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya)
- ตุ่มแพ้แมลงกัด (Insect bite reaction)
- ตุ่มยุงกัด (Mosquito bites)
- ไข้เหลือง (Yellow fever)
- โรคเท้าช้าง (Lymphatic filariasis)
- ยาทากันยุงหมายความว่าอะไร?
- ยาทากันยุงมีกี่ชนิด?
- ยาทากันยุงอยู่ในรูปแบบใดบ้าง?
- มีข้อบ่งใช้ยาทากันยุงอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยาทากันยุงอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาทากันยุงอย่างไร?
- การใช้ยาทากันยุงในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาทากันยุงในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาทากันยุงในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาทากันยุงมีอะไรบ้าง?
- สรุป
- บรรณานุกรม
ยาทากันยุงหมายความว่าอะไร?
ยาทากันยุง(Mosquito Repellents) ในที่นี้รวมถึงที่อยู่ในรูปแบบ ของเหลว โลชั่น ครีม เจล สเปรย์ ลูกกลิ้ง แป้ง ผ้าเปียก ทิชชูเปียก หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันไม่ให้ยุงกัด แต่ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่ายุง จึงมีความปลอดภัย สามารถนำมาทาบริเวณผิวหนัง หรือเสื้อผ้าได้
ยาทากันยุงมีกี่ชนิด?
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของอเมริกา (CDC: Centers for Disease Control and Prevention) แนะนำให้ประชาชนใช้ยาทากันยุงที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา(Environmental Protection Agency ย่อว่า EPA) เพราะผ่านการทดสอบด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยหากใช้ตามคำแนะนำบนฉลากยา/ฉลากผลิตภัณฑ์ ซึ่งยาทากันยุงดังกล่าวจะประกอบด้วยสารสำคัญ (Active ingredient) ชนิดต่างๆดังต่อไปนี้
1. ดีอีอีที (DEET) มีชื่อทางเคมีคือ N,N-Diethyl-meta-toluamide หรือ Diethyltoluamide
2. ไออาร์ 3535 (IR3535 or Insect Repellent 3535) มีชื่อทางเคมีคือ Ethyl butylacetylaminopropionate
3. น้ำมันจากต้นยูคาลิปตัส (Oil of lemon eucalyptus ย่อว่า OLE)
4. ไพคาริดิน หรือไอคาริดิน (Picaridin หรือ Icaridin)
อนึ่ง ในประเทศไทยยาทากันยุงที่ประกอบด้วยสารสำคัญดังกล่าว จัดเป็นวัตถุอันตรายในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) บนฉลากของผลิตภัณฑ์จะต้องมีเลขทะเบียน และระยะเวลาในการป้องกันยุงระบุไว้อย่างชัดเจน
ยาทากันยุงอยู่ในรูปแบบใดบ้าง?
รูปแบบของยาทากันยุง ได้แก่
- สเปรย์ (Spray)
- โลชั่น (Lotion)
- ของเหลว (Liquid)
- ลูกกลิ้ง (Roll on)
- แป้ง (Powder)
- ผ้าเปียก/ทิชชูเปียก (Wet tissue)
มีข้อบ่งใช้ยาทากันยุงอย่างไร?
ข้อบ่งใช้ยาทากันยุง ได้แก่
- ใช้ทาผิวหนังหรือเสื้อผ้าเพื่อป้องกันยุงกัด และเพื่อป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อที่มียุงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย โรคเท้าช้าง ชิคุนกุนยา(ไข้ปวดข้อยุงลาย) ไข้ซิกา ไข้เหลือง และไข้สมองอักเสบ เป็นต้น
มีข้อห้ามใช้ยาทากันยุงอย่างไร?
ข้อห้ามใช้ยาทากันยุง เช่น
1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยา ยาทากันยุงชนิดนั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง (Hypersensitivity) ต่อยาทากันยุงนั้นๆ
2. ห้ามใช้ยาทากันยุงบริเวณผิวหนังในร่มผ้า(ส่วนของร่างกาย ในผ้านุ่งที่ไม่ควรเปิดเผย เช่น อวัยวะเพศ) แต่ควรใช้สเปรย์ฉีดพ่นบริเวณเสื้อผ้า รองเท้า หมวก หรือมุ้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันยุง
3. ห้ามใช้ยาทากันยุงบริเวณผิวหนังที่ มีบาดแผล มีอาการระคายเคือง หรือผิวไหม้จากแสงแดด
4. ทากใช้ยาทากันยุงรูปแบบสเปรย์ ห้ามใช้ฉีดพ่นบริเวณใบหน้าโดยตรง ควรฉีดลงบนฝ่ามือแล้วค่อยๆ ทาให้ทั่วใบหน้ารวมถึงรอบใบหู ยกเว้นบริเวณรอบตาและริมฝีปาก
5. ยาทากันยุงเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ภายนอกเท่านั้น ห้ามรับประทาน
6. ควรใช้ยาทากันยุงเมื่อจำเป็นเท่านั้น ห้ามใช้ติดต่อกันเป็นประจำ หรือใช้ในปริมาณมาก
มีข้อควรระวังการใช้ยาทากันยุงอย่างไร?
