มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก (Small cell lung cancer: SCLC)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก (Small cell lung cancer ย่อว่า SCLC และอีกชื่อคือ Oat cell carcinoma) คือ มะเร็งปอดชนิดย่อยชนิดหนึ่งที่พบบ่อยเป็นลำดับ 2 รองจากมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต คือประมาณ 15 - 20% ของมะเร็งปอดทั้งหมด ทั้งนี้ ทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยไม่มีรายงานสถิติแยกชนิดของมะเร็งปอด แต่เป็นรายงานมะเร็งปอดทุกชนิดรวมกัน โดยประเทศไทยในปี พ.ศ. 2556-2558 (รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติปีพ.ศ. 2561) รายงานมะเร็งปอดภาพรวมทุกชนิด ผู้ชายพบได้ 23 รายต่อประชากรชายไทย 1 แสนคน, ผู้หญิงพบได้ 10.9 รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กเป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ มักพบในอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงเล็กน้อย

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กเป็นมะเร็งในกลุ่มมะเร็งคาร์ซิโนมาที่เกิดจากเนื้อเยื่อบุผิวของหลอดลมเช่นเดียวกับมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต แต่เป็นเซลล์ต่างชนิดกันคือเกิดจากเซลล์ที่เรียกว่า Neuroendocrine cell ที่สามารถสร้างฮอร์โมนและสารเคมีผิดปกติต่างๆได้หลายชนิด ที่เป็นสาเหตุให้เกิดกลุ่มอาการที่ผิดปกติในมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กที่เรียกว่า ‘Paraneoplastic syndrome’ ซึ่งอาการ เช่น น้ำหนักลด/ผอมลงมากโดยหาสาเหตุไม่พบ, โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเล็มส์, และภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำที่เรียกว่ากลุ่มอาการ SIADH/Syndrome of inappropriate anti diuretic hormone(ที่ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียมาก คลื่นไส้-อาเจียน สับสน และโคม่า)

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก

สาเหตุเกิดที่แน่นอนของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กยังไม่ทราบ แต่ทราบปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจนซึ่งเช่นเดียวกับปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตคือ

  • 80 - 90% เกิดจากการสูบบุหรี่หรือจากได้รับควันบุหรี่เรื้อรัง(สูบบุหรี่มือสอง/Secondhand smoke)
  • ส่วนที่เหลือ 10-20% เกิดจากได้รับสารก่อมะเร็งอื่นๆ เช่น จากแร่ใยหินที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ, หรือจากแร่ธาตุต่างๆในธรรมชาติ เช่น จากเหมืองแร่ เช่น โลหะ นิกเกิล (Nickel), โครเมียม (Chromium), แคดเมียม (Cadmium)

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กมีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะสำหรับมะเร็งปอดทุกชนิดที่รวมถึงชนิดเซลล์ตัวเล็ก แต่จะมีอาการเหมือนๆกัน แยกจากกันไม่ได้ด้วยอาการนั่นคือ

  • อาการจากปอดทำงานผิดปกติจากก้อนเนื้อก่อการระคายต่อทางเดินหายใจส่งผลให้เกิดการไอเรื้อรังที่อาจเป็นได้ทั้งไอมีเสมหะหรือไอไม่มีเสมหะ/ไอแห้งๆ
  • มีอาการเหนื่อยง่าย และอาจหายใจลำบากจากก้อนเนื้ออุดกั้นทางเดินหายใจ
  • ไอเป็นเลือดเมื่อโรคลุกลามเข้าหลอดเลือด
  • ผอมลง เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำๆเมื่อโรคลุกลามมากขึ้น
  • คลำได้ต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้าหรือที่ลำคอโตเมื่อโรคลุกลามแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง
  • ใบหน้าและแขนบวม นอนราบไม่ได้เพราะจะหายใจไม่ได้ ต้องนั่งหายใจ เมื่อโรคลุกลามกดหลอดเลือดดำในช่องอก

