มะเร็งกระดูกอ่อน หรือ คอนโดรซาร์โคมา(Chondrosarcoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือมะเร็งอะไร? พบบ่อยไหม?

มะเร็งกระดูกอ่อน หรือ คอนโดรซาร์โคมา (Chondrosarcoma)คือ โรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์กระดูกสร้างกระดูกอ่อนมากเกินปกติและสร้างตลอดเวลา โดยร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโต/การแบ่งตัวรวมถึงการสร้างกระดูกอ่อนของเซลล์เหล่านี้ได้ จึงเกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็งขึ้น กล่าวคือ เซลล์มะเร็งเหล่านี้จะรุกราน/ลุกลามทำลายกระดูกชิ้นที่เกิดโรคจนเสียหายทำงานไม่ได้ และรุกราน/ลุกลามเข้าสู่อวัยวะข้างเคียง, ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง, ในที่สุดจะแพร่กระจายทางกระแสเลือด/โลหิตเข้าสู่อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ที่พบบ่อยคือ สู่ปอด นอกจากนั้นยังสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองต่างๆได้ทั่วร่างกายเช่นกัน

มะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมา เกิดได้กับกระดูกทุกชิ้นในร่างกายแต่พบบ่อยที่ กระดูกเชิงกราน รองๆลงไปคือ กระดูกต้นขา ซี่โครง กระดูกต้นแขน กระดูกขา และกระดูกสะบัก

มะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมา เป็นมะเร็งพบทั่วโลก แต่พบน้อย ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ พบทั้งในเพศชายและเพศหญิง เพศชายพบบ่อยกว่าเพศหญิงเล็กน้อย และพบทุกวัยรวมถึงในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) แต่มักพบในวัย 40-50ปีขึ้นไป

เนื่องจากเป็นโรคพบน้อย สถิติเกิดของมะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมามักรายงานรวมอยู่ในมะเร็งกระดูก(Bone cancer หรือ Bone sarcoma) ในประเทศไทยรายงานรวมอยู่ในมะเร็งกระดูกทั้งหมดเช่นกัน ซึ่งรายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติไทยปี ค.ศ 2018 พบมะเร็งกระดูกในเพศชาย1.4 รายต่อประชากรชายไทย1แสนคน และพบในเพศหญิง 1.3 รายต่อประชากรหญิงไทย1แสนคน

มะเร็งกระดูกอ่อนมีกี่ชนิด?

มะเร็งกระดูกอ่อน

มะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมา แบ่งย่อยได้หลายชนิดย่อย เช่น

ก. แบ่งตามอัตราการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง: แบ่งเป็น 2กลุ่ม คือ

  • ชนิดเซลล์แบ่งตัวต่ำ(Grade1 ย่อว่า G1): กลุ่มนี้มีการพยากรณ์โรคที่ดี โรคมักไม่แพร่กระจายทางกระแสเลือด
  • ชนิดเซลล์แบ่งตัวสูง: เรียงตามลำดับจากแบ่งตัวน้อย/รุนแรงน้อยกว่าไปหามาก คือ Grade2(G2), Grade3(G3), Grade4(G4) ปัจจุบันนิยมรวม G3,4เข้าด้วยกันเป็น G3 มะเร็งฯกลุ่มนี้มีการพยากรณ์โรคไม่ดี โรคมีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัดสูง(20-40%) รวมถึงมีการแพร่กระจายทางกระแสเลือดสูงขึ้นตามลำดับของการแบ่งตัวที่สูงขึ้น(10 -70% ขึ้นกับ G ที่สูงขึ้น)

ข. แบ่งตามลักษณะพยาธิวิทยาเนื้อเยื่อ: โดยแบ่งเป็นชนิดย่อยได้หลากหลาย ที่พบบ่อย คือ

  • Conventional chondrosarcoma หรือ Primary central chondrosarcoma คือ มะเร็งเกิดจากเนื้อเยื่อส่วนในที่เป็นที่อยู่ของไขกระดูก(Medullary cavity) พบได้ ประมาณ 85-90%ของมะเร็งกระดูกอ่อนทั้งหมด ซึ่งมะเร็งกลุ่มนี้อีกชื่อคือ Hyaline/Myxoid chondrosarcoma
  • นอกนั้นคือชนิดที่พบได้น้อย ได้แก่
    • Dedifferentiated chondrosarcoma: เป็นมะเร็งชนิดการพยากรณ์โรคไม่ดี เซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูง มีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัดและแพร่กระจายฯสูง
    • Clear cell chondrosacoma: เซลล์มีการแบ่งตัวต่ำ มีการพยากรณ์โรคที่ดี แต่มีรายงานโรคแพร่กระจายได้10-20ปีหลังผ่าตัด
    • Mesenchymal chondrosarcoma: เป็นชนิดพบทั้งในคนอายุน้อยและในคนอายุมาก และพบเกิดได้ทั้งในกระดูกและในเนื้อเยื่ออ่อนชนิดต่างๆ เป็นชนิดมีการพยากรณ์โรคไม่ดี เพราะเซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูง

