ยากระตุ้นการหายใจ (Respiratory stimulant drugs)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยากระตุ้นการหายใจ

ยากระตุ้นการหายใจหมายความอย่างไร?

ยากระตุ้นการหายใจ(Respiratory stimulant drugs หรือ Respiratory stimulants หรือ Analeptic drugs) หมายถึง ยาที่กระตุ้นให้การหายใจของผู้ป่วยที่หายใจช้าผิดปกติ หรือกำลังจะหยุดหายใจ สามารถกลับมาหายใจเป็นปกติได้ด้วยตนเองอีกครั้ง

ยากระตุ้นการหายใจแบ่งเป็นกี่ประเภท?

ยากระตุ้นการหายใจ แบ่งตามชนิดของยาได้เป็น3 ชนิด/ประเภท ดังนี้

1.1 ยาด็อกซาแพรม (Doxapram)

1.2 ยาอัลมิทริน (Almitrine)

1.3 ยากลุ่มเมทิลแซนทีน(Methylxanthines)/อนุพันธ์แซนทีน(Xanthine derivative) ได้แก่ ยากาเฟอีน (Caffeine)

ยากระตุ้นการหายใจมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากระตุ้นการหายใจมีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้

  • ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous injection ย่อว่า IV injection)
  • ยาหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ (Intravenous infusion ย่อว่า IV infusion)
  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาน้ำใส (Solution)
  • ยาผงชนิดผสมน้ำก่อนใช้ (Powder for reconstitution)

อนึ่ง อ่านเรื่องรูปแบบของยาแผนปัจจุบันเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยากระตุ้นการหายใจอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยากระตุ้นการหายใจ ดังนี้ เช่น

ก. ยา Doxapram: ใช้กระตุ้นการหายใจหลังการผ่าตัดในผู้ป่วยที่เกิดภาวะการหายใจล้มเหลว หรือหยุดหายใจหลังจากได้รับยาดมสลบ, ใช้กระตุ้นการหายใจในผู้ป่วยที่เกิดภาวะการหายใจล้มเหลวจากการทำงานของระบบประสาทถูกกดจากการได้รับยาบางชนิดเกินขนาด เช่น ยากดระบบประสาทส่วนกลาง, ใช้กระตุ้นการหายใจในผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังที่มีภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน

ข. ยา Almitrine: ใช้รักษาภาวะหายใจล้มเหลวเรื้อรัง (Chronic respiratory failure) และใช้เพิ่มระดับออกซิเจนในเลือดในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(Chronic obstructive pulmonary disease ย่อว่า COPD)

ค. ยาCaffeine: ใช้ในการรักษาระยะสั้นสำหรับภาวะหยุดหายใจชั่วคราว (Apnea) ในทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีอายุครรภ์อยู่ระหว่าง 28-33 สัปดาห์

มีข้อห้ามใช้ยากระตุ้นการหายใจอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยากระตุ้นการหายใจดังนี้ เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ

2. ห้ามใช้ยา Doxapram ในผู้ป่วยที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะสมองบวม ภาวะมีการบาดเจ็บที่ศีรษะ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน/ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดปอด (Pulmonary embolism) หรือ ระบบหายใจมีปัญหา เช่น มีเสียงหวีดขณะหายใจ (Wheezing)

3. ห้ามใช้ยา Almitrine ในผู้ป่วยที่มีภาวะตับทำงานบกพร่อง/ตับอักเสบอย่างรุนแรง

4. ยาCaffeine มีข้อห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้สาร Caffeine

มีข้อควรระวังการใช้ยากระตุ้นการหายใจอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากระตุ้นการหายใจ ดังนี้ เช่น

1.ระวังการใช้ยา Doxapram ในผู้ป่วยที่กำลังได้รับยาดมสลบ ผู้มีการทำงานของตับบกพร่อง ผู้มีเนื้องอกบริเวณต่อมหมวกไตชนิด Pheochromocytoma และในผู้มีความดันโลหิตสูง

2.ไม่ควรใช้ยา Almitrine ในผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยที่มีการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสและน้ำตาลกาแล็คโทสได้น้อยกว่าปกติ (Glucose-galactose malabsorption) และผู้ป่วยโรคหืด เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะหลอดลมหดเกร็ง (Bronchospasm)/หายใจลำบาก