นอกจากนั้นคือ อาการจากโรคมะเร็งแพร่กระจาย ที่อาการจะแตกต่างกันไปขึ้นกับอวัยวะที่โรคแพร่กระจาย เช่น

  • มีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด (อาการ เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก) เมื่อโรคแพร่กระจายสู่เยื่อหุ้มปอด
  • ปวดศีรษะร้ายแรงร่วมกับเป็นอัมพาตเมื่อโรคแพร่กระจายสู่สมอง
  • และ/หรือปวดหลังมากที่อาจร่วมกับเป็นอัมพาตเมื่อโรคแพร่กระจายเข้ากระดูกสันหลัง
  • อีกกลุ่มอาการที่พบได้สูงกว่าในมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตในโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก คือ กลุ่มอาการพารานีโอพลาสติค (Paraneoplastic syndrome) อาการดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ บทนำ’

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กได้เช่นเดียวกับการวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดทุกชนิดนั่นคือ

  • จากการซักถามผู้ป่วยถึง ประวัติอาการ ประวัติการสูบบุหรี่ อาชีพการงาน
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ และ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน)
  • อาจส่องกล้องปอด/หลอดลม
  • แต่การวินิจฉัยที่แน่นอนจะได้จากการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในปอดเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา, และ/หรือการตรวจทางเซลล์วิทยาจากเซลล์ที่ได้จากการเจาะ/ดูดน้ำจากโพรงเยื่อหุ้มปอดหรือจากตัวก้อนมะเร็งด้วยเทคนิคทางรังสีร่วมรักษาและ/หรือที่ได้จากเสมหะ

นอกจากนั้นยังมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อประเมินสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยและเพื่อการจัดระยะโรคมะเร็ง เช่น

  • ตรวจเลือด ดู
    • ค่าน้ำตาลในเลือด (โรคเบาหวาน)
    • การทำงานของ ไขกระดูก ตับ และไต
    • สารมะเร็ง (ที่เซลล์มะเร็งสร้างขึ้น) เพื่อช่วยประเมินผลการรักษา
  • ตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกน เพื่อดูการแพร่กระจายของโรคสู่ตับ
  • และ/หรือการสะแกนกระดูกเพื่อดูการแพร่กระจายของโรคสู่กระดูก

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กมีกี่ระยะ?

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กมีการแบ่งระยะโรคตามระบบเอเจซีซี (American Joint Committee on Cancer ย่อว่า AJCC)เช่นเดียวกับโรคมะเร็งปอดทุกชนิด โดยแบ่งเป็น 4 ระยะหลักตามการลุกลามแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง(ทีเอ็นเอ็ม ระยะโรคมะเร็งทีเอ็นเอ็ม) ซึ่งแต่ละระยะอาจแบ่งเป็นระยะย่อยๆได้อีกเช่น แบ่งระยะ 3 เป็น 3A, 3B, และ 3C ทั้งนี้เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยบอกวิธีรักษาและในการศึกษาวิจัย ซึ่งในแต่ระยะโรคจะมีรายละเอียดที่ยุ่งยากซับซ้อนมาก ผู้เขียนจึงขอสรุปเป็น 4 ระยะหลักเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ได้แก่

  • ระยะที่ 1: เซลล์มะเร็ง/ก้อนมะเร็งจำกัดอยู่ในปอดข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว และยังไม่มีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะที่ 2: เซลล์มะเร็ง/ก้อนมะเร็งจำกัดอยู่ในปอดข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว แต่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ก้อนเนื้อ
  • ระยะที่ 3: เซลล์มะเร็ง/ก้อนมะเร็งจำกัดอยู่ในปอดข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องอก, และ/หรือต่อมน้ำเหลืองปอดด้านตรงข้าม, และ/หรือต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า
  • ระยะที่ 4: มะเร็งแพร่กระจายไปปอดทั้งสองข้าง และ/หรือ เกิดภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดที่รวมถึงการตรวจพบเซลล์มะเร็งในน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด, และ/หรือแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ที่พบบ่อยคือ ตัวปอดเอง, ต่อมหมวกไต, ไขกระดูก, กระดูก, สมอง, และตับ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กมีธรรมชาติของโรคที่รุนแรงมากและรุนแรงกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตมาก ในทางปฏิบัติแพทย์จึงนิยมแบ่งมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กโดยใช้ลักษณะทางคลินิกเป็นเพียง 2 ระยะเท่านั้นคือ

