ยาฆ่าหนู (Rodenticide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฆ่าหนู หรือ ยาเบื่อหนู หรือ ยากำจัดหนู หรือสารเคมีกำจัดหนู (Rodenticide หรือ Rat poison) เป็นสารประกอบต่างๆที่สามารถออกฤทธิ์ทำลายระบบการดำรงชีวิตของหนู เช่น ระบบเลือด ระบบการหายใจ การวางเหยื่อฆ่าหนูหนึ่งครั้ง อาจฆ่าหนูได้หนึ่งตัวหรือหลายตัวในครั้งเดียว สิ่งที่พึงระวังหากมีสัตว์อื่นอย่าง สุนัข แมว มากินเหยื่อที่วางล่อหนู ก็สามารถทำให้สัตว์เหล่านั้นตายได้เช่นกัน หรือสัตว์อื่นที่มากินซากหนูที่ตายแล้วก็มีโอกาสสูงที่จะตายด้วยพิษของยาฆ่าหนูที่ตกค้างตามกันไป ซึ่งเรียกว่าผู้ที่ได้รับพิษทุติยภูมิ(Secondary poisoning)

ยาฆ่าหนูมีกี่ประเภท อะไรบ้าง?

ยาฆ่าหนู

สามารถจำแนก ยาฆ่าหนู ออกเป็นประเภทต่างๆดังต่อไปนี้

1. กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด(Anticoagulants) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างหนู มีระบบป้องกันมิให้เลือดไหลออกจากร่างกายคล้ายคนเรา การทำลายกลไกห้ามเลือดในหนูเป็นสิ่งหนึ่งที่คนจินตนาการและพัฒนามาเป็นยาฆ่าหนู หนูที่ได้รับยาฆ่าหนูประเภทนี้อาจต้องใช้เวลาประมาณ 1–2 สัปดาห์ เพื่อทำให้หนูตายลง

ยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ใช้เป็นยาฆ่าหนู ยังแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆดังนี้

  • ยาฆ่าหนูรุ่นที่หนึ่ง(First generation) เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ใช้เวลา ไม่นานร่างกายของหนูก็สามารถกำจัดทิ้งได้แล้ว ยาฆ่าหนูประเภทนี้มักใช้ความเข้มข้น 0.005% และ 0.1% หนูต้องกินยานี้สะสมต่อเนื่องสักระยะจึงก่อให้เกิดภาวะ ตกเลือดและตายในที่สุด ตัวอย่างยาฆ่าหนูรุ่นที่หนึ่งได้แก่ Warfarin และ Coumatetralyl
  • ยาฆ่าหนูรุ่นที่สอง(Second generation) มีพิษรุนแรงกว่ายาฆ่าหนูรุ่นที่หนึ่ง การผสมยาในเหยื่อล่อหนูเพียงความเข้มข้นต่ำ(0.001–0.005%) เมื่อหนูมากินเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอที่จะฆ่าหนูได้แล้ว ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Difenacoum, Brodifacoum Flocoumafen, และ Bromadiolone ด้วยการออกฤทธิ์ที่แรงกว่ายาฆ่าหนูในรุ่นที่หนึ่ง ยาฆ่าหนูรุ่นนี้จึงได้รับการขนานนามว่า “Superwafarins”
  • ยาฆ่าหนูที่ไม่สามารถจัดอยู่ในรุ่นที่หนึ่งหรือสอง อาจเป็นด้วยข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งทางด้านวิชาการ อย่างไรก็ตามยาฆ่าหนูกลุ่มนี้ก็มีฤทธิ์ทำให้ร่างกายหนูมีอาการตก เลือดจนตายเช่นกัน ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Diphacinone, Chlorophacinone, และ Pindone
  • ยาฆ่าหนูที่ก่อฤทธิ์ให้ตกเลือดแบบทางอ้อมและมักใช้ยาปฏิชีวนะ ตัวยาที่พบเห็น การใช้เป็นยาฆ่าหนูบ่อยๆ คือ Sulfaquinoxaline ตัวยานี้จะฆ่าแบคทีเรียประจำถิ่นใน ลำไส้ของหนู หน้าที่อย่างหนึ่งของแบคทีเรียประจำถิ่น คือ ช่วยสังเคราะห์วิตามินเค 1 (Vitamin K1) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการแข็งตัวของเลือด การทำลายกลไกดังกล่าว จึงทำให้ร่างกายของหนูมีภาวะตกเลือดได้ง่ายและตายในที่สุด

