มาม่าบลู แม่เศร้าจัง (ตอนที่ 4)

มาม่าบลูแม่เศร้าจัง-4

      

      ส่วนการรักษาโรคซึมเศร้าหลังคลอดจะแตกต่างกันไปขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของอาการ โดยการรักษาแยกออกได้เป็น

      Baby blues มักหายเองใน 2-3 วัน รือ 2-3 สัปดาห์ ด้วยการ

• ให้พักผ่อนให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

• ยอมรับความช่วยเหลือจากครอบครัวและเพื่อน

• พูดคุยกับคุณแม่คนใหม่อื่นๆ

• หาเวลาดูแลตัวเอง

• หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติดเพื่อความบันเทิง (Recreational drugs) เพราะจะทำให้อารมณ์แปรปรวนแย่ลงอีก

      โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) มักรักษาด้วย

• จิตบำบัด (Psychotherapy) โดยจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ที่คอยให้คำปรึกษาเพื่อหาทางจัดการกับความรู้สึก แก้ปัญหา และตอบสนองต่อสถานการณ์ในเชิงบวก ซึ่งทำได้ 2 รูปแบบ คือ

      o การบําบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy = CBT) เพื่อเข้าใจและเปลี่ยนทัศนคติทางลบ

      o จิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal therapy = IPT) เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

• การให้ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants)

      ทั้งนี้ หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาการโรคซึมเศร้าหลังคลอดก็มักจะดีขึ้น แต่ก็มีบางครั้งที่กลายเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง ดังนั้นจึงควรทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะการหยุดรักษาที่เร็วเกินอาจทำให้กลับมาเป็นซ้ำได้อีก

      ส่วนในกรณีของโรคจิตหลังคลอด ต้องการการรักษาทันทีในโรงพยาบาลด้วยการ

• ให้ยารักษาโรคจิตเพื่อควบคุมอาการ เช่น ยาระงับอาการทางจิต (Antipsychotic medications) ยาควบคุมอารมณ์ (Mood stabilizers) และ ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ที่ช่วยทำให้เกิดการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการกระวนกระวาย นอนไม่หลับ

• การรักษาด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy = ECT) กรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา เพื่อทำให้สารเคมีในสมองเกิดการเปลี่ยนแปลง ช่วยลดอาการโรคจิตและซึมเศร้าหดหู่

แหล่งข้อมูล:

  1. Postpartum depression. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/postpartum-depression/symptoms-causes/syc-20376617 [2018, November 29].
  2. Postpartum Depression. https://www.webmd.com/depression/guide/postpartum-depression#1 [2018, November 29].