มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต (ตอนที่ 2)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 29 ธันวาคม 2561
- Tweet
1,000 วันแรกแห่งชีวิต (The first 1,000 days of life) ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับรากฐานของการมีสุขภาพที่ดี ตลอดจนการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมองที่ดี
โดยช่วงที่สมองมีพัฒนาการได้เร็วที่สุดคือ ช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ไปจนถึงช่วง 2 ปีแรกของชีวิต ทั้งนี้ หลังการปฏิสนธิ 5 เดือน สมองทารกในครรภ์จะมีลักษณะนุ่ม มี 2 กลีบ คล้ายเมล็ดกาแฟ พอครบ 9 เดือนคลอดออกมาจะมีลักษณะสมองคล้ายลูกวอลนัทเหมือนสมองผู้ใหญ่
เมื่อแรกเกิด สมองส่วนที่มีพัฒนาการเร็ว ได้แก่ บริเวณฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) คอร์เทกซ์สายตา (Visual cortex) และคอร์เทกซ์การได้ยิน (Auditory cortex)
ส่วนในปีแรกพัฒนาการด้านภาษาจะเร็วพอๆ กับพัฒนาการของคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า (Prefrontal cortex) ที่ควบคุมการวางแผนหรือโปรแกรมพฤติกรรมเกี่ยวกับการรับรู้ที่ซับซ้อน เกี่ยวข้องกับบุคลิก เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ และเกี่ยวข้องกับการควบคุมความประพฤติที่เกี่ยวข้องกับสังคม
ดังนั้น ช่วง 1,000 วันแรกแห่งชีวิต จึงเป็นโอกาสทองที่จะต้องทำให้ทารกได้รับสารอาหารที่มากที่สุด เพื่อให้ทารกมีพัฒนาการที่ดีต่อไป เพราะหากขาดสารอาหารในช่วงนี้แล้วจะมีผลกระทบต่อสมองมากที่สุด
เพราะสมองไม่ใช่อวัยวะที่มีเนื้อเดียวกัน แต่เป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยส่วนต่างๆ มากมาย แต่ละส่วนจะมีการเจริญเติบโตเฉพาะของตัวเอง และแต่ละเวลาจะต้องการสารอาหารที่แตกต่างกันออกไป โดยสารอาหารที่สำคัญในช่วงเวลาหนึ่งอาจจะมีผลเล็กน้อยหรือไม่มีผลเลยในช่วงเวลาอื่น
ซึ่งสารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของสมอง ประกอบด้วย โปรตีน กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่มีพันธะคู่หลายอัน (Polyunsaturated fatty acids) ธาตุเหล็ก สังกะสี คอปเปอร์ไอโอดีน (Copper iodine) โคลีน (Choline) โฟเลต (Folate) และวิตามินเอ บี6 บี12 และอื่นๆ โดยทั้งหมดนี้ ธาตุเหล็กถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อพัฒนาการของสมองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาดังต่อไปนี้
1. ระยะแรกเกิด (Fetal / neonatal period)
2. วัยเตาะแตะ (Toddlerhood) อายุ 6 เดือน – 3 ปี
เพราะร่างกายต้องการธาตุเหล็กเพื่อสร้างโปรตีนที่ใช้ควบคุมการสร้างไมอีลีน (Myelin production) สร้างสื่อนำประสาท (Neurotransmitter synthesis) และสร้างพลังเซลล์ประสาท (Neuronal energy production) ที่ล้วนส่งผลต่ออารมณ์ การเรียนรู้ และความจำ
แหล่งข้อมูล:
- The first 1,000 days of life: The brain’s window of opportunity. https://www.unicef-irc.org/article/958-the-first-1000-days-of-life-the-brains-window-of-opportunity.html [2018, December 28].
- Why 1,000 Days. https://thousanddays.org/the-issue/why-1000-days/ [2018, December 28].
- The First 1,000 Days of Baby’s Life: Why Does It Matter. https://www.hmhb.org/first-1000-days/ [2018, December 28].