มวลกล้ามเนื้อน้อย หรือ กล้ามเนื้อพร่อง (Sarcopenia)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรค/ภาวะอะไร? พบบ่อยไหม?

มวลกล้ามเนื้อน้อย(Sarcopenia) คือ โรคกล้ามเนื้อที่เกิดจากการเสื่อมและลดลงของมวลกล้ามเนื้อทั่วตัวอย่างต่อเนื่องมักจากความชรา ส่งผลให้การทำงานและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อค่อยๆลดลงเรื่อยๆ  อาการที่พบบ่อยคือ ความแข็งแรงกล้ามเนื้อของ มือ แขน ขา เท้า ลำตัว ค่อยๆลดลง  ส่งผลให้หยิบจับของได้ไม่มั่นคง(ของตกหล่นง่าย), เดินช้าลง, เดินเซจากกล้ามเนื้อลำตัวและขาไม่แข็งแรงส่งผลให้เกิด’ล้มได้บ่อย’  ซึ่งเป็นสาเหตุเกิดอุบัติเหตุจากล้มที่รุนแรง เช่น กระดูกหักโดยเฉพาะกระดูกข้อมือ ขา และสะโพก, และ/หรือศีรษะกระแทกจนเกิดภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ เกิดการนอนติดเตียง และการตายได้สูง

มวลกล้ามเนื้อน้อย/กล้ามเนื้อน้อย/กล้ามเนื้อพร่อง พบทั่วโลก และพบสูงขึ้นเรื่อยๆจากประชากรโลกมีอายุขัยยืนยาวขึ้น เกือบทั้งหมดเกิดในผู้สูงอายุ เพศชายพบสูงกว่าเพศหญิงประมาณ2เท่า  ทั่วโลกมีรายงานพบประมาณ 5-13%ในอายุช่วง60-70ปี, และมากกว่า50%ในช่วงอายุที่มากกว่า 80 ปี

อนึ่ง: Sarcopenia มาจากภาษากรีก โดย Sarco  แปลว่า กล้ามเนื้อที่หมายถึง 'กล้ามเนื้อลาย' หรืออีกชื่อคือ’กล้ามเนื้อโครงร่าง’, ส่วนPenia แปลว่า ลดน้อย ลดต่ำ พร่อง  ไม่เพียงพอ

 

มวลกล้ามเนื้อน้อยมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

มวลกล้ามเนื้อน้อย-01

สาเหตุของโรค/ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย/กล้ามเนื้อพร่อง/กล้ามเนื้อน้อย แพทย์ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากหลายๆการศึกษา เชื่อว่าเกิดจากหลายสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงหลายประการร่วมกัน ที่สำคัญ ได้แก่

  • อายุ: เพราะผู้ป่วยเกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ จากการเสื่อมตามธรรมชาติของเซลล์ทุกชนิดของร่างกายตามอายุที่รวมถึงเซลล์กล้ามเนื้อ
  • ฮอร์โมน: การเปลี่ยนแปลงลดระดับลงของระดับฮอร์โมนต่างๆที่เกี่ยวกับการเจริญแข็งแรงของเซลล์โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศ และ ฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต(Human growth hormone /ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง)
  • อาหาร: เพราะผู้สูงอายุมักมีปัญหาจากการบริโภคที่ได้รับอาหารโปรตีนไม่เพียงพอ ทั้งจาก สภาพฟัน สภาพระบบทางเดินอาหาร/การดูดซึมและการย่อย, การดูแลช่วยเหลือตนเองด้านการหาอาหาร/ปรุงอาหาร, โรคประจำตัวต่างๆโดยเฉพาะโรคในกลุ่มโรคเอนซีดี,  ขาดคนดูแล, และปัญหาทางเศรษฐกิจเพราะทำงานหาเงินเองไม่ได้
  • มีการเคลื่อนไหวร่างกายลดถอยลง(การใช้ชีวิตแบบนั่งๆนอนๆ), ขาดการออกกำลังกาย,  เพราะการเคลื่อนไหว/การใช้กล้ามเนื้อเป็นปัจจัยสำคัญช่วยกระตุ้นการทำงานและความแข็งแรงของเซลล์กล้ามเนื้อ
  • การเสื่อมของระบบประสาทที่รวมถึงสมองและที่สำคัญคือระบบเส้นประสาทส่วนปลายที่ควบคุมและกระตุ้นการทำงานของเซลล์/เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อให้มีประสิทธิภาพ ที่ปัจจุบันเชื่อว่า ปัจจัยนี้สำคัญที่สุด
  • การเสื่อมของเซลล์ในกระบวนการสันดาปโปรตีนเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานที่จะช่วย คงปริมาณและประสิทธิภาพการทำงานของมวลกล้ามเนื้อ

