ยาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีน (Disinfection with chlorine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

“Disinfectant” แปลว่า สารฆ่าเชื้อ หรือ สารทำลายเชื้อ หรือ ยาฆ่าเชื้อโรค และมีความแตกต่างกับ “ยาฆ่าเชื้อ”โรคประเภท ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) และ สารระงับเชื้อ(Antiseptic) กล่าวคือ

  • Antibiotic เป็นยาฆ่าเชื้อโรค ที่ต้องรับประทาน หรือฉีดเข้าร่างกาย
  • Antiseptic เป็นยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่เนื้อเยื่อ หรือที่ผิวหนัง ของสิ่งมีชีวิต
  • Disinfectant เป็นสารฆ่าเชื้อโรคที่ใช้กับสิ่งไม่มีชีวิต เช่น พื้น ผนัง สุขภัณฑ์ เครื่องมือผ่าตัด เครื่องมือทันตกรรม เครื่องจักรในอุตสาหกรรมอาหาร

สารฆ่าเชื้อ(Disinfectant) ถูกจำแนกออกเป็นหมวดย่อยๆได้หลายชนิด/หลายหมวด อาทิ Air disinfectants, Alcohols, Aldehydes, Oxidizing agents, Phenolics, Silver, Quaternary ammonium compounds, Thymol-based disinfectant, Copper alloy surfaces, Polyaminopropyl biguanide, และกลุ่มพลังงานหรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สามารถฆ่าเชื้อได้(Non-chemical)

“ยาฆ่าเชื้อ/สารฆ่าเชื้อประเภทคลอรีน(Disinfection with chlorine หรือ Chlorine as disinfectant)” ถูกจัดอยู่ในหมวดออกซิไดซิงเอเจนต์ (Oxidizing agent) ในทางเคมี หมายถึงสารประกอบที่มีความสามารถแย่งอิเล็กตรอน(Electron)จากสารประกอบอื่นๆ ส่งผลให้สารที่ถูกแย่งอิเล็กตรอนสูญเสียคุณสมบัติของตัวเองไป กรณีของเชื้อโรคก็เช่นเดียวกัน หากมีการสูญเสียอิเล็กตรอนไป จะทำให้กระบวนการชีวเคมีในการดำรงชีวิตของเชื้อโรคผิดปกติ ส่งผลให้เชื้อโรคหยุดการเจริญเติบโตและตายลง

ประโยชน์ของยาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีนมีอะไรบ้าง?

ยาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีน

ประโยชน์ของยาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีน เช่น

  • ใช้เป็นสารฟอกขาว(Bleach)โดยใช้เป็นส่วนประกอบหลักของสินค้าพวกน้ำยาซักล้างสำหรับเสื้อผ้าและสุขภัณฑ์ต่างๆ หรือใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ
  • ใช้กำจัดเชื้อโรคกับเครื่องมือในคลินิกทันตกรรม
  • ใช้ฆ่าเชื้อโรคในสระว่ายน้ำ
  • ใช้บำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงแหล่งน้าธรรมชาติ
  • ใช้กำจัดคราบสกปรกที่ฟัน คราบสกปรกจากเชื้อราที่ติดอยู่บนเสื้อผ้า
  • ใช้เป็นน้ำยากำจัดกลิ่นเหม็นของสุขภัณฑ์

กลุ่มยาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีนมีอะไรบ้าง?

ยาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีนที่มีจำหน่ายในลักษณะของสารประกอบมีดังนี้ เช่น

1. โซเดียมไฮโปคลอไรท์(Sodium hypochlorite หรือ NaClO) มีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้อมีฤทธิ์ฟอกขาว ใช้ในคลินิกทันตกรรม ฆ่าเชื้อเครื่องมืออุปกรณ์ในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร ยา โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการจัดจำหน่ายจะต้องอยู่ในรูปของสารละลายด้วยเหตุผลเรื่องความคงตัวของสารนี้

2. แคลเซียมไฮโปคลอไรท์ (Calcium hypochlorite หรือ Ca(ClO)2) มักพบเห็นการใช้เป็นยาฆ่าเชื้อตามสระว่ายน้ำ มีการจัดจำหน่ายในลักษณะผงแกรนูล(Granule)แห้ง

3. คลอรามีน(Chloramine หรือ NH2Cl) มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี สามารถเติมในน้ำประปาเพื่อฆ่าเชื้อโรคแล้วส่งไปยังชุมชนเพื่อใช้บริโภค หรือใช้เติมในสระว่ายน้ำแต่ต้องระมัดระวังสัดส่วนที่ใช้ด้วยการใช้คลอรามีนเป็นปริมาณมากเกินไปจะสร้างความระคายเคืองต่อตาของผู้เล่นน้ำในสระ

4. คลอรีนไดออกไซด์(Chlorine dioxide หรือ ClO2) มีลักษณะเป็นแก๊ส มักใช้ฟอกสีไม้ ในนิวยอร์กใช้คลอรีนไดออกไซด์เติมลงในน้ำประปาเพื่อใช้บริโภค

ยาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีนมีข้อควรระวังอะไรบ้าง?

