มะเร็งท่อนำไข่ (Follopian tube cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

มะเร็งท่อนำไข่ (Follopian tube cancer) คือ โรคมะเร็งที่เกิดกับท่อนำไข่ อวัยวะเฉพาะของเพศหญิง เป็นมะเร็งในผู้ใหญ่มักพบในอายุ 50 ปีขึ้นไป มีรายงานพบได้ตั้งแต่ อายุ 17-88 ปี พบสูงสุดช่วงอายุ 60-66 ปี เป็นโรคพบน้อยมาก เพียงประมาณ1%ของมะเร็งอวัยวะสืบพันธ์เพศหญิงทั้งหมด ในสหรัฐอเมริกามีการศึกษาพบได้ประมาณ 3.6 รายต่อประชากรหญิง 1 ล้านคน

ในประเทศไทย ยังไม่มีรายงานสถิติเกิดโรคนี้ที่ชัดเจนเนื่องจากเป็นโรคพบน้อยมากเช่นเดียวกับทั่วโลก

อนึ่ง ท่อนำไข่ (Follopian tube หรือ Uterine tube) เป็นอวัยวะมีเฉพาะเพศหญิง มี 2 ข้าง ซ้ายและขวา ทำหน้าที่นำไข่จากรังไข่เข้าสู่โพรงมดลูก และเป็นอวัยวะที่สามารถเกิดมะเร็งได้เช่นเดียวกับอวัยวะต่างๆในร่างกาย

ทั่วไป มะเร็งท่อนำไข่ มักพบเกิดข้างเดียว โอกาสเกิดข้างซ้ายและข้างขวาใกล้เคียงกัน พบเกิด 2 ข้างได้ประมาณ 4-10% โดยโอกาสเกิด 2ข้างพบสูงขึ้นในผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม/จีน/Geneที่เรียกว่า BRCA (Breast cancer susceptibility gene), จีนผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิด มะเร็งเต้านม, มะเร็งรังไข่, มะเร็งท่อนำไข่, และอาจรวมถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่

โรคมะเร็งท่อนำไข่มีกี่ชนิด?

มะเร็งท่อนำไข่

มะเร็งท่อนำไข่ พบได้ทั้งชนิดมะเร็งคาร์ซิโนมา และชนิดมะเร็งซาร์โคมา แต่เกือบทั้งหมดเป็นชนิดคาร์ชิโนมา

มะเร็งท่อนำไข่ชนิดคาร์ซิโนมา มีหลากหลายชนิดย่อย แต่เกือบทั้งหมดเป็นชนิด ‘อะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma)’ ดังนั้นโดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึงมะเร็งท่อนำไข่ จะหมายถึงมะเร็งท่อนำไข่ชนิดนี้ ซึ่งรวมถึงในบทความนี้ด้วย

โรคมะเร็งท่อนำไข่เกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุเกิดมะเร็งท่อนำไข่ แต่พบปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • อายุ: เพราะดังกล่าวแล้วในบทนำว่า เป็นมะเร็งที่พบได้สูงขึ้นในสตรีวัยกลางคนขึ้นไป
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม: โดยพบได้สูงขึ้นในผู้มีพันธุกรรม/จีนผิดปกติ ชนิด BRCA1 และ BRCA2 ซึ่งจะสัมพันธ์กับ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งท่อนำไข่ และอาจมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วย นอกจากนั้นยังพบโรคได้สูงขึ้นในสตรีที่ครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งชนิดนี้

อนึ่ง:

