มหาหิงคุ์ (Asafoetida tincture)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยามหาหิงคุ์(Asafoetida tincture)เป็นสารที่มีลักษณะเหมือนยางไม้ ที่สกัดได้จากเหง้าของพืชตระกูล Ferula(ไม้สมุนไพร ประจำถิ่นแถบเอเซียกลาง ดอกมีสีเหลือง) มหาหิงคุ์มีกลิ่นแรง และมีรสขม จนทำให้มีผู้เรียกมหาหิงคุ์อีกชื่อหนึ่งว่า “Devil’s drug(ยาที่มีกลิ่นเหมือนอุจจาระ)”

องค์ประกอบของยามหาหิงคุ์ จะเป็นสารประเภทเรซิ่น/ยาง(Resin) 40 – 60% ยางเหนียว (Endogenous gum) 25% น้ำมันหอมระเหย(Volatile oil) 10 – 17% และเถ้า(Ash) ประมาณ 1.5 – 10% ในองค์ประกอบของเรซิ่นซึ่งเป็นส่วนประกอบที่มากที่สุดของมหาหิงคุ์นั้น ยังประกอบด้วยสารประกอบจำพวกที่เรียกว่า Asaresinotannols A และB, กรด Ferulic acid, Umbelliferone(สารชนิดหนึ่งที่ได้จากพืช) และสารประกอบอื่นๆอีกที่ยังไม่สามารถระบุชนิดได้

ในระยะแรก มหาหิงคุ์ถูกนำมาใช้และเป็นที่คุ้นเคยกันในแถบเมดิเตอร์เรเนียน(Mediterranean) จากนั้นก็กระจายเข้ามาทางประเทศอิหร่าน อินเดีย จนถึงประเทศไทย มหาหิงคุ์ได้ถูกนำมาใช้รักษาโรค โดยได้รับการยอมรับในหลายประเทศ

ประโยชน์ทางคลินิกของยามหาหิงคุ์ที่พอจะสรุปได้เป็นข้อๆ ดังนี้

  • ไอระเหย ใช้ช่วยบำบัดอาการหายใจของผู้ป่วย หลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ และผู้ป่วยโรคหืด
  • ยารับประทาน ช่วยบำบัดอาการปวดท้อง โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) อาการระคายเคืองของลำไส้ใหญ่
  • ไอระเหย ใช้บำบัดอาการไอกับผู้ป่วยโรคไอกรน (Pertussis) หรือผู้ที่มีภาวะหายใจลำบากและมีอาการไอร่วมด้วย หรือช่วยบรรเทาอาการเสียงแหบ
  • ยาทาภายนอก ใช้ทาบริเวณแมลงกัด/ต่อย
  • ยาทาภายนอก ใช้ทาท้องบรรเทาอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ในเด็กอ่อน
  • ใช้ปรุงแต่งกลิ่นในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบางประเภท

อย่างไรก็ตามยามหาหิงคุ์ยังมี ข้อจำกัด ข้อควรระวัง รวมถึงผลข้างเคียงที่ควรคำนึง เช่น

  • ไม่แนะนำให้ใช้รับประทานใน เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่า ยามหาหิงคุ์สามารถทำให้เกิดความผิดปกติในเลือดของ เด็กเล็ก นอกจากนี้ยังสามารถผ่านเข้าในน้ำนมมารดา และถูกส่งผ่านไปถึงทารกได้
  • ยามหาหิงคุ์ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเลือดออกง่าย ด้วยตัวยาจะทำให้การจับตัว ของเกล็ดเลือดเป็นลิ่มเลือดช้าลง ดังนั้นจึงถือเป็นข้อห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกตามร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์ยาที่มีส่วนประกอบของมหาหิงคุ์ขณะที่เกิดการอักเสบของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร(เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ) ด้วยยามหาหิงคุ์อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้มากยิ่งขึ้น
  • นักวิทยาศาสตร์พบว่า ผู้ที่ได้รับประทานยามหาหิงคุ์อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยามหาหิงคุ์กับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องความดันโลหิต