Secondary peripheral chondrosacoma: คือ มะเร็งเกิดจากเนื้อเยื่อที่เป็นส่วนให้ความแข็งแรงคือตัวกระดูก พบได้ประมาณ 10-15%ของมะเร็งกระดูกอ่อนทั้งหมด

อื่นๆ: ที่พบน้อยมาก เช่น

  • Juxtacortical chondrosarcoma หรือ Periosteal chondrosarcoma เป็นชนิดเกิดในส่วนเนื้อเยื่อหุ้มกระดูก มีการพยากรณ์โรคดีระดับปานกลาง เพราะเซลล์มะเร็งเป็นชนิดแบ่งตัวน้อย

มะเร็งกระดูกอ่อนมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดได้อย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุเกิดแต่มีรายงานว่าปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมา ได้แก่

  • ผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งในเด็กที่เคยได้รับการรักษาด้วย ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา(รังสีรักษา-ฉายรังสี-ใส่แร่)
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกชนิดที่พบน้อย ที่เรียกว่า โรคพาเจ็ทกระดูก(Paget disease of bone คือ โรคที่เซลล์กระดูกอักเสบเรื้อรังโดยไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เป็นโรคยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน)
  • ผู้ป่วยเนื้องอกกระดูกชนิดต่างๆที่เกิดจากโรคทางพันธุกรรมซึ่งเป็นโรคพบน้อยมากๆทั้งชนิดพันธุกรรมที่ถ่ายทอดได้ และ ชนิดพันธุกรรมที่ถ่ายทอดไม่ได้ แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘เนื้องอกกระดูก’
  • ผู้ป่วยเคยเป็นมะเร็งไตในเด็ก (มะเร็งวิมส์)

มะเร็งกระดูกอ่อนมีอาการอย่างไร?

อาการของมะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมา:

ก. อาการที่ขึ้นกับตำแหน่งกระดูกที่เกิดโรคว่าเป็นกระดูกที่อยู่ส่วนไหนของร่างกายและทำหน้าที่อะไร ดังนั้นอาการในแต่ละผู้ป่วยจึงแตกต่างกัน เช่น

  • มะเร็งฯที่กระดูกขา: จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวผิดปกติของข้อ/ขาส่วนนั้นๆ
  • หรือถ้าเป็นกระดูกเชิงกราน: อาจมีผลให้ปวดอุ้งเชิงกรานตรงรอยโรคเรื้อรังหรือปัสสาวะบ่อย หรือท้องผูกเรื้อรังผิดปกติจากก้อนมะเร็งกดเบียดทับกระเพาะปัสสาวะและ/หรือลำไส้ใหญ่/ไส้ตรง

ข. อาการที่เหมือนกันในผู้ป่วยทุกราย: เช่น

  • คลำพบก้อนเนื้อในบริเวณเกิดโรค ก้อนโตค่อนข้างเร็ว ทั่วไปเมื่อผู้ป่วยพบแพทย์ก้อนมักมีขนาดตั้งแต่ 5 ซม. ขึ้นไป
  • เจ็บปวดกระดูกตรงที่เกิดโรค/รอยโรค ปวดเรื้อรัง อาการปวดมักรุนแรงขึ้นช่วงกลางคืนจนรบกวนต่อการนอน
  • รู้สึกแน่นตรงตำแหน่งของก้อน
  • ถ้าก้อนเนื้อโตจนกดเบียดทับระบบน้ำเหลือง จะส่งผลให้เกิดการบวมในอวัยวะส่วนนั้น เช่น ขาบวมทั้งขาด้านเดียวกับโรคเมื่อเกิดโรคที่กระดูกเชิงกราน เป็นต้น

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ และอาการไม่ดีขึ้นจากการดูแลตนเองใน 1-2สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล แต่ถ้าอาการเลวลงควรรีบมาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอจนถึง1-2 สัปดาห์

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งกระดูกอ่อนอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมาได้ด้วยวิธีการเดียวกับการวินิจฉัยมะเร็งกระดูก ได้แก่

