มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Mu-Opioid receptor agonist)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 กุมภาพันธ์ 2561
- Tweet
- บทนำ
- มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์อย่างไร?
- มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์อย่างไร?
- มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Mu-opioid receptor antagonist)
- โอปิออยด์ (Opioid)
- เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
- ลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome)
- บาร์บิทูเรต (Barbiturate)
- ยาแก้ไอ (Tips cough)
- ยาแก้ท้องเสีย (Antidiarrhea drugs)
- ปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema)
บทนำ
ยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์(Mu-Opioid receptor agonist/ ย่อว่า MOR agonist อีกชื่อคือ Mu-Opioid agonist) เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์ระงับอาการปวดของร่างกาย แต่ก็มีข้อจำกัดการใช้ด้านผลข้างเคียงต่างๆ เช่น เกิดฤทธิ์สงบประสาทจึงทำให้ง่วงนอน มีภาวะหายใจลำบาก ท้องผูกตลอดจนกระทั่งมีการนำยาหมวดนี้ไปใช้ผิดๆอย่างผิดวัตถุประสงค์ ยามิว-โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์โดยจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อเรียกว่า มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ (Mu-opioid receptor ย่อว่า MOR บางท่านเรียก Mu-opiate receptor) ตัวรับเหล่านี้พบมากใน สมอง ไขสันหลังและในทางเดินลำไส้
ขณะที่กลุ่มยามิว-โอปิออยด์ อะโกนิสต์เข้าจับกับตัวรับดังกล่าวจะส่งผลต่อร่างกายได้ดังนี้
1 กรณีออกฤทธิ์ที่สมอง จะทำให้การหลั่งสารสื่อประสาทในสมองเปลี่ยนไปส่งผลให ลดความรู้สึกเจ็บปวด เกิดอาการง่วงนอน
2 กรณีออกฤทธิ์ที่ทางเดินลำไส้ จะทำให้การทำงานของลำไส้หยุดชะงักและเป็นเหตุให้มีอาการท้องผูก
*การได้รับยามิว-โอปิออยด์ อะโกนิสต์เกินขนาด ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายอย่างรุนแรง เช่น กดการทำงานของระบบการหายใจ/กดการหายใจ หายใจช้าลง หัวใจเต้นช้า อุณหภูมิของร่างกายลดต่ำลง ลดปริมาตรของเลือดที่ออกจากหัวใจ มีภาวะความดันโลหิตต่ำด้วยตัวยากลุ่มนี้ทำให้หลอดเลือดเกิดการคลายตัว ซึ่งแพทย์จะแก้ไขโดยใช้ยาประเภทมิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์(Mu-opioid receptor antagonist) มาเป็นตัวต้านพิษ นอกจากนี้การใช้ยากลุ่มมิว-โอปิออยด์ อะโกนิสต์ร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน(Benzodiazepine) หรือกลุ่มยาจำพวกบาร์บิทูเรต(Barbiturate) จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียง)จากยามิว-โอปิออยด์ อะโกนิสต์เพิ่มมากยิ่งขึ้น ในทางคลินิก จึง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
สาร/ยาประเภทมิว-โอปิออยด์ อะโกนิสต์ที่นักวิทยาศาสตร์รู้จักในปัจจุบันมีอยู่มากมายหลายรายการ ดังนี้ เช่น Acetorphine, Acetoxyketobemidone, Acetyldihydrocodeine, Acetylfentanyl, Acetylmethadol, Acetylmorphone, Acetylpropionylmorphine, Acrylfentanyl , Adrenorphin, Alfentanil, Alimadol 3-Allylfentanyl, AllylnorpethidineAllylprodine, Alphacetylmethadol , Alphamethadol, Alphamethylthiofentanyl, Anileridine, Azaprocin , Azidomorphine, Benzethidine, Benzhydrocodone, Benzylmorphine, Betacetylmethadol ,Betahydroxyfentanyl , Betahydroxythiofentanyl , Betamethadol, Bezitramide, Brifentanil , Bromadoline, Buprenorphine, Buprenorphine/naloxone, Butyrfentanyl 8-Carboxamidocyclazocine, Carfentanil , Cebranopadol ,Chloromorphide, Chloroxymorphamine 14-Cinnamoyloxycodeinone, Ciprefadol , Ciramadol , Clonitazene, Codeine-6-glucuronide, Codeinone, Codoxime, Conorfone, Cyclopentylfentanyl, Dermorphin, Desmethylclozapine , Desmethylprodine, Desmetramadol, Desomorphine, Dextromethorphan, Dextromoramide, Dextropropoxyphene, Dextrorphan , Diacetyldihydromorphine, Diampromide , Dibenzoylmorphine, Dibutyrylmorphine, Diethylthiambutene, Difenoxin, Dihydrocodeine, Dihydroetorphine , Dihydromorphine, Dimenoxadol , Dimepheptanol , Dimethylaminopivalophenone , Dimethylthiambutene, Dioxaphetyl butyrate, Diphenoxylate , Dipipanone , Dipropanoylmorphine, Doxpicomine , Drotebanol, Eluxadoline, 6,14-Endoethenotetrahydrooripavine, Endomorphin, Endomorphin-1 Endomorphin-2, Beta-Endorphin, Eseroline , Ethoheptazine 14-Ethoxymetopon , Ethylmethylthiambutene, Ethylmorphine, Etonitazene , Etorphine, Etoxeridine, Fentanyl , 4-Fluorobutyrfentany, 4-Fluoropethidine , Furanylfentanyl , Furethidine, Hemorphin-4 Heroin, Heterocodeine, Hodgkinsine , Hydrocodone, Hydromorphinol , Hydromorphone, 14-Hydroxydihydrocodeine, 7-Hydroxymitragynine, Hydroxypethidine และยังมีอีกมากมายหลายรายการที่ไม่สามารถหยิบยกมาใส่ในบทความนี้ได้ทั้งหมด
กลุ่มยามิว-โอปิออยด์ อะโกนิสต์ ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายตามสถานพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ แต่ก็มียามิว-โอปิออยด์ อะโกนิสต์อีกจำนวนมากที่ยังต้องศึกษาค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติม และรอข้อสรุปประโยชน์ทางคลินิก
ตามกฎหมายไทย ยาในกลุ่มมิว-โอปิออยด์ อะโกนิสต์ หลายตัวจัดอยู่ในประเภทยาเสพติด เช่น Codeine , Fentanyl , Morphine, การใช้ยากลุ่มนี้อย่างผิดขนาด ผิดวิธี จะนำมาด้วยการติดยาเหล่านั้น และส่งผลให้มีภาวะถอนยาตามมา ดังนั้นการใช้ยาในกลุ่มมิว-โอปิออยด์ อะโกนิสต์ได้อย่างปลอดภัยเหมาะสม จึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์ผู้ที่ทำการตรวจรักษาแต่ผู้เดียว
มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เป็นยาระงับอาการปวดไม่ว่าจะปวดจากโรคมะเร็ง หรือปวดจากบาดแผล
- ใช้เป็นยาระงับอาการปวดในหัตถการผ่าตัด
- ใช้เป็นยาบรรเทาอาการไอ
มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยามิว-โอปิออยด์ อะโกนิสต์ มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ ชื่อมิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ซึ่งพบมากใน สมอง ไขสันหลัง และในทางเดินลำไส้
- กรณีออกฤทธิ์ที่สมอง ยานี้จะก่อให้เกิดสมดุลของสารสื่อประสาทที่ลดการกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกถึงอาการปวด ตลอดจนกระทั่งช่วยระงับอาการไอ
- กรณีออกฤทธิ์ที่ลำไส้ จะลดการเคลื่อนตัวของลำไส้ จึงสามารถใช้บำบัดอาการท้องเสียรุนแรง หรือเรื้อรัง และรวมถึงอาการท้องเสียจากภาวะลำไส้แปรปรวน
มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ต่างๆ ดังนี้
- ยาชนิดรับประทาน
- ยาอมใต้ลิ้น
- ยาฉีด
- แผ่นแปะผิวหนัง
- ยาพ่นเข้าทางเดินหายใจ และ
- ยาเหน็บทวารหนัก
มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
ด้วยเป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์เสพติด ขนาดและระยะเวลาของการใช้ยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและแตกต่างกันในแต่ละรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ชนิดอาการ รวมถึงความรุนแรงของอาการ ยานี้บางรายการอย่างเช่น Morphine แพทย์ต้องทำบันทึกการใช้ยากับผู้ป่วยเพื่อเป็นหลักฐานนำส่งรายงานการใช้ยากลุ่มนี้ต่อกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆอย่าง โรคหืด โรคหัวใจ ท้องผูก รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ อาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
กลุ่มยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หรือไม่ ก็หัวใจเต้นช้า
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด
- ผลต่อตา: เช่น รูม่านตามีขนาดเล็กลง
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น เกิดการเสพติด เคลิบเคลิ้ม ประสาทหลอน รู้สึกสับสน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น กดการหายใจ กดการไอ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูก คลื่นไส้อาเจียน
มีข้อควรระวังการใช้มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วยจะส่งเสริมให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากยากลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยานี้ขณะที่ผู้ป่วยมีการหายใจผิดปกติ เช่น ขณะเป็นหอบหืดเฉียบพลัน หรือหอบหืดขนาดรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย พิษสุราแบบเฉียบพลันรวมถึงผู้ป่วยโรคตับ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ สลบ ไร้การตอบสนอง หรือขณะไม่รู้สึกตัว
