ยาขยายรูม่านตา (Dilating eye drops)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 23 มกราคม 2562
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา (Anatomy and physiology of the eye)
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- ยูเวียอักเสบ การอักเสบของยูเวีย (Uveitis)
- การตรวจตา การตรวจสุขภาพตา (Eye examination)
- ซิมพาโทมิเมติค (Sympathomimetic drug)
- Anticholinergic drugs
- ยาขยายรูม่านตาหมายถึงยาอะไร?
- ยาขยายรูม่านตามีกี่ประเภท?
- ยาขยายรูม่านตามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาขยายรูม่านตามีข้อบ่งใช้อย่างไร?
- ยาขยายรูม่านตามีข้อห้ามใช้อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาขยายรูม่านตาอย่างไร?
- การใช้ยาขยายรูม่านตาในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาขยายรูม่านตาในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาขยายรูม่านตาในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาขยายรูม่านตาเป็นอย่างไร?
- สรุป
- บรรณานุกรม
ยาขยายรูม่านตาหมายถึงอะไร?
ยาขยายรูม่านตา (Dilating eye drops หรือ Mydriatics) หมายถึง ยาที่ออกฤทธิ์คลายการหดตัวของกล้ามเนื้อตา หรือยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อหดรูม่านตา จึงส่งผลให้รูม่านตาขยายขนาดใหญ่ขึ้น
ยาขยายรูม่านตามีกี่ประเภท?
ยาขยายรูม่านตา แบ่งได้เป็น 2 ประเภท/กลุ่มตามกลไกการออกฤทธิ์ แต่นิยมใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกันเพื่อให้รูม่านตาขยายได้ดีขึ้น ได้แก่
1. ยาที่มีผลกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathomimetic drugs): เช่นยา ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine)
2. ยาต้านโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic drugs): เช่นยา อะโทรปีน (Atropine), ไซโคลเพนโทเลต (Cyclopentolate), โทรพิคาไมด์ (Tropicamide)
ยาขยายรูม่านตามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาขยายรูม่านตามีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาน้ำใส (Solution)
- ยาขี้ผึ้ง (Ointment)
อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”
ยาขยายรูม่านตามีข้อบ่งใช้อย่างไร?
ยาขยายรูม่านตามีข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้หยอดขยายรูม่านตา เพื่อตรวจหาความผิดปกติในลูกตา เช่น แก้วตา จอตา
- ใช้หยอดขยายรูม่านตาก่อนทำการผ่าตัด
- ใช้รักษาอาการอักเสบบริเวณตา/ลูกตา และโรคตาบางชนิด เช่น ตาขี้เกียจ (Amblyopia)
- ใช้หยอดเพื่อคลายการเพ่งสายตาในเด็ก เนื่องจากเด็กมีความสามารถในการเพ่งสายตาเพื่อให้มองชัดในระยะใกล้ได้มากกว่าวัยอื่นๆ ทำให้ได้ค่าสายตาที่ไม่ถูกต้องหากต้องการวัดสายตาเพื่อตัดแว่น
ยาขยายรูม่านตามีข้อห้ามใช้อย่างไร?