3. ทารกคลอดก่อนกำหนดที่ได้รับยา Caffeine ควรเฝ้าระวังการเกิดภาวะลําไส้อักเสบชนิดลำไส้อักเสบเน่าตาย(Necrotizing enterocolitis) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

การใช้ยากระตุ้นการหายใจในหญิงตั้งครรภ์ครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยากระตุ้นการหายใจในหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1. ยา Doxapram เป็นยาที่สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ แต่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้รักษาใกล้ชิด

2. ยา Almitrine และยาCaffeine เป็นยาที่จะเลือกใช้ในหญิงตั้งครรภ์ก็ต่อเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้นมีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์

การใช้ยากระตุ้นการหายใจในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยากระตุ้นการหายใจในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

1. วัยสูงอายุเป็นวัยที่มีการทำงานของตับและของไตลดลง หรือป่วยเป็นโรคตับและ/หรือโรคไต ดังนั้นแพทย์อาจจำเป็นต้องปรับลดขนาดยากลุ่มนี้ลง โดยพิจารณาเป็นกรณีไป

2. เนื่องจากวัยสูงอายุมักจะใช้ยาอยู่หลายๆชนิด ผู้ป่วยจึงควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกรว่า กำลังใช้ยาอะไรอยู่เป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction) รวมทั้งควรเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากยากระตุ้นการหายใจ เช่น หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น

การใช้ยากระตุ้นการหายใจในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยากระตุ้นการหายใจในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

1.ไม่ควรใช้ยา Doxapram ในเด็ก การใช้ Doxapram อย่างต่อเนื่องในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด อาจทำให้พัฒนาการทางสมองของเด็กช้าลง หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตสูง อุจจาระเป็นเลือด ปวดท้อง ฟันขึ้นเร็วกว่าปกติ เป็นต้น

2.การใช้ยา Almitrine ในเด็กควรลดขนาดยาลง โดยคำนวณตามน้ำหนักตัวของผู้ป่วยเด็กแต่ละราย เพื่อลดโอกาสการได้รับยานี้เกินขนาดจนเกิดผลข้างเคียงจากยาที่สูงขึ้นจนอาจเกิดอันตรายต่อเด็กได้ เช่น ง่วงซึม หัวใจเต้นเร็ว ความดันในกะโหลกศีรษะสูง

3.ระวังการใช้ยาCaffeine ในทารกที่เป็นโรคลมชัก เพราะยา Caffeine ขนาดสูงอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ คือ ทำให้อาการชักรุนแรงขึ้น และระวังการใช้ยา Caffeine ในทารกที่เป็นโรคหัวใจ เพราะอาจทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยากระตุ้นการหายใจเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยากระตุ้นการหายใจมีดังนี้ เช่น

1.ยาDoxapram ทำให้เกิดภาวะหายใจลำบาก มีเสียงหวีดขณะหายใจ แน่นหน้าอก เหงื่อออกมาก ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดปกติ ปวดศีรษะ มึนงง

2.ยาAlmitrine ทำให้เกิดความผิดปกติของปลายประสาท (Peripheral neuropathy) โดยเฉพาะบริเวณสะโพก และขา และทำให้น้ำหนักตัวลด

3.ยาCaffeine ทำให้มีอาการ กระสับกระส่าย กล้ามเนื้อสั่นและกระตุก (Jitteriness) หัวใจเต้นเร็ว ปัสสาวะบ่อย ท้องอืด อาเจียน อุจจาระเป็นเลือด

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากระตุ้นการหายใจด้วย) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. Golder, F.J., and others. Respiratory stimulants drugs in the post-operative setting.Respiratory and Physiology 189. (2013) : 395-402
  2. ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. สรุปข่าวด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖. http://thaihpvc.fda.moph.go.th/thaihvc/Public/News/uploads/hpvc_2_6_0_100396.pdf. [2016, Dec24]
  3. U.S. Food and Drug Administration. Caffeine citrate http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2000/20793s1lbl.pdf [2016, Dec24]
  4. European Medicines Agency. Oral almitrine to be withdrawn by EU Member States http://www.ema.europa.eu/docs/en_GB/document_library/Press_release/2013/05/WC500143801.pdf [2016, Dec24]