มานิดิปีน (Manidipine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยามานิดิปีน(Manidipine หรือ Manidipine hydrochloride)เป็นยาในกลุ่มแคลเซียม แชนแนล บล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker) ทางการแพทย์นำยานี้มารักษาโรคความดันโลหิตสูง รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้เป็นยาชนิดรับประทาน ยานี้จะออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว จึงเกิดการไหลเวียนของเลือดได้สะดวกและส่งผลลดความดันโลหิตลงได้

ข้อจำกัดของการใช้ยามานิดิปีนมีอยู่หลายประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยามานิดิปีน
  • ผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอก (Unstable angina) หรือ มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบ Myocardial stroke/หลอดเลือดหัวใจอุดตันทันที่ ที่เกิดภายใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
  • ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวและยังมิได้ทำการรักษา ผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง ผู้ป่วยด้วยภาวะตับวาย ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ห้ามใช้ยามานิดิปีน
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก จัดเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่ห้ามใช้ยานี้
  • ยาอื่นๆบางชนิดอาจนำมาซึ่งภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)หากใช้ร่วมกับยามานิดิปีน อาทิเช่น ยาขับปัสสาวะ ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blocker) ยารักษาอาการติดเชื้อจากไวรัส/ยาต้านไวรัส ยาต้านแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ ยาบำบัดอาการทางระบบประสาท ยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (อย่างเช่น ยา Amiodarone, Quinidine, และ Digoxin) รวมถึงยารักษาโรคภูมิแพ้ อย่างเช่นยา Terfenadine และ Astemizole จึงถือเป็นข้อปฏิบัติที่ ผู้ป่วยต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ให้ทราบทุกครั้งว่า ตนเองมีการใช้ยาชนิดใดอยู่ก่อน
  • ห้ามรับประทานยามานิดิปีนพร้อมสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบ ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพของยามานิดิปีนด้อยลงไป

ทั้งนี้ การใช้ยามานิดิปีน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณากำหนดว่า ผู้ป่วยควรได้รับยาขนาดรับประทานเท่าใด กรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาตามคำสั่งแพทย์แล้ว หากพบว่าอาการยังไม่ดีขึ้น หรือกลับแย่ลง ควรต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับขนาดรับประทาน หรือปรับแนวทางการรักษา ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเองโดยเด็ดขาด

การใช้ยามานิดิปีน สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ตามมา เช่น มีภาวะวิงเวียน กรณีที่มีอาการดังกล่าว ผู้ป่วยควรต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะ และ/หรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

โดยทั่วไป การรักษาโรคความดันโลหิตสูงด้วยยาทุกชนิดรวมถึงยามานิดิปีน มักต้องใช้ยาต่อเนื่องเป็นประจำ จึงจะส่งผลดีต่อการรักษา ผู้ป่วยจึงไม่ควรหยุดใช้ยาเองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์

ขนาดรับประทานทั่วไปของยามานิดิปีน ที่แพทย์มักจะใช้กับผู้ป่วย คือ 10 มิลลิกรัม วันละ 1ครั้ง หลังอาหารเช้า กรณีใช้ยานี้ไปแล้ว 2 – 4 สัปดาห์ ผลการรักษายังไม่เป็นที่น่าพอใจของแพทย์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 20 มิลลิกรัม/วัน แต่ สำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภาวะตับ-ไตทำงานผิดปกติ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพียง 10 มิลลิกรัม/วันเท่านั้น

*กรณีที่ผู้ป่วย รับประทานยามานิดิปีนเกินขนาด อาจส่งผลทำให้เกิดภาวะ ความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ตามมา หากพบเหตุการณ์เช่นนี้ ต้อรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุดโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน

ในประเทศไทยเรา โดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้จัดให้ยามานิดิปีนอยู่ในกลุ่มยาอันตราย การใช้ยานี้ต้องถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น และห้ามมิให้ผู้ป่วยไปหาซื้อยานี้มารับประทานเองโดยเด็ดขาด

มานิดิปีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

มานิดิปีน

ยามานิดิปีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูง(Hypertension)

มานิดิปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยามานิดิปีนมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยเป็นยาในกลุ่มแคลเซียม แชนแนล บล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker) ที่ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการซึมผ่านของประจุ เกลือแคลเซียมในเลือด มิให้เข้าผนังกล้ามเนื้อของหลอดเลือดแดง ส่งผลทำให้หลอดเลือดแดงคลายตัว ซึ่งทำให้ความดันโลหิตลดลงมา

มานิดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยามานิดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10 และ 20 มิลลิกรัม/เม็ด

มานิดิปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยามานิดิปีน มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 10 – 20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หลังอาหารเช้า
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังมิได้มีการจัดทำขนาดการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้ตรงเวลาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยามานิดิปีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามานิดิปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยามานิดิปีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทาน ยามานิดิปีน ตรงเวลา

มานิดิปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยามานิดิปีนอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดอาการความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นผิดปกติ หน้าแดง เจ็บหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ สมองขาดเลือด ตัวสั่น
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร-ลำไส้
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น เกิดภาวะซึมเศร้า
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ ตับอักเสบ
  • อื่นๆ: เช่น มีไข้

มีข้อควรระวังการใช้มานิดิปีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยามานิดิปีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยมิได้มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะช็อกด้วยโรคหัวใจ ผู้ที่มีลิ้นหัวใจตีบ ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเมื่อไม่นาน ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยาหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเองโดยไม่ได้ขอ คำปรึกษาจากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะ และ/หรือทำงานเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องจักร เมื่อมีอาการเวียนศีรษะหลังรับประทานยานี้ เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • กรณีใช้ยานี้ แล้วพบว่าเกิดความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ ควรรีบ มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ไม่ต้องรอถึงวันนัด ด้วยมีความเป็นไปได้ว่า อาจเกิดการใช้ยานี้ผิดขนาดจากที่แพทย์กำหนด
  • การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ควรใช้ยานี้ในขนาดเริ่มต้นที่ต่ำก่อน
  • แจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่าตนเองมีการใช้ยาชนิดอื่นใดอยู่ก่อน ทั้งนี้เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยามานิดิปีน
  • หมั่นตรวจความดันโลหิตเป็นประจำหลังใช้ยานี้ ตาม แพทย์ พยาบาล เภสัชกรแนะนำ
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อตรวจสภาพร่างกายตามนัดทุกครั้ง และปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามานิดิปีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

มานิดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยามานิดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยามานิดิปีนร่วมกับกลุ่มยาลดความดันโลหิตสูงชนิดอื่น อย่างเช่น Aldesleukin หรือกลุ่มยาบำบัดอาการทางจิตประสาท/ยารักษาทางจิตเวช ด้วยอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยามานิดิปีนร่วมกับยา Carbamazepine, Phenytoin, และ Rifampicin, ด้วยจะทำให้ระดับยามานิดิปีนในกระแสเลือดลดต่ำลงมาจนส่งผลต่อฤทธิ์ของการรักษาอาการความดันโลหิตสูง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยามานิดิปีนร่วมกับยา Cimetidine, Erythromycin, ด้วยยาดังกล่าว สามารถส่งผลให้ระดับยามานิดิปีนในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น จนอาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยามานิดิปีน

ควรเก็บรักษามานิดิปีนอย่างไร?

ควรเก็บยามานิดิปีนในอุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

มานิดิปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยามานิดิปีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Kerdica 20 (เคอร์ดิกา 20)MacroPhar
Madiplot (แมดิพล็อท)Takeda

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Franidipine

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Calcium_channel_blocker#Dihydropyridine [2016,Sept17]
  2. http://agence-prd.ansm.sante.fr/html/par_eu/20101005_fr370379_manidipine_pl.pdf [2016,Sept17]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/manidipine/?type=brief&mtype=generic [2016,Sept17]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/kerdica%2020/?type=brief [2016,Sept17]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/madiplot/?type=brief [2016,Sept17]