ยากาบาเพนติน (Gabapentin) ยานิวรอนติน (Neurontin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 พฤศจิกายน 2556
- Tweet
- บทนำ
- ยากาบาเพนตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยากาบาเพนตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยากาบาเพนตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยากาบาเพนตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยากาบาเพนตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยากาบาเพนตินย่างไร?
- ยากาบาเพนตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายากาบาเพนตินอย่างไร?
- ยากาบาเพนตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทนำ
กาบาเพนติน (Gabapentin) เป็นยาที่รู้จักกันดีในชื่อการค้าว่า นิวรอนติน (Neurontin) ผู้ ผลิตคือ บริษัท Pfizer ยานี้ถูกสังเคราะห์ให้มีโครงสร้างคล้ายสารสื่อประสาทของสมองมนุษย์ที่เรียกว่า GABA และถูกนำไปใช้รักษาอาการชัก รวมไปถึงอาการปวดตามเส้นประสาท ทางการ แพทย์ได้นำมาใช้ในสถานพยาบาลอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตามยานี้ไม่สมควรไปหาซื้อมารับ ประทานเอง ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น
ยากาบาเพนตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยากาบาเพนตินมีสรรพคุณ ดังนี้ คือ
- ใช้รักษาอาการชักชนิดที่เรียกว่า Partial Seizures
- รักษาอาการปวดตามเส้นประสาท
ยากาบาเพนตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยากาบาเพนตินจะออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งของสารสื่อประสาท ที่เรียกว่า Mono-amine neurotransmitters อีกทั้งลดความตื่นตัวของเซลล์ประสาทส่วนที่เรียกว่า แอกซอน(Axon) นอกจากนี้ยังเข้าไปรบกวนการแลกเปลี่ยนแคลเซียมของเซลล์ประสาทในสมอง (Cortical Neurons) ด้วยกลไกข้างต้น จึงสามารถบรรเทาอาการชักและลดอาการเจ็บปวดที่เกิดจากเส้นประสาทได้
ยากาบาเพนตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากาบาเพนติน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้คือ
- ชนิดบรรจุแคปซูล ขนาดความแรงยา 100, 300, 400 มิลลิกรัม
- ชนิดเม็ด ขนาดความแรงยา 600 มิลลิกรัม
ยากาบาเพนตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยากาบาเพนตินนี้ สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาสั่งจ่าย พร้อมปรับขนาดการรับประทานตามความเหมาะสม
- ขนาดที่รักษาอาการชัก ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป รับประทาน 900 – 3,600 มิลลิ กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานในวันแรก รับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง จากนั้นแพทย์จะปรับขนาดรับประทานตามความเหมาะสม และผู้ป่วยสามารถรับยาได้สูงสุดไม่เกิน 3,600 มิลลิกรัม/วัน
- ขนาดที่รักษาอาการชัก ในเด็กอายุ 3 - 12 ปี รับประทาน 10–15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเด็ก 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ3 ครั้ง จากนั้นแพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานตามอายุ และตามอาการของเด็ก
- ขนาดที่ใช้รักษาอาการปวดของเส้นประสาท ในผู้ใหญ่รับประทาน 900 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 3 ครั้ง/วัน และปรับขนาดรับประทานสูงสุด (โดยแพทย์) ไม่เกิน 3,600 มิลลิกรัม/วัน
อนึ่ง หากผู้ป่วยมีไตทำงานบกพร่อง แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานยาอย่างเหมาะสมเป็นรายๆไป
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยากาบาเพนติน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก หรือขึ้นผื่น
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะ ยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงของยาต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยากาบาเพนติน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ซึ่งถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
ยากาบาเพนตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากาบาเพนตินนี้ สามารถก่อผลไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง ให้เกิดอาการหน้าบวม มีความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ท้องอืด เบื่ออาหาร เวียนศีรษะ วิตกกังวล และ/หรือความ รู้สึกและการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งต่างๆลดลง อาจติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ อาจมีการมองเห็นภาพพร่ามัว/ตาพร่า/ตามัว ในเด็กอาจพบว่า มีอาการไข้ คลื่นไส้หรืออาเจียน และ/หรือสามารถพบการติดเชื้อไวรัสร่วมด้วยได้
มีข้อควรระวังการใช้ยากาบาเพนตินอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยากาบาเพนติน ได้แก่
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้หญิงมีครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยก่อให้เกิดการวิกลรูปของ ทารก อีกทั้งขับออกทางน้ำนม
- ขณะใช้ยาไม่ควรทำงานกับเครื่องจักรหรือขับขี่ยานพาหนะ เพราะการควบคุมการทำงานของร่างกาย อาจไม่เป็นไปตามปกติ จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
- การได้รับยาเกินขนาดจะส่งผลให้มีอาการดังนี้ วิงเวียนจนเสียการทรงตัว ตาพร่ามัว พูด จาไม่ชัด ง่วงนอน ท้องเสีย ควรต้องรีบนำส่งแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็ว
*****หมายเหตุ
ทุกๆคนควรต้องตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอเช่นกัน
ยากาบาเพนตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยากาบาเพนตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้คือ
- การรับประทานยากาบาเพนตินร่วมกับยาลดกรด จะทำให้ระดับการกระจายตัวของกาบา เพนตินในร่างกายลดต่ำลง ประสิทธิภาพของยาจึงต่ำลง ยาลดกรดดังกล่าว เช่น Aluminium Hydroxide และ Magnexium Hydroxide
- การรับประทานยากาบาเพนตินร่วมกับยาแก้แพ้ จะก่อให้เกิดอาการวิงเวียน และง่วงนอนมากขึ้น ยาแก้แพ้ดังกล่าว เช่น Dexbrompheniramine และ Diphenhydramine
- การรับประทานยากาบาเพนตินร่วมกับยาแก้ไอที่เป็นอนุพันธ์ของฝิ่น จะก่อให้เกิดอา การวิงเวียนและง่วงนอน ยาแก้ไอดังกล่าว เช่น Hydrocodone
ควรเก็บรักษายากาบาเพนตินอย่างไร?
สามารถเก็บยา กาบาเพนตินในช่วงอุณหภูมิห้อง พ้นจากแสงแดดและความชื้น และต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยากาบาเพนตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่ออื่นของยากาบาเพนตินและบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
Gabantin (กาบันติน) | M & H Manufacturing |
Gabapentin GPO (กาบาเพนติน จีพีโอ) | GPOl |
Gabapentin Sandoz (กาบาเพนติน แซนดอส) | Sandoz |
Gabapentin Teva (กาบาเพนติน ทีวา) | Teva |
Gabutin (กาบูติน) | Siam Bheasach |
Neurontin (นูรอนติน) | Pfizer |
Neverpentin (เนเวอร์เพนติน) | Daewoong Pharma |
Rontin (รอนติน) | Biolab |
Vultin (วุลติน) | Unison |