  • จากซักถามประวัติอาการผู้ป่วย ประวัติอุบัติเหตุ ประวัติมะเร็งในครอบครัว ประวัติการรักษาโรคในอดีต
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจดูและคลำกระดูกส่วนเกิดโรค
  • การตรวจภาพกระดูกด้วยเอกซเรย์ธรรมดา หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน) หรือ เอมอาร์ไอ
  • แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในกระดูกที่เกิดโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

นอกจากนั้น คือการตรวจเพื่อจัดระยะโรคมะเร็งและเพื่อประเมินสุขภาพของผู้ป่วย เช่น

  • ตรวจเลือด ซีบีซี (CBC)เพื่อดูการทำงานของไขกระดูก
  • การตรวจปัสสาวะดูการทำงานของไต
  • ตรวจเลือดดูการทำงานของตับและไต
  • ตรวจภาพปอดด้วย เอกซเรย์ เพื่อดู โรคปอด โรคหัวใจ และการแพร่กระจายของ มะเร็งกระดูกอ่อนแพร่กระจายสู่ปอด
  • อาจมีการตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ดูมะเร็งฯแพร่กระจายมาตับ
  • อาจมีการสะแกนภาพกระดูกทั้งตัว (สะแกนกระดูก) เพื่อหาการแพร่กระจายของโรคสู่กระดูกชิ้นอื่นๆ หรือดูการเกิดโรคหลายจุดในกระดูกชิ้นเดียวกัน ทั้งนี้ขึ้น กับ ระยะโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง และดุลพินิจของแพทย์

มีการแบ่งระยะโรคมะเร็งกระดูกอ่อนอย่างไร?

มะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมาแบ่งระยะโรคเช่นเดียวกับมะเร็งกระดูก ตามการจัดระยะโรคขององค์กรด้านโรคมะเร็ง สหรัฐอเมริกา (American Joint Committee on Cancer ย่อว่า AJCC) ปัจจุบันคือ 8 th edition โดยจัดระยะตามตำแหน่งกระดูกที่เกิดโรคเป็น3กลุ่มหลัก คือ

  • กลุ่มโรคเกิดที่กระดูก ขา แขน ลำตัว กะโหลก และใบหน้า
  • กลุ่มโรคเกิดที่กระดูกสันหลัง
  • กลุ่มโรคเกิดที่กระดูกเชิงกราน

ก: ระยะโรคของมะเร็งฯที่โรคเกิดที่กระดูก ขา แขน ลำตัว กะโหลก และใบหน้า

  • ระยะ1: มะเร็งรุกราน/ลุกลามเฉพาะที่กระดูก และเซลล์มะเร็งเป็นชนิด G1 แบ่งเป็นระยะย่อย คือ
    • ระยะ1a: ก้อนมะเร็งขนาดโตไม่เกิน 8 ซม.
    • ระยะ1b: ก้อนมะเร็งขนาดโตมากกว่า 8 ซม.ขึ้นไป หรือ มีหลายก้อนมะเร็งในกระดูกชิ้นเดียวกัน
  • ระยะ2: แบ่งเป็น 2 ระยะย่อย คือ
    • ระยะ2a: ก้อนมะเร็งขนาดโตไม่เกิน8ซม.และเซลล์แบ่งตัวสูงระดับ G2, G3(G3,G4)
    • ระยะ2b: ก้อนมะเร็งขนาดโตมากกว่า8ซม.ขึ้นไป และเซลล์แบ่งตัวสูงระดับ G2,G3 (G3,G4)
  • ระยะ3: มีก้อนมะเร็งหลายก้อนในกระดูกชิ้นเดียวกัน และเซลล์แบ่งตัวสูงระดับ G2,G3(G3,G4)
  • ระยะ4: เป็นระยะรุนแรงมาก เป็นระยะรักษาหายยาก การพยากรณ์โรคแย่ที่สุด แบ่งย่อย เป็น
    • ระยะ4a: มีโรคแพร่กระจาย เฉพาะปอด
    • ระยะ4b: มีโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆนอกเหนือจากปอด(เช่น ตับ กระดูกชิ้นอื่นๆ) ที่รวมถึงต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลจากกระดูกที่เกิดมะเร็งฯ เช่น เป็นมะเร็งฯกระดูกขาและโรคแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้าหรือในช่องอก เป็นต้น