  • มีการศึกษารายงานว่า พบมะเร็งชนิดนี้ได้น้อยลงในหญิงที่กินยาเม็ดคุมกำเนิดเมื่อเปรียบเทียบกับหญิงที่ไม่ได้กิน
  • มะเร็งท่อนำไข่ มักสัมพันธ์กับมะเร็งรังไข่ และทั่วไปโรคมีโอกาสเกิดได้ทั้ง2ด้าน คือซ้ายและขวา โดยอาจเกิดพร้อมหรือไม่พร้อมกันก็ได้ และยังมีโอกาสลุกลามเข้ามดลูกได้ ดังนั้นในการรักษาเพื่อหายขาด แพทย์จึงมักผ่าตัดออกทั้งหมดของ รังไข่, ท่อนำไข่, และมดลูก
  • ทั่วไป มะเร็งท่อนำไข่มีธรรมชาติของโรคเหมือนมะเร็งรังไข่ ดังนั้นการรักษาจึงเช่นเดียวกันทั้ง การผ่าตัด, ยาเคมีบำบัด, และรังสีรักษา(รังสีรักษา-ฉายรังสี-ใส่แร่)
  • ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีจีน/Gene ผิดปกติกลุ่มที่เรียกว่า BRCA(พบน้อยมากในคนไทย พบมากในคนเชื้อชาติยิว) ที่แพทย์ประเมินแล้วว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมคนนั้นๆมีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่และ/หรือมะเร็งท่อนำไข่ร่วมด้วย แพทย์จะแนะนำการผ่าตัดรังไข่ร่วมกับท่อนำไข่ออกร่วมด้วยกรณีมีบุตรเพียงพอแล้ว โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษามะเร็งในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการสมัครใจของผู้ป่วยและครอบครัวด้วย

โรคมะเร็งท่อนำไข่มีอาการอย่างไร?

มะเร็งท่อนำไข่ จะเช่นเดียวกับมะเร็งทุกชนิด คือ มักไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็น จะมีอาการต่อเมื่อโรคเริ่มลุกลามแล้ว และเมื่อมีอาการ ก็จะไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็ง หรือของมะเร็งท่อนำไข่ แต่จะเป็นอาการเหมือนโรคทั่วไปทางสูตินรีเวช/ โรคทางอวัยวะเพศสตรี

อาการที่พบบ่อยของมะเร็งท่อนำไข่ คือ

  • มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ พบได้ประมาณ 50-60%ของผู้ป่วย
  • มีอาการปวดท้องเรื้อรัง โดยเฉพาะท้องน้อย(อุ้งเชิงกราน)ด้านเกิดโรค พบได้ประมาณ 30-50%
  • คลำได้ก้อนในท้องน้อยด้านเกิดโรค พบได้ประมาณ 12-85%
  • มีน้ำในช่องท้อง/ท้องมาน พบได้ประมาณ 15%

*อนึ่ง ผู้ป่วยแต่ละคนมักมีหลายอาการร่วมกัน และไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการดังกล่าว

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งท่อนำไข่ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งท่อนำไข่ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ, ประวัติประจำเดือน, การตั้งครรภ์, วิธีการคุมกำเนิด, ประวัติโรคในครอบครัว
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจภายใน
  • การตรวจภาพช่องท้อง/ท้องน้อยด้วย อัลตราซาวด์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวตอร์ (ซีทีสแกน) ซึ่งถ้าพบก้อนเนื้อ อาจตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็ง ที่เรียกว่า CA 125 (Carcinoma antigen 125)ที่พบได้สูงกว่าปกติในประมาณ 80%ของผู้ป่วยโรคนี้

อนึ่ง ถ้าแพทย์ตรวจพบมีก้อนเนื้อในช่องท้องน้อย แพทย์มักไม่ตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพราะเสี่ยงต่อ อาการเลือดออกมากจากแผลตัดชิ้นเนื้อและการติดเชื้อในช่องท้อง นอกจากนั้น การรักษาเมื่อมีก้อนเนื้อฯ คือ การผ่าตัด ดังนั้นแพทย์จะผ่าตัดก่อน แล้วจึงตรวจชิ้นเนื้อระหว่างผ่าตัด หรือ หลังผ่าตัด (ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์) ซึ่งการตรวจทางพยาธิวิทยาเท่านั้นที่จะให้การวินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

หลังการผ่าตัดและทราบผลชิ้นเนื้อว่า เป็นมะเร็งท่อนำไข่ จะมีการตรวจเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อการหาระยะโรค เช่น

  • ตรวจ อัลตราซาวด์ และ/หรือ ซีทีสแกน ตับ/ช่องท้อง เพื่อดูการแพร่กระจายของโรคสู่ ตับ ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง กรณียังไม่เคยตรวจก่อนผ่าตัด
  • และอาจตรวจเอกซเรย์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกนภาพปอด เมื่อสงสัยมีโรคแพร่กระจายสู่ปอด

โรคมะเร็งท่อนำไข่มีกี่ระยะ?

