มินเนอราโลคอร์ติคอยด์ (Mineralocorticoids)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

มินเนอราโลคอร์ติคอยด์คืออะไร?

มินเนอราโลคอร์ติคอยด์(Mineralocorticoids) หรือจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อัลดอสเตอโรน (Aldosterone)เป็นฮอร์โมนในประเภท Corticosteroids ที่จัดเป็นสเตียรอยด์ฮอร์โมน(Steroid hormone)ชนิดหนึ่ง ถูกผลิตจากต่อมหมวกไตส่วนนอก(Adrenal cortex) มินเนอราโลคอร์ติคอยด์มีอิทธิพลต่อการรักษาสมดุลเกลือแร่และน้ำในร่างกาย โดยมีการออกฤทธิ์ในบริเวณไต ทำให้ไตมีการดูดกลับของเกลือโซเดียมและของน้ำคืนเข้าสู่ร่างกาย/เลือด ขณะเดียวกัน จะผลักดันเกลือโปแตสเซียม และกรดที่อยู่ในรูปของโปรตอน(H+) ออกนอกร่างกาย กลไกนี้เองที่สร้างความสมดุลของปริมาณของน้ำเลือดและความดันโลหิตของร่างกาย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าถ้าเราไม่มีฮอร์โมนมินเนอราโลคอร์ติคอยด์หรือต่อมหมวกไตถูกตัดออกไป จะทำให้ร่างกายรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ไม่ได้ซึ่งจะส่งผลทำให้บุคคลนั้นตายลง

ทั้งนี้ มีปัจจัยอยู่ 2 อย่างที่ดูโดดเด่นและทำให้ร่างกายมีการหลั่งฮอร์โมนมินเนอราโลคอร์ติคอยด์จากต่อมหมวกไต คือ

1. มีระดับเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูงมากขึ้น จนเกิดกลไกอัตโนมัติกระตุ้นทำให้ฮอร์โมนมินเนอราโลคอร์ติคอยด์หลั่งออกมา

2. ปริมาตรของเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงไตมีปริมาณลดลง ส่งผลกระตุ้นให้กลุ่มฮอร์โมนที่มีชื่อเรียกว่า Renin-angiotensin system ทำงาน โดยจะเกิดการหลั่งฮอร์โมนแองจิโอเทนซิน II (Angiotensin II) ออกมา ฮอร์โมนแองจิโอเทนซิน II จะมีอิทธิพลกระตุ้นให้มินเนอราโลคอร์ติคอยด์หลั่งออกมาเช่นกัน

นอกเหนือจาก 2 ปัจจัยข้างต้น ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกที่อาจกระตุ้นให้ต่อมหมวกไตมีการหลั่ง มินเนอราโลคอร์ติคอยด์ ออกมา เช่น ร่างกายอยู่ในภาวะขาดเกลือโซเดียม(เกลือโซเดียมในเลือดต่ำ)หรือขณะที่ร่างกายมีการหลั่งฮอร์โมน ACTH (Adrenocorticotropic Hormone/ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง) ก็สามารถกระตุ้นการหลั่งมินเนอราโลคอร์ติคอยด์ได้เช่นกัน

ส่วนปัจจัยอะไรที่ทำให้มินเนอราโลคอร์ติคอยด์หลั่งออกมาได้น้อย นักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายกลไกที่เกิดตรงกันข้ามนี้ มีสาเหตุจากหัวใจห้องบนด้านขวาหลั่งฮอร์โมนที่มีชื่อว่า Atrial natriuretic peptide เพื่อช่วยทำให้ความดันโลหิตต่ำลง และช่วยเพิ่มการขับออกของเกลือโซเดียมกับน้ำในบริเวณไต

จะเห็นได้ว่าฮอร์โมนมินเนอราโลคอร์ติคอยด์จะมีความสัมพันธ์กับการทำงานของฮอร์โมนตัวอื่นอย่างมีสมดุล การขาดมินเนอราโลคอร์ติคอยด์ หรือมีฮอร์โมนนี้มากจนเกินไป ย่อมส่งผลเสียต่อระบบการทำงานของร่างกายได้อย่างรุนแรง ประชาชน/ผู้บริโภคสามารถหาความรู้เรื่องฮอร์โมนมินเนอราโลคอร์ติคอยด์ของร่างกายจากอายุรแพทย์ทางด้านระบบต่อมไร้ท่อได้ทั่วประเทศ หรือค้นคว้าจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือเว็บไซด์ต่างๆ ตลอดจนกระทั่งศึกษาจากตำราเกี่ยวกับฮอร์โมนของร่างกายได้ตามศูนย์หนังสือทั่วประเทศ

ระดับมินเนอราโลคอร์ติคอยด์ผิดปกติจะเกิดอะไรขึ้น?

