ยากำจัดขน (Hair removal medications)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยากำจัดขน

ยากำจัดขนคือยาอะไร?

ยากำจัดขน(Hair removal medications) คือ ยาที่ออกฤทธิ์ลดจำนวนเส้นขน หรือช่วยกำจัดขนออกไปชั่วคราว สาเหตุที่ผู้ป่วยเลือกใช้ยากำจัดขนมีดังต่อไปนี้ เช่น

  • เพื่อความสวยงาม
  • เพิ่มความมั่นใจ
  • กำจัดขนที่มีสาเหตุจากโรคบางชนิด เช่น
    • ภาวะขนดก (Hirsutism)
    • ภาวะที่มีขนขึ้นเพิ่มตามร่างกายจากโรคหรือการใช้ยาบางชนิด (Hypertrichosis) เช่นยา
      • Minoxidil
      • Cyclosporin

ยากำจัดขนมีกี่ประเภท?

ยากำจัดขน แบ่งเป็นกลุ่ม/ประเภทได้ดังนี้ เช่น

  • ยาอีฟลอร์นิทีน (Eflornithine)
  • ผลิตภัณฑ์กำจัดขน (Chemical depilatory agents) เป็นสารเคมีจำพวกเกลือของกรดไทโอไกลโคลิก(Thioglycolic acid) ได้แก่ แคลเซียม ไทโอไกลโคเลท (Calcium thioglycolate), โซเดียม ไทโอไกลโคเลท (Sodium thioglycolate)

ยากำจัดขนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากำจัดขนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยา Eflornithine อยู่ในรูปแบบยาครีม (Cream)
  • ผลิตภัณฑ์กำจัดขน อยู่ในรูปแบบ เช่น
    • ยาเจล (Gel)
    • ยาครีม (Cream)
    • ยาโลชั่น (Lotion)
    • ยาพ่นแบบละอองฝอย (Aerosol)
    • ลูกกลิ้ง (Roll-on)

อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยากำจัดขนอย่างไร?

ข้อบ่งใช้ยากำจัดขน เช่น

  • ยา Eflornithine: ใช้รักษาภาวะขนดกบริเวณใบหน้าและคางในผู้หญิง โดยลดจำนวนขนบริเวณที่ทายา
  • ผลิตภัณฑ์กำจัดขน: ออกฤทธิ์ให้เส้นขนบวมและขาดออกจากรากที่อยู่ใต้ผิวหนัง ใช้กำจัดขนบริเวณ ขา แขน ใต้วงแขน และขอบบีกินี่

มีข้อห้ามใช้ยากำจัดขนอย่างไร?

ข้อห้ามใช้ยากำจัดขน เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่ แพ้ยา แพ้สารเคมี นั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง(Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดขนบริเวณผิวที่มี แผล, พุพอง, อักเสบ, ระคายเคือง, ผิวไหม้จากแสงแดด, บริเวณคิ้ว, ผิวหนังรอบดวงตา, หรือ ผ่านการโกนขนมาน้อยกว่า 72 ชั่วโมง

มีข้อควรระวังการใช้ยากำจัดขนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากำจัดขน เช่น

  • ยา Eflornithine เป็นยาที่ลดจำนวนขนจากการออกฤทธิ์ให้ขนขึ้นช้าลง แต่ไม่ได้กำจัดขนออกไปทั้งหมด ดังนั้นผู้ป่วยอาจต้องใช้วิธีการกำจัดขนอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การโกน, การแว็กซ์, การใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดขน
  • หากผู้ป่วยมีอาการระคายเคืองบริเวณที่ใช้ยา Eflornithine ควรลดความถี่ในการใช้ลง หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรหยุดใช้ยาทันที หรือพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  • ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดขน ควร
    • อ่านคำแนะนำบน ฉลากยา/ เอกสารกำกับยา และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
    • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฯบริเวณใบหน้าหากไม่มีข้อบ่งใช้
    • ใช้ผลิตภัณฑ์ในปริมาณที่เหมาะสมตามที่กำหนดในเอกสารกำกับยา หรือตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร
    • และทายาฯทิ้งไว้ตามช่วงเวลาที่กำหนดในเอกสารกำกับยา หรือตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร
  • ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดขน ควรทดสอบโดยการทาผลิตภัณฑ์ปริมาณน้อยบริเวณผิวที่ต้องการใช้ เพื่อทดสอบอาการระคายเคืองหรืออาการแพ้
  • หากผลิตภัณฑ์เข้าตา ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก ถ้ามีอาการรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลพร้อมฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้