มะเร็งท่อนำไข่ แบ่งระยะโรคตามระบบของสหรัฐอเมริกา คือ AJCC (American Joint Committee on Cancer), 8th Editionเป็น 4 ระยะเทียบเท่ากับการจัดระยะโรคของ สหพันธ์นานาชาติด้านสูตินรีเวช( FIGO: the International Federation of Gynecology and Obstetrics) โดยแต่ละระยะอาจแบ่งย่อยๆ เช่น A,B ฯลฯที่แพทย์โรคมะเร็งใช้เพื่อช่วยเลือกวิธีรักษาและเพื่อการศึกษาวิจัย ได้แก่

  • ระยะที่ 1: โรคจำกัดอยู่เฉพาะท่อนำไข่ โดยโรคอาจเกิดกับท่อนำไข่ ข้างเดียว หรือ 2 ข้างก็ได้ และแบ่งเป็น 3 ระยะย่อย ได้แก่
    • ระยะ1A: โรคจำกัดอยู่เฉพาะท่อนำไข่ข้างเดียวและไม่มีการลุกลามมายังเนื้อเยื่อหุ้มท่อนำไข่ชั้นนอกสุด
    • ระยะ1B:โรคเกิดและจำกัดอยู่เฉพาะท่อนำไข่แต่เกิดทั้ง2ข้างโดยไม่มีการลุกลามมายังเนื้อเยื่อหุ้มท่อนำไข่ชั้นนอกสุด
    • ระยะ1C:โรคเกิดที่ท่อนำไข่ข้างเดียวหรือ2ข้างก็ได้ ร่วมกับ
      • ก้อนเนื้อแตกขณะผ่าตัด หรือ
      • ก้อนเนื้อแตกก่อนผ่าตัดหรือมีโรคลุกลามมายังเนื้อเยื่อหุ้มท่อนำไข่ชั้นนอกสุด
      • พบเซลล์มะเร็งในน้ำในช่องท้อง
  • ระยะที่ 2: โรคลุกลามเข้าในช่องท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน โดยโรคอาจเกิดกับท่อนำไข่ ข้างเดียว หรือ 2 ข้างก็ได้ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะย่อย ได้แก่
    • ระยะ2A: โรคลุกลามเข้าเฉพาะมดลูก โดยโรคอาจเกิดกับท่อนำไข่ ข้างเดียว หรือ 2 ข้างก็ได้
    • ระยะ2B: โรคลุกลามเข้าในช่องท้องน้อยในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆที่ไม่ใช้มดลูก โดยโรคอาจเกิดกับท่อนำไข่ ข้างเดียว หรือ 2 ข้างก็ได้
  • ระยะที่ 3: โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรอบหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนช่องท้อง, และ/หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องน้อย, และ/หรือ ลุกลามเข้าเยื่อบุช่องท้องส่วนอยู่เหนือนอกท้องน้อย(ในช่องท้องส่วนบน), โดยแบ่งเป็น 3 ระยะย่อย ได้แก่
    • ระยะ3A: โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรอบหลอดเลือดแดงใหญ่ และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องน้อย
    • ระยะ3B: โรคลุกลามเข้าเยื่อบุช่องท้องส่วนเหนือท้องน้อยแต่ขนาดก้อนยังเล็กมากร่วมกับมีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรอบหลอดเลือดแดงใหญ่,และ/หรือต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องน้อย
    • ระยะ3C: โรคลุกลามเข้าเยื่อบุช่องท้องส่วนเหนือท้องน้อยและขนาดก้อนใหญ่ มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า, ร่วมกับมีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรอบหลอดเลือดแดงใหญ่, และ/หรือต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องน้อย
  • ระยะที่ 4: โรคลุกลามแพร่กระจายออกนอกช่องท้อง แบ่งเป็น 2ระยะย่อย ได้แก่
    • ระยะ4A: โรคแพร่กระจายเข้าโพรงเยื่อหุ้มปอดจนเกิด ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อ หุ้มปอด ซึ่งเป็นน้ำที่มีเซลล์มะเร็งแพร่กระจาย
    • ระยะ4B: โรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆนอกช่องท้อง รวมถึงต่อมน้ำเหลืองนอกช่องท้อง เช่น ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ, ต่อมน้ำเหลืองในช่องอก และ/หรือเหนือกระดูกไหปลาร้า, และ/หรือ ตับ ม้าม และ/หรือเข้าไปในเนื้อเยื่อส่วนลึกของลำไส้

โรคมะเร็งท่อนำไข่รักษาอย่างไร?