2. สารประกอบประเภทเกลือฟอสไฟด์ (Metal phosphides) เช่น ซิงค์ ฟอสไฟด์ (Zinc phosphide) เมื่อหนูมากินเหยื่อที่มี ซิงค์ ฟอสไฟด์ กรดในกระเพาะของหนูจะเข้าทำปฏิกิริยาและเกิดเป็นแก๊สพิษที่เรียกว่า ฟอสฟีน(Phosphine) การใช้ยาฆ่าหนูกลุ่มนี้ มักนำมาใช้ในพื้นที่ที่หนูมีการเรียนรู้ไม่กินเหยื่อที่วางล่อผสมกับยาฆ่าหนูกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด การกินเหยื่อที่มี ซิงค์ ฟอสไฟด์ เป็นส่วนประกอบเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอในการฆ่าหนูตัวนั้นภายใน 1–3 วัน อีกหนึ่งกลไกของ ซิงค์ ฟอสไฟด์ เมื่อใช้ในความเข้มข้น 0.75 – 2% วางร่วมกับเหยื่อของหนู เมื่อความชื้นในอากาศเข้ารวมตัวกับ ซิงค์ ฟอสไฟด์ จะเกิดปฏิกิริยาไฮโดรไลซิส(Hydrolysis) และมีการปลดปล่อยกลิ่นที่รุนแรงจากแก๊สฟอสฟีน ด้วยกลไกนี้ก็สามารถไล่หนูได้เช่นเดียวกัน

ยาฆ่าหนูกลุ่มฟอสไฟด์ยังมีสมาชิกอีก 3 ตัว ได้แก่

  • อะลูมิเนียม ฟอสไฟด์(Aluminium phosphide)
  • แคลเซียม ฟอสไฟด์(Calcium phosphide) และ
  • แมกนีเซียม ฟอสไฟด์(Magnesium phosphide)

ทั้งนี้ เกลือฟอสไฟด์ทั้ง 3 ตัวนี้จะถูกใช้ในลักษณะวางทิ้งและปล่อยให้ทำปฏิกิริยากับน้ำหรือความชื้นในอากาศ และเกิดการปลดปล่อยแก๊สพิษอย่างฟอสฟีน ที่มีฤทธิ์ไล่สัตว์ประเภทหนูได้เป็นอย่างดี

3. ยาฆ่าหนูที่ทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดเกิน(Hypercalcemia) เช่น แคลซิเฟอรอล(Calciferols), โคเลแคลซิเฟอรอล(Cholecalciferol/Vitamin D3) และเออร์โกแคลซิเฟอรอล(Ergocalciferol /Vitamin D2) ถูกนำมาใช้เป็นยาฆ่าหนู ด้วยกลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้จะทำให้ร่างกายของหนูดูดซึมแคลเซียมจากอาหาร และปลดปล่อยแคลเซียมเข้าสู่กระแสเลือดมากกว่าที่จะนำไปใช้ประโยชน์ การมีระดับแคลเซียมในเลือดสูง จะทำให้ ผนังหลอดเลือด ไต กระเพาะอาหาร และปอด ของหนู เกิดผลึกแคลเซียมเข้ามาเกาะจนสามารถทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อของอวัยวะดังกล่าว นอกจากนี้ ความเข้มข้นสูงของแคลเซียมในเลือด ยังทำให้มีการบีบตัวของหัวใจผิดปกติไปจากเดิม จากเหตุผลดังกล่าวส่งผลให้หลอดเลือดฝอยของหนูแตกและฉีกขาด และมีภาวะไตวาย การใช้ยากำจัดหนูประเภทนี้ อาจต้องใช้เวลาหลังจากหนูกินเหยื่อแบบสะสม 2–3 วัน หรืออาจนานถึงหนึ่งสัปดาห์ ตัวยาจึงออกฤทธิ์เต็มที่ และทำให้หนูตายลง

4. ยาฆ่าหนูกลุ่มอื่นๆซึ่งไม่สามารถนำมาเขียนบรรยายได้ทั้งหมดในบทความนี้ เช่น Alpha-naphthylthiourea, Arsenic trioxide, Barium carbonate, Chloralose, Endrin, Crimidine 1,3-Difluoro-2-propanol, Fluoroacetamide, Phosacetim, White phosphorus, Pyrinuron, Scilliroside, Sodium fluoroacetate, Strychnine, Tetramethylenedisulfotetramine, Thallium sulfate, Nitrophenols, และ Zyklon B

ทำงานกับยาฆ่าหนูอย่างปลอดภัยอย่างไร?

