มะเร็งหัวใจ (Cardiac cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งหัวใจ(Cardiac cancer หรือ Heart cancer)คือ โรคเกิดจากเซลล์ /เนื้อเยื่อหัวใจ ตำแหน่งใดของหัวใจก็ได้ เกิดกลายพันธ์ มีการเจริญเติบโต แบ่งตัว รวดเร็ว ทวีจำนวนเกินปกติ และร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญแบ่งตัวนี้ได้ ส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็งขึ้นที่หัวใจ ซึ่งเซลล์มะเร็งนี้จะรุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อปกติของหัวใจ เนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง ลุกลามทำลายต่อมน้ำเหลืองใกล้หัวใจ และในที่สุดแพร่กระจายไปทำลายอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ที่พบบ่อยคือ ไปสู่ ปอด และสมอง

มะเร็งหัวใจ พบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ แต่พบได้น้อยมากๆๆๆ โดยชนิดพบบ่อย พบได้เพียงประมาณ 0.1รายต่อประชากร 1 ล้านคน พบในทุกอายุ แต่พบน้อยมากในเด็ก ส่วนใหญ่พบในวัยผู้ใหญ่ และวัยผู้สูงอายุ หญิงและชายพบได้ใกล้เคียงกัน

รายงานสถิติผู้ป่วยมะเร็งของไทยจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2558 โดยเป็นผู้ป่วยในช่วงปี พ.ศ. 2553-2555 รายงาน ไม่พบโรคนี้ในคนไทย

มะเร็งหัวใจมีกี่ชนิด?

มะเร็งหัวใจ

มะเร็งหัวใจ เช่นเดียวกับมะเร็งทั่วไป แบ่งเป็น 2ชนิดหลัก คือ มะเร็งหัวใจปฐมภูมิ และ มะเร็งหัวใจทุติยภูมิ

ก. มะเร็งหัวใจปฐมภูมิ(Primary cardiac cancer) คือ มะเร็งที่เกิดจากเนื้อเยื่อของหัวใจเอง ซึ่งพบเกิดได้กับเนื้อเยื่อทุกชนิดของหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ เยื่อบุหัวใจ เนื้อเยื่อพังผืด เนื้อเยื่อระบบประสาท เนื้อเยื่อไขมัน เนื้อเยื่อหลอดเลือด ฯลฯ

ทั้งนี้ ทางการแพทย์ เมื่อกล่าวถึง ‘มะเร็งหัวใจ จะหมายถึง มะเร็งหัวใจปฐมภูมิ’ ซึ่งรวมถึงในบทความนี้ด้วย

มะเร็งหัวใจปฐมภูมิ พบน้อยกว่า กลุ่มมะเร็งหัวใจทุติยภูมิมาก โดยน้อยกว่า ประมาณ 30-100 เท่า และเกือบทั้งหมดของมะเร็งหัวใจปฐมภูมิเป็นชนิด ซาร์โคมา(Sarcoma) ส่วนชนิดคาร์ซิโนมา(Carcinoma)พบได้น้อยมาก

มะเร็งหัวใจปฐมภูมิที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็ง Angiosarcoma, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง , Rhabdomyosarcoma, Fibrosarcoma, Malignant schwannoma, Mesothelioma

  • แองจิโอซาร์โคมา(Angiosarcoma): เป็นมะเร็งของหลอดเลือดในเนื้อเยื่อหัวใจ เป็นชนิดมีการพยากรณ์โรคเลวที่สุด โรคจะลุกลาม แพร่กระจาย รุนแรง และผู้ป่วยมักเสียชีวิตเสมอ
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง: เป็นมะเร็งที่ตอบสนองดีต่อยาเคมีบำบัด ถ้าพบในระยะแรกของโรค มักรักษาได้หาย การพยากรณ์โรคดีกว่ามะเร็งทุกชนิดของหัวใจ
  • มะเร็งกล้ามเนื้อลาย(Rhabdomyosarcoma) เป็นมะเร็งของกล้ามเนื้อหัวใจ มักพบในเด็ก มีการพยากรณ์โรคไม่ดีถึงแม้จะตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัด
  • Fibrosarcoma: เป็นมะเร็งของเนื้อเยื่อพังผืด เช่น เยื่อหุ้มหัวใจ เยื่อบุหัวใจ มักเกิดที่ลิ้นหัวใจ การพยากรณ์โรคไม่ดี
  • Malignant schwannima: เป็นมะเร็งของเนื้อเยื่อระบบประสาท การพยากรณ์โรคไม่ดี
  • Mesothelioma: เป็นมะเร็งของเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นมะเร็งชนิดเดียวกับมะเร็งเยื่อหุ้มปอด มะเร็งชนิดนี้ของหัวใจมีการลุกลามเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงหัวใจสูง และดื้อต่อยาเคมีบำบัด การพยากรณ์โรคไม่ดี

