มิลริโนน (Milrinone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยามิลริโนน (Milrinone หรือ Milrinone lactate) เป็นยาที่คอยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ที่มีชื่อว่า ฟอสโฟ ไดเอสเทอเรส 3 (Phosphodiesterase 3, เอนไซม์เกี่ยวข้องกับการทำงานของสารชีวเคมีต่างๆในร่ากาย) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการหัวใจล้มเหลว โดยมีกลไกทำให้หัวใจมีแรงเพิ่มขึ้นในการสูบฉีดโลหิตและช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัว ซึ่งทั้ง 2 กลไกทำให้เลือดออกจากหัวใจได้มากขึ้นจึงช่วยบรรเทาอาการหัวใจล้มเหลวนั่นเอง

ยามิลริโนนมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยาฉีด หลังจากได้รับยานี้เข้าสู่ร่างกายยามิลริโนนจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 70 - 80% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2.3 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ขนาดของการใช้ยามิลริโนนกับผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับอัตราการกำจัดสารครีเอตินินหรือที่เรียกว่า ครีเอตินิน เคลียแลนซ์ (Creatinine clearance/Crcl/อัตราการทำงานของไต) มีหน่วยเป็นมิลลิลิตร/นาที ทั้งนี้สามารถใช้ยามิลริโนนได้ทั้งกับผู้ใหญ่และเด็กโดยเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ยามิลริโนนถูกห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเส้นเลือดแดง/หลอดเลือดแดงขนาดใหญ่อุดตัน หรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องการทำงานของลิ้นหัวใจ หรือเพิ่งมีอาการของหัวใจล้มเหลวมาไม่นาน

ผู้ที่ได้รับยามิลริโนนอาจมีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่พบบ่อยคือ วิงเวียน ปวดศีรษะ แพทย์จึงมักจะสั่งห้ามขับรถหรือเว้นการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรในระหว่างการใช้ยานี้เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจากอาการวิงเวียน นอกจากนั้นระหว่างที่ทำการให้ยานี้กับผู้ป่วย จะต้องมีการตรวจสอบการทำงานของสัญญาณชีพต่างๆอย่างเช่น อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ และ ยังรวมถึงการตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต ของระบบเลือด ของสารอิเล็กโทรไลต์/เกลือแร่(Electrolyte) และตรวจวัดความดันโลหิตเป็นระยะๆ เป็นต้น

สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงเด็ก จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยามิลริโนน

ยามิลริโนนถูกจัดอยู่ในหมวดของยาอันตราย คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยามิลริโนนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยระบุเงื่อนไขการใช้ยาดังนี้

1. ใช้เพิ่มการบีบตัวของหัวใจในผู้ป่วยหลังการผ่าตัดหัวใจ

2. ใช้ทดแทนหรือเสริมการใช้ยา Dopamine หรือยา Dobutamine (ยารักษาภาวะหัวใจล้มเหลวอีกชนิด) ในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวที่รุนแรง (Advanced heart failure)

3. ใช้เพื่อเพิ่มการบีบตัวของหัวใจในผู้ป่วย Advanced heart failure ที่เคยใช้ยากลุ่ม Beta blocker มาก่อน

อนึ่งผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยามิลริโนนนี้ได้ในสถานพยาบาลของรัฐและของเอกชนโดยทั่วไป

มิลริโนนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

มิลริโนน

ยามิลริโนนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดรักษาโรค/ภาวะ/อาการหัวใจล้มเหลว

มิลริโนนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยามิลริโนนคือ ตัวยาจะคอยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ฟอสโฟ ไดเอสเทอเรส 3 ส่งผลให้ระดับสารไซคลิก อะดีโนซีน โมโนฟอสเฟต (Cyclic adenosine monophos phate หรือ cAMP หรือ CAMP, สารที่ใช้ในกระบวนการทางชีวเคมีของเซลล์) ในร่างกายเพิ่มขึ้นจนเกิดการกระตุ้นกระบวนการทางชีวเคมีในร่างกายและทำให้หัวใจมีแรงบีบตัวมากขึ้น จากกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา

มิลริโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยามิลริโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดขนาด 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (1,000 ไมโครกรัม /มิลลิลิตร)

มิลริโนนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยามิลริโนนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆขนาด 50 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยใช้เวลาในการเดินยา/ให้ยานานประมาณ 10 นาทีขึ้นไป จากนั้นให้หยดยาเข้าหลอดเลือดดำในอัตรา 0.375 - 0.75 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที ขนาดการใช้ยาสูงสุดห้ามเกิน 1.13 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็ก: เริ่มต้นโดยฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆขนาด 75 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยใช้เวลาเดินยานานประมาณ 10 - 15 นาทีขึ้นไป จากนั้นให้หยดยาเข้าหลอดเลือดดำในอัตรา 0.5 - 0.75 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที

*อนึ่ง:

  • ระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • ผู้ป่วยโรคไตให้ปรับขนาดการให้ยาที่สัมพันธ์กับค่าครีเอตินินเคลียแลนซ์ดังนี้

  • การหยดยาเข้าหลอดเลือดดำสามารถใช้สารละลายปราศจากเชื้อ 0.45% Sodium chloride หรือใช้สารละลาย 5% Dextrose เป็นตัวเจือจางยามิลริโนนเพื่อเตรียมหยดเข้าหลอดเลือดดำ

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยามิลริโนน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆเช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามิลริโนนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

มิลริโนนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยามิลริโนนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ เจ็บหน้าอกด้วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ มีอาการสั่น และวิงเวียน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะ Thrombocytopenia (เกล็ดเลือดต่ำ) หรือยับยั้งการทำงาน ของเกล็ดเลือดทำให้เลือดออกง่ายและเมื่อเลือดออก เลือดจะหยุดไหลได้ช้าลง
  • ผลต่อตับ: เช่น ทำให้ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบหายใจ: เช่น เกิดอาการหลอดลมหดเกร็งตัวจนเกิดภาวะหายใจลำบาก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบผื่นคัน

มีข้อควรระวังการใช้มิลริโนนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยามิลริโนนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน รวมถึงผู้ที่มีปัญหาด้านลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ (โรคลิ้นหัวใจ)
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสิ่งแปลกปลอมเจือปนรวมถึงยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ระหว่างการใช้ยานี้กับผู้ป่วยต้องควบคุมสัญญาณชีพต่างๆรวมถึงระดับอิเล็กโทรไลต์/เกลือแร่ในเลือดของผู้ป่วยให้เป็นปกติอยู่ตลอดเวลา
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่อุดตัน ผู้ป่วยโรคหัวใจโต ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามิลริโนน) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

มิลริโนนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยามิลริโนนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยามิลริโนนร่วมกับยา Maraviroc (ยารักษาเอชไอวี/HIV), Isocarboxazid (ยารักษาโรคซึมเศร้า), Phenelzine, Tizanidine, Selegiline ด้วยอาจทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ ปวดศีรษะ วิงเวียน เป็นลม และอัตราการเต้นของหัวใจเปลี่ยนไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยามิลริโนนร่วมกับยา Anagrelide (ยารักษาภาวะเกล็ดเลือดสูง) ด้วยอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ชีพจรและหัวใจเต้นผิดปกติเช่น อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นรวมถึงมีอาการหัวใจล้มเหลวตามมา

ควรเก็บรักษามิลริโนนอย่างไร?

ควรเก็บยามิลริโนนในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความชื้น และความร้อน และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

มิลริโนนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยามิลริโนนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Primacor (ไพรมาคอร์)sanofi-aventis

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/milrinone/?type=brief&mtype=generic [2016,June18]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=milrinone [2016,June18]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Milrinone [2016,June18]
  4. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/26#item-8381 [2016,June18]
  5. http://www.drugs.com/drug-interactions/milrinone-index.html?filter=3&generic_only= [2016,June18]