มะเร็งลำไส้เล็ก (Small intestine cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำและชนิดเซลล์มะเร็ง

มะเร็งลำไส้เล็ก(Small intestine cancer หรือ Small bowel cancer) คือ โรคที่เกิดจากเซลล์ของลำไส้เล็กที่ตำแหน่งใดก็ได้เกิดกลายพันธ์ เจริญแบ่งตัวรวดเร็วผิดปกติ และร่างกายควบคุมการเจริญแบ่งตัวนี้ไม่ได้ จนเกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็งที่รุกราน/ลุกลามทำลายลำไส้เล็กส่วนที่เกิดกลายพันธ์และลำไส้เล็กส่วนต่างๆ รุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงลำไส้เล็ก และในที่สุดแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองไปทำลายต่อมน้ำเหลืองทั่วตัว และ/หรือรุกรานเข้ากระแสเลือดไปทำลายอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ ปอด และตับ (แนะนำ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องตำแหน่งและหน้าที่ของลำไส้เล็กได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหาร)

มะเร็งลำไส้เล็ก พบน้อยมาก ทั่วโลกพบได้น้อยกว่า 1 รายต่อประชากร 1แสนคน ในสหรัฐอเมริกามีรายงานพบได้เพียง 0.42%ของมะเร็งทุกชนิด และเป็น 2.3%ของมะเร็งระบบทางเดินอาหารทั้งหมด ส่วนในประเทศไทยรายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขเมื่อ พ.ศ. 2558(ผู้ป่วยช่วง พ.ศ. 2553-2555) พบในผู้ชาย 0.4รายต่อประชากรชาย 1แสนคน และพบในผู้หญิง 0.3 รายต่อประชากรหญิง 1แสนคน

มะเร็งลำไส้เล็ก พบทุกเชื้อชาติ และทุกเพศ เพศชายพบสูงกว่าเพศหญิงเล็กน้อย พบทุกอายุ แต่มักพบในผู้ใหญ่ที่อายุสูงกว่า 55 ปีขึ้นไป

ชนิดมะเร็งลำไส้เล็ก:

มะเร็งลำไส้เล็ก

มะเร็งลำไส้เล็กมีหลากหลายชนิดย่อย ทั้งในกลุ่มมะเร็งคาร์ซิโนมา และมะเร็งซาร์โคมา แต่ชนิดพบบ่อย ได้แก่ชนิด อะดีโนคาร์ซิโนมา(Adenocarcinoma), คาร์ซินอยด์(Carcinoid), มะเร็งต่อมน้ำเหลือง(Lymphoma), และชนิดมะเร็งซาร์โคมา

ก. อะดีโนคาร์ซิโนมา: พบเป็นประมาณ30-40%ของมะเร็งลำไส้เล็กทั้งหมด มักเกิดในลำไส้เล็กส่วนต้นที่เรียกว่า Duodenum และที่ส่วนต่อระหว่างลำไส้เล็กตอนต้นกับตอนกลาง(Jejunum)

ข. เนื้องอกคาร์ซินอยด์: พบได้ประมาณ 35-40%ของมะเร็งลำไส้เล็กทั้งหมด มักพบในลำไส้เล็กตอนปลาย(Ileum) พบในคนผิวดำบ่อยกว่าในชาวเอเซีย (แนะนำอ่านรายละเอียดเนื้องอก/มะเร็งชนิดนี้ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เนื้องอกคาร์ซินอยด์)

ค. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง: พบมะเร็งลำไส้เล็กชนิดนี้ได้ประมาณ 15-20% พบในลำไส้เล็กทุกส่วนใกล้เคียงกัน ซึ่งในผนังของลำไส้เล็กจะมีเซลล์ของต่อมน้ำเหลืองอยู่ด้วยเสมอ จึงทำให้เกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ โดยจะมีธรรมชาติของโรค วิธีรักษา และการพยากรณ์โรค เช่นเดียวกับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั่วไป (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมมะเร็งชนิดนี้ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง)

ง. มะเร็งซาร์โคมา: พบได้ประมาณ 10-15% ของมะเร็งลำไส้เล็ก และพบทุกตำแหน่งของลำไส้เล็กในอัตราใกล้เคียงกัน ชนิดพบบ่อยคือ มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ โดยเฉพาะชนิดย่อยที่เรียกว่า เนื้องอกจิสต์ มะเร็งจิสต์(พบได้ประมาณ 80-90%ของมะเร็งซาร์โคมาลำไส้เล็กทั้งหมด) โรคนี้พบในคนเชื้อชาติเอเซียบ่อยกว่าเชื้อชาติอื่น (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ และเรื่อง เนื้องอกจิสต์ มะเร็งจิสต์)

โรคมะเร็งลำไส้เล็กมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง?

แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุเกิดมะเร็งลำไส้เล็ก แต่พบปัจจัยเสี่ยงบ้าง ได้แก่

  • อายุ: พบโรคนี้สูงกว่ามาก ในผู้ที่อายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป
  • การสูบบุหรี่ และ/หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ/หรือการบริโภคเนื้อแดงปริมาณสูงต่อเนื่อง อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคนี้
  • โรคเรื้อรังต่างๆ: มีรายงานที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น
    • โรคโครห์น
    • ผู้เคยป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน
    • โรคแพ้สารโปรตีนที่ชื่อ Gluten ที่พบในข้าวสาลี และธัญญพืชบางชนิด
  • โรคทางพันธุกรรมถ่ายทอดได้บางโรค เช่น
    • โรคมีติ่งเนื้อเมือก(โพลิป/Polyp)เกิดมากมายในลำไส้โดยเฉพาะในลำไส้ใหญ่ (โรค ติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่) และไส้ตรง
    • โรคมีติ่งเนื้อเมือกผิดปกติในทุกอวัยวะของร่างกายและเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งหลายชนิดรวมมะเร็งลำไส้เล็ก
    • โรค Cystic fibrosis

โรคมะเร็งลำไส้เล็กมีอาการอย่างไร?

มะเร็งลำไส้เล็ก ไม่มีอาการเฉพาะโรค แต่เป็นอาการเหมือนอาการโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป ซึ่งอาการพบบ่อย คือ

  • ปวดท้องเรื้อรัง ลักษณะเป็นปวดบีบ และมักปวดในตำแหน่งกลางๆของช่องท้อง โดยเป็นอาการเกิดจากมีแผลที่ก้อนมะเร็ง และ/หรือก้อนมะเร็งอุดกั้นลำไส้เล็ก/ทางเดินอาหาร จนก่อให้เกิดภาวะ ’ลำไส้อุดตัน’
  • ผอมลง/ น้ำหนักตัวลดต่อเนื่องโดยหาสาเหตุไม่พบ
  • เมื่อโรคเป็นมากขึ้น มักคลำได้ก้อนในท้อง
  • และอาจร่วมกับมีภาวะซีดจากมีเลือดออกจากแผลมะเร็งเรื้อรัง/อุจจาระเป็น เลือด
  • อ่อนเพลียง่ายจากมีภาวะซีด

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้ออาการฯ’ และอาการไม่ดีขึ้นหลังการดูแลตนเอง 1-2 สัปดาห์ หรืออาการต่างๆแย่ลง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

แต่หากคลำพบก้อนผิดปกติในช่องท้อง ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ ไม่ต้องรอดูแลตนเอง

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งลำไส้เล็กได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งลำไส้เล็กได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญเช่น อาการ การเป็นโรคต่างๆในครอบครัว
  • การตรวจร่างกาย การตรวจคลำช่องท้อง
  • อาจมีการตรวจทางทวารหนัก ขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์
  • อาจมีการตรวจอุจจาระ กรณีอุจจาระผิดปกติ และ/หรือซีด
  • การตรวจเลือด เช่น
    • ซีบีซี(CBC) เพื่อวินิจฉัยภาวะซีด
    • ดูสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย เช่น ดูค่าการทำงานของ ตับ ไต และดูโรคเบาหวาน
  • และการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจภาพช่องท้องด้วย เอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ อัลตราซาวด์ เพื่อดูพยาธิสภาพในช่องท้อง
    • การตรวจภาพทางเดินอาหารด้วยเอกซเรย์กลืนแป้ง
    • การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร ด้วยเทคนิคต่างๆตามดุลพินิจของแพทย์
    • อาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคจากการส่องกล้อง เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
    • และบางครั้ง อาจต้องทำผ่าตัด เพื่อตรวจหาพยาธิสภาพของลำไส้เล็กโดยตรง

มะเร็งลำไส้เล็กมีกี่ระยะ?

