ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบ (Smooth muscle relaxants)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบ

ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบคือยามีคุณสมบัติอะไร?

ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบ(Smooth muscle relaxants) หมายถึงยาที่ใช้สำหรับบรรเทา/รักษาอาการปวดเกร็ง หรือการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของอวัยวะภายในช่องท้องที่มีกล้ามเนื้อเรียบเป็นส่วนประกอบ เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ ระบบทางเดินน้ำดี และระบบทางเดินปัสสาวะ

ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบมีกี่กลุ่ม?

ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบ แบ่งได้เป็นหลายกลุ่ม เช่น

ก. ยาต้านฤทธิ์มัสคาริกนิก หรือยาต้านฤทธิ์โคลิเนอร์จิก (Antimuscarinic drugs, Anticholinergic drugs): เช่นยา ไดไซโคลมีน (Dicyclomine), ไฮออสซีน (Hyoscine), คลิดิเนียม (Clidinium), ออกซีเฟนไซคลิมีน (Oxyphencyclimine), โพรแพนธีลีน (Propantheline), สโคโพลามีน (Scopolamine), อะโทรปีน (Atropine)

ข. ยาที่ออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบโดยตรง (Direct smooth muscle relaxants): เช่นยา มีบีเวอรีน (Mebeverine), ปาปาเวอรีน (Papaverine), น้ำมันสะระแหน่ (Peppermint oil)

ค. ยาต้านแคลเซียม (Calcium channel blockers): เช่นยา อัลเวอรีน (Alverine), พินาวีเรียม (Pinaverium)

ง. ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioid agonists): เช่นยา ไตรเมบูทีน (Trimebutine)

ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาอมใต้ลิ้น (Sublingual tablet)
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
  • ยาน้ำใสชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile solution)

อนึ่ง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ข้อบ่งใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบ เช่น

  • ใช้บรรเทาอาการปวดท้องที่เกิดจากการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ
  • ใช้เป็นยาเสริมสำหรับโรคระบบทางเดินอาหารที่มีสาเหตุจากการบีบเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเรียบ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome, IBS)
  • ใช้สำหรับอาการบีบเกร็งแบบเฉียบพลันและการบีบเกร็งของอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อเรียบระหว่างการวินิจฉัยด้วยเครื่องมือ เช่น การส่องตรวจด้วยกล้อง

ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบมีข้อห้ามใช้อย่างไร ?

ข้อห้ามใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบ เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง(Hypersensitivity)ต่อยา นั้นๆ
  • ห้ามใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบในผู้ที่มีการทำงานของลำไส้ผิดปกติ, ลำไส้อืด/ท้ออืดไม่สามารถบีบตัวหรือเคลื่อนไหวได้, ลำไส้อุดกั้น/ ลำไส้อุดตัน
  • ห้ามใช้ยากลุ่ม Antimuscarinic ในผู้ป่วย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง, ต้อหินมุมปิด, ระบบทางเดินอาหารตีบตัน/ลำไส้อุดตัน, ลำไส้ใหญ่โป่งพอง, ทางเดินปัสสาวะอุดกั้น, ต่อมลูกหมากโต, การเต้นของหัวใจผิดปกติ, หัวใจล้มเหลว

มีข้อควรระวังการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบอย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบ เช่น

  • ไม่ควรใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบติดต่อกันเป็นประจำทุกวัน หรือใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยไม่ได้ตรวจสอบหาสาเหตุของอาการปวดท้อง
  • ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Antimuscarinic ในผู้ป่วย เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยกลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome) เพราะผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวไวต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
  • ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Antimuscarinic ในโรคกรดไหลย้อน โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง
  • ยากลุ่ม Antimuscarinic อาจเสริมฤทธิ์ยาตัวอื่นๆ เช่น ยาแก้แพ้กลุ่มดั้งเดิม(เช่นยา คลอเฟนิรามีน/ Chlorpheniramine), ยาคลายกล้ามเนื้อ (เช่นยา ออเฟนาดรีน/ Orphenadrine), เป็นต้น ดังนั้นควรระวังการใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกัน เพราะจะยิ่งเพิ่มโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
  • ควรระวังการใช้ยา Papaverine ในผู้ที่มีการทำงานของหัวใจผิดปกติ โรคต้อหิน และระวังการใช้ร่วมกับยากดประสาทส่วนกลาง เพราะจะเพิ่มโอกาสการติดยา

การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ยากลุ่ม Antimuscarinic เป็นยาที่สามารถใช้ได้ในหญิงมีครรภ์ แต่ควรใช้เมื่อจำเป็นจริงๆ หรือมีข้อบ่งใช้เท่านั้น และไม่ควรนำมาใช้เป็นประจำเมื่อปวดท้องจากภาวะท้องเสีย
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม Antimuscarinic ในหญิงที่กำลังให้นมบุตร เพราะยายับยั้งการหลั่งน้ำนม และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกที่ดื่มนมมารดา
  • ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ กลุ่ม Direct smooth muscle relaxants, กลุ่ม Calcium channel blockers และกลุ่ม Opioid agonists เป็นกลุ่มยาที่ยังมีข้อมูลอย่างจำกัดในผู้ป่วยหญิงมีครรภ์ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ หรือใช้เมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่อาจได้รับมีมากกว่าอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์เท่านั้น

การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Antimuscarinic ในผู้สูงอายุ เพราะมีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์ คือ อาการสับสนได้มากกว่าวัยอื่นๆ,
  • และระวังการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบ ร่วมกับยาลดความดันโลหิตกลุ่ม Beta blockers เพราะอาจทำให้หัวใจเต้นเร็วมากขึ้น

การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยากลุ่มนี้มากเพียงพอในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก ทั้งด้านประสิทธิภาพ และความปลอดภัย

มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาของยาคลายกล้ามเนื้อเรียบ เช่น

  • ยากลุ่ม Antimuscarinic ทำให้เกิดอาการ ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะคั่ง เวียนศีรษะ การมองเห็นผิดปกติ ความดันตาสูง
    • อนึ่ง อาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง ได้แก่ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ ซึ่งมักพบในยารูปแบบยาฉีดและอาจรุนแรงในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจ หรือโรคความดันโลหิตสูง
  • ยากลุ่ม Direct smooth muscle relaxants: เช่น
    • ยาMebeverine พบอาการไม่พึงประสงค์ได้น้อย คือ อาการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน บวมน้ำ หายใจลำบาก
    • ยา Papaverine ทำให้ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ซึมเศร้า คลื่นไส้อาเจียน ปากแห้ง เบื่ออาหาร และทำให้ผู้ป่วยสูงอายุทนต่ออากาศหนาวได้น้อยลง
    • ยา Peppermint oil ทำให้แสบร้อนบริเวณช่องปากและลำคอ อาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ อาเจียน
  • ยากลุ่ม Calcium channel blockers: เช่น
    • ยา Alverine ทำให้รู้สึกไม่สบาย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ระดับเอนไซม์ในเลือดของตับเพิ่มขึ้น
    • ยาPinaverium ทำให้ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ไม่สบายท้อง ความดันโลหิตสูง
  • ยากลุ่ม Opioid agonists ทำให้ ง่วงซึม เหนื่อยล้า มึนงง ปวดศีรษะ ปากแห้ง คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง ท้องผูกหรือท้องเสีย

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาคลายกล้ามเนื้อเรียบ) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ เล่ม 1 ยาระบบทางเดินอาหาร http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/archive/4181 [2019,June29]
  2. Annaházi, A et al. “Role of antispasmodics in the treatment of irritable bowel syndrome,” World J Gastroenterol 20 (May 2014): 6031-6043.
  3. El-Baba, M.F. Pediatric Irritable Bowel Syndrome Medication https://emedicine.medscape.com/article/930844-medication#2 [2019,June29]
  4. Mayo Foundation for Medical Education and Research (MFMER). Papaverine (Oral Route).https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/papaverine-oral-route/description/drg-20065323 [2019,June29]
  5. Schaefer C., Peters P., Miller R.K. Drug During Pregnancy and Lactation: Treatment Options and Risk Assessment. 3. (Elsevier, 2015), p. 94.