มะเร็งเซลล์ไขมัน หรือ ไลโปซาร์โคมา (Liposarcoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

มะเร็งเซลล์ไขมัน หรือ ไลโปซาร์โคมา(Liposarcoma) คือโรคจากเซลล์ไขมัน(Lipocyte หรือ Adipocyte หรือ Fat cell)เกิดเจริญเติบโต แบ่งตัวรวดเร็วเกินปกติมาก และร่างกายควบคุมการแบ่งตัวนี้ไม่ได้ จนในที่สุดเกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็งฯ ที่รุกราน/ลุกลามทำลายเซลล์/ เนื้อเยื่อต่างๆของอวัยวะที่เกิดก้อนมะเร็งฯ รุกราน/ลุกลามเข้าทำลายอวัยวะข้างเคียง เข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง และในที่สุดแพร่กระจายตามกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ที่พบบ่อยคือ ปอด รองลงมาคือ ตับ

เนื่องจาก เซลล์ไขมันจัดอยู่ในกลุ่ม เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน/เนื้อเยื่ออ่อน มะเร็งเนื้อเยื่อไขมัน/ไลโปซาร์โคมาจึงจัดอยู่ในกลุ่มมะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน/มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งเป็นมะเร็งกลุ่ม มะเร็งซาร์โคมา พบได้ทุกอวัยวะที่มีเซลล์/เนื้อเยื่อไขมันอยู่ เช่น กล้ามเนื้อ, กระดูก, เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง, อวัยวะต่างๆในช่องท้อง, และเยื่อบุช่องท้อง โดยพบบ่อยที่ เนื้อเยื่อไขมันที่ ต้นขา, กระดูกต้นขา, กระดูกสะโพก, และโพรงหลังเยื่อบุช่องท้อง(Retroperitoneum)

มะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมา พบทั่วโลก แต่พบน้อยมาก ในแต่ละปีพบประมาณ 2.5 รายต่อประชากร 1 ล้านคน พบทุกอายุ แต่พบน้อยในเด็ก มักพบในวัยกลางคนตั้งแต่อายุ40ปีขึ้นไป ผู้ชายพบบ่อยกว่าผู้หญิงเล็กน้อย ทั่วไปมักศึกษาสถิติเกิดรวมอยู่ในมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน(มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน)

ประเทศไทยที่รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี ค.ศ. 2018 (ผู้ป่วยช่วงปี ค.ศ.2013-2015) รายงานสถิติเกิดรวมอยู่ในมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนเช่นกัน โดยพบมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนในหญิงไทย 1.4 รายต่อประชากรหญิงไทย 1 แสนคน, และ ชายไทย 1.3 รายต่อประชากรชายไทย 1 แสนคน

มะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมามีกี่ชนิด?

มะเร็งเซลล์ไขมัน

มะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมา มีชนิดย่อยหลายชนิดตามลักษณะทาง พยาธิวิทยาของก้อนมะเร็ง แต่ทั่วไปแบ่งเป็น 4 ชนิดย่อย ได้แก่

ก. ชนิดเซลล์แบ่งตัวต่ำและรูปร่างเซลล์ยังไม่เปลี่ยนแปลงผิดปกติมาก (Well differentiated liposarcoma หรือ Atyptical liposarcoma): เป็นชนิดพบบ่อยประมาณ 40% ของไลโปซาร์โคมาทั้งหมด มีการพยากรณ์โรคที่ดี มักไม่ค่อยแพร่กระจายทางกระแสเลือด แต่มีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำสูงโดยเฉพาะเมื่อผ่าตัดออกไม่หมด ซึ่งเมื่อเกิดเป็นซ้ำบ่อยๆ เซลล์จะกลายพันธ์เป็นชนิดมีความรุนแรงโรคสูงขึ้น เช่น เป็นชนิด เซลล์แบ่งตัวสูง(ชนิด ข.) หรือแบ่งตัวสูงมาก(ชนิด ง.)