  • ระยะโรคลุกลามจำกัดเฉพาะที่และยังไม่แพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆ กล่าวคือ มีรอยโรคเพียงรอยโรคเดียวในปอด และอาจร่วมกับลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด ในช่องอก และ/หรือเหนือไหปลาร้าข้างเดียวกับรอยโรค เรียกว่า “ระยะ Limited stage ”
  • และระยะที่โรคลุกลามรุนแรงและแพร่กระจายมากแล้ว คือโรคลุกลามแพร่กระจายมีหลายรอยโรคในปอด และ/หรือแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ซึ่งที่พบบ่อยที่สุดคือ ที่ต่อมหมวกไต ไขกระดูก กระดูก สมอง ตับ และตัวปอดเอง เรียกว่า “ระยะ Extensive stage”

อนึ่ง: กรณีพบเซลล์มะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะภายในเนื้อเยื่อบุผิว ยังไม่รุกรานเข้าเนื้อเยื่อชั้นอื่นๆ (Non –invasive) เรียกมะเร็งระยะนี้ว่า ‘มะเร็งระยะศูนย์( Stage 0)’ ซึ่งหลักการรักษาคือ การผ่าตัดวิธีการเดียว และผลการรักษา/ อัตรารอดที่ห้าปีสูงมากประมาณ 80% ขึ้นไป แต่โรคระยะนี้พบน้อยๆมากๆเนื่องจากเป็นระยะที่ไม่ก่ออาการ

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กรุนแรงไหม?

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กมีการพยากรณ์โรคที่ธรรมชาติของโรคมีความรุนแรงสูงมากและรุนแรงกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตมาก เนื่องจากเมื่อตรวจพบโรคหรือเมื่อมีอาการ โรคมักลุกลามและ/หรือแพร่กระจายแล้ว กล่าวคือประมาณ 60 - 70% ของผู้ป่วยเมื่อพบแพทย์ โรคจะอยู่ในระยะลุกลามแพร่กระจายรุนแรงแล้ว(ระยะที่4)ซึ่งเป็นระยะโรคที่หมดโอกาสรักษาได้หาย นอกจากนั้นในผู้ป่วยที่โรคตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาอย่างดี โรคก็มักย้อนกลับเป็นซ้ำได้อีกในอัตราที่สูงภายในระยะเวลา 6 - 12 เดือนหลังครบการรักษาที่ได้ผลดีนั้นๆ

องค์กรด้านสถิติโรคมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา(SEER: U.S. The Surveillance, Epidemiology, and End Results) ได้รายงานอัตรารอดที่ห้าปีของมะเร็งปอดชนิด เซลล์ตัวเล็ก ดังนี้

  • โรคระยะจำกัดเฉพาะที่ปอดโดยยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง อัตรารอดที่ห้าปี 27%
  • โรคระยะลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ก้อนมะเร็งในปอด อัตรารอดที่ห้าปี 16%
  • โรคระยะแพร่กระจายนอกปอด (ระยะที่4) อัตรารอดที่ห้าปี 3%
  • ภาพรวมทุกระยะโรครวมกัน อัตรารอดที่ห้าปี 6%

รักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กอย่างไร?