มินเนอราโลคอร์ติคอยด์

กรณีระดับฮอร์โมนมินเนอราโลคอร์ติคอยผิดปกติ

ก. กรณีร่างกายขาดมินเนอราโลคอร์ติคอยด์ ซึ่งมักจะเกิดพร้อมๆกับขณะที่ร่างกายขาดแคลนฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์(Glucocorticoid ฮอร์โมนอีกชนิดจากต่อมหมวกไต) จะก่อให้เกิดโรค Addison’s disease ซึ่งผู้ป่วยจะแสดงอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลด เบื่ออาหาร สีผิวคล้ำขึ้น ความดันโลหิตต่ำ ชอบบริโภคอาหารเค็ม น้ำตาลในเลือดต่ำ คลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ซึม ผมร่วง และในสตรีจะมีความรู้สึกทางเพศถดถอย การรักษาโรคนี้ แพทย์อาจให้ยาHydrocortisone, Prednisone แบบรับประทาน หรือใช้ยาฉีดประเภท Corticosteroid ตามที่แพทย์เห็นเหมาะสม ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์สามารถสังเคราะห์ยาเลียนแบบฮอร์โมนมินเนอราโลคอร์ติคอยด์ที่มีชื่อเรียกว่า “Fludrocortisone” และจัดจำหน่ายภายใต้ยาชื่อการค้าว่า “Florinef” ซึ่งหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาโรคนี้โดยใช้ฮอร์โมนทดแทนดังกล่าว จะทำให้ร่างกายผู้ป่วยเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำและหัวใจล้มเหลว

ข. กรณีที่ร่างกายมีฮอร์โมนมินเนอราโลคอร์ติคอยด์สูงเกินปกติ จะก่อให้เกิดภาวะร่างกายสูญเสียเกลือโปแตสเซียมในเลือดในขณะที่มีโซเดียมในเลือดสูงมากขึ้น ส่งผลทำให้ความดันโลหิตสูง และมีปริมาตรของเลือดเพิ่มมากกว่าปกติ สาเหตุที่มินเนอราโลคอร์ติคอยด์มีปริมาณสูงเกินในร่างกาย อาจมาจากเนื้องอกของต่อมหมวกไต (เช่น Pheochromocytoma) และการรักษาต้องใช้วิธีผ่าตัดต่อมหมวกไต หากผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดต่อมหมวกไต แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ยาประเภท Mineralocorticoid receptor antagonists(Aldosterone antagonist) ทดแทน และผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับอาการป่วย บางทีต้องใช้ยาเหล่านี้ไปตลอดชีวิต หากหยุดใช้ยาเหล่านี้ จะทำให้มีอาการความดันโลหิตสูง และมีภาวะเกลือโปแตสเซียมในเลือดต่ำ/ในร่างกายต่ำตามมา

ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อมินเนอราโลคอร์ติคอยด์ผิดปกติ?

การปฏิบัติตัวเมื่อมินเนอราโลคอร์ติคอยด์ในร่างกายผิดปกติ ได้แก่

ก. กรณีที่ฮอร์โมนมินเนอราโลคอร์ติคอยด์สูงเกินปกติ ควรปรับแต่งการใช้ชีวิตประจำวันดังนี้ เช่น

  • ควบคุมอาหารที่มีรสเค็ม หันมารับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีไขมันต่ำ เพื่อควบคุมภาวะความดันโลหิตสูง และเพื่อมีผลดีต่อหัวใจ
  • ควบคุมน้ำหนักตัว เพื่อให้มีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คือ 18–25 ภาวะน้ำหนักตัวเกิน มักจะทำให้มีความดันโลหิตสูงตามมา นอกจากนี้ การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมกับวัย จะทำให้ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • หยุดการสูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มประเภทกาแฟ(กาเฟอีน) จะช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อยาลดความดันโลหิตที่แพทย์สั่งจ่ายได้อย่างเหมาะสม

ข. กรณีที่ฮอร์โมนมินเนอราโลคอร์ติคอยด์ในเลือดในร่างกายต่ำผิดปกติ การดูแลตนเอง นอกจากจะมีเรื่อง การควบคุมอาหาร การพักผ่อน และการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมแล้ว ยังต้องใช้ยาต่างๆตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และต้องมารับการตรวจร่างกาย/มาโรงพยาบาล ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง

บรรณานุกรม

  1. http://www.sciencedirect.com/topics/biochemistry-genetics-and-molecular-biology/mineralocorticoids [2017,Dec9]
  2. http://www.vivo.colostate.edu/hbooks/pathphys/endocrine/adrenal/mineralo.html [2017,Dec9]
  3. https://medical-dictionary.thefreedictionary.com/Atrial+natriuretic+hormone [2017,Dec9]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/10210741 [2017,Dec9]
  5. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/addisons-disease/symptoms-causes/syc-20350293 [2017,Dec9]
  6. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/addisons-disease/diagnosis-treatment/drc-20350296 [2017,Dec9]
  7. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/primary-aldosteronism/diagnosis-treatment/drc-20351807 [2017,Dec9]
  8. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/primary-aldosteronism/symptoms-causes/syc-20351803 [2017,Dec9]