ข. ชนิดเซลล์แบ่งตัวสูง(Dedifferentiated liposarcoma หรือ Poorly differentiated liposarcoma): เป็นชนิดอาจเกิดตั้งแต่เริ่มแรกเกิดโรค หรือกลายพันธ์ มาจากชนิดเซลล์แบ่งตัวต่ำ(ชนิด ก.) กรณีที่โรคเกิดเป็นซ้ำๆ มีโอกาสเกิดโรคแพร่กระจายทางกระแสเลือดไปอวัยวะอื่นโดยเฉพาะปอดได้สูงขึ้น ทั่วไปการพยากรณ์โรคกลุ่มนี้อยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงเลว

ค. ชนิดเซลล์แบ่งตัวปานกลางและมีน้ำเมือกอยู่ในเซลล์(Myxoid liposarcoma หรือ Round cell liposarcoma): จัดเป็นชนิดเซลล์แบ่งตัวสูง เกิดเป็นซ้ำได้สูง แพร่กระจายทางกระแสเลือดสูงขึ้น และมักแพร่กระจายสู่ปอด และสู่อวัยวะที่มีเนื้อเยื่อไขมันมาก เช่น ไขกระดูก, กระดูก(พบได้ทั้งเป็นมะเร็งของกระดูกเอง หรือแพร่กระจายจากอวัยวะอื่นสู่กระดูก), ช่องอก, ช่องท้อง, โพรงหลังเยื่อบุช่องท้อง, เป็นชนิดมีการพยากรณ์โรคไม่ดี มะเร็งชนิดนี้พบได้ประมาณ 20%ของไลโปซาร์โคมาทั้งหมด

ง. ชนิดเซลล์แบ่งตัวสูงมากและเปลี่ยนแปลงรูปร่างและขนาด หลากหลายต่างจากเซลล์ไขมันปกติมาก(Pleomorphic liposarcoma): เป็นกลุ่มโรครุนแรงสูงสุด การพยากรณ์โรคแย่ที่สุด โรคย้อนกลับเป็นซ้ำและแพร่กระจายฯสูงมากโดยเฉพาะ สู่ปอด แต่พบน้อย ประมาณ5%ของไลโปซาร์โคมาทั้งหมด

มะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมามีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดได้อย่างไร?

ปัจจุบัน แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุเกิดที่แน่ชัดของมะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมา แต่พบปัจจัยเสี่ยง คือ

  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม/โครโมโซมชนิดไม่ถ่ายทอด คือเกิดเองตามธรรมชาติของคนๆนั้น
  • ส่วนการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อไขมัน เช่น จากอุบัติเหตุ ยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันความเกี่ยวข้องกันกับการเกิดมะเร็งชนิดนี้

***อนึ่ง ยังไม่มีรายงานการกลายพันธ์ของ เนื้องอกไขมัน มาเป็นมะเร็งเซลล์ไขมัน

มะเร็งแซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมา มีอาการอย่างไร?

อาการหลักของมะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมา จะเช่นเดียวกับอาการของมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนทุกชนิด คือ

  • มีก้อนเนื้อผิดปกติ ทั่วไปมักเป็นก้อนเดียว ก้อนเนื้อโตขึ้นเรื่อยๆ ก้อนค่อนข้างกลม ค่อนข้างนุ่ม ขอบเขตก้อนไม่ชัดเจน และพบเกิดได้กับทุกอวัยวะรวมถึง ใต้ผิวหนัง และช่องท้องก้อนพบได้ทุกๆขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็ก 2-3 เซนติเมตร ไปจนถึงมากกว่า 10 ซม. มักไม่เกิดแผลที่ก้อน และมักไม่มีอาการเจ็บปวดที่ก้อน ยกเว้นก้อนที่เกิดกับกระดูกที่เจ็บ/ปวดได้
  • มะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมา มักไม่ลุกลามแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง จึงมักตรวจ/คลำไม่พบมีต่อมน้ำเหลืองใกล้ก้อนเนื้อโต

นอกจากนี้ อาการอื่นๆ เช่น

  • เมื่อก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของอวัยวะที่เกิดโรค เช่น ของ ขา แขน
  • เมื่อเกิดในช่องท้อง จะก่ออาการทางระบบทางเดินอาหารจากก้อนกดเบียดทับกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ปวดท้อง

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อคลำพบก้อนเนื้อผิดปกติ โดยเฉพาะก้อนโตขึ้นเรื่อยๆ และร่วมกับมีอาการต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ’อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นก้อนเนื้อชนิดอะไร เป็นเนื้องอกทั่วไป/เนื้องอกไม่ร้ายแรง(Benign tumor) หรือเป็นเนื้องอกมะเร็ง(Malignant tumor หรือ Cancer)