การใช้ยาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีนตรงตามที่ระบุในเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์/เอกสารกำกับยา มักจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาหรือพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังบางประการที่ควรทราบ เมื่อต้องปฏิบัติงานกับยาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีน ได้แก่

  • ควรศึกษาคู่มือถึงรายละเอียดวิธีปฏิบัติก่อนใช้งาน ตลอดจนกระทั่งวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับยาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีน
  • ใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขทุกครั้งเมื่อต้องปฏิบัติงานกับยาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีน เช่น แว่นป้องกันสารเคมีกระเด็นเข้าหน้า หน้ากากป้องกันแก๊สหรือกลิ่นที่รุนแรง ถุงมือเพื่อป้องกันการสัมผัสสารเคมีโดยตรง ด้วยยาฆ่าเชื้อกลุ่มนี้มีฤทธิ์ฟอกขาว จึงจะก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนังได้มาก
  • ห้ามทิ้งยาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีนลงพื้นดินหรือทิ้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ พราะจะทำให้สิ่งมีชีวิตเล็กๆอย่าง ไส้เดือนหรือตัวอ่อนของสัตว์น้ำ อย่างปลา ตายลง และก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุแล้ว ด้วยจะมีประสิทธิภาพต่ำลง หรืออาจเกิดพิษขึ้นได้อย่างรุนแรง
  • ขณะใช้ยาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีนแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก ผื่นขึ้นตามตัว มีไข้ อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามรับประทานสารนี้ ห้ามเข้าตา-จมูก กรณีเข้าตาต้องล้างด้วยน้ำสะอาดนาน ประมาณ 15 นาทีขึ้นไป กรณีกลืนลงท้อง ให้หลีกเลี่ยงการทำให้อาเจียน และต้องรีบนำส่โรงพยาบาลทันที
  • ปิดภาชนะบรรจุสารนี้ให้แน่นหนาทุกครั้งหลังใช้งาน และล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดปริมาณมากๆ
  • ฝึกฝนและเรียนรู้ถึงข้อปฏิบัติต่างๆ เช่น การเก็บกู้สารเคมีเพื่อป้องกันมิให้มีการปนเปื้อนไปกับสิ่งแวดล้อม

ควรจัดเก็บยาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีนอย่างไร?

สามารถเก็บผลิตภัณฑ์ยาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีนในอุณหภูมิห้องที่เย็นและมีการระบายอากาศเข้า-ออกได้ดี เก็บผลิตภัณฑ์ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บผลิตภัณฑ์ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุแล้ว

กรณียาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีนเกิดการรั่วซึมควรทำอย่างไร?

กรณีสารเคมีประเภทคลอรีน รั่วไหลเป็นปริมาณน้อยๆ เพียงการเช็ดถูโดยไม่สัมผัสโดยตรง และทิ้งวัสดุที่ทำความสะอาดลงถังขยะก็อาจเพียงพอ

แต่หากเกิดการรั่วไหลของสารคลอรีนนี้เป็นปริมาณมากๆ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์ เช่น

  • ประเมินสถานการณ์ว่าตนเองหรือผู้ร่วมงานสามารถเก็บกู้ได้หรือไม่
  • กรณีเป็นองค์กรอย่าง บริษัท โรงงาน ต้องแจ้งขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ ความปลอดภัย(จป.) ประจำหน่วยงานโดยเร็ว
  • แจ้งอพยพบุคคลออกจากพื้นที่ในกรณีที่มีการรั่วไหลเป็นปริมาณมากและไม่ สามารถเก็บกู้ได้
  • ต้องรู้ว่า ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลอะไรบ้าง เพราะการเก็บกู้สารเคมีโดยไม่ใส่เครื่องป้องกันเป็นเรื่องอันตราย และต้องหลีกเลี่ยง

ทั้งนี้ ยังมีข้อปฏิบัติอีกหลายประการที่ผู้บิโภคต้องศึกษาเกี่ยวกับยาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีน และพอจะสรุปได้ดังนี้

1 ศึกษาขั้นตอนการใช้ยาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีนจากเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์ ให้เข้าใจ หากมีข้อสงสัยให้สอบถามจากผู้จัดจำหน่าย

2 ศึกษาขั้นตอนการเก็บกู้กรณีที่มียาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีน หกรั่ว และต้องปฏิบัติ อย่างถูกวิธี

3 ศึกษาวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับหรือสัมผัสกับยาฆ่าเชื้อประเภทคลอรีน

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Disinfectant [2018,Feb17]
  2. http://www.who.int/water_sanitation_health/hygiene/emergencies/fs2_17.pdf [2018,Feb17]
  3. https://www7.nau.edu/itep/main/HazSubMap/docs/HHWaste/DisinfectantsComparisonChart.pdf [2018,Feb17]
  4. http://www.who.int/ipcs/publications/ehc/216_disinfectants_part_2.pdf [2018,Feb17]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Redox#Oxidizing_and_reducing_agents [2018,Feb17]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Calcium_hypochlorite [2018,Feb17]
  7. https://www.sciencelab.com/msds.php?msdsId=9925000 [2018,Feb17]