ข. ระยะโรคของมะเร็งฯที่โรคเกิดที่กระดูกสันหลัง: ปัจจุบันใช้การจัดระยะโรคแบบทีเอ็นเอ็ม(TNM staging, แนะนำอ่านรายละเอียดจากเว็บ haamor.com) ได้แก่

  • T(Tumor ย่อว่าT): แบ่งย่อยเป็น T1-4
    • T1=โรคจำกัดที่กระดูกสันหลังเพียง1-2ข้อที่ต่อเนื่องกัน
    • T2=โรคจำกัดกระดูกสันหลัง3ข้อที่ต่อเนื่องกัน
    • T3=โรคจำกัดกระดูกสันหลังมากกว่า3ข้อที่ต่อเนื่องกัน หรือ กระดูกสันหลังมากกว่า 1ข้อที่ไม่ต่อเนื่องกัน
    • T4=โรคลุกลามเข้าไขสันหลัง และ/หรือหลอดเลือดขนาดใหญ่
  • N(Node ย่อว่าN): โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ก้อนมะเร็ง แบ่งย่อยเป็น N0-1
    • N0=โรคยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ก้อนมะเร็ง
    • N1=โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ก้อนมะเร็ง
  • M(Distant metastasis ย่อว่า M): โรคแพร่กระจายทางกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย(มักแพร่กระจายไปปอด) และ/หรือระบบน้ำเหลือง แบ่งย่อยเป็นM0-1
    • M0= ยังไม่มีการแพร่กระจายฯ
    • M1=โรคแพร่กระจายฯแล้ว

ค. ระยะโรคของมะเร็งฯที่โรคเกิดที่กระดูกเชิงกราน : ปัจจุบันใช้การจัดระยะโรคแบบทีเอ็นเอ็ม(TNM staging) ได้แก่

  • T(Tumor ย่อว่าT): แบ่งย่อยเป็น T1-4
    • T1=โรคจำกัดในกระดูกเชิงกรานเพียงส่วนเดียว แบ่งย่อยเป็น
      • T1a=ก้อนมะเร็งโตไม่เกิน 8 ซม.
      • T1b=ก้อนมะเร็งโตเกิน8ซม.
    • T2=โรคจำกัดในกระดูกเชิงกรานเพียงส่วนเดียวแต่ลุกลามออกนอกกระดูก หรือ โรคลุกลาม2ส่วนของกระดูกเชิงกรานแต่ยังไม่ลุกลามออกนอกกระดูก แบ่งเป็น 2 ระยะย่อยคือ
      • T2a=ก้อนมะเร็งโตไม่เกิน 8 ซม.
      • T2b=ก้อนมะเร็งโตเกิน8ซม.
    • T3=โรคลุกลามเข้ากระดูกเชิงกราน2ส่วนและลุกลามออกนอกกระดูก แบ่งเป็น 2 ระยะย่อย คือ
      • T3a=ก้อนมะเร็งโตไม่เกิน 8 ซม.
      • T3b=ก้อนมะเร็งโตเกิน8ซม.
    • T4=โรคลุกลามเข้ากระดูกเชิงกราน3ส่วน หรือลุกลามเข้าข้อต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานกับกระดูกใต้กระเบนเหน็บ แบ่งเป็น 2ระยะย่อย คือ
      • T4a=โรคลุกลามเข้าข้อต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานกับกระดูกใต้กระเบนเหน็บ
      • T4b=โรคลุกลามเข้าหลอดเลือดใหญ่ในอุ้งเชิงราน(ท้องน้อย)
  • N(Node ย่อว่าN): โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ก้อนมะเร็ง แบ่งย่อยเป็น N0-1
    • N0=โรคยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ก้อนมะเร็ง
    • N1=โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ก้อนมะเร็ง
  • M(Distant metastasis ย่อว่า M): โรคแพร่กระจายทางกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย(มักแพร่กระจายไปปอด) และ/หรือระบบน้ำเหลือง แบ่งย่อยเป็นM0-1
    • M0= ยังไม่มีการแพร่กระจายฯ
    • M1=โรคแพร่กระจายฯแล้ว

รักษามะเร็งกระดูกอ่อนอย่างไร?

การรักษาหลักของมะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมา คือ การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกให้ได้ทั้งหมดทั้งจากการมองด้วยตาเปล่าและจากการตรวจก้อนเนื้อหลังผ่าตัดด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา บางครั้งอาจจำเป็นต้องตัดกระดูกชิ้นนั้นออกทั้งชิ้น

กรณีผ่าตัดได้ไม่หมด, หรือ ผ่าตัดไม่ได้, หรือกรณีเซลล์มะเร็งเป็นชนิดรุนแรง, และ/หรือมีการแบ่งตัวสูง(G2, G3, หรือG4), แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาต่อเนื่องด้วยรังสีรักษา(รังสีรักษา-ฉายรังสี-ใส่แร่) และ/หรือร่วมกับยาเคมีบำบัด อย่างไรก็ตามมะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมามีการตอบสนองที่ไม่ดีต่อทั้งรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด

ในส่วนยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทางการแพทย์

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมา จะคล้ายกับการดูแลตนเอง/การดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดรวมถึงมะเร็งกระดูก ปรับใช้ด้วยกันได้ ซึ่งที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งอย่างถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

นอกจากนั้น แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

มะเร็งกระดูกอ่อนมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น ก้อนเนื้อแตกเป็นแผล หรือมีเลือดออกจากก้อนเนื้อมาก แผลผ่าตัดเป็นหนอง หรือ สงสัยมีก้อนเนื้อเกิดใหม่ตรงรอยผ่าตัด
  • มีอาการอื่นที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น มีไข้โดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับอาการท้องเสีย
  • มีผลข้างเคียงต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูกเรื้อรัง
  • กังวลในอาการ

มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งกระดูกอ่อนไหม?

การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของมะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมา ขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญ ได้แก่

  • ก้อนมะเร็งเกิดกับกระดูกชิ้นใด เช่น ถ้าเกิดกับกระดูกส่วนลำตัว การพยากรณ์โรคแย่กว่าเกิดกับกระดูก ขา แขน
  • ขนาดก้อนมะเร็ง ยิ่งขนาดใหญ่ การพยากรณ์โรคยิ่งไม่ดี
  • ไม่สามารถผ่าตัดรักษาได้: การพยากรณ์โรคไม่ดี
  • ผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้ไม่หมด: การพยากรณ์โรคไม่ดี
  • มะเร็งเป็นชนิดมีการแบ่งตัวของเซลล์สูง: การพยากรณ์โรคไม่ดี
  • ระยะโรค ยิ่งระยะโรคสูงขึ้น การพยากรณ์โรคยิ่งเลวลง
  • อายุ: ยิ่งอายุมากขึ้น หรือ กลุ่มเด็กเล็ก(นิยามคำว่าเด็ก) การพยากรณ์โรคไม่ดี
  • สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ยิ่งมีโรคประจำตัวเรื้อรัง การพยากรณ์โรคไม่ดี

อนึ่ง ในเรื่องอัตรารอดที่ห้าปี เนื่องจากมะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมา พบได้น้อย จึงมักมีจำนวนผู้ป่วยน้อยเกินไปในทางสถิติที่จะรายงานอัตรารอดตามระยะต่างๆของโรค อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม อัตรารอดที่ห้าปี จะประมาณดังนี้

  • กรณีอยู่ในกลุ่มมีการพยากรณ์โรคที่ดีที่รวมถึงที่แพทย์สามารถผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้หมด อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 70-80%หลังการรักษา
  • กรณีอยู่ในกลุ่มมีการพยากรณ์โรคดีระดับปานกลาง อัตรารอดฯ ประมาณ 30- 50%
  • กรณีอยู่ในกลุ่มการพยากรณ์โรคไม่ดี ผู้ป่วยมักตายใน 1-2 ปี หลังการรักษา

ป้องกันมะเร็งกระดูกอ่อนอย่างไร?

เนื่องจากเป็นโรคพบน้อย ไม่เป็นปัญหาทางสาธารณะสุข จึงส่งผลให้ยังไม่มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังในการหาวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งกระดูกอ่อนหรือคอนโดรซาร์โคมา ปัจจุบันจึงยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งชนิดนี้ตั้งแต่แรกเกิดขณะยังคลำก้อนเนื้อไม่ได้หรือยังไม่มีอาการ

บรรณานุกรม

  1. AJCC cancer staging manual, 8th ed.
  2. Gelderblom, H. et al. The Oncologist 2008;13:320-329
  3. Imsamran, W. et al. (2018). Cancer in Thailand Vol ix, 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  4. Polychronidou, G. et al. Future Oncology 2017;13(7):637-648
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Chondrosarcoma [2020,Oct3]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/1258236-overview#showall [2020,Oct3]
  7. http://www.ncin.org.uk/publications/data_briefings/bone_sarcomas_incidence_and_survival [2020,Oct3]
  8. http://sarcomahelp.org/chondrosarcoma.html#tpm1_2 [2020,Oct3]