การทำงานกับยาฆ่าหนูให้ปลอดภัยมีข้อปฏิบัติสำคัญ เช่น

1. อ่านขั้นตอนการใช้ยาฆ่าหนูจากฉลากด้วยความรอบคอบ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

2. ห้ามวางยาฆ่าหนูในพื้นที่ปรุงอาหารของบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อน ไม่ว่าจะเป็นการฟุ้งกระจายมากับอากาศ หรือมีสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน หรือหนูเป็นตัวกระจายยาฆ่าหนูทั่วพื้นที่ภายในบ้าน

3. สำรวจเหยื่อที่ผสมยาฆ่าหนูหลังใช้งาน เพื่อจัดการทำความสะอาดพื้นที่มิให้มียาฆ่าหนูหลงเหลือและปนเปื้อน

4. ขณะปฏิบัติงานกับยาฆ่าหนู ต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม เช่น ถุงมือ หมวกคลุมผม แว่นป้องกันสารเคมีเข้าตา กรณียาฆ่าหนูมีลักษณะเป็นผงควรสวมหน้ากากป้องกันการสูดดมด้วย

5. หลังทำงานกับยาฆ่าหนูเสร็จเรียบร้อย ต้องจัดเก็บในภาชนะเดิมที่ปิดมิดชิด เก็บในที่พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ห้ามเก็บในพื้นที่ปรุงอาหาร ห้องน้ำ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น หรือพื้นที่ที่เด็ก และสัตว์เลี้ยง จะเข้าถึงได้ง่าย โดยสามารถเก็บยาฆ่าหนูภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น และห้ามใช้ยาฆ่าหนูที่หมดอายุแล้ว

6. ห้ามล้างภาชนะที่ใช้วางกับดักลงในคูคลองตามธรรมชาติ

7. ห้ามทิ้งทำลายยาฆ่าหนูโดยการฝังดินหรือโยนลงแม่น้ำคูคลองสาธารณะ

8. อาบน้ำชำระร่างกายใช้สบู่และแชมพูสระผมชำระร่างกายให้สะอาดทันทีหลังจากเสร็จภารกิจวางยาฆ่าหนู

9. หากมีอาการ อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นขึ้นตามร่างกาย เกิดอาการไข้ วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หลังทำงานกับยาฆ่าหนู ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

*หมายเหตุ: ในความเห็นของผู้เขียนบทความนี้ การใช้ยาฆ่าหนูเป็นเรื่องปลายเหตุและก่อให้เกิดอันตราย(Secondary poisoning) กับตัวบุคคลภายในบ้าน และสัตว์เลี้ยง การใช้วิธีทางกายภาพ เช่น

  • จัดทำความสะอาดพื้นที่ให้ปลอดขยะโดยเฉพาะขยะสดอย่างเศษอาหาร
  • อุดรูหรือช่องโหว่ที่ทำให้หนูเข้ามาเพ่นพ่านภายในบ้าน
  • เก็บขยะใส่ถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิดขณะรอเทศบาลมาจัดเก็บ
  • สัตว์เลี้ยงอย่างแมวก็ไล่หนูได้เป็นอย่างดี แต่เหมาะกับผู้ที่รักสัตว์ประเภทแมวเท่านั้นไม่ควรเลี้ยงแมวอย่างอดอยากเพื่อใช้กำจัดหนู ด้วยเป็นการทรมานสัตว์
  • เทคโนโลยีในปัจจุบัน มีการสร้างอุปกรณ์ไล่สัตว์รบกวนต่างๆ เช่น แมลงสาบ รวมถึงหนู จัดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกโดยผู้บริโภคต้องพิจารณาชุดอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานสามารถไล่หนูได้จริงเท่านั้น

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Rodenticide [2018,June 23]
  2. http://npic.orst.edu/factsheets/rodenticides.html [2018,June 23]
  3. https://www.beyondpesticides.org/programs/rodenticides [2018,June 23]