ยาต้านไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Antiviral Medications)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาต้านไวรัสตับอักเสบบี

ยาต้านไวรัสตับอักเสบบีหมายความว่าอะไร?

ยาต้านไวรัสตับอักเสบบี(Hepatitis B Antiviral Medications) เป็นยาที่ใช้กระตุ้นภูมิต้านทาน(ภูมิคุ้มกัน หรือ ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)ของร่างกายและต้านเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสนี้ ชะลอการดำเนินของโรค และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)อื่นๆจากโรคไวรัสตับอักเสบบี เช่น ตับแข็ง มะเร็งตับ

ยาต้านไวรัสตับอักเสบบีมีกี่ชนิด?

ยาต้านไวรัสตับอักเสบบีมี 2 ชนิด ดังต่อไปนี้

ก. ยาฉีดอินเตอร์เฟอรอน (Interferon injections) เช่น อินเตอร์เฟอรอน อัลฟ่า (Conventional Interferon alfa), เพกอินเตอร์เฟอรอน อัลฟ่า (Pegylated interferon alfa-2a, Pegylated interferon alfa-2b)

ข. ยาต้านไวรัส (Antiviral medications): ประกอบด้วยยา 2 กลุ่มดังต่อไปนี้ คือ

  • ยาที่เป็นอนุพันธ์ของสารนิวคลีโอไซด์และออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์รีเวิสทรานสคริปเทส (Nucleoside analogue reverse transcriptase inhibitors, NRTIs) เช่นยา เอนติคาเวีย (Entecavir), ลามิวูดีน (Lamivudine), เทลบิวูดีน (Telbivudine)
  • ยาที่เป็นอนุพันธ์ของสารนิวคลีโอไทด์และออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์รีเวิสทรานสคริปเทส (Nucleotide analogue reverse transcriptase inhibitors, NtRTIs) เช่นยา อะเดฟโฟเวีย (Adefovir), ทิโนโฟเวีย (Tenofovir)

ยาต้านไวรัสตับอักเสบบีมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?

ยาต้านไวรัสตับอักเสบบี มีรูปแบบการจำหน่าย ดังนี้

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาน้ำใส (Solution)
  • ยาน้ำใสชนิดปราศจากเชื้อสำหรับฉีด (Solution for injection)
  • ยาผงชนิดปราศจากเชื้อสำหรับฉีด (Powder for injection)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

ยาต้านไวรัสตับอักเสบบีมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ยาต้านไวรัสตับอักเสบบีมีข้อบ่งใช้ดังนี้ เช่น

1. ยาฉีดอินเตอร์เฟอรอน: ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายเพื่อให้สามารถต้านเชื้อไวรัสตับอักเสบบี(เชื้อไวรัสฯ)ได้ดีขึ้น ยากลุ่มนี้ควรใช้ในผู้ป่วยอายุน้อยที่ต้องการหลีกเลี่ยงการรักษาในระยะยาว หรือใช้ในผู้ป่วยเพศหญิงที่วางแผนตั้งครรภ์

2. ยาต้านไวรัส: ช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสฯ จึงช่วยป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายมากขึ้น

ยาต้านไวรัสตับอักเสบบีมีข้อห้ามใช้อย่างไร?

ยาต้านไวรัสตับอักเสบบีมีข้อห้ามใช้ดังนี้ เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยาชนิดนั้นๆ หรือผู้มีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง(Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ

2. ห้ามใช้ยาฉีดอินเตอร์เฟอรอนในผู้ป่วยโรคตับที่เป็นมากแล้ว (Decompensated liver disease), โรคตับอักเสบจากภูมิต่อต้านตนเอง/จากโรคออโตอิมมูน(Autoimmune hepatitis¬), โรคหัวใจที่มีอาการรุนแรง

3. ห้ามใช้ยาฉีดอินเตอร์เฟอรอนร่วมกับยา Telbivudine เพราะอาจทำให้มีอาการปลายประสาทอักเสบอย่างรุนแรง/โรคเส้นประสาท(Peripheral neuropathy)

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบ บีอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบ บี ดังนี้ เช่น

1. ควรใช้ยานี้ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่เพิ่ม ลดหรือหยุดยาเอง เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา หรือทำให้อาการโรคกำเริบ

