มีควิทาซีน (Mequitazine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 มีนาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- มีควิทาซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- มีควิทาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- มีควิทาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มีควิทาซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- มีควิทาซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้มีควิทาซีนอย่างไร?
- มีควิทาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษามีควิทาซีนอย่างไร?
- มีควิทาซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- Anticholinergic
- ฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- ยานอนหลับ (Sleeping pill)
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Transquilizer Drugs)
บทนำ
ยามีควิทาซีน (Mequitazine) เป็นยาต้านสารฮีสตามีน (Antihistamine) และต้านสารสื่อประ สารทประเภทคลอริเนอจิก (Anticholinergic) จัดอยู่ในอนุพันธุ์ยาฟีโนไทอะซีน (Phenothiazine derivatives) สรรพคุณทางคลินิกคือใช้รักษาอาการแพ้ต่างๆเช่น เยื่อจมูกอักเสบ ไข้ละอองฟาง และลมพิษ ยานี้ดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร จึงถูกวางจำหน่ายในรูปแบบของยาเม็ดชนิดรับประ ทานภายใต้ชื่อการค้าว่า Primalan มีขนาดความแรงอยู่ที่ 5 มิลลิกรัม ปกติแพทย์จะให้รับประทาน 2 ครั้งต่อวัน วัยของผู้ป่วยที่สามารถรับประทานยานี้ได้มีตั้งแต่ผู้ใหญ่ เด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ผู้สูงอายุ สำหรับสตรีตั้งครรภ์ ตัวยามีควิทาซีนมีข้อมูลทางคลินิกสนับสนุนว่าไม่ทำให้ทารกในครรภ์วิกลรูป (เกิดความพิการ) อย่างไรก็ตามยาที่จะใช้กับสตรีตั้งครรภ์ทุกชนิดต้องผ่านดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น ส่วนการใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรควรต้องเพิ่มความระมัดระวังหรือถ้าหลีกเลี่ยง ได้จะเป็นการดีด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนความปลอดภัยการใช้ยานี้กับสตรีที่เลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของมารดา
ผลข้างเคียงอย่างหนึ่งที่มักพบเห็นเมื่อใช้ยาต้านสารฮีสตามีนรวมยามีควิทาซีนคือ ง่วงนอน ยามีควิทาซีนอาจทำให้มีอาการดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ หากเกิดอาการง่วงนอน วิงเวียน หลังใช้ยานี้ ผู้บริโภคต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆและ/หรือการทำงานกับเครื่องจักรด้วยอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
กรณีที่ได้รับยามีควิทาซีนเกินขนาดสามารถสังเกตได้จากมีอาการง่วงนอนมาก คลื่นไส้ อาเจียนมาก ความดันโลหิตต่ำ ไข้สูง มีภาวะกดการทำงานของประสาทส่วนกลาง บางกรณีอาจมีอาการลมชักและถึงขั้นโคม่า หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์จะช่วยเหลือโดยพิจารณาจากลักษณะอาการที่เกิดขึ้นแล้วใช้หัตถการทางการแพทย์ที่เหมาะสมเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยเช่น ใช้เครื่องช่วยหายใจ ล้างท้องเพื่อลดการดูดซึมของยา กรณีเกิดไข้สูงต้องรีบทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง หากเกิดอาการชักแพทย์อาจพิจารณาใช้ยา Diazepam เพื่อควบคุมอาการดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาต่อต้านพิษ/ผลข้างเคียงที่เกิดจากยามีควิทาซีน การรักษาผู้ที่ได้รับพิษยานี้จึงยังต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้นด้วยการดูแลรักษาตามอาการผู้ป่วย
มีเงื่อนไขบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนการใช้ยามีควิทาซีนอาทิเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือต้องเพิ่มความระมัดระวังการใช้ยากับผู้ที่แพ้อนุพันธุ์ยาฟีโนไทอะซีน
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะหอบหืด ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ที่อยู่ในอาการวิตกกังวลอย่างรุนแรง ผู้ที่มีอาการปวดข้อ ผู้ที่กำลังอาเจียน ผู้ที่มีแผลไหม้จากแสงแดด หรือผู้ที่มีภาวะปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
- ห้ามใช้ยามีควิทาซีนร่วมกับยากลุ่ม MAOIs หรือให้เว้นระยะห่างหลังการใช้ยากลุ่ม MAOIs อย่างน้อย 14 วันทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาระหว่างยาทั้ง 2 กลุ่ม
นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังปลีกย่อยอีกมากมายเมื่อใช้ยามีควิทาซีน เพื่อความปลอดภัยของการใช้ยามีควิทาซีนผู้ป่วย/ผู้บริโภคจึงต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว
มีควิทาซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยามีควิทาซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาอาการแพ้ที่มีสาเหตุจากสารฮีสตามีน (Histamine) เช่น ไข้ละอองฟาง เยื่อจมูกอักเสบ ผื่นคัน ลมพิษ การแพ้จากแมลงกัดต่อย เป็นต้น
มีควิทาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยามีควิทาซีนคือ ตัวยาจะยับยั้งการเข้าจับของสารฮีสตามีน(Histamine)กับตัวรับ (Receptor)ของสารนี้ ที่อยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย มีผลให้อาการแพ้ที่ถูกกระตุ้นจากสารฮีสตามีนสงบลง และเป็นที่มาของสรรพคุณ
มีควิทาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยามีควิทาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 5 มิลลิกรัม/เม็ด
มีควิทาซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยามีควิทาซีนมีขนาดรับประทานเช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 5 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ทางคลินิกยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มนี้อย่างชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*อนึ่ง
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- ควรเพิ่มความระมัดระวังหากจะใช้ยานี้กับผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่า นั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยามีควิทาซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยามีควิทาซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยามีควิทาซีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยามีควิทาซีนตรงเวลา
มีควิทาซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยามีควิทาซีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีความผิดปกติของเม็ดเลือดอาจพบภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง (Agranulocytosis) กับผู้ป่วยบางราย
- ผลต่อภาวะทางอารมณ์: เช่น ในผู้ป่วยสูงอายุอาจพบภาวะประสาทหลอน หรือมีอาการกระสับกระส่าย
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดภาวะง่วงนอน รู้สึกสับสน มีอาการตัวสั่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบการมองเห็น: เช่น รูม่านตาขยาย การมองเห็นภาพผิดปกติไป
- ผลต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรอาจเต้นผิดจังหวะ มีความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีภาวะปากแห้ง ท้องผูก
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่น ตุ่มคัน ลมพิษ หรือมีอาการบวมตามผิวหนัง
มีข้อควรระวังการใช้มีควิทาซีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยามีควิทาซีนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ยาในกลุ่มฟีโนไทอะซีน
- ห้ามปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคหัวใจ โรคลมชัก ผู้ป่วยภาวะต่อมลูกหมากโต
- หลังรับประทานยานี้แล้วเกิดอาการวิงเวียนให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆและ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามีควิทาซีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
มีควิทาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยามีควิทาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยามีควิทาซีนร่วมกับยาในกลุ่ม Antimuscarinic (Anticholinergic) เช่น Atropine รวมถึงยากลุ่ม TCAs, ยาที่กดประสาทส่วนกลาง (เช่น ยา Diazepam), ยานอนหลับต่างๆ, ยาลดความวิตกกังวล/ยาคลายเครียด ล้วนแล้วแต่ทำให้เพิ่มอาการง่วงนอน วิงเวียน มากยิ่งขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยามีควิทาซีนร่วมกับยาเหล่านั้น
ควรเก็บรักษามีควิทาซีนอย่างไร?
ควรเก็บยามีควิทาซีนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือ ในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาหมดอายุ
*อนึ่ง โดยทั่วไปอายุของยา (รวมยามีควิทาซีน) ในภาชนะบรรจุของบริษัทหลังจากผลิต คือ 3 ปี
มีควิทาซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยามีควิทาซีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Primalan (พรีมาแลน) | Pierre Fabre Medicament Production |