การใช้ยากำจัดขนในหญิงมีครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยากำจัดขนในหญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ ยา Eflornithine มากเพียงพอในหญิงมีครรภ์ ดังนั้นแพทย์จะใช้ยานี้ก็ต่อเมื่อประโยชน์ที่ผู้ป่วยอาจได้รับมีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์เท่านั้น
  • สารสำคัญที่อยู่ในผลิตภัณฑ์กำจัดขน จะแตกตัวได้เป็นเกลือ Thioglycolate และไอออนของโซเดียม แคลเซียม และอื่นๆ เช่น ไฮดรอกไซด์, โพแทสเซียม, เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้ถูกดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกายได้ค่อนข้างน้อย จึงยังไม่มีรายงานอันตรายใดๆ ต่อการใช้ในหญิงมีครรภ์

การใช้ยากำจัดขนในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยากำจัดขนในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ผู้สูงอายุสามารถใช้ ยา Eflornithine ได้ โดยไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ ที่แตกต่างไปจากวัยอื่น
  • ผู้สูงอายุนั้นมักจะมีผิวที่แห้งและบางกว่าในวัยผู้ใหญ่ ดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดขนซึ่งมักจะมีความเป็นด่างค่อนข้างสูงในสูตรตำรับ อาจส่งผลให้มีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้มากกว่า เช่น อาการคัน, อาการระคายเคือง บริเวณที่ใช้

การใช้ยากำจัดขนในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยากำจัดขนในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ยา Eflornithine เป็นยาที่ใช้ได้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีนั้น ยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยามากเพียงพอ
  • ผลิตภัณฑ์กำจัดขน สามารถใช้ในเด็กได้เช่นเดียวกันกับวัยผู้ใหญ่ แต่เนื่องจากเด็กมีผิวหนังที่บอบบางกว่า จึงอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาฯได้มากกว่า

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยากำจดขนมีอะไรบ้าง?

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยากำจดขน เช่น

  • ยา Eflornithine อาจทำให้เกิด
    • ผื่นแพ้บริเวณที่ใช้
    • เกิดแผลเลือดออก
    • อาการชา บริเวณที่ใช้
    • ปากบวม ริมฝีปากอักเสบ
    • โรคเริม
    • ผื่นผิวหนังอักเสบชนิด โรซาเชีย (Rosacea)
  • ผลิตภัณฑ์กำจัดขน อาจทำให้เกิดอาการต่างๆในบริเวณที่ใช้ยาฯ เช่น
    • อาการแพ้ยา
    • คัน
    • ระคายเคือง
    • ผิวไหม้
    • ผิวลอก
    • รูขุมขนอักเสบ
    • ขนคุด
    • ผื่นแพ้สัมผัสจากสาร thioglycolate หรือน้ำหอมที่อยู่ในสูตรตำรับ

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากำจัดขน) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. ธิติกาญจน์ เลิศหิรัญวงศ์ และธิติกาญจน์ เลิศหิรัญวงศ์. ภาวะขนดก (Hirsutism) http://www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=1008%3Ahirsutism&catid=45&Itemid=561 [2019,Aug31]
  2. พิมลพรรณ พิทยานุกุล. ครีมกำจัดขน: ใช้เป็นประจำ มีอันตรายหรือไม่ ? https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/389/ [2019,Aug31]
  3. สุวิดา เลาหภัทรพันธุ์, ศรัณย์ ตันตะราวงศา และธวัชชัย แพชะมัด. การกำจัดขนชั่วคราวด้วยสารเคมี. ไท ยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ 7 (เมษายน – มิถุนายน 2555): 106-110.
  4. Vakharia, P. Nonlaser Hair Removal Techniqueshttps://emedicine.medscape.com/article/1067139-overview [2019,Aug31]
  5. Bozzo, P., and others. Safety of skin care products during pregnancy. Canadian Family Physician 57 (June 2011): 665-667.