เนื่องจากโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กเป็นโรคที่มีธรรมชาติของโรครุนแรงมาก มีการลุกลามแพร่กระจายได้สูงตั้งแต่ในระยะเริ่มเกิดโรค การรักษาหลักจึงเป็นยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา ส่วนการผ่าตัดจะพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆไปในกรณีที่โรคตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาแต่ยังมีรอยโรคหลงเหลืออยู่ในปอด (ตรวจพบจากเอกซเรย์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกนภาพปอด)เมื่อแพทย์ไม่แน่ใจว่าเป็นรอยโรคที่มีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่หรือเป็นพังผืด

อนึ่ง: ส่วนการใช้ยารักษาตรงเป้า ยังอยู่ในการศึกษาและมักใช้ในกรณีโรคอยู่ในระยะ แพร่กระจาย หรือ ย้อนกลับเป็นซ้ำหลังได้ยาเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษาครบถ้วนแล้ว

มีผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งปอดทุกชนิดที่รวมถึงชนิดเซลล์ตัวเล็กขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่

  • ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการคลื่นไส้-อาเจียน ผมร่วง โรคซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตน เอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนังและต่ออวัยวะต่างๆที่ได้รับการฉายรังสี(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีบริเวณปอด)
  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียอวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • ยารักษาตรงเป้า (ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง): เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ผนังลำไส้ทะลุได้

อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึงมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กจะสูงและรุนแรงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน เช่น ใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา
  • มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
  • ในผู้สูงอายุ

มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดทุกชนิดที่รวมถึงมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กที่มีประสิทธิภาพให้พบโรคได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ แต่มีการศึกษาที่ระบุว่าในกลุ่มคนที่สูบบุหรี่จัดและสูบมานาน (ผู้มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งปอด) อาจได้ประโยชน์จากการตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) แต่องค์กรต่างๆด้านการแพทย์ก็ยังคงถกเถียงกันอยู่ เพราะการตรวจคัดกรองนี้ต้องมีขั้นตอนการสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมร่วมด้วยเสมอ เช่น การส่องกล้อง การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในปอด และอาจต้องตรวจคัดกรองซ้ำบ่อยๆ นอกจากนั้นอาจจำเป็นต้องผ่าตัดนำเอาชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ดังนั้นจึงยังเป็นวิธีการที่ยุ่งยากซับซ้อน ต้องตรวจโดยแพทย์เฉพาะทาง, มีค่าใช้จ่ายสูง, อาจมีผลข้างเคียงกรณีต้องผ่าตัด และต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ถูกคัดกรองต่อเนื่องอย่างดีเยี่ยม ด้วยเหตุผลดังกล่าว การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดจึงยังถกเถียงกันทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม แพทย์ในประเทศตะวันตกได้กำลังศึกษาอย่างจริงจังเพื่อหาวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้เท่าเทียมกัน

ป้องกันมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กอย่างไร?

การป้องกันมะเร็งปอดส่วนใหญ่ที่รวมถึงมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กให้ได้เต็มร้อยยังเป็น ไปไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอน แต่การไม่สูบบุหรี่, การไม่ได้รับควันบุหรี่ต่อเนื่อง เช่น สูบบุหรี่มือสอง , และ การเลิกสูบ, ก็สามารถป้องกันมะเร็งปอด, ลดโอกาสเกิดมะเร็งปอดลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เพราะการศึกษาต่างๆทางการแพทย์สามารถพิสูจน์ได้ว่า บุหรี่เป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งปอดทุกชนิดย่อยสูงถึง 80 - 90% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดทั้งหมด

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึงโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • ไม่หยุดการรักษาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น กินไม่ได้ คลื่นไส้-อาเจียนทุกครั้งที่บริโภค
    • มีไข้ โดยเฉพาะเกิดร่วมกับท้องเสีย
    • ท้องผูก หรือ ท้องเสีย จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
    • กังวลในอาการ

อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมในรายละเอียดการดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วย จาก เว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • และเรื่อง การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. AJCC Cancer Staging manual, 8th ed.
  2. Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers
  3. Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia.
  4. Imsamran, W. et al. (2018). Cancer in Thailand Vol IX , 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Small-cell_carcinoma [2020,May2]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/280104-overview#showall [2020,May2]
  7. https://www.cancer.org/cancer/lung-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2020,May2]