ม้ามทำงานเกิน (Hypersplenism)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 3 ตุลาคม 2562
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม? มีกี่ชนิด?
- อะไรเป็นสาเหตุให้ม้ามทำงานเกิน?
- ม้ามทำงานเกินมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
- แพทย์วินิจฉัยภาวะม้ามทำงานเกินอย่างไร?
- รักษาภาวะม้ามทำงานเกินอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ม้ามทำงานเกินมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ม้ามทำงานเกินมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ป้องกันภาวะม้ามทำงานเกินได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- โรคตับแข็ง (Liver cirrhosis)
- โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
- ไขกระดูกเป็นพังผืด (Myelofibrosis)
- โรคมัยอีโลโพรลิฟเฟอเรทีฟ (Myeloproliferative disease)
- มะเร็ง (Cancer)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม? มีกี่ชนิด?
ม้ามทำงานเกิน(Hypersplenism) คือ โรค/ภาวะที่ม้ามทำงานมากเกินปกติ จนส่งผลให้เกิด ภาวะม้ามโต ภาวะซีด ภาวะเลือดออกง่าย และภาวะติดเชื้อง่าย ซึ่งทั่วไปทาง แพทย์จัดภาวะม้ามทำงานเกินอยู่ในกลุ่มโรคเลือด
ม้าม(Spleen)เป็นอวัยวะอยู่ในส่วนบนของช่องท้องด้านซ้ายสุด ใต้ต่อกะบังลม โดยอยู่ในระดับของกระดูกซี่โครงซี่ที่ 9 – 11 จัดเป็นอวัยวะหนึ่งของระบบน้ำเหลืองคือ ทำหน้าที่เป็นต่อมน้ำเหลืองขนาดใหญ่ที่สุดของร่างกาย มีรูปร่างเป็นก้อนที่ค่อนข้างกลม มีสีออกน้ำตาลแดงหรือบางคนบอกว่าม่วงคล้ำ ขนาดยาวประมาณ 5.5 นิ้ว กว้างประมาณ 3 นิ้ว หนาประมาณ 1 นิ้ว และมีน้ำหนักประมาณ 150 - 200 กรัม ม้ามมีหน้าที่กรองเม็ดเลือดแดงที่เสียหายออกจากหลอดเลือด ร่วมกับการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้กับร่างกาย ช่วยกำจัดเชื้อโรคที่เข้ามาในกระแสเลือด และในภาวะที่เกิดความผิดปกติกับไขกระดูกจนไขกระดูกไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดได้เพียงพอ ม้ามจะทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดต่างๆแทน ที่เรียกว่า Extramedullary hematopoiesis
ม้ามทำงานเกิน พบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ พบทุกอายุ เป็นโรค/ภาวะพบได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับบ่อย สถิติเกิดที่แท้จริงทั่วโลกยังไม่มีการศึกษา ในสหรัฐอเมริการมีรายงานพบได้ประมาณ2-6%ของประชากร พบทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ เพศชายและเพศหญิงพบใกล้เคียงกัน
ม้ามทำงานเกิน แบ่งได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ ชนิดปฐมภูมิ, ชนิดทุติยภูมิ, และชนิดซ่อนเร้น
ก. ม้ามทำงานเกินชนิดปฐมภูมิ(Primary hypersplenism หรือ Essential hypersplenism) ได้แก่ ชนิดที่โรคเกิดขึ้นเอง แพทย์หาสาเหตุไม่ได้ โรคกลุ่มนี้พบได้น้อย
ข. ม้ามทำงานเกินชนิดทุติยภูมิ(Secondary hypersplenism) ได้แก่ ชนิดที่ แพทย์หาสาเหตุพบ เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะ/โรคม้ามทำงานเกิน
ค. ม้ามทำงานเกินชนิดซ่อนเร้น(Occult hypersplenism) ซึ่งแพทย์บางท่านจัดแบ่งให้ชนิดนี้เป็นชนิดที่3 ซึ่งคือ กลุ่มผู้ป่วยที่อาจเป็นโรคชนิดปฐมภูมิหรือ ชนิดทุติยภูมิก็ได้ แต่เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการน้อยมากๆ หรืออาจไม่มีอาการเลย แพทย์ตรวจพบได้โดยบังเอิญ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่มีความผิดปกติของไขกระดูก แต่บางคนอาจพบไขกระดูกผิดปกติได้แต่ในความรุนแรงที่น้อยมากๆจนไม่ก่ออาการโรค โรคกลุ่มนี้ การรักษา เป็นเพียงการเฝ้าติดตามโรคเป็นระยะๆตามดุลพินิจของแพทย์ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาใดๆรักษาควบคุมโรค โรคกลุ่มนี้พบน้อยเช่นกัน
อะไรเป็นสาเหตุให้ม้ามทำงานเกิน?