มะเร็งท่อนำไข่ มีธรรมชาติของโรคคล้ายมะเร็งรังไข่ ดังนั้นแนวทางการรักษาในทุกระยะโรค จึงเช่นเดียวกับมะเร็งรังไข่ คือ

  • การผ่าตัด ท่อนำไข่, รังไข่ ทั้ง 2 ข้าง, ร่วมกับการผ่าตัดมดลูก โดยผ่าตัดออกทั้งหมด
  • หลังจากนั้น จะพิจารณารักษาต่อเนื่องด้วย ยาเคมีบำบัด (ตัวยาและระยะเวลาการรักษาต่างกันในแต่ระยะของโรค)
  • ส่วนการรักษาด้วยรังสีรักษา จะพิจารณาเป็นกรณีไปซึ่งมักใช้รักษาเฉพาะในโรคระยะที่ 4 โดยเฉพาะเมื่อโรคแพร่กระจายสู่กระดูก และ/หรือ สมอง
  • ส่วนยาอื่นที่กำลังอยู่ในการศึกษาวิจัย คือ ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง

โรคมะเร็งท่อนำไข่มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของมะเร็งท่อนำไข่ นอกจากขึ้นกับระยะโรคแล้ว ยังขึ้นกับ อายุ, โรคร่วม/โรคประจำตัวต่างๆ, สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย, การผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้หมดหรือไม่, และการตอบสนองของเซลล์มะเร็งต่อยาเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษา

โดยทั่วไป อัตรารอดที่ห้าปี ของโรคนี้ในระยะต่างๆ คือ

  • โรคระยะที่1 ประมาณ 70-90%
  • โรคระยะที่ 2 ประมาณ 60-70%
  • โรคระยะที่ 3 ประมาณ 30-50%
  • โรคระยะที่4 ประมาณ 0-20%

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งท่อนำไข่ไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งท่อนำไข่ให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การดูแลสังเกตตนเอง เมื่อมีความผิดปกติดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ

ป้องกันโรคมะเร็งท่อนำไข่อย่างไร?

การป้องกันมะเร็งท่อนำไข่ ทำได้เฉพาะกรณีผู้มีความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิด BRCA1, BRCA2 ที่มีโอกาสเป็น มะเร็งท่อนำไข่ มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม ได้สูงกว่าสตรีทั่วไป ทั้งนี้โดยการผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ออกทั้ง 2 ข้างภายหลังที่มีบุตรจนครบตามความต้องการแล้ว อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดดังกล่าว ไม่สามารถป้องกันโรคเหล่านี้ได้เต็มร้อยแต่สามารถลดอัตราเกิดลงได้ประมาณ 70-90%

ดูแลตนเองอย่างไร?ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึงโรคมะเร็งท่อนำไข่จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดการรักษาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่องจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้-อาเจียนทุกครั้งที่กินอาหาร เป็นต้น
    • อาการต่างๆแย่ลง
    • มีไข้โดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับท้องเสีย
    • เมื่อกังวลในอาการ

อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดในเรื่องการดูแลฯในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. AJCC cancer staging manual, 8th ed.
  2. Goswami,P. et al.(2006). The Obstetrician & Gynecologist. 8, 147-152
  3. Jeung,C. et al. (2009). Cancer Res Treat. 41, 113-116
  4. Pectasides,D. et al.(2006). The Oncologist. 11, 902-912
  5. https://www.cancer.org/cancer/ovarian-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2021,Jan16]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/273332-overview#showall [2021,Jan16]