ข้อควรระวังการใช้ยาทากันยุง เช่น
1. ควรอ่านคำแนะนำบนฉลาก/ฉลากยา/ฉลากผลิตภัณฑ์ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ใช้ยากันยุงได้อย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา เพราะยาทากันยุงแต่ละชนิดมีปริมาณที่ต้องใช้และมีช่วงเวลาที่ออกฤทธิ์แตกต่างกัน
2. ก่อนใช้ยาฯ ควรลองทายากันยุงบริเวณข้อพับแขนดูก่อน หากไม่เกิดอาการแพ้ หรือระคายเคือง จึงใช้กับผิวหนังบริเวณอื่นได้
3. หลังจากการใช้ยาทากันยุง ควรล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหาร
4. หากยาทากันยุงเข้าตา ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก จนกว่าอาการระคายเคืองตาจะทุเลา ถ้าอาการไม่ทุเลา ควรรีบไปโรงพยาบาล
5. หากต้องใช้ยาทากันยุงร่วมกับครีมกันแดด ให้ทาครีมกันแดดก่อน และอาจต้องทาครีมกันแดดซ้ำบ่อยขึ้น เพราะยาทากันยุงอาจทำให้ประสิทธิภาพการกันแดดลดลง
6. ประสิทธิภาพของยาทากันยุง อาจลดลงเมื่อผู้ใช้มีเหงื่อออกมาก อยู่ในบริเวณที่มีลมแรง หรือถูกชะล้างด้วยน้ำ ดังนั้นอาจทาซ้ำอีกครั้งหากรู้สึกว่าเริ่มมียุงกัด
7. ไม่แนะนำให้ใช้ยาทากันยุงชนิดอื่นๆนอกเหนือจากที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ “ชนิดของยาฯ” เช่น สารสกัดจากสมุนไพร เพราะยังมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยไม่เพียงพอ
8. เมื่อกลับสู่เข้าพื้นที่ปลอดยุง ควรล้างผิวหนังบริเวณที่ทายากันยุงด้วยสบู่ และใช้มือถูให้สะอาด
9. เก็บยาทากันยุงให้ห่างจาก เด็ก สัตว์เลี้ยง และอาหาร
10. สเปรย์กันยุงชนิดที่ใช้แรงดันสูง จัดเป็นวัตถุไวไฟ ควรเก็บให้ห่างจากความร้อน ประกายไฟ เปลวไฟ เมื่อใช้ ควรอยู่ให้ห่างจากไฟ เปลวไฟ จนกว่าผลิตภัณฑ์จะแห้ง
การใช้ยาทากันยุงในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาทากันยุงในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้
- หญิงมีครรภ์สามารถใช้ยาทาป้องกันยุงได้โดยไม่มีอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์ ในบางพื้นที่ของโลก เช่น แถบประเทศบราซิลและพื้นที่รอบข้าง เคยมีการระบาดของเชื้อไวรัสซิกา หากหญิงมีครรภ์ถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด อาจทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น ศีรษะเล็ก และมีความผิดปกติเกี่ยวกับตา
การใช้ยาในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาทากันยุงในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ คือ
- ผู้สูงอายุยาสามารถใช้ยาทาป้องกันยุงได้อย่างปลอดภัย ไม่มีอันตรายใดๆเช่นเดียวกับวัยอื่น
การใช้ยาทากันยุงในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาทากันยุงในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น
1. ยาทากันยุงสามารถใช้ได้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป หากอายุต่ำกว่า 2 เดือนควรป้องกันโดยการกางมุ้ง นิกจากนั้น ยกเว้นยาทากันยุงที่มีส่วนประกอบของน้ำมันจากต้นยูคาลิปตัสที่ไม่ควรใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี
2. ไม่ควรให้เด็กใช้ยาทากันยุงด้วยตัวเอง หากต้องการใช้ยาทากันยุงกับเด็ก ให้เท/ฉีดพ่นยากันยุงลงบนมือของผู้ใหญ่ก่อนแล้วค่อยทาให้เด็ก
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาทากันยุงมีอะไรบ้าง?
โดยทั่วไปพบว่า ยาทากันยุงมีความปลอดภัย เมื่อใช้ในปริมาณที่ระบุไว้ตามฉลากฯ อาการไม่พึงประสงค์จากยานี้พบได้ค่อนข้างน้อย เช่น ระคายเคืองบริเวณผิวหนังที่สัมผัสยา อย่างไรก็ตาม หากพบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์ ควรหยุดใช้ทันที แล้วรีบล้างออกกด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก และหากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที พร้อมภาชนะบรรจุหรือฉลากของผลิตภัณฑ์
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาทากันยุง) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- พรชนก มนแก้ว, สัมมน โฉมฉาย และชยวัฒน์ ผาติหัตถกร. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และการป้องกันยุงกัดในหญิง http://www.si.mahidol.ac.th/th/division/shtc/Insect%20Repellant%20Zika%2027092016.pdf [2018, March17]
- อุษาวดี ถาวระ. สารทาป้องกันยุง (repellent) http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_nih/a_nih_1_001c.asp?info_id=919 [2018, March17]
- Centers for Disease Control and Prevention. Insect Repellents Help Prevent Malaria and Other Diseases Spread by Mosquitoes https://www.cdc.gov/malaria/resources/pdf/fsp/repellents_2015.pdf [2018, March17]
- Mutebi, J.P., Hawley, W.A., and Brogdon, W.G. Protection against Mosquitoes, Ticks, & Other Arthropods http://wwwnc.cdc.gov/travel/yellowbook/2018/the-pre-travel-consultation/protection-against-mosquitoes-ticks-other-arthropods [2018, March17]
- United States Environmental Protection Agency. Using Insect Repellents Safely and Effectively https://www.epa.gov/insect-repellents/using-insect-repellents-safely-and-effectively [2018, March17]