สาเหตุที่ทำให้ม้ามทำงานเกิน ได้แก่
ก. ไม่ทราบสาเหตุ
ข. กลุ่มที่ทราบสาเหตุ เป็นภาวะม้ามทำงานเกินที่พบได้บ่อย โดยสาเหตุได้แก่
- ร่างกายติดเชื้อต่างๆ เช่น
- ติดเชื้อไวรัส เช่น โรคไวรัสตับอักเสบซี โรคติดเชื้ออีบีวี
- ติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคบรูเซลลโลซิส วัณโรคที่ตับ โรคซิฟิลิสระยะรุนแรง
- ติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว เช่น โรคมาลาเรีย
- โรคตับแข็งที่เกิด จากโรคพิษสุราเรื้อรัง จากโรคไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี
- โรคตับที่มีความดันหลอดเลือดดำตับสูง/ ความดันหลอดเลือดพอร์ทัลตับสูง (Portal hypertension) เช่น ในโรคตับแข็งจากทุกสาเหตุ เช่น จากดื่มแอลลกอฮอลล์ จากตับติดเชื้อโรคชนิดต่างๆเรื้อรัง ไขมันพอกตับเรื้อรัง โรคออโตอิมมูน อาการไม่พึงประสงค์จากยา
- โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลืดขาว
- โรคเลือด เช่น ธาลัสซีเมีย, ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกเรื้อรัง เช่น ในโรคออโตอิมมูน
- โรคมัยอีโลโพรลิฟเฟอเรทีฟ (Myeloproliferative disease) เช่น โรคเลือดหนืด โรคไขกระดูกเป็นพังผืด
- โรคทางพันธุกรรม สาเหตุนี้พบน้อยมาก เช่น โรคเกาเชอร์ (Gaucher disease, โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบน้อยมากที่ร่ายกายสะสมไขมันมากผิดปกติในอวัยวะต่างๆจนอวัยวะเหล่านั้นทำงานผิดปกติ)
- อื่นๆ: ที่พบได้น้อยมากๆ เช่น โรคหลอดเลือดม้ามโป่งพอง โรคเนื้องอกหลอดเลือดม้าม(Splenic hemangioma) โรคถุงน้ำในม้าม เป็นต้น
ม้ามทำงานเกินมีอาการอย่างไร?
อาการจากม้ามทำงานเกิน ได้แก่ อาการที่เกิดจากความผิดปกติของม้ามเอง, และร่วมกับอาการจากสาเหตุ
ก. อาการจากตัวม้ามเอง ที่จะเหมือนกันในผู้ป่วยแต่ละราย ที่พบได้บ่อย คือ
- ม้ามโต คลำพบได้จากทางหน้าท้อง
- ภาวะซีด จากม้ามจะกำจัดเม็ดเลือดแดงทุกชนิด(เช่น เม็ดเลือดแดงตัวอ่อน เม็ดเลือดแดงปกติ เม็ดเลือดแดงที่หมดอายุแล้ว เม็ดเลือดแดงที่บาดเจ็บเสียหาย)ออกจากเลือด เลือด/ร่างกายจึงขาดเม็ดเลือดแดง ส่งผลเกิดภาวะซีด
- ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย เพราะระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
- เลือดออกง่าย และหยุดยาก เพราะเกล็ดเลือดต่ำ
- ท้องป่อง แน่นท้อง/อึดอัดท้อง กินอาหารได้น้อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ เพราะม้ามที่โตจะกดเบียดทับ กระเพาะอาหารและลำไส้
- แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย จากม้ามโตจนกด/ดัน กะบังลมและปอด
- ถ้าม้ามโตมาก เมื่อมีอุบัติเหตุที่ช้องท้อง ม้ามจะแตกง่าย เกิดการเสียเลือดเฉียบพลันรุนแรง และมีภาวะช็อกตามมาจนเป็นสาเหตุเสียชีวิตได้
ข. อาการจากสาเหตุ จะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคนตามสาเหตุ แนะนำอ่านรายละเอียดของโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ(กล่าวใน หัวข้อ ‘สาเหตุฯ’)เพิ่มเติม ที่รวมถึง อาการ ฯลฯ ในเว็บhaamor.com
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
กรณีมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้ออาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยภาวะม้ามทำงานเกินอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะม้ามทำงานเกิน ได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ , การมีภาวะเลือดออกง่าย, ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย
- การตรวจร่างกาย ซึ่งที่สำคัญที่สุด คือ คลำหน้าท้องพบม้ามโต ร่วมกับ มีภาวะซีด
- และการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมอื่นๆเพื่อหาสาเหตุ เช่น
- การตรวจเลือด ซีบีซี/CBC
- การตรวจเลือด ดูการทำงานของตับ, ดูค่าสารภูมิต้านทาน, สารก่อภูมิต้านทานต่างๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของโรค
- การตรวจปัสสาวะ
- ตรวจภาพม้าม /การตรวจช่องท้องด้วย เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิเตอร์/ ซีทีสแกน และ/หรือ เอมอาร์ไอ
- อาจมีการตรวจเซลล์จากไขกระดูก (การตรวจทางเซลล์วิทยา)
- และ/หรือการตัดชิ้นเนื้อจากไขกระดูกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาภาวะม้ามทำงานเกินอย่างไร?