ข. มะเร็งหัวใจทุติยภูมิ(Secondary cardiac cancer หรือ Metastatic cardiac cancer): เป็นมะเร็งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะอื่นที่ไม่ใช่หัวใจ ที่แพร่กระจายทางกระแสโลหิต/เลือดมาที่หัวใจ พบได้บ่อยกว่ามะเร็งหัวใจเองถึง 30-100เท่า มะเร็งที่มักแพร่กระจายสู่หัวใจ ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง(เป็นได้ทั้งมะเร็งปฐมภูมิหรือมะเร็งทุติยภูมิของหัวใจก็ได้)

มะเร็งกลุ่มทุติยภูมินี้ ไม่ค่อยก่ออาการ เพราะมักเกิดที่ผนังหัวใจ ไม่มีผลต่อการทำงานของห้องหัวใจ ดังนั้นจึงมักวินิจฉัยได้จากการผ่าชันสูตรศพ ซึ่งจะพบมะเร็งหัวใจทุติยภูมิได้ประมาณ 25%ของผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่างๆ

มะเร็งหัวใจทุติยภูมิ มีธรรมชาติของโรค การวินิจฉัย การรักษา การพยากรณ์โรคเช่นเดียวกับมะเร็งต้นกำเนิดของมัน และจะไม่กล่าวถึงในบทความนี้ แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของแต่ละมะเร็งต้นกำเนิดได้จากบทความในเว็บ haamor.com

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหัวใจ?

เนื่องจากมะเร็งหัวใจ พบได้น้อยมากๆ ปัจจุบันจึงยังไม่ทราบสาเหตุเกิด รวมถึงยังไม่ทราบว่า อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรค

มะเร็งหัวใจมีอาการอย่างไร?

อาการของมะเร็งหัวใจ ทั่วไปไม่มีอาการเฉพาะ แต่เป็นอาการเช่นเดียวกับอาการของโรคหัวใจทุกโรค ร่วมกันกับอาการของโรคมะเร็งทุกๆชนิด

ก. อาการพบบ่อยของมะเร็งหัวใจที่เป็นอาการเหมือนโรคหัวใจทั่วไป ได้แก่

  • เหนื่อยง่าย โดยเฉพาะจะเหนื่อยมากขึ้นเมื่อมีการออกแรง
  • ไอมีเสมหะ มักเป็นเสมหะสีขาว
  • บวมรอบตา บวมเนื้อตัว ขา เท้า บวม
  • อ่อนเพลีย
  • หัวใจเต้นผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

    อนึ่ง อาการทางหัวใจ เมื่อแบ่งตามตำแหน่งที่เกิดโรค จะมีอาการต่างกันได้บ้าง เช่น

  • อาการพบบ่อยของมะเร็งเกิดที่หัวใจด้านซ้าย: ห้องด้านซ้ายของหัวใจมีหน้าที่หลักในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เมื่อมีก้อนเนื้อในห้องด้านซ้ายจะก่อให้เกิดการอุดตันในกระบวนการสูบฉีดโลหิต อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
    • เหนื่อยง่าย โดยเฉพาะเมื่อออกแรง/ เคลื่อนไหว
    • อาการของหัวใจวาย
  • อาการพบบ่อยของมะเร็งเกิดที่หัวใจด้านขวา: ห้องด้านขวาของหัวใจมีหน้าที่รับเลือดดำจากทุกอวัยวะทั่วร่างกายแล้วส่งต่อไปยังปอดเพื่อคายคาร์บอนไดออกไซด์ จากเลือดดำให้ออกนอกร่างกายทางการหายใจออก และฟอกเลือด/รับออกซิเจนจากอากาศ/การหายใจเข้า มาแทนที จากนั้นจึงส่งกลับเลือดแดงมายังหัวใจด้านซ้าย อาการพบบ่อยของมะเร็งหัวใจด้านขวาคือ
    • ไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งหัวใจด้านขวา อาจเพียงเหนื่อยง่าย และไม่ค่อยเป็นสาเหตุเกิดหัวใจวาย
  • อาการพบบ่อยของมะเร็งหัวใจที่เกิดที่หลอดเลือดแดงปอดส่วนที่จะออกจากหัวใจด้านขวา เป็นตำแหน่งพบเกิดมะเร็งได้น้อยมากๆๆๆ ทั่วโลกมีรายงานประมาณ 250 ราย อาการพบบ่อยคือ
    • หายใจลำบาก
    • มีอาการของภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด(อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดโรคนี้ได้ในเว็บ haamor.com)
    • มีอาการของความดันหลอดเลือดปอดสูง(อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดโรคนี้ได้ในเว็บ haamor.com)

ข. อาการทั่วไปของโรคมะเร็ง ที่พบบ่อย ได้แก่

  • อ่อนเพลีย
  • รู้สึกมีไข้ต่ำๆ
  • เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะเหงื่อออกกลางคืน
  • ผอมลงมาก โดยไม่ทราบสาเหตุ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ’อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งหัวใจได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งหัวใจได้จาก

  • ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ ที่สำคัญคือ ประวัติอาการ
  • การตรวจสัญญาณชีพ
  • การตรวจฟังเสียงเต้นของหัวใจด้วยหูฟัง
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • การตรวจเอคโคหัวใจ
  • และการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ซึ่งเป็นการตรวจที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น
    • การตรวจภาพหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ
    • หรือการตรวจภาพและหลอดเลือดหัวใจด้วยการฉีดสีเข้าหลอดเลือดแดง(Cardiac angiography)
    • การตรวจก้อนเนื้อ /รอยโรคด้วยการดูดเซลล์มาตรวจที่เรียกว่า การตรวจทางเซลล์วิทยา และ/หรือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

จัดระยะโรคของมะเร็งหัวใจอย่างไร?