ยาขยายรูม่านตามีข้อห้ามใช้ เช่น
1.1 ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยาขยายรูม่านตาชนิดนั้นๆ หรือร่างกาย/ตามีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง(Hypersensitivity)ต่อยาฯนั้นๆ
1.2 ห้ามใช้ยากลุ่ม Anticholinergic drugs ในผู้ป่วยโรคต้อหินมุมปิด
มีข้อควรระวังการใช้ยาขยายรูม่านตาอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาขยายรูม่านตา เช่น
- เมื่อหยอดตาขยายรูม่านตาแล้ว อาจทำให้ตาสู้แสงไม่ได้ มีการมองเห็นผิดปกติ หรือมองภาพไม่ชัด ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีแสงจ้า ป้องกันแสงเข้าตาโดยการสวมแว่นกันแดด รวมถึงไม่ขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
- ควรระวังการใช้ยา Phenylephrine ในผู้ป่วย
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคความดันโลหิตสูง
- และภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
- ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Anticholinergic drugs ในผู้ที่
- มีภาวะความดันโลหิตสูง
- มีความผิดปกติของสมอง
- กลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome)
- และภาวะอัมพาตที่มีกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Spastic paralysis)
การใช้ยาขยายรูม่านตาในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาขยายรูม่านตาในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น
- ยาขยายรูม่านตาทุกชนิด ควรใช้เฉพาะเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่อาจได้รับคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์
การใช้ยาขยายรูม่านตาในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาขยายรูม่านตาในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น
- ควรระวังการใช้ยา Phenylephrine ในผู้สูงอายุ เพราะมีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้มากกว่าวัยอื่น
- ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Anticholinergic drugs ในผู้สูงอายุ เพราะยากลุ่มนี้
- ส่งผลให้ความดันลูกตาสูงขึ้น ดังนั้น ผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจสุขภาพตาก่อนเริ่มใช้ยากลุ่มนี้
- นอกจากนี้อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้อื่นๆทางจิตประสาท เช่น สับสน กระสับกระส่าย ประสาทหลอน
การใช้ยาขยายรูม่านตาในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาขยายรูม่านตาในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Phenylephrine ที่มีความแรง 10 % ในเด็กทารก
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Phenylephrine ที่มีความแรง 2.5%, 10 % ในเด็กทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวต่ำ
- ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Anticholinergic drugs ในเด็ก เพราะอาจทำให้เกิดภาวะตัวร้อนเกิน (Hyperthermia,ภาวะตัวร้อนเกินปกติ/ไข้สูงที่เกิดจากร่างกายเกิดความผิดปกติในระบบควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อยู่ในสภาพอากาศร้อน หรือกำลังเป็นไข้
- ควรระวัง อาการชัก และโรคจิตชนิดเฉียบพลัน (Acute psychosis) จากการใช้ยา Cyclopentolate เพราะมีโอกาสพบได้ในผู้ป่วยเด็กมากกว่าวัยอื่นๆ ดังนั้นควรเฝ้าระวังพฤติกรรมอย่างใกล้ชิดหลังได้รับยานี้ไปแล้วประมาณ 30 นาที และควรระวังการใช้ยานี้ในเด็กที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาขยายรูม่านตาเป็นอย่างไร?
อาการไม่พึงประสงค์จากยา /ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง จากการใช้ยาขยายรูม่านตามีดังนี้ เช่น
- ยา Phenylephrine: อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง เช่น
- ผลต่อตา: เช่น ปวดตา แสบตา มองภาพไม่ชัด ตาสู้แสงไม่ได้
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง หน้ามืด ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ยากลุ่ม Anticholinergic drugs: ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง เช่น
- ผลต่อตา: เช่น ปวดตา แสบตา ระคายเคืองตา ตาแดง มองภาพไม่ชัด เปลือกตาบวม ตาสู้แสงไม่ได้ มองไม่เห็นในที่มืด
- อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ: เช่น ความดันในลูกตาสูง ปากแห้ง ปัสสาวะลำบาก ใบหน้าแดง หัวใจเต้นเร็ว สับสน มึนงง ประสาทหลอน ความจำเสื่อมชั่วคราว อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ง่วงซึม
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาขยายรูม่านตา) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต. ทำไมต้องขยายม่านตา https://eent.co.th/articles/038/ [2019,Jan5]
- สุนทรี ธิติวิเชียรเลิศ. ภาวะสายตาสั้นในเด็ก. ธรรมศาสตร์เวชสาร ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2559): 672-683.
- American Academy of Ophthalmology. Diagnostic Agents. https://www.aao.org/focalpointssnippetdetail.aspx?id=9c240b2e-6134-4926-a91d-6c69b1ee4a3d [2019,Jan5]
- American Association for Pediatric Ophthalmology and Strabismus. Dilating Eye Drops. https://www.aapos.org/terms/conditions/43 [2019,Jan5]
- Mayo Foundation for Medical Education and Research. Phenylephrine (Ophthalmic Route). https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/phenylephrine-ophthalmic-route/description/drg-20067902 [2019,Jan5]