มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Mu-opioid receptor antagonist)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 กุมภาพันธ์ 2561
- Tweet
- บทนำ
- มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
- มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
- มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โอปิออยด์ แอนตาโกนิสต์ (Opioid antagonist)
- โอปิออยด์ (Opioid)
- โอปิออยด์ อะโกนิสต์ (Opioid agonist)
- ยาเสพติด (Narcotic drug)
- ประเภทยาเสพติดให้โทษ ยาเสพติด (Illegal drugs)
บทนำ
อดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากยาประเภท มิว-โอปิออยด์ อะโกนิสต์ (Mu-opioid agonist หรือ Mu- opioid receptor agonist) เพื่อช่วยบำบัดอาการปวดของร่างกาย เช่น มอร์ฟีน(Morphine) แต่ก็อาจทำให้ได้รับผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง อาทิ เกิดอาการติดยาและมีภาวะกดการหายใจของร่างกาย นักวิทยาศาสตร์จึงได้คิดค้นตัวยาชนิดที่จะนำมาบำบัดอาการดังกล่าว และพบว่า ยา “มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Mu-opioid receptor antagonist ย่อว่า MOR antagonist อีกชื่อคือ Mu-opioid antagonist)”ซึ่งเมื่อเริ่มต้น มียากลุ่มนี้เพียง 2 รายการ ได้แก่ยา Naloxone และ Naltrexone อย่างไรก็ตามงานวิจัยยังได้รับการพัฒนาและค้นคว้าจนพบว่า N-methylnaltrexone และ Alvimopan เป็นยา มิว-โอปิออยด์ แอนตาโกนิสต์ อีก 2 รายการ ที่สามารถนำมาบำบัดอาการลำไส้ไม่ทำงาน หรือมีภาวะท้องผูกมากจากการใช้ยาประเภทโอปิออยด์ อะโกนิสต์(Opioid agonist หรือ Mu-opioid receptor agonist) หรือหลังจากได้รับการผ่าตัดอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร
ปัจจุบันอาจสรุปภาพรวมของยาประเภท มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ที่มีใช้ทางคลินิก ตลอดจนกระทั่งกลุ่มยาที่อยู่ในระหว่างงานศึกษาวิจัย ดังนี้
1 กลุ่มที่มีการใช้ทางคลินิกและจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าต่างๆ เช่น Alvimopan, Methylnaltrexone, Naloxegol, Noloxone, Naltrexone Nalmefene และ Diprenorphine (ใช้เป็นยารักษาสัตว์)
2 กลุ่มที่อยู่ระหว่างงานวิจัยเพื่อนำมาใช้ทางคลินิกในอนาคต ได้แก่ Axelopran, 6beta-naltrexole, Bevenopran, Methylsamidorphan Samidorphan และ Naldemedine
3 กลุ่มที่ยังไม่ได้รับการจัดจำหน่าย เช่น Nalodeine
4 กลุ่มที่ถูกระงับการใช้งานทางคลินิก ด้วยก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่รุนแรง เช่น Nalorphine, Nalorphine dinicotinate และ Levallorphan
ประเทศไทย มีการใช้ยา มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ในสถานพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ ยากลุ่มนี้บางตัวถูกบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่น Naloxone hydrochloride โดยมีเงื่อนไขการใช้ดังนี้
- ใช้บำบัดอาการพิษเฉียบพลันจากสารกลุ่ม Opioids และ Clonidine
- ใช้บำบัดภาวะกดการหายใจที่ไม่ทราบสาเหตุ
การใช้ยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ จะต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว สำหรับบำบัดอาการติดยาเสพติดหรือติดสุราเป็นเรื่องปลายเหตุและเป็นเรื่องที่สังคมต้องหันมาให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น อาจเริ่มจากการปลูกฝังค่านิยมแก่เยาวชนรุ่นใหม่ว่า “ไม่เสพ ไม่ดื่ม ไม่ทดลอง ไม่หลงเชื่อ” เป็นต้น
มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาบรรเทาอาการพิษจากการได้รับยา Opioid agonist (Mu-opioid receptor agonist)เกินขนาด
- บำบัดอาการติดยาเสพติด
- บำบัดผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง
- บำบัดอาการท้องผูกรุนแรงเนื่องจากการใช้ยากลุ่ม Opioid receptor agonist(Opioid agonist)
- เริ่มทดลองใช้บำบัดอาการผู้ที่มีสติวิปลาส
มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ชนิด Mu-opioid receptor ย่อว่า MOR บางท่านเรียก Mu-opiate receptor ซึ่งมีอยู่ในเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของสมอง ของไขสันหลัง ของปลายเส้นประสาทที่ใช้รับความรู้สึก และของทางเดินลำไส้ ตัวยาจะส่งผลออกฤทธิ์แข่งขันต่อต้านกับยาประเภท Opioid agonist กรณีออกฤทธิ์ที่สมองจะช่วยบรรเทาอาการถอนยาจากสารเสพติดหรือจากความอยากสุรา กรณีออกฤทธิ์ที่ลำไส้จะทำให้ลำไส้สามารถทำงานและบีบตัวได้เป็นปกติมากขึ้น
มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
กลุ่มยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ดังนี้ เช่น
- ยาพ่นเข้าทางเดินหายใจ
- ยาสเปรย์ทางจมูก
- ยาชนิดรับประทาน
