มอลกรามอสทิม (Molgramostim)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยามอลกรามอสทิม (Molgramostim) เป็นยาในกลุ่ม แกรนูโลไซต์ แมโครฟาจ โคโลนี-สติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ หรือเรียกว่า จีเอมซีเอสเอฟ (Granulocyte Macrophage colony-stimulating factor ย่อว่า GM-CSF) ทางคลินิกนำมาใช้กระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานโรค(ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค หรือ ภูมิคุ้มกันโรค) ในผู้ป่วยมะเร็งหลังจากเข้ารับการทำเคมีบำบัด/การใช้ยาเคมีบำบัด ยานี้ใช้กระตุ้นการทำงานของไขกระดูกที่ได้รับการปลูกถ่ายใหม่ ตลอดจนกระทั่งบำบัดภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล(Neutrophil)ต่ำจากได้รับยาGanciclovir นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมกับเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Escherichia coli(E.Coli) ทำให้แบคทีเรียที่นำมาเพาะเลี้ยงผลิตสารชีวโมเลกุลที่มีโครงสร้างเลียนแบบตัวกระตุ้นภูมิต้านทานโรคตามธรรมชาติ ซึ่งคือ “ยามอลกรามอสทิม (Molgramostim)”

เภสัชภัณฑ์ของยามอลกรามอสทิม เป็นยาฉีด ที่สามารถฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือหยดเข้าทางหลอดเลือดดำก็ได้ ระยะเวลาของการใช้ยาชนิดนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยเป็นสำคัญ หากใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกอาจต้องใช้ยานี้เป็นเวลานานถึง 30 วัน หรือใช้กับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการทำเคมีบำบัดแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 7–10 วัน และขนาดการใช้ยานี้จะขึ้นกับน้ำหนักตัวของผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่สามารถใช้ยามอลกรามอสทิมได้ เช่น

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้/ยานี้
  • ผู้ป่วยที่เข้ารับการทำเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาด้วยมะเร็งไขกระดูก(Bone marrow malignancies) เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจล้มเหลว หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผู้ป่วยด้วย โรคหืด หรือโรคปอด
  • ผู้ที่ร่างกายมีภาวะคั่งน้ำ(Fluid retention) และสตรีในภาวะให้นมบุตร

* อนึ่ง สามารถสังเกตอาการผู้ที่ได้รับยามอลกรามอสทิมเกินขนาดจากสัญญาณชีพของผู้ป่วย อาทิ เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ กรณีเหล่านี้แพทย์จะให้การช่วยเหลือผู้ป่วยโดยรักษาตามลักษณะอาการที่เกิดขึ้น(การรักษาประคับประคองตามอาการ)

สำหรับคำเตือนที่แพทย์มักจะกำชับผู้ป่วยให้ปฏิบัติตามขณะที่ได้รับยามอลกรามอสทิมมีดังต่อไปนี้

  • ห้ามรับประทานหรือใช้ยาชนิดใดๆร่วมกับยามอลกรามอสทิมโดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • การใช้ยามอลกรามอสทิมต้องให้ผู้ป่วยหลังทำเคมีบำบัดไปแล้ว 24 ชั่วโมง
  • ในขณะเริ่มรักษาด้วยยามอลกรามอสทิมแล้วเกิดการตั้งครรภ์ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีเพื่อประเมินผลดี-ผลเสียในการจะใช้ยานี้ต่อหรือไม่
  • ห้ามเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของตนเองขณะที่ได้รับยาชนิดนี้
  • ระหว่างได้รับยานี้ ควรดื่มน้ำวันละ 2–3 ลิตร/วัน รับประทานอาหารที่เหมาะสม พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายฟื้นสภาพได้เร็วขึ้น
  • ต้องมารับการตรวจร่างกาย การตรวจเลือด ตามที่แพทย์นัดหมาย เพื่อทดสอบจำนวนและความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดขาว และเป็นการเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ต่างๆจากยานี้
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อของร่างกาย

ทั้งนี้ ตัวยามอลกรามอสทิมไม่ใช่ยารักษาโรคมะเร็ง แต่เป็นยาที่ช่วยสนับสนุนการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง หรือใช้เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกาย เราจะพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น และมีจัดจำหน่ายภายในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้าว่า Leucomax หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยของยานี้เพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาหรือจากเภสัชกรที่ประจำในสถานพยาบาลนั้นๆได้

มอลกรามอสทิมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

มอลกรามอสทิม

ยามอลกรามอสทิมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวประเภทนิวโทรฟิลหลังการทำเคมีบำบัดหรือ การฉายรังสีรักษา
  • ใช้เป็นยากระตุ้นการทำงานของไขกระดูกหลังจากได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก
  • ใช้กระตุ้นภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่มีเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำ (Neutropenia) เนื่องจากได้รับยา Ganciclovir
  • บางประเทศ ใช้ยานี้สำหรับรักษากลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (Acute respiratory distress syndrome) ที่มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อ แต่วัตถุประสงค์การรักษาในข้อนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับในอังกฤษและอเมริกา

มอลกรามอสทิมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยามอลกรามอสทิม มีกลไกการออกฤทธ์โดยเป็นยาที่มีคุณสมบัติกระตุ้นการแบ่งเซลล์เม็ดเลือดขาว เฉพาะอย่างยิ่งชนิด Neutrophils ทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดนี้มีปริมาณเพียงพอและมีความสมบูรณ์พร้อมที่จะให้ร่างกายสามารถนำมาใช้ในระบบภูมิคุ้มกันเพื่อปกป้องกลุ่มเชื้อโรคต่างๆ

มอลกรามอสทิมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยามอลกรามอสทิมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้

  • ยาฉีดแบบผงแห้ง ที่ประกอบด้วย Molgramostim ขนาด 300 และ 400 ไมโครกรัม/ขวด

มอลกรามอสทิมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยามอลกรามอสทิมมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. ใช้กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวหลังการทำเคมีบำบัด:

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 5-10 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน การให้ยาจะเริ่มหลังการทำเคมีบำบัด 24 ชั่วโมงขึ้นไป การรักษาผู้ป่วยอาจต้องได้รับยาต่อเนื่อง 7-10 วัน ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 10 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

ข. ใช้เป็นยากระตุ้นในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก:

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 10 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน การให้ยานี้แต่ละครั้งจะต้องใช้เวลานาน 4-6 ชั่วโมงขึ้นไป ในการรักษา ผู้ป่วยอาจต้องได้รับยาต่อเนื่องไปจนถึง 30 วัน ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 10 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

ค. สำหรับผู้ที่มีระดับเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำ ด้วยการใช้ยาGanciclovir:

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 5 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันหลังการได้รับยาในวันที่ 5 แพทย์จะทำการตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิล เพื่อประเมินผลการรักษา ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 10 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

อนึ่ง:

  • การเตรียมยาฉีดมอลกรามอสทิมทำโดยเติมน้ำกลั่น 1 มิลลิลิตรลงไปผสมกับตัวยาเพื่อให้กระจายตัว จากนั้นนำยาเตรียมดังกล่าวไปผสมกับสารละลาย 0.9 Sodium chloride หรือ 5% Dextrose จำนวน 25, 50 หรือ100 มิลลิลิตร แล้วจึงหยดเข้าหลอดเลือดดำของผู้ป่วย แพทย์จะคำนวณให้ความเข้มข้นของสารละลายยามอลกรามอสทิมไม่ต่ำกว่า 7 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร
  • เด็ก: ขนาดยาและการใช้ยานี้ในเด็ก อยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยามอลกรามอสทิม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามอลกรามอสทิม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

มอลกรามอสทิมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยามอลกรามอสทิมสามารถกระตุ้นให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ ท้องเสีย ปวดท้อง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน เหงื่อออกมาก เจ็บบริเวณที่ฉีดยา
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ เจ็บหน้าอก มือ-เท้าบวม หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก กล้ามเนื้อไม่มีแรง/กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น หายใจขัด

มีข้อควรระวังการใช้มอลกรามอสทิมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยามอลกรามอสทิม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ระวังการใช้ยาชนิดนี้ใน สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องได้รับการควบคุมระดับเม็ดเลือด การทำงานของปอด การทำงานของหัวใจตลอดจนป้องกันการตั้งครรภ์ ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือโดย มารับการตรวจร่างกาย และการตรวจต่างๆตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยามอลกรามอสทิมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

มอลกรามอสทิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยามอลกรามอสทิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยามอลกรามอสทิมร่วมกับยา Bleomycin(ยาเคมีบำบัด) ด้วยจะทำให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อปอดของผู้ป่วยตามมา

ควรเก็บรักษามอลกรามอสทิมอย่างไร?

ควรจัดเก็บยามอลกรามอสทิม ภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาที่อุณหภูมิห้อง ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พันมือเด็กและสัตว์

มอลกรามอสทิมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยามอลกรามอสทิม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Leucomax (ลูโคแม็กซ์)Novartis

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Granulocyte-macrophage_colony-stimulating_factor [2018,March31]
  2. https://bronchiectasisnewstoday.com/bronchiectasis-experimental-treatments/molgramostim/ [2018,March31]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/molgramostim/?type=brief&mtype=generic [2018,March31]
  4. https://www.medindia.net/doctors/drug_information/molgramostim.html [2018,March31]
  5. http://www.vza.be/UserFiles/Uploads/Images/PIF/Oud//Leucomax_GM-CSF__Molgramostim_.pdf [2018,March31]