มาม่าบลู แม่เศร้าจัง (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 27 พฤศจิกายน 2561
- Tweet
เป็นเรื่องที่ไม่มีใครทราบมาก่อน เมื่อคุณแม่ดาราคนสวยออกมาเปิดใจเล่าว่าหลังจากคลอดลูกคนที่ 2 ก็ป่วยโรคมาม่าบลู ซึ่งเป็นภาวะอารมณ์ที่เกิดจากฮอร์โมนของคุณแม่หลังคลอด เหม่อลอย ร้องไห้ตลอด อาการคล้ายโรคซึมเศร้า จนต้องพบจิตแพทย์และทำการรักษาด้วยการกินยา และกล่าวว่ามีโอกาสพัฒนาไปเป็นโรคซึมเศร้าได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวเองว่าจะสู้กับโรคได้แค่ไหน ซึ่งต้องพยายามเข้มแข็ง ไม่คิดมาก และหากิจกรรมที่สนุกสนานทำ
การให้กำเนิดบุตรของผู้หญิงอาจทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมาก จากความตื่นเต้น รื่นเริง กลายไปสู่ความกลัว กระวนกระวาย และทำให้เกิดความหดหู่ซึมเศร้าตามมา
เพราะในระหว่างการตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนเพศหญิงที่เรียกว่า เอสโตรเจน (Estrogen) กับโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เพิ่มสูงมากกว่าปกติถึง 10 เท่า แต่ภายหลังการคลอดได้ 3 วัน ฮอร์โมนทั้งสองตัวนี้จะลดต่ำลงไปทันที กลับไปยังระดับเดียวกับก่อนการตั้งครรภ์ ส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้
อาการซึมเศร้าหลังคลอด แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ
- ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Baby blues) ที่เกิดขึ้นถึงร้อยละ 80 ของผู้หญิงหลังคลอด ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ โดยภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอดอาจเกิดขึ้นเพียงในไม่กี่ชั่วโมงหรืออาจนาน 1-2 สัปดาห์หลังคลอด อาการนี้มักไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ เพียงการเข้ากลุ่มคุยกับคุณแม่คนอื่นก็สามารถช่วยได้
- โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression = PPD) มีประมาณะร้อยละ 15 ของผู้หญิงหลังคลอด มีอาการคล้าย Baby blues แต่อาการหนักและนานกว่า และอาจกระทบต่อการดูแลลูกและงานที่ต้องทำในแต่ละวัน อาการมักเกิดในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังคลอด หรือนาน 1 ปี หลังคลอด เกิดขึ้นได้ทุกครั้งที่ตั้งครรภ์ ไม่จำกัดเฉพาะครรภ์แรก โดยจำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและกินยา เพราะหากไม่ได้รับการรักษา อาการจะแย่ลง
- โรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis = PPP) เป็นโรคทางจิตที่ร้ายแรงมากสำหรับคุณแม่คนใหม่ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว มักเกิดใน 3 เดือนแรกหลังคลอด ผู้หญิงที่เป็นโรคจิตหลังคลอดต้องเข้ารับการรักษาทันที และอาจต้องอยู่โรงพยาบาลเพราะมีความเสี่ยงในการทำร้ายตัวเองและผู้อื่น
โดยอาการของภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Baby blues) ซึ่งจะเป็นอยู่ 1-2 วัน หรือ 1-2 สัปดาห์ ได้แก่
- อารมณ์แปรปรวน (Mood swings)
- กระวนกระวายใจ
- เศร้า
- หงุดหงิด
- รู้สึกหวาดกลัว (Feeling overwhelmed)
- ร้องไห้
- สมาธิลดลง
- มีปัญหาเรื่องการอยากอาหาร (Appetite problems)
- นอนไม่หลับ
แหล่งข้อมูล:
- หนิง ห่วง! เป้ย พบจิตแพทย์ป่วยมาม่าบลู อาจพัฒนาสู่ซึมเศร้าได้. https://gossipstar.mthai.com/gossip-content/72006 [2018, November 26].
- Postpartum Depression. https://www.webmd.com/depression/guide/postpartum-depression#1 [2018, November 26].
- Postpartum depression. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/postpartum-depression/symptoms-causes/syc-20376617 [2018, November 26].
- Postpartum Depression Facts. https://www.nimh.nih.gov/health/publications/postpartum-depression-facts/index.shtml [2018, November 26].