ปัจจุบัน ยามหาหิงคุ์ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการอาหารและยาของไทยให้ใช้เป็นตัวยาสำคัญในตำรับยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ซึ่งในบ้านเรามักจะพบเห็นการใช้ยามหาหิงคุ์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ยาทาภายนอก ที่ใช้ทาท้องเพื่อการขับลมแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ กับเด็กเล็ก เสียเป็นส่วนมาก ทั้งนี้ ประชาชนสามารถซื้อหายามหาหิงคุ์ได้จากร้านขายยาทั่วไป

มหาหิงคุ์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

มหาหิงคุ์

ยามหาหิงคุ์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ แก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้เป็นยาขับลม และช่วยลดอาการปวดเกร็ง/ปวดบีบของช่องท้อง

มหาหิงคุ์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยามหาหิงคุ์มีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหยและแอลกอฮอล์ ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์โดยทำให้รู้สึกร้อน จึงช่วยขับลมในระบบทางเดินอาหาร ประกอบกับแอลกอฮอล์มีผลทำให้หลอดเลือดขยายตัว จึงช่วยลดอาการปวดเกร็ง/ปวดบีบในช่องท้อง

มหาหิงคุ์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ในประเทศไทย ยามหาหิงคุ์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น

  • ยาทาภายนอกชนิดน้ำ ซึ่งมีส่วนประกอบของมหาหิงคุ์ 20 กรัมในสารละลาย แอลกอฮอล์ 70% ที่มีปริมาตรรวม 100 มิลลิลิตร
  • ยาทาชนิดลูกกลิ้ง

อนึ่ง อ่านเรื่องรูปแบบของยาเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มหาหิงคุ์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ในประเทศไทย ยามหาหิงคุ์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • เด็ก: เทยาพอประมาณและทาหน้าท้องวันละ 2–3 ครั้ง เพื่อลดอาการ ท้องขึ้น/ท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง โดยห้ามรับประทาน และ มิให้ยาเข้าตา หรือเข้าปาก
  • ผู้ใหญ่: ในประเทศไทย ไม่มีการใช้ยามหาหิงคุ์ในผู้ใหญ่

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยามหาหิงคุ์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆอย่างเช่น โรคเลือด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยามหาหิงคุ์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายามหาหิงคุ์ สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

มหาหิงคุ์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยามหาหิงคุ์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ดังนี้ เช่น ยามีกลิ่นฉุน จึงทำให้ผู้ใช้ยาไม่ชอบ และอาจรู้สึกอุ่น-ร้อนบริเวณที่ทายา หรือ แสบ ร้อน ระคายเคือง ถ้าทาบริเวณผิวหนังที่มีผื่นหรือมีแผล

มีข้อควรระวังการใช้มหาหิงคุ์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยามหาหิงคุ์ชนิดใช้ภายนอก/ชนิดทาผิวหนัง เช่น

  • ห้ามรับประทาน ห้ามใช้หยอดหู ห้ามเข้าตา เพราะยานี้จะก่อการอักเสบ ระคายเคืองต่ออวัยวะเหล่านั้น
  • หยุดใช้ยานี้หากพบอาการแพ้ยา เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง แล้วรีบด่วนพาเด็กมาโรงพยาบาล
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราณทุกชนิด(รวมยามหาหิงคุ์ด้วย) อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

มหาหิงคุ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ในประเทศไทย ด้วยใช้ยามหาหิงคุ์เป็นยาทาภายนอก จึงไม่พบภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษามหาหิงคุ์อย่างไร?

ควรเก็บยามหาหิงคุ์ชนิดใช้ภายนอก/ชนิดใช้ทา ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น

มหาหิงคุ์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยามหาหิงคุ์ ที่จำหน่ายในประเทศไทยจะเป็นชนิดที่ใช้ทาภายนอก/ทาผิวหนัง มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
มหาหิงคุ์วิทยาศรม
มหาหิงคุ์ สหการสหการ

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Asafoetida [2017,Jan7]
  2. http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-248-asafoetida.aspx?activeingredientid=248&activeingredientname=asafoetida [2017,Jan7]
  3. http://drug.fda.moph.go.th/zone_law/files/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%93.pdf [2017,Jan7]
  4. http://www.wildturmeric.net/2014/06/10-amazing-benefits-uses-of-asafoetida.html [2017,Jan7]