แนวทางการรักษาภาวะม้ามทำงานเกิน ได้แก่ การรักษาให้ม้ามยุบขนาดลง ร่วมกับการรักษาสาเหตุ
ก. การรักษาให้ขนาดม้ามเล็กลง ซึ่งจะเลือกใช้วิธีการใด จะขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้ม้ามโต และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป วิธีรักษา เช่น
- การรักษาด้วยวิธีการทางรังสีร่วมรักษาด้วยการใส่สารอุดตันเข้าอุดตันหลอดเลือดที่เลี้ยงม้ามเพื่อให้หลอดเลือดม้ามมีขนาดเล็กลง(Partial splenic artery embolization) ขนาดของม้ามจึงเล็กลงตามไปด้วย
- การผ่าตัดม้ามออก ในกรณีม้ามโตมากจนเป็นอันตรายและมีโอกาสเกิดม้ามแตกได้ง่ายโดยเฉพาะเมื่อมีแรงกระแทก/อุบัติเหตุที่ช่องท้อง
- บางกรณีอาจเป็นการการฉายรังสีรักษาที่ตัวม้ามเอง
ข. การรักษาสาเหตุ ที่จะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคนตามสาเหตุ (แนะนำอ่านรายละเอียดของโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ เช่นที่กล่าวใน หัวข้อ ‘สาเหตุฯ’ เพิ่มเติมในเว็บhaamor.com เช่น โรคตับแข็ง โรคเลือด โรคมะเร็งชนิดต่างๆ เป็นต้น
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อม้ามทำงานเกิน คือ การดูแลตนเองเมื่อมี ม้ามโต ภาวะซีด ภาวะเลือดออกง่าย และภาวะที่ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย
ซึ่งทั่วไป การดูแลตนเอง ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
- ระวังอุบัติเหตุต่างๆที่รวมถึง การล้ม และการเกิดแผล เช่นจาก การเล่น การกีฬา การงาน การใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อลดโอกาสเกิดม้ามแตก และภาวะเลือดออกง่าย และเลือดหยุดยากเมื่อมีเลือดออก
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
ควรพบแพทย์และมาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น ม้ามโตเร็วขึ้นมากจนนอนราบไม่ได้ แขนขามือเท้าบวมมากขึ้น เหนื่อยมาก
- มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูกหรือท้องเสียบ่อยมาก คลื่นไส้มาก วิงเวียนศีรษะมาก
- กังวลในอาการ
ม้ามทำงานเกินมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากม้ามทำงานเกิน คือ
- ม้ามโต
- ภาวะซีด
- ภาวะเลือดออกง่ายและหยุดยาก และ
- ภาวะติดเชื้อต่างๆได้ง่าย
ม้ามทำงานเกินมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของภาวะม้ามทำงานเกินจะขึ้นกับสาเหตุ เช่น
- ถ้าสาเหตุมาจากการติดเชื้อ การพยากรณ์โรคจะดี มักรักษาได้หาย เมื่อรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุได้ เช่น จากการใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีสาเหตุจากติดเชื้อแบคทีเรียเป็นต้น
- แต่ถ้าสาเหตุเกิดจาก โรคมะเร็ง หรือจากโรคทางพันธุกรรม การพยากรณ์โรคไม่ดี
ป้องกันภาวะม้ามทำงานเกินได้อย่างไร?
การป้องกันม้ามทำงานเกินมีทั้ง สาเหตุที่ป้องกันได้ และสาเหตุที่ป้องกันไม่ได้
ก. สาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น
- ป้องกันการติดเชื้อ ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ป้องกันการเกิด โรคตับแข็ง เช่น
- การป้องกันการติดเชื้อบางชนิด เช่น ไวรัสตับอักเสบบี
- ไม่ดื่มสุรา ป้องกันโรคตับแข็งจากพิษสุราเรื้อรัง
- ลดโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่ทำให้ตับอักเสบ/ตับแข็งด้วยการไม่ใช้ยาพร่ำเพื่อ และปรึกษาแพทย์ /เภสัชกรก่อนซื้อยาใช้เอง
ข. สาเหตุที่ป้องกันไม่ได้ เช่น
- โรคมะเร็ง
- โรคเนื้องอกชนิดต่างๆที่เกิดที่ม้ามเอง
- โรคทางพันธุกรรม เช่นโรค Gaucher disease, ธาลัสซีเมีย
บรรณานุกรม
- E. Elmakki Journal of Biology, Agriculture and Healthcare 2012;2(10)http://citeseerx.ist.psu.edu/viewdoc/download?doi=10.1.1.838.2077&rep=rep1&type=pdf[2019,Sept14]
- LV. Yunfu. et al.Experimental and Therapeutic medicine 2016;12:2377-2382
- https://www.msdmanuals.com/professional/hematology-and-oncology/spleen-disorders/hypersplenism [2019,Sept14]
- https://medlineplus.gov/ency/article/001314.htm [2019,Sept14]
- https://www.symptoma.com/en/info/hypersplenism [2019,Sept14]
- http://haamor.com/th/%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1/ [2019,Sept14]