ยาทรามาดอล (Tramadol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 พฤษภาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาทรามาดอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาทรามาดอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาทรามาดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาทรามาดอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาทรามาดอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาทรามาดอลอย่างไร?
- ยาทรามาดอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาทรามาดอลอย่างไร?
- ยาทรามาดอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาแก้ปวด และยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
- ยาเสพติด (Narcotic drug)
- ยาต้านเศร้า(Antidepressants)
- ยาคลายกังวล (Anxiolytic)
- ความดันในกะโหลกศีรษะสูง (Increased intracranial pressure)
- โรคระบบทางเดินหายใจ (Respiratory tract disease)
บทนำ
ยาทรามาดอล (Tramadol) เป็นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งอาการปวด ซึ่งมีกลไกการทำงานคล้ายกับอนุพันธุ์ของฝิ่น ยานี้มีจำหน่ายในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทยจะคุ้นเคยกับยาชื่อการค้าว่า ‘ทรามาล (Tramal)’ เราสามารถพบรูปแบบการใช้ยานี้ทั้งในลักษณะยาเดี่ยวและยาผสม
หลังการรับประทาน ยาทรามาดอลจะถูกดูดซึมและเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1 ชั่วโมง จากนั้นจะถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ และต้องใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาในกระ แสเลือด 50% ออกจากร่างกายโดยผ่านมาทางปัสสาวะ
กฎหมายยาของบ้านเรากำหนดให้ ยาทรามาดอล เป็น ‘ยาอันตราย ‘ การใช้ยานี้ต้องระมัดระ วัง และควรอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
ยาทรามาดอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาทรามาดอล มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ระงับและบรรเทาอาการปวดระดับกลางไปจนกระทั่งระดับรุนแรง ทั้งชนิดอาการปวดแบบเฉียบพลัน และชนิดปวดแบบเรื้อรัง
ยาทรามาดอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ทรามาดอล มีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมอง โดยจะยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทในสมอง 2 ตัว คือ Serotonin และ Norepinephrine อีกทั้งยังเพิ่มการหลั่งสาร เซโรโทนิน (Serotonin)ภายในสมองอีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้ ทรามาดอล ยังเข้าไปจับกับตัวรับ (Receptor) ในสมองที่เรียกว่า Mu-Opiate Receptors และด้วยกลไกที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้เกิดการระงับอาการปวดได้
ยาทรามาดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาทรามาดอล เช่น
ก. ชนิดยาเดี่ยว: เช่น
- ยาแคปซูลขนาดความแรง 50 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ดขนาดความแรง 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีดขนาดความแรง 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ข. ชนิดยาผสม: เช่น
- ยาเม็ดขนาดความแรง 37.5 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาทรามาดอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานของยาทรามาดอล เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 14 ปีขึ้นไป: รับประทาน 50 - 200 มิลลิกรัม/วัน
- ในเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี: ขนาดรับประทานอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
*อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ โดยดื่มพร้อมน้ำสะอาด และห้ามเคี้ยวยา
- และประการสำคัญ ขนาดและระยะเวลาในการรับประทานยานี้ ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาทรามาดอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทรามาดอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาทรามาดอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาทรามาดอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อาจพบผลข้างเคียง (ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา/ อาการข้างเคียง) หลังรับประทานยาทรามาดอล อาทิเช่น
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ปากคอแห้ง
- วิงเวียนศีรษะ
- ปวดท้อง
- ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
- ท้องผูก หรือ ท้องเสีย
- ง่วงนอน
- ปวดศีรษะ /ปวดหัว
- วิตกกังวล
- หงุดหงิด
- อ่อนเพลีย
- ผื่นคัน
- ปัสสาวะบ่อย
- เหงื่อออกมาก
- น้ำหนักลด
- ลมพิษ
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ความดันโลหิตสูง
- การมองภาพได้ไม่ชัดเจน
- ตับอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้ยาทรามาดอลอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาทรามาดอล เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือ แพ้ยาแก้ปวดกลุ่มยาเสพติด เช่น มอร์ฟีน
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยพิษสุราเรื้อรัง/ โรคพิษสุรา
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะสลบ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มี โรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยที่มีภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคลมชัก
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- การใช้ยานี้เป็นเวลาติดต่อกันนานๆอาจก่อให้เกิดการติดยา
- หลังใช้ยานี้อาจทำให้การควบคุมร่างกายด้อยประสิทธิภาพลงไป ควรหลีกเลี่ยงการทำ งานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร และ/หรือ การขับรถ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาทรามาดอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาทรามาดอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาทรามาดอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาทรามาดอลร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สามารถเพิ่มการกดประสาทส่วน กลางทำให้มีอาการ มึนงง อาการคล้ายคนเมา วิงเวียนศีรษะ มากยิ่งขึ้น จึงห้ามใช้ร่วมกัน
- การใช้ยาทรามาดอล ร่วมกับ ยาแก้ปวดชนิดที่เป็นยาเสพติด สามารถเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ใช้ยามีอาการชัก อึดอัดและหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก มีอาการตัวสั่น การพูดจาติด ขัด เดินเซ เป็นต้น หากมีความประสงค์จะใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ยาแก้ปวดชนิดเสพติดดังกล่าว เช่นยา Codeine และ Fentanyl
- การใช้ยาทรามาดอลร่วมกับยาต้านเศร้า สามารถกระตุ้นให้เกิดการชักได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้ที่ติดสุรา ผู้ที่ป่วยเป็นเนื้องอกสมอง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ยาต้านเศร้าดังกล่าว เช่นยา Amitriptyline
- การใช้ยาทรามาดอลร่วมกับยาคลายความวิตกกังวล/ยาคลายเครียด บางตัว สามารถเกิดผลข้างเคียงตามมา อาทิเช่น วิงเวียนศีรษะ ง่วงนอน การควบคุมสติสัมปชัญญะแย่ลง ยาคลายความวิตกกังกลดังกล่าว เช่นยา Diazepam, Lorazepam
ควรเก็บรักษายาทรามาดอลอย่างไร?
ควรเก็บยาทรามาดอลดังนี้ เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิช่วง 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- บรรจุยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด และเก็บให้พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
- และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาทรามาดอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาทรามาดอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Amanda (อแมนดา) | Unison |
Anadol (อนาดอล) | T.O. Chemicals |
Analab (อนาแลบ) | Biolab |
Duocetz (ดูโอเซทซ์) | Mega Lifesciences |
Mabron (มาบรอน) | Medochemie |
Madol (มาดอล) | Masa Lab |
Madola (มาโดลา) | Pharmaland |
Matradol (มาทราดอล) | Charoon Bhesaj |
Modsenal (มอดเซนอล) | T. Man Pharma |
Pacmadol (แพกมาดอล) | Inpac Pharma |
Paindol (เพนดอล) | Polipharm |
Pharmadol (ฟาร์มาดอล) | Pharmaland |
Ramadol (รามาดอล) | V S Pharma |
Sefmal (เซฟมอล) | Unison |
Tamolan (ทาโมลาน) | Olan-Kemed |
Tracine (ทราซิน) | Medicine Products |
Tradolgesic (ทราดอลเจสิก) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Tramada (ทรามาดา) | Charoen Bhaesaj Lab |
Tramadil (ทรามาดิล) | Union Drug |
Tramadol Stada (ทรามาดอล สตาด้า) | Stada |
Tramadol T P (ทรามาดอล ที พี) | T P Drug |
Tramadol Utopian (ทรามาดอล ยูโทเปียน) | Utopian |
Tramadol (ทรามาดอล) | Utopian |
Tramal/Tramal Retard (ทรามอล/ทรามอล รีทาร์ด) | sanofi-aventis |
Tramamed (ทรามาเมด) | Medifive |
Tramax (ทราแม็ก) | Pond’s Chemical |
Tramazac (ทรามาแซ็ก) | Zydus Cadila |
Tramoda (ทราโมดา) | L. B. S. |
Tramomet (ทราโมเมด) | Pharmahof |
Trasic (ทราซิก) | Kopran |
Traumed (ทราอูเมด) | Medicpharma |
Trosic (โทรซิก) | General Drugs House |
Ultracet (อัลตร้าเซต) | Janssen-Cilag |
Vesnon-V 100 (เวสนอน-วี 100) | Vesco Pharma |
Volcidol (โวลซิดอล) | Pharmasant Lab |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Tramadol [2020,May9]
2. https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2ftramadol%3fmtype%3dgeneric [2020,May9]
3. https://www.mims.com/Thailand/drug/AdvancedSearch/ [2020,May9]
4. http://www.drugs.com/drug-interactions/tramadol-index.html?filter=2#L[2020,May9]
5. http://www.drugs.com/cdi/tramadol.html [2020,May9]