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมาอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัย มะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมาได้เช่นเดียวกับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งได้แก่

  • จากประวัติอาการผู้ป่วย ที่สำคัญคือ มีก้อนเนื้อผิดปกติ, ก้อนเนื้อโตขึ้นเรื่อยๆ,
  • การตรวจร่างกาย รวมถึง การตรวจคลำต่อมน้ำเหลือง และ รูปลักษณะก้อนเนื้อจากการตรวจคลำ
  • ตรวจภาพก้อนเนื้อด้วย เอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ
  • แต่ที่ให้ผลแน่นอนคือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาและโดยการตรวจจำเพาะที่เรียก Immunohistochemistry(IHC)

มีการแบ่งระยะโรคมะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมาอย่างไร?

มะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมา เป็นมะเร็งพบน้อย ปัจจุบันจึงยังไม่มีการจัดระยะโรคเฉพาะ แต่ใช้ระยะโรคเช่นเดียวกับมะเร็งมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน

มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน แบ่งเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ โดยในบางระยะจะแบ่งเป็นระยะย่อยๆ ที่แพทย์โรคมะเร็งใช้เพื่อ ช่วยเลือกวิธีรักษา และเพื่อการศึกษา

อย่างไรก็ตาม การจัดระยะโรคของมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนยังแตกต่างกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆบ้าง คือ ยังขึ้นกับ

  • การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง (Cell grading ย่อว่า G)ว่า เป็นเซลล์มะเร็งชนิดแบ่งตัวต่ำ (G1) หรือ ชนิดแบ่งตัวสูง(G2,G3: ความรุนแรงโรคสูงขึ้นตาม G ที่สูงขึ้น) และ
  • ตำแหน่งที่เกิดโรค

โดยบทความนี้ ขอยกตัวอย่างระยะโรคฯเฉพาะของตำแหน่งโรคที่พบบ่อยคือ แขน ขา และ ลำตัว ซึ่งทั้ง 4 ระยะของมะเร็งเซลล์ไขมัน/มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนโดยจัดระยะโรคตามองค์กรด้านโรคมะเร็ง สหรัฐอเมริกา (American Joint Committee on Cancer, AJCC) ได้แก่

  • ระยะที 1 โรคจำกัดอยู่เฉพาะอวัยวะต้นกำเนิด แบ่งย่อยเป็น
    • ระยะ1A: ก้อนมะเร็งโตไม่เกิน 5 ซม. เซลล์มะเร็งเป็นชนิดแบ่งตัวต่ำ(G1)
    • ระยะ1B: ก้อนมะเร็งโตกว่า 5ซม.แต่ไม่เกิน15ซม. และเซลล์มะเร็งยังเป็น G1
  • ระยะที่ 2: ก้อนมะเร็งขนาดไม่เกิน 5 ซม. และเซลล์มะเร็งเป็น G2,หรือ G3
  • ระยะที่ 3: แบ่งย่อยเป็น
    • ระยะ3A: ก้อนมะเร็งโตเกิน5ซม. แต่ไม่เกิน10ซม. ยังจำกัดอยู่เฉพาะในอวัยวะที่เกิดโรค และเซลล์มะเร็งเป็นชนิด G2,หรือ G3
    • ระยะ3B: ก้อนมะเร็งโตเกิน10ซม. ยังจำกัดอยู่เฉพาะในอวัยวะที่เกิดโรค แต่เซลล์มะเร็งเป็นชนิด G2,หรือ G3
  • ระยะที่ 4 โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว และ/หรือแพร่กระจายทางกระแสโลหิต (เลือด) เข้าสู่อวัยวะต่างๆที่อยู่ไกลออกไป ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักแพร่กระจายเข้าสู่ปอด

รักษามะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมาอย่างไร?

มะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมา มีแนวทางการรักษาเช่นเดียวกับมะเร็งต่างๆในกลุ่มมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน ได้แก่

ก. การผ่าตัดก้อนเนื้อให้ออกได้หมด ซึ่งเป็นการรักษาหลักที่จะทำให้โรคหายขาด แต่ถ้าผ่าตัดออกไม่ได้หมด โอกาสโรคย้อนกลับเป็นซ้ำจะสูง

ข. รังสีรักษา เป็นการรักษาเสริม ใช้ในกรณี ไม่สามารถผ่าตัดก้อนเนื้อออกหมดได้ หรือกรณีก้อนเนื้อเกิดซ้ำๆ

ค. ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาเสริม มักใช้ในกรณีเซลล์มะเร็งเป็นชนิดมีการแบ่งตัวสูง

ง. ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในการศึกษาวิจัยเพราะยังไม่มียาที่มีประสิทธิภาพควบคุมโรคได้ดี

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมา เช่นเดียวกับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด สามารถปรับใช้ด้วยกันได้ ทั่วไปที่สำคัญ ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ อย่าหยุดการรักษาไปเองโดยไม่ปรึกษา แพทย์ พยาบาล

และแนะนำอ่านรายละเอียดต่างๆเพิ่มเติม ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

อนึ่งควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น คลื่นไส้-อาเจียนจนกินอาหารได้น้อยหรือทุกครั้งที่กินอาหาร, มีไข้โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับท้องเสีย
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูกมากต่อเนื่อง นอนไม่หลับทุกคืน
  • มีอาการผิดปกติที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ไอเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด
  • กังวลในอาการ

มะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของมะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมาขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ

  • การผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้หมดหรือไม่: ถ้าผ่าตัดออก ‘ไม่หมด’ การพยากรณ์โรคไม่ดี โรคย้อนกลับเป็นซ้ำสูง และยังอาจกลายพันธ์เป็นเซลล์มะเร็งชนิดรุนแรง
  • ระยะโรค: ยิ่งระยะสูง การพยากรณ์โรคยิ่งเลว
  • ตำแหน่งก้อนเนื้อ: มะเร็งฯที่เกิดในอวัยวะอยู่ลึกการพยากรณ์โรคไม่ดี โรคย้อนกลับเป็นซ้ำและแพร่กระจายสูง เช่น โรคเกิดในช่องท้อง, ในโพรงหลังเยื่อบุช่องท้อง และในกระดูกโดยเฉพาะกระดูกสะโพก
  • ขนาดก้อน: ยิ่งก้อนใหญ่ การพยากรณ์โรคไม่ดี
  • การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง: ยิ่งแบ่งตัวสูง การพยากรณ์โรคไม่ดี
  • ชนิดย่อยต่างๆของเซลล์มะเร็ง : ดังได้กล่าวใน ‘หัวข้อชนิดของโรคฯ’

ทั้งนี้ มีรายงานอัตรารอดที่ห้าปีของมะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมาชนิดต่างๆในภาพรวมทุกระยะโรค ดังนี้

ก. ชนิด well differentiated คือ ประมาณ 80-100%

ข. ชนิด Myxoid คือ ประมาณ 50-75%

ค. ชนิด Dedifferentiated คือประมาณ 50%

ง. ชนิด Pleomorphic คือประมาณ 0%

แต่เมื่อแบ่งตามระยะโรค ทั่วไปมักจัดรวมอยู่ในกลุ่มมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งอัตรารอด ที่ห้าปี ได้แก่

  • โรคระยะที่1-2 ประมาณ 70-80%
  • โรคระยะที่3 ประมาณ 40-60%
  • โรคระยะที่4 ประมาณ 0-15%

มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเนื้อเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมาไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมาตั้งแต่เริ่มแรกที่ยังคลำก้อนเนื้อไม่ได้

ป้องกันมะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมาอย่างไร?

ด้วยเป็นโรคยังไม่ทราบสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง จึงยังไม่มีวิธีป้องกันมะเร็งเซลล์ไขมัน/ไลโปซาร์โคมา

บรรณานุกรม

  1. AJCC Cancer staging manual, 8th ed.
  2. Imsamran, W. et al. (2018). Cancer in Thailand Vol IX , 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  3. Kim, H. et al. BMC Cancer 2009; 9:205
  4. Knebel, C. et al. BMC Cancer 2017;17:410
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Liposarcoma [2020,April 25]
  6. https://rarediseases.org/rare-diseases/liposarcoma/ [2020,April 25]
  7. https://www.cancer.org/cancer/soft-tissue-sarcoma/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2020,April 25]