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยปอดบวมน้ำ(Pulmonary edema)
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ผู้ป่วยโรคไต โรคความดันโลหิตต่ำ ต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร/ลำไส้อักเสบ ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และโรค ระบบทางเดินน้ำดี
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ เภสัชกร พยาบาล อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์-มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากลุ่มมิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยา Fentanyl ร่วมกับยา Phenothiazines เพราะสามารถก่อให้เกิด ภาวะความดันโลหิตต่ำรุนแรงตามมา
- ห้ามใช้ยา Methadone ร่วมกับยาเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะและลำไส้/ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร เช่น Cisapride ด้วยการใช้ร่วมกันสามารถกระตุ้นให้หัวใจทำงานผิดปกติ จนถึงขั้นเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อผู้ที่ใช้ยาร่วมกันได้
- การใช้ยา Hydrocodone ร่วมกับยา Bupropion โดยเฉพาะการใช้ปริมาณที่สูงๆ สามารถทำให้เกิดอาการลมชักได้ง่าย กรณีผู้ป่วยสูงอายุจะมีโอกาสที่จะเกิดอาการลมชัก สูงมากตามลำดับ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Oxycodone ร่วมกับยากลุ่ม TCAs จะเกิดการเสริมฤทธิ์ของยากลุ่มTCAs เพิ่มมากขึ้นจนอาจทำให้ได้รับผลข้างเคียงสูงขึ้นจากจากTCAsติดตามมา การจะใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์อย่างไร?
ควรเก็บรักษายามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ ดังนี้ เช่น
ก. การเก็บรักษาในสถานพยาบาล: ควรเก็บยากลุ่มนี้ในช่วงอุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
*ยาที่หมดอายุ ต้องทำรายงานขออนุมัติการทำลายจากกระทรวงสาธารณสุขทุกครั้ง
ข. การเก็บรักษาในที่พัก/บ้าน: เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง /แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ และ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
มิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยามิว-โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Durogesic Patch (ดูโรเจซิก แพท) | Janssen-Cilag |
Fentanyl GPO (เฟนทานิล จีพีโอ) | Hexal AG |
Fentanyl Hexal (เฟนทานิล เฮ็กซอล) | Hexal AG |
Fentanyl Janssen-Cilag (เฟนทานิล แจนเซน ซีแล็ก) | Janssen-Cilag |
Fentanyl Sandoz (เฟนทานิล แซนดอซ) | Hexal AG |
Fentanyl Tablet, Buccal (เฟนทานิล แทบเล็ท, บัคคอล) | Watson Laboratories Inc |
Durogesic (ดูโรเจซิก) | Janssen-Cilag |
Durogesic Patch (ดูโรเจซิก แพท) | Janssen-Cilag |
Fentanyl GPO (เฟนทานิล จีพีโอ) | Hexal AG |
Fentanyl Hexal (เฟนทานิล เฮ็กซอล) | Hexal AG |
Fentanyl Janssen-Cilag (เฟนทานิล แจนเซน ซีแล็ก) | Janssen-Cilag |
Fentanyl Sandoz (เฟนทานิล แซนดอซ) | Hexal AG |
Fentanyl Tablet, Buccal (เฟนทานิล แทบเล็ท, บัคคอล) | Watson Laboratories Inc |
OxyContin Tablet, Film Coated (เฟนทานิล แทบเล็ท, ฟิล์ม โคท) | Purdue Pharma LP |
Methadone GPO (เมทาโดน จีพีโอ) | GPO |
Camphorated Opium Tincture GPO (แคมโฟเรทเตท โอเปียม ทิงเจอร์ จีพีโอ) | GPO |
Kapanol (คาพานอล) | GlaxoSmithKline |
Morphine Sulfate Inj Blue (มอร์ฟีน ซัลเฟท อินเจคชั่น บลู) | M & H Manufacturing |
Morphine Sulfate Inj Purple (มอร์ฟีน ซัลเฟท อินเจคชั่น เพอเพิล) | M & H Manufacturing |
บรรณานุกรม
- https://www.hindawi.com/journals/prt/2012/867067/ [2018, Jan27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/%CE%9C-opioid_receptor [2018, Jan27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Category:Mu-opioid_agonists [2018, Jan27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Morphine [2018, Jan27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Oxycodone#Side_effects [2018, Jan27]