มิโพเมอร์เซน (Mipomersen)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยามิโพเมอร์เซน(Mipomersen หรือ Mipomersen sodium) เป็นยาลดไขมันในเลือดที่มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด โดยต้องฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ความเสี่ยงจากการใช้ยาชนิดนี้คือเกิดพิษทำลายตับ/ตับอักเสบ การใช้ยามิโพเมอร์เซนจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ต้องควบคุมและจำกัดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงร่วมด้วย ปกติแพทย์จะให้ยามิโพเมอร์เซนกับผู้ป่วยเพียงอาทิตย์ละ 1 ครั้งเท่านั้น การฉีดยานี้สามารถฉีดเข้าที่หน้าท้อง ต้นแขน หรือ ต้นขา แพทย์จะหลีกเลี่ยงการฉีดยาซ้ำในบริเวณเดิม การเก็บรักษายานี้ต้องเก็บในตู้เย็น เมื่อจะนำมาฉีดให้ผู้ป่วยต้องทิ้งให้อุณหภูมิของยาปรับสูงขึ้นเท่ากับอุณหภูมิห้องจึงนำมาใช้กับผู้ป่วยได้

การใช้ยามิโพเมอร์เซนสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆได้ เช่น คลื่นไส้ ปวดศีรษะ หรือมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ กรณีที่เกิดผลข้างเคียงเกิน 2 วันหลังได้รับการฉีดยานี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด

นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดการใช้ยามิโพเมอร์เซนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังนี้ เช่น

  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ขณะที่ได้รับยามิโพเมอร์เซนเพราะจะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้สูงขึ้น
  • ห้ามฉีดยานี้เข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าหลอดเลือด ให้ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังเท่านั้น
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาบางประเภทด้วยจะทำให้เกิดพิษกับตับได้มากยิ่งขึ้น เช่น ยา Amiodarone, Isotretinoin, Lomitapide(ยาลดไขมัน), Methotrexate, เป็นต้น
  • การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อไขมันเข้าไปสะสมในตับ(ไขมันพอกตับ)ได้สูง หรือมีความดันโลหิตสูง การใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต้องเพิ่มความระวังอย่างมาก
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก

ทั้งนี้ ระหว่างที่ได้รับยามิโพเมอร์เซน ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจเลือดดูการทำงานของตับว่ายังปกติดีหรือไม่ โดยแพทย์จะทำการตรวจดูค่าเอ็นไซม์การทำงานของตับในเลือดและระดับบิลิรูบินในเลือด ซึ่งทั่วไป แพทย์จะเฝ้าติดตามทุกๆ 3 เดือน

อนึ่ง ด้วยยามิโพเมอร์เซนเป็นยาฉีด ผู้ป่วยจะต้องมารับการฉีดยาต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ณ สถานพยาบาล และสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้ในต่างประเทศภายใต้ชื่อการค้าว่า “Kynamro”

มิโพเมอร์เซนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

มิโพเมอร์เซน

ยามิโพเมอร์เซนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เป็นยาลดไขมันในเลือด เช่นไขมัน LDL และ Total cholesterol(คอเลสเตอรอลรวม)

มิโพเมอร์เซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

หลังจากตัวยามิโพเมอร์เซนเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์ Apo B-100 ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของไขมัน LDL-cholesterol และไขมัน VLDL ด้วยกลไกนี้ จึงทำให้ไขมันในเลือดลดลง

มิโพเมอร์เซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยามิโพเมอร์เซนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดที่มีส่วนประกอบของ Mipomersen ขนาด 200 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

มิโพเมอร์เซนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยามิโพเมอร์เซนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง ขนาด 200 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • ควรฉีดยาในวันและเวลาเดียวกันของแต่ละสัปดาห์
  • ระยะเวลาการใช้ยานี้ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
  • ต้องเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยามิโพเมอร์เซน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามิโพเมอร์เซนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

หากลืมมารับการฉีดยามิโพเมอร์เซน ให้รีบติดต่อ แพทย์/พยาบาล/เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการนัดหมายการฉีดยาใหม่โดยเร็ว กรณีที่เวลาใกล้เคียงกับการฉีดยาครั้งถัดไปหรืออีก 3 วันจะถึงนัดหมายการให้ยาครั้งถัดไป ให้ฉีดยาในขนาดปกติ

มิโพเมอร์เซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยามิโพเมอร์เซนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น
  • ผลต่อไต: เช่น กรวยไตอักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง ผิวหนังบวม
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มือ-เท้าบวม มีโปรตีนใน ปัสสาวะ
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น/ตับทำงานผิดปกติ ไขมันสะสมในตับมากขึ้น/ไขมันพอกตับ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ

มีข้อควรระวังการใช้มิโพเมอร์เซนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยามิโพเมอร์เซน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับชนิดต่างๆ เช่น ตับแข็ง ตับอักเสบ
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มจำพวกแอลกอฮอล์ขณะที่ใช้ยานี้
  • ห้ามผสมยาชนิดอื่นร่วมกับยามิโพเมอร์เซนเพื่อฉีดให้ผู้ป่วยในเข็มเดียวกัน
  • ในระหว่างใช้ยานี้ หากพบอาการทางตับ เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูง ค่าบิลิรูบินสูง ต้องหยุดใช้ยานี้
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อรับการตรวจร่างกาย และตรวจเลือด ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามิโพเมอร์เซนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

มิโพเมอร์เซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยามิโพเมอร์เซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยามิโพเมอร์เซนร่วมกับยา Ibuprofen, Abacavir, Abiraterone, Acarbose, Acitretin, Acetaminophen (Paracetamol), Lovastatin, Perindopril, ด้วยจะทำให้เกิดผลเสียกับตับมากขึ้น

ควรเก็บรักษามิโพเมอร์เซนอย่างไร?

ควรเก็บยามิโพเมอร์เซนภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาภายใต้อุณหภูมิที่กำหนดได้ไม่เกิน 14 วัน

มิโพเมอร์เซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยามิโพเมอร์เซน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผฃิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
KYNAMRO (ไคนามโร)Genzyme

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/mtm/mipomersen.html[2017,July1]
  2. https://www.drugs.com/ppa/mipomersen.html[2017,July1]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Mipomersen[2017,July1]
  4. https://www.fda.gov/downloads/Drugs/DrugSafety/UCM337730.pdf[2017,July1]