เนื่องด้วยมะเร็งหัวใจเป็นโรคพบได้น้อยมากๆ ทั่วไปจึงยังไม่มีการจัดระยะโรค แต่แพทย์จะแบ่งระยะโรคตามความรุนแรงทางคลินิก เช่น

  • ระยะที่ก้อนเนื้ออยู่เฉพาะที่หัวใจ และสามารถผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้หมด
  • ระยะที่มะเร็งลุกลามออกนอกหัวใจ แต่ผ่าตัดได้ และ/หรือ ระยะที่โรคผ่าตัดออกได้ไม่หมด
  • ระยะที่โรคผ่าตัดไม่ได้
  • ระยะที่โรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิตไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ ปอด และสมอง ที่จะเรียกว่า ระยะที่4 เช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆทุกชนิด

รักษามะเร็งหัวใจได้อย่างไร?

การรักษาหลักของมะเร็งหัวใจ คือ การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกให้หมดด้วยการผ่าตัดเปิดหัวใจโดยตรง(Open heart surgery) หรือด้วยการใช้หุ่นยนต์ หรือ อาจต้องใช้เทคนิคการปลูกถ่ายหัวใจตนเอง(Auto heart transplantation)ที่เป็นเทคนิคที่จะช่วยให้ผ่าตัดก้อนมะเร็งได้หมดที่สุด โดยการตัดหัวใจออกมา จากนั้นผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกจนหมด แล้วจึงปลูกถ่ายหัวใจตนเองนี้กลับเข้าไปใหม่

หลังจากผ่าตัดแล้ว การรักษามักต่อเนื่องด้วยการให้ยาเคมีบำบัดตามชนิดของแต่ละเซลล์มะเร็ง

ส่วนรังสีรักษา มักใช้ในกรณีเป็นการรักษามะเร็งหัวใจในระยะที่4 เพื่อบรรเทาอาการจากมะเร็งฯแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆ เช่น ฉายรังสีสมองในกรณีมะเร็งแพร่กระจายมายังสมอง เป็นต้น

และอีกวิธี คือการใช้ยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังไม่มีรายงานการศึกษาพบตัวยาที่มีประสิทธิภาพ

มะเร็งหัวใจมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

มะเร็งหัวใจมีการพยากรณ์โรคที่เลว ผลการรักษาจะขึ้นกับ

  • ชนิดของเซลล์มะเร็ง
  • การลุกลามของโรค/ระยะโรค
  • การผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้หมด
  • และการตอบสนองของเซลล์มะเร็งต่อยาเคมีบำบัด

ทั้งนี้:

  • ในภาพรวม ทั่วไป ผู้ป่วยมะเร็งหัวใจ มักมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 5-6 เดือน
  • แต่ถ้ากรณี ที่โรคยังลุกลามอยู่เฉพาะในหัวใจ ยังไม่แพร่กระจาย และผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้หมด มีรายงานผู้ป่วยรอดชีวิตได้ประมาณ 15-25 เดือน

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นมะเร็งหัวใจ?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองของผู้ป่วยมะเร็งหัวใจ เช่นเดียวกับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก
    • กังวลในอาการ

    นอกจากนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมการดูแลตนเองของผู้ป่วยมะเร็งต่างๆในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

    • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และในเรื่อง
    • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งหัวใจไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งหัวใจในระยะตั้งแต่ยังไม่มีอาการ

ป้องกันมะเร็งหัวใจได้อย่างไร?

เนื่องจาก มะเร็งหัวใจเป็นมะเร็งยังไม่ทราบสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง ดังนั้นจึงยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรค

บรรณานุกรม

  1. M. Hamidi. et al. Thorac Surg. 2010 July ; 90(1): 176–181
  2. O M Ali. et al. Journal of Clinical Trials in Cardiology 2014. https://symbiosisonlinepublishing.com/cardiology/cardiology06.pdf [2018,Dec1]
  3. Reynen,K. et al. Annals of Oncology 2004;15:375-381
  4. https://emedicine.medscape.com/article/277297-overview#showall [2018,Dec1]
  5. https://www.acc.org/latest-in-cardiology/articles/2018/04/20/08/41/a-review-of-malignant-primary-cardiac-tumors [2018,Dec1]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Heart_cancer [2018,Dec1]