มิวพิโรซิน (Mupirocin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 สิงหาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- มิวพิโรซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- มิวพิโรซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- มิวพิโรซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มิวพิโรซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- มิวพิโรซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้มิวพิโรซินอย่างไร?
- มิวพิโรซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษามิวพิโรซินอย่างไร?
- มิวพิโรซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ยาใช้ภายนอก (External Use drug)
- ตุ่มแพ้แมลงกัด (Insect bite reaction)
บทนำ
ยามิวพิโรซิน (Mupirocin) เป็นยาปฏิชีวนะประเภท Monoxycarbolic acid ถูกสกัดแยกได้จากแบคทีเรียชนิดแกรมลบที่มีชื่อว่า Pseudomonas fluorescens ใช้บำบัดรักษาการติดเชื้อที่เกิดจากบาดแผลบริเวณผิวหนัง, แผลพุพอง, แผลเปิด, โดยใช้ทาภายนอก (ยาใช้ภายนอก)
รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่พบเห็นทั่วไปของยามิวพิโรซินมักเป็นยาขี้ผึ้ง
- การใช้ยานี้ในระดับความเข้มข้นต่ำๆ จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียมิให้ลุกลาม
- หากใช้ความเข้มข้นสูงๆ จะออกฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรียได้โดยตรง
อนึ่ง: พบว่ายานี้มีการดูดซึมทางผิวหนังเข้าสู่ร่างกายน้อยกว่า 0.3% จึงเป็นผลดีที่จะช่วยลดผลข้างเคียงจากยานี้
องค์การอนามัยโลกจัดให้ยามิวพิโรซินเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานในระดับชุมชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยก็ได้บรรจุยามิวพิโรซินลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุการใช้ต่อต้านแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาเมทิซิลลิน (Meticillin)
เชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยานี้ เช่น เชื้อ Staphylococcus aureus และ Staphylococcus pyogenes
ทั้งนี้ ก่อนการใช้ยานี้ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถขอคำแนะนำการใช้ได้จากแพทย์และเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป
มิวพิโรซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยามิวพิโรซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- รักษาการติดเชื้อบริเวณผิวหนังที่มีบาดแผล
- รักษาแผลพุพอง แผลน้ำร้อนลวกที่เป็นบริเวณแผลเล็กน้อย
- รักษาแผลจากแมลงกัดต่อย (ตุ่มแพ้แมลงกัด)
มิวพิโรซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยามิวพิโรซินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโปรตีนของแบคที เรียชนิดที่ตอบสนองกับยานี้ ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด
มิวพิโรซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยามิวพิโรซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาขี้ผึ้งใช้ทาภายนอกที่มีความเข้มข้น 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักยา 100 มิลลิกรัม
มิวพิโรซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยามิวพิโรซินมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)อายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป: ทายาบางๆในบริเวณผิวหนังที่เป็นบาดแผลวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 1 - 2 สัปดาห์ ควรใช้ผ้าพันแผลปิดทับอีกชั้นหนึ่ง หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 - 5 วันหลังใช้ยาควรต้องเปลี่ยนยา และพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อประเมินการรักษาใหม่
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยามิวพิโรซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยามิวพิโรซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายามิวพิโรซินสามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาทาเป็น 2 เท่า
มิวพิโรซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยามิวพิโรซินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- มีผื่นคัน
- ปวดบวมในบริเวณที่ทายา
- ผิวแห้ง
- ผิวที่สัมผัสยาเป็นรอยแดง หรือ เกิดภาวะผิวเป็นรอยไหม้
มีข้อควรระวังการใช้มิวพิโรซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยามิวพิโรซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาใกล้บริเวณ ตา จมูก
- ห้ามทายานี้กับแผลเปิดที่เป็นบริเวณกว้างมากๆเพราะอาจทำให้เกิดการดูดซึมยาเข้ากระแสเลือดมากจนก่อให้เกิดพิษต่อร่างกาย
- ให้หยุดยานี้ทันทีหลังทายาแล้วพบอาการผื่นขึ้นมาก บวม แดงในบริเวณบาดแผล
- การใช้ยานี้เป็นเวลานานเกินไป ต้องระวังการเจริญเติบโตของกลุ่มเชื้อที่ดื้อต่อยานี้ (เชื้อดื้อยา)
- สามารถใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ได้
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลีนิกสนับสนุนว่ายานี้ขับออกมาทางน้ำนมมารดาได้หรือไม่
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามิวพิโรซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
มิวพิโรซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
เนื่องจากยามิวพิโรซินนี้มีรูปแบบเป็นลักษณะยาทาภายนอก (ยาใช้ภายนอก) จึงไม่ค่อยพบ ปฏิกิริยาระหว่างยากับกลุ่มยารับประทานใดๆ
ควรเก็บรักษามิวพิโรซินอย่างไร?
ควรเก็บยามิวพิโรซิน:
- เก็บยาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนตร์
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
มิวพิโรซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยามิวพิโรซินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bacidal (เบไซดอล) | Charoon Bhesaj |
Bactex (แบคเท็กซ์) | Union Drug |
Bactokil (แบคโทคิล) | Chinta |
Bactroban (แบคโตรแบน) | GlaxoSmithKline |
Banbact (แบนแบคท์) | T. Man Pharma |
Centany (เซนทานี) | PERRIGO |
Muporin (มูโพริน) | T.O. Chemicals |
บรรณานุกรม
1 https://en.wikipedia.org/wiki/Mupirocin [2020,Aug8]
6 https://www.drugs.com/cdi/mupirocin-nasal-ointment.html [2020,Aug8]
7 https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a688004.html#why [2020,Aug8]
8 https://www.drugs.com/disease-interactions/mupirocin-topical.html [2020,Aug8]
9 https://www.drugs.com/pro/centany-at.html [2020,Aug8]