ยาซินนาริซีน (Cinnarizine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 กุมภาพันธ์ 2557
- Tweet
- ทั่วไป
- ยาซินนาริซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาซินนาริซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาซินนาริซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาซินนาริซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาซินนาริซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาซินนาริซีนอย่างไร?
- ยาซินนาริซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาซินนาริซีนอย่างไร?
- ยาซินนาริซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ไมเกรน (Migraine)
- วิงเวียนศีรษะ อาการรู้สึกหมุน (Dizzy หรือ Vertigo)
- ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
ทั่วไป
ยาซินนาริซีน (Cinnarizine) เป็นยาอยู่ในกลุ่มยาแอนติฮิสตามีน (Anti-histamine) ถูกสังเคราะห์ขึ้นโดยบริษัทแจนเซนในปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) เป็นยาที่รู้จักกันดีในวงการแพทย์ และถูกนำมาใช้รักษา อาการเมารถ เมาเรือ และ อาการคลื่นไส้อาเจียน
ในประเทศไทยจะพบเห็นยาซินนาริซีนในรูปแบบของยาเม็ด ทั้งนี้หลังรับประทานยาซินนาริซีน ระดับยาจะคงอยู่ในร่างกายประมาณ 3 – 4 ชั่วโมง จากนั้นยาจะถูกขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระในที่สุด ยาซินนาริซีนจัดเป็นยาอันตราย การใช้ยาควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ หรือขอคำปรึกษากับเภสัชกร ก่อนใช้เสมอ
ยาซินนาริซีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
สรรพคุณของยาซินนาริซีน คือใช้รักษาอาการ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อาการเมารถ–เมาเรือ และโรคไมเกรน
ยาซินนาริซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาซินนาริซีน ออกฤทธิ์โดยตรงต่อกล้ามเนื้อเรียบที่ผนังของหลอดเลือดแดงขนาดเล็ก ซึ่งการออกฤทธิ์ดังกล่าวจะเกิดมากที่บริเวณสมอง และส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น
ยาซินนาริซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซินนาริซีนในประเทศไทยจะพบเห็นในรูปแบบของยาเม็ด ขนาดความแรง 25 มิลลิ กรัม
ยาซินนาริซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาซินนาริซีน
- ผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 1 – 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง และควรรับประทานหลังอาหารเพื่อลดอาการระคายเคืองของระบบทางเดินอาหาร
- ส่วนในเด็ก การใช้ยานี้ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมถึงยาซินนาริซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น และ/หรือ แน่นหายใจติดขัด
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่า นั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนม และ/หรือ รก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงของยาต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาซินนาริซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
ยาซินนาริซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงของยาซินนาริซีน คือ สามารถทำให้เกิดอาการ วิงเวียนศีรษะ ง่วงนอน ระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร ปากแห้ง เหงื่อออกมาก น้ำหนักเพิ่ม คันตามผิวหนัง อาจมีผื่นขึ้น ซึมเศร้า และอาจพบอาการหายใจติดขัด/หายใจลำบากในผู้ป่วยบางราย
มีข้อควรระวังการใช้ยาซินนาริซีนอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาซินนาริซีน (เพราะยาอาจก่อผลข้างเคียงที่รุนแรงขึ้น และ/หรืออาจส่งผลให้อาการของโรคร่วมต่างๆรุนแรงขึ้น) ได้แก่
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยา ซินนาริซีน
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหืด
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่กำลังให้นมบุตร ด้วยมีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกได้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต โรคต้อหิน
- ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Dissease)
- ระหว่างการใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะ หรือหลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่อง จักร เพราะผลข้างเคียงของยาที่ทำให้ง่วงนอน อาจส่งผลให้เผลอหลับจนก่ออันตรายได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยากับเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะผลข้างเคียงของยาอาจรุนแรงมากกว่าในคนช่วงอายุอื่นๆ
***** อนึ่ง
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาซินนาริซีน) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด ) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาซินนาริซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซินนาริซีน มีปฏิกิริยาระหว่างยา กับยาตัวอื่นๆได้ดังนี้
- การใช้ยาซินนาริซีน ร่วมกับยาที่ช่วยคลายกังวล/คลายเครียด สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการ วิงเวียน และง่วงนอน มากขึ้น ยาที่ช่วยคลายกังวลดังกล่าว เช่น ยา Lorazepam, ยา Diazepam
- การใช้ยาซินนาริซีน ร่วมกับยาลดน้ำมูก ยาแก้แพ้ สามารถเพิ่มอาการง่วงนอนได้มากขึ้น ยาลดน้ำมูก/ยาแก้แพ้ ดังกล่าว เช่น ยา Chlorpheniramine, ยา Brompheniramine
ควรเก็บรักษายาซินนาริซีนอย่างไร?
สามารถเก็บยาซินนาริซีนในอุณหภูมิห้องได้ โดยเก็บให้พ้นแสงแดด และความชื้น และต้องเก็บยานี้ให้พ้นมือเด็กเสมอ
ยาซินนาริซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่ออื่นของยาซินนาริซีน และชื่อบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
Bugeron (บูจีรอน) | Burapha |
Cenai (เซนาย) | The Forty-Two |
Cerebroad (เซเรบรอด) | Chinta |
Ceremin (เซเรมิน) | Polipharm |
Cinerine (ซิเนรีน) | Pharmasant Lab |
Cinna (ซินนา) | T. Man Pharma |
Cinnapac (ซินนาแพค) | Inpac Pharma |
Cinnar (ซินนาร์) | Atlantic Lab |
Cinnarin (ซินนาริน) | Suphong Bhaesaj |
Cinnarine (ซินนารีน) | Community Pharm PCL |
Cinnarizine T.O. (ซินนาริซีน ที.โอ.) | T.O. Chemicals |
Cinnarizine Utopian (ซินนาริซีน ยูโทเปียน) | Utopian |
Cinnatab (ซินนาแทบ) | Medicpharma |
Cinnaza (ซินนาซา) | Pharmaland |
Cinrizine (ซินริซีน) | Medifive |
C-Pela (ซี-พีลา) | Thai Nakorn Patana |
C-Ricin (ซี-ริซิน) | Patar Lab |
K.B. Gyding (เค.บี. กายดิง) | K.B. Pharma |
Linazine (ไลนาซีน) | Asian Pharm |
Manoron (มาโนรอน) | March Pharma |
Medozine (เมโดซีน) | Medochemie |
Naricin (นาริซิน) | Inpac Pharma |
Narizine (นาริซีน) | Charoon Bhesaj |
Nazine Tab (นาซีน แทบ) | Vesco Pharma |
Siarizine (ซีเอริซีน) | Siam Bheasach |
Silicin (ซิลิซิน) | Greater Pharma |
Sorebral (โซรีบรอล) | Condrugs |
Stugeron (สตูจีรอน) | Janssen-Cilag |
Stugin (สตูจิน) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Sturon (สตูรอน) | Medicine Products |
Vernarin (เวอร์นาริน) | Nakornpatana |
บรรณานุกรม
- http://www.drugbank.ca/drugs/DB00568 [2014,Jan23].
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Cinnar/?q=cinnarizine&type=brief [2014,jan23].
- http://drugs.webmd.boots.com/drugs/drug-99-CINNARIZINE+.aspx?drugid=99&drugname=CINNARIZINE%2B&source=2&isTicTac=false [2014,Jan23].
- http://www.patient.co.uk/medicine/Cinnarizine.htm [2014,jan23].
- http://reference.medscape.com/drug-interactionchecker [2014,Jan23].
- http://en.wikipedia.org/wiki/Cinnarizine [2014,Jan23].