2. ควรเข้ารับการตรวจติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด เพื่อตรวจเลือดดูการทำงานของตับ (Liver function test) ภาวะแทรกซ้อน และเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่ใช้

3. ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง

4. ควรระวังการใช้ยาฉีดอินเตอร์เฟอรอนในผู้ที่มีการทำงานของตับผิดปกติ มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ โรคสะเก็ดเงิน โรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน โรคต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคโลหิตจาง ภาวะเลือกออกง่ายผิดปกติ มีอาการโรคหวัด หรือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

5. ควรระวังการใช้ยาฉีดอินเตอร์เฟอรอนในผู้ที่เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ตับ ไต เพราะอาจทำให้ร่างกายปฏิเสธอวัยวะใหม่

6. ควรระวังการใช้ยาฉีดอินเตอร์เฟอรอนในผู้ติดเชื้อ HIV ที่กำลังใช้ยาต้านไวรัสตั้งแต่ 3 ตัวขึ้นไป (Highly Active Antiretroviral Therapy, HAART) เพราะอาจทำให้การทำงานของตับแย่ลง หรือเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแลคติกในเลือดสูง (Lactic Acidosis)

7. Telbivudine เป็นยาที่มีอาการไม่พึงประสงค์ คือ ทำให้ปวดกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myopathy) ซึ่งหากมีอาการรุนแรง อาจนำไปสู่การเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไตวาย ดังนั้นควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยาที่ทำให้กล้ามเนื้อลายสลาย เช่น ยาลดไขมันในกลุ่ม Statins

8. ควรระวังการใช้ยาฉีดอินเตอร์เฟอรอนและยาต้านไวรัสตับอักเสบบีในผู้ป่วยโรคไต แพทย์อาจพิจารณาปรับขนาดยาดังกล่าว เพื่อรักษาระดับการทำงานของไต

9. ทั้งยาฉีดอินเตอร์เฟอรอนและยาต้านไวรัส มีฤทธิ์ทำให้อ่อนเพลีย หรือง่วงซึมได้ จึงไม่ควรขับขับขี่ยานยนต์ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง และควรระวังการใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับสุรา สิ่งที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ยาที่มีฤทธิ์เป็นยากดประสาทส่วนกลาง เช่น ยาที่มีฤทธิ์ต้านโคลิเนอร์จิก(Anticholinergic drug/agent) หรือยาต้านเศร้าชนิดต่างๆ เพราะจะยิ่งเสริมฤทธิ์ง่วงซึมให้มากขึ้น

การใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบ บีในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบ บีในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1. แพทย์จะระวังการใช้ยาฉีดอินเตอร์เฟอรอนในหญิงมีครรภ์ โดยจะเลือกใช้เฉพาะเมื่อประโยชน์ที่อาจได้รับคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์เท่านั้น

2. ผู้ป่วยหญิงมีครรภ์หรือวางแผนตั้งครรภ์ แพทย์จะเลือกใช้ยาต้านไวรัส Tenofovir, Telbivudine หรือ Lamivudine เป็นตัวเลือกแรกเพื่อลดอัตราการติดเชื้อไวรัสฯจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างคลอด เพราะทารกจะสัมผัสกับเลือดของมารดาโดยตรง

3. แพทย์จะพิจารณาให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบบีร่วมกับยาสารภูมิต้านทานอิมมูโนโกลบูลิน (Hepatitis B immunoglobulin, HBIG) แก่ทารกแรกเกิดเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกในระหว่างคลอดและเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทารก

การใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบ บีในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบ บีในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

1. Adefovir, Tenofovir เป็นยาที่เป็นพิษต่อไต ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยสูงอายุเพราะเป็นวัยที่มีการทำงานของไตลดลง ดังนั้น แพทย์จะตรวจติดตามการทำงานของไตเป็นระยะ และระมัดระวังเป็นพิเศษหากต้องใช้ยาดังกล่าวร่วมกับยาอื่นๆ ที่เป็นพิษต่อไต เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Aminoglycosides, ยากลุ่ม NSAIDs, Cyclosporin, Tacrolimus, Vancomycin เป็นต้น