- ยาฉีด ทั้งแบบฉีดเข้าเส้นเลือดดำ/หลอดเลือดดำ และฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ขนาดการบริหารยา/ใช้ยาในกลุ่มกลุ่มมิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีความแตกต่างทั้งขนาดและระยะเวลาของการใช้ยา โดยขึ้นอยู่กับระดับอาการความรุนแรงจากการได้รับยา Opioid agonist แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินและพิจารณาเลือกใช้ตัวยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ รวมทั้งรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง หัวใจเต้นเร็ว หรือก็หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีภาวะหัวใจวาย หัวใจหยุดเต้น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ตัวสั่น เกิดภาวะชัก ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เป็นผื่นนูนแดง เหงื่อออกมาก
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ประสาทหลอน
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง มีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ ท้องอืด อาเจียน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เยื่อจมูกอักเสบ คออักเสบ มีภาวะน้ำท่วมปอด กดการหายใจ จมูกแห้งหรือบวม คัดจมูก
มีข้อควรระวังการใช้มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
- ห้ามรับประทานยากลุ่มนี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้ผลข้างเคียงจากยากลุ่มนี้รุนแรงขึ้น
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ห้ามใช้กับผู้ที่กำลังมีอาการถอนยา
- ห้ามใช้กับผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดประเภทยาเสพติด
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป เม็ดยาแตกหัก
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มี โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคระบบทางเดินหายใจ รวมถึง โรคตับ โรคไต
- หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ยาเสพติดทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทดลอง หรือหลงเชื่อผู้ที่ยุยงให้เสพยา
- ใช้ยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
- ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาNaltrexone ร่วมกับยา Acetaminophen ,Disulfiram , Ibuprofen, Quinapril , Lamivudine , Bupropion จะเพิ่มความเป็นพิษต่อตับ/ตับอักเสบรุนแรง หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาNalmefene ร่วมกับยา Diclofenac, Medroxyprogesterone acetate, Fluconazole, Meclofenamic, จะทำให้ระดับยาNalmefene ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดพิษจากยาNalmefeneต่อร่างกายตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาNaloxone ร่วมกับยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ยาเสพติด(Opioid analgesics) เช่น Fentanyl และ Morphine จะทำให้ฤทธิ์การรักษาอาการปวดของยาOpioidsด้อยประสิทธิภาพลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หรือแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- ห้ามใช้ยาNaloxegol ร่วมกับยา Clarithromycin, Diltiazem, Erythromycin, Itraconazole, Ketoconazole, Methylnaltrexone, Verapamil เพราะจะทำให้ผู้ป่วย ได้รับผลข้างเคียงของยาNaloxegolมากยิ่งขึ้น
ควรเก็บรักษามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
ควรเก็บยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ตามข้อกำหนดของเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
DBL Naloxone (ดีบีแอล นาลอกโซน) | Hospira |
Narcan (นาร์แคน) | Bristol-Myers Squibb |
Suboxone (ซูบ็อกโซน) | Reckitt Benckiser Pharmaceuticals Inc |
Talwin Nx (ทาลวิน) | Sanofi-Synthelabo Inc |
Movantik (โมแวนติค) | AstraZeneca Pharmaceuticals LP |
Revia (รีเวีย) | Bristol-Myers Squibb |
NODICT (โนดิก) | Sun (Synergy) |
Trexan (เทรกซาน) | Du Pont Pharm. |
Vivitrol (วิไวทรอล) (เซลินโคร) | Alkermes H. Lundbeck A/S |
Revex (รีเวกซ์) | H. Baxter Healthcare Corporation |
บรรณานุกรม
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17918759 [2018, Jan27]
- https://reference.medscape.com/drugs/peripherally-acting-mu-opioid-receptor-antagonists-pamora [2018, Jan27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Opioid_antagonist [2018, Jan27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Opioid_receptor [2018, Jan27]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/16#item-9109 [2018, Jan27]