ระยะโรคของมะเร็งลำไส้เล็กจะขึ้นกับชนิดของมะเร็ง ดังได้กล่าวใน ‘หัวข้อ บทนำฯ’ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในแต่ละชนิดเซลล์มะเร็ง/โรค ในเว็บ haamor.com บทความดังกล่าว ได้แก่ บทความเรื่อง

  • เนื้องอกคาร์ซินอยด์
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ
  • เนื้องอกจิสต์ มะเร็งจิสต์

ทั้งนี้ ในบทความนี้ จะกล่าวถึงระยะโรคเฉพาะ ‘มะเร็งลำไส้เล็ก ชนิด อะดีโนคาร์ซิโนมา’ เท่านั้น ดังนี้

มะเร็งลำไส้เล็กชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา แบ่งเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับมะเร็งทั่วไป และบางระยะอาจแบ่งเป็นระยะย่อยๆอีก เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ ช่วยเลือกวิธีรักษา, บอกการพยากรณ์โรค, และเพื่อการศึกษาวิจัย ซึ่งทั้ง4ระยะ ได้แก่

  • ระยะ1: โรคลุกลามอยู่เฉพาะในผนังชั้นตื้นๆจนถึงชั้นกล้ามเนื้อของผนังลำไส้ฯ
  • ระยะ2: แบ่งเป็น 2ระยะย่อย คือ
    • ระยะ2A: โรคลุกลามเข้าชั้นกล้ามเนื้อไปจนถึงเยื่อหุ้มลำไส้ฯ
    • ระยะ2B: โรคลุกลามทะลุเยื่อหุ้มลำไส้ฯเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่อยู่ติดลำไส้เล็ก
  • ระยะ3: แบ่งเป็น2ระยะย่อย คือ
    • ระยะ3A: โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ลำไส้เล็ก แต่ไม่เกิน 2ต่อม
    • ระยะ3B: โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองฯ ตั้งแต่3ต่อมขึ้นไป
  • ระยะ4: โรคแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองไกลจากลำไส้เล็ก เช่น ต่อมน้ำเหลืองรอบท่อเลือดแดงในช่องท้อง, และ/หรือแพร่กระจายทางกระแสเลือด/โลหิตไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ ตับ ปอด

*อนึ่ง โรคระยะศูนย์(Stage0) คือ ระยะที่เซลล์มะเร็ง/โรคยังไม่รุกราน/ลุกลามทะลุเนื่อเยื่อชั้นเยื่อบุผิวของผนังลำไส้เล็ก โดยเป็นระยะที่เรียกว่า ‘ระยะเซลล์มะเร็งยังไม่มีการรุกราน(Non invasive disease)’ ซึ่งแพทย์หลายท่านยังไม่จัดเป็นโรคมะเร็ง โรคระยะนี้รักษาด้วยการผ่าตัดวิธีการเดียว และอัตรารอดที่ห้าปีมักสูงกว่า 90% แต่อย่างไรก็ตาม พบโรคระยะนี้ได้น้อยมากๆ

มะเร็งลำไส้เล็กรักษาอย่างไร?

แนวทางการรักษามะเร็งลำไส้เล็ก คือ

  • การผ่าตัด: ซึ่งเป็นการรักษาหลัก
  • หลังการผ่าตัด หรือกรณีผ่าตัดก้อนเนื้อได้ไม่หมด หรือกรณีผ่าตัดไม่ได้: แพทย์จะพิจารณารักษาร่วมด้วยวิธีการอื่นๆตามมา โดยขึ้นกับ ชนิดของเซลล์มะเร็ง, การผ่าตัดได้มากน้อยเพียงใด, หรือผ่าตัดไม่ได้, ร่วมกับกับดุลพินิจของแพทย์ และความประสงค์ของผู้ป่วย/ครอบครัว วิธีรักษาร่วม ได้แก่
    • ยาเคมีบำบัด
    • ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง
    • รังสีรักษา

อนึ่ง แนะนำอ่านรายละเอียดแยกเป็นแต่ละชนิดมะเร็ง/ดังกล่าวใน’หัวข้อ ชนิดมะเร็งลำไส้เล็ก’ ได้จากเว็บ haamor.com

มีผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งลำไส้เล็กอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งลำไส้เล็กขึ้นกับวิธีรักษา เช่น

  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ/อวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ( อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง และต่อเนื้อเยื่อที่ได้รับรังสีรักษา อ่านเพิ่มเติมใน เว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา, และ เรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้องและ/หรืออุ้งเชิงกราน)
  • ยารักษาตรงเป้า / ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาฯบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ผนังลำไส้ทะลุได้

อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด รวมทั้งโรคมะเร็งลำไส้เล็กจะสูงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
  • เมื่อผู้ป่วยมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และ โรคไขมันในเลือดสูง
  • ในผู้สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, และ
  • ในผู้สูงอายุ

มะเร็งลำไส้เล็กรักษาหายไหม? รุนแรงไหม?

มะเร็งลำไส้เล็กมีการพยากรณ์โรค/ผลการรักษา ที่ปัจจัยสำคัญขึ้นกับ

  • ชนิดของมะเร็ง
  • ระยะโรค
  • และการผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้หมดหรือไม่
  • นอกจากนั้นยังขึ้นกับ สุขภาพโดยรวม และอายุ ของผู้ป่วย

และประกอบกับมะเร็งลำไส้เล็กเป็นโรคพบน้อยมาก จึงยังไม่มีภาพรวมของสถิติอัตรารอดห้าปีตามระยะโรค *การพยากรณ์โรคมะเร็งลำไส้เล็กจะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน แพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยเท่านั้นที่จะสามารถให้การพยากรณ์โรคผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

ดังนั้น ในภาพรวม ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้เล็กจึงมีการพยากรณ์โรคในภาพรวมเป็นไปตามปัจจัยดังได้กล่าวแล้ว ดังนี้

  • มีโอกาสรักษาหาย
  • มีโอกาสโรคย้อนกลับเป็นซ้ำหลังการรักษา
  • มีโอกาสรักษาไม่หาย ที่การรักษาเป็นเพียง การรักษาประคับประคองตามอาการ

อนึ่ง แนะนำอ่านรายละเอียดแยกเป็นแต่ละชนิดมะเร็ง/ดังกล่าวใน’หัวข้อ ชนิดมะเร็งลำไส้เล็ก’ ได้จากเว็บ haamor.com)

ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้เล็กได้ไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งมะเร็งลำไส้เล็กตั้งแต่ยังไม่มีอาการ และยังไม่มีการศึกษาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นมะเร็งที่พบได้น้อยมาก

ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้เล็กได้อย่างไร?

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุเกิดโรค ดังนั้นจึงยังไม่มีวิธีป้องกันมะเร็งลำไส้เล็กให้ได้ประสิทธิภาพ แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง(ที่กล่าวในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ)ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็อาจช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้เล็กลงได้บ้าง เช่น

  • การไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา
  • จำกัดการกินเนื้อแดง
  • ป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้เล็กอย่างไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเอง/ดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด รวมถึงมะเร็งลำไส้เล็ก จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญ ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ตามแพทย์นัดเสมอ
  • และควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น อุจจาระเป็นเลือดมากขึ้น ปวดท้องมากขึ้นต่อเนื่อง
    • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น คลำได้ต่อมน้ำเหลืองโตในที่ต่างๆ
    • มีไข้โดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับท้องเสีย
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่นต่อเนื่อง วิงเวียนศีรษะมากต่อเนื่อง
    • เมื่อกังวลในอาการ

นอกจากนั้น แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. AJCC cancer staging manual, 8th edition
  2. Imsamran, W. et al. 2015. Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  3. Pan S., and Morrison H. World J Gastrointest Oncol. 2011; 3(3): 33–42
  4. Yamamoto M., et al. Case Rep Gastroenterol 2016;10:668–673
  5. https://www.cancer.org/cancer/small-intestine-cancer.html[2019,Jan26]
  6. https://www.cancer.gov/types/small-intestine/hp/small-intestine-treatment-pdq[2019,Jan26]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Small_intestine_cancer[2019,Jan26]
  8. https://www.cancer.org/cancer/small-intestine-cancer/causes-risks-prevention/risk-factors.html[2019,Jan26]
  9. https://www.cancer.org/cancer/small-intestine-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2019,Jan26]