2. Adefovir, Tenofovir เป็นยาที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากยา คือ ทำให้เกิดภาวะกระดูกอ่อน(Osteomalacia) ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยสูงอายุ เพราะเป็นวัยที่มีความเสี่ยงอยู่แล้วต่อโรคกระดูกอ่อน และควรเข้ารับการตรวจติดตามค่าความหนาแน่นมวลกระดูก (Bone Mineral Density, BMD) เป็นระยะตามคำแนะนำของแพทย์

การใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบ บีในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบ บีในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

1. ห้ามใช้ยาฉีดอินเตอร์เฟอรอนในเด็กและวัยรุ่นที่มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์อย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น มีอาการซึมเศร้าและมีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย

2. การใช้ยาฉีดอินเตอร์เฟอรอนในเด็กและวัยรุ่นอาจทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเจริญเติบโตและพัฒนาการช้ากว่าปกติ

3. ห้ามใช้ยา Pegylated interferon ฟสดฟ -2a ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี เนื่องจากมีเบนซิลแอลกอฮอล์ (Benzyl Alcohol) เป็นส่วนประกอบในสูตรตำรับ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาทเด็กวัยดังกล่าวและอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

4. ผู้ป่วยเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป สามารถใช้ยาเช่นเดียวกับวัยผู้ใหญ่ ได้แก่ Conventional Interferon alfa , Lamivudine, Adefovir โดยแพทย์จะพิจารณาปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบบีเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากยาต้านไวรัสตับอักเสบบีเป็นดังนี้ เช่น

1. ยาฉีดอินเตอร์เฟอรอน: อาจทำให้เกิดอาการ ปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีดยา ผื่นผิวหนัง ผิวแห้ง ผมร่วง เหนื่อยล้า มึนงง ง่วงซึม ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน ติดเชื้อไวรัสต่างๆได้ง่าย วิตกกังวล ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด นอนไม่หลับ หายใจลำบาก เจ็บคอ มีไข้ ไอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำ

2. Entecavir: ทำให้เกิดอาการ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ง่วงนอน และคลื่นไส้ ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการพิษต่อตับ/ตับอักเสบ

3. Lamivudine: ทำให้เกิดอาการ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำ คลื่นไส้ เหนื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง ท้องเสีย ตับอ่อนอักเสบ ไข้ ภาวะ Lactic Acidosis

4. Telbivudine: ทำให้เกิดอาการ อ่อนเพลีย ไอ ปวดศีรษะ มึนงง ท้องเสีย ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ปวดข้อ การรับรสผิดปกติ ตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myopathy) ปลายประสาทอักเสบ

5. Adefovir: ทำให้เกิดอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ ไตวายเฉียบพลัน ภาวะ Lactic Acidosis โรคเบาจืด และกลุ่มอาการ Fanconi’s syndrome ซึ่งคือโรคที่ทำให้การดูดซึมอิเล็กโทรไลท์(Electrolyte)ในท่อขนาดเล็กในเนื้อเยื่อไตที่ทำหน้าที่กรองปัสสาวะ(Proxymal renal tubules)ผิดปกติ

6. Tenofovir: ทำให้เกิดอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ เกิดพิษต่อไต/ไตอักเสบ เกิดภาวะ Lactic Acidosis กลุ่มอาการ Fanconi’s syndrome โรคกระดูกน่วม(Osteomalacia)

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาต้านไวรัสตับอักเสบบี ) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสารธารณสุข. ความรู้เกี่ยวกับโรคไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) nih.dmsc.moph.go.th/login/filedata/Hepatitis.pdf [2018,April28]
  2. จันทรรัตน์ เจริญสันติ. การพยาบาลหญิงมีครรภ์ที่เป็นโรคตับอักเสบบี. พยาบาลสาร 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2556 : 177-185.
  3. พิศาล ไม้เรียง. แนวทางการรักษาไวรัสตับอักเสบบีในผู้ใหญ่. วารสารอายุศาสตร์อีสาน 3 (กรกฎาคม – กันยายน 2554) : 99-107.
  4. Brown, R. S., and others. Antiviral Therapy in Chronic Hepatitis B Viral Infection During Pregnancy: A Systematic Review and Meta-Analysis. Hepatology 63 (January 2016) : 319-333.
  5. Terrault, N. A., and others. AASLD Guidelines for Treatment of Chronic Hepatitis B. Hepatology 00 (2015) : 1-23.