 ทั้งนี้ มวลกล้ามเนื้อจะเริ่มค่อยๆลดลงตั้งแต่ช่วงอายุประมาณ 40 ปี โดยอัตราการลดลงประมาณ3-8%ใน10ปี  และอัตราลดลงจะเร็วมากขึ้นในช่วงอายุประมาณ60-70ปี ซึ่งการลดลงของมวลกล้ามเนื้อจะลดลงทั้งปริมาณและขนาดของเนื้อเยื่อเส้นใยกล้ามเนื้อ ซึ่งจะส่งผลให้มัดกล้ามเนื้อมีขนาดเล็กลงร่วมกับการลดลงในประสิทธิภาพการทำงานและความแข็งแรง

 

มวลกล้ามเนื้อน้อยมีอาการอย่างไร?

อาการของโรค/ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย/กล้ามเนื้อพร่อง/กล้ามเนื้อน้อย เกิดกับกล้ามเนื้อลาย/กล้ามเนื้อโครงร่างทุกส่วนของร่างกาย ที่มักเห็นเด่นชัดและเห็นอาการได้ชัดเจนที่สุด คือ กล้ามเนื้อด้านหน้าของต้นขา  รองลงไปคือ กล้ามเนื้อมือ   โดยอาการที่พบบ่อยได้แก่

  • น้ำหนักตัว: ผู้ป่วยโรคนี้ ‘ไม่’สัมพันธ์กับน้ำหนักตัว อาจ ปกติ ผอม หรือ อ้วน ก็ได้
  • กล้ามเนื้อทั่วตัวอ่อนแรง
    • ที่มักเห็นอาการชัดเจนก่อนกล้ามเนื้อมัดอื่นๆ คือ กล้ามเนื้อขา โดยเฉพาะกล้ามเนื้อต้นขามัดด้านหน้า, อาการที่พบ เช่น เดินช้าลง มีปัญหาการขึ้นบันได การลุกยืนจากที่ๆนั่งอยู่/จากเก้าอี้    ยืนได้ไม่นาน
    • รองลงมาคือกล้ามเนื้อมือ มือจะหยิบจับของได้ไม่แน่นเหมือนเดิม สิ่งของจะหกหล่น ตก แตกหักเสียหายง่ายผิดปกติ
  • เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ/มัดกล้ามเนื้อมีขนาดเล็กลง ลีบ นิ่ม เหลวกว่าเดิม
  • ใช้กล้ามเนื้อได้ไม่นาน ต้องพัก เช่น ยืน เดิน ใช้มือในการทำงานต่างๆ
  • เสียการทรงตัวง่าย มักเกิดการเซ/เดินเซโดยเฉพาะขณะลุกขึ้น และ/หรือเคลื่อนเคลื่อนไหว
  • บางคนอาจมีอาการบวมน้ำ โดยเฉพาะที่ ขา เท้า จากภาวะโปรตีนในเลือด/ในร่างกายต่ำจากขาดอาหารกลุ่มโปรตีน
  • มักร่วมกับ โรคกระดูกบาง/กระดูกพรุน กระดูกจึงหักง่ายโดยเฉพาะเมื่อล้มแม้ล้มไม่รุนแรง

ผลข้างเคียง:

ผลข้างเคียงจากโรค/ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย/กล้ามเนื้อพร่อง/กล้ามเนื้อน้อย ที่สำคัญที่สุด คือ

  • อุบัติเหตุจากการล้มที่กระดูกหักง่าย ที่รุนแรงคือ กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ
  • และ/หรือ เมื่อศีรษะกระแทก จะส่งผลเกิดภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ ซึ่งส่งผลรุนแรงต่อคุณภาพชีวิตจนอาจเกิด ภาวะนอนติดเตียง และยังเป็นสาเหตุถึงตายได้

ผลข้างเคียงอื่นๆ คือผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตจนอาจถึงขั้นดูแลตนเองตามลำพังไม่ได้เพราะมีข้อจำกัดในการ เดิน นั่ง เดินทาง เคลื่อนไหวร่างกาย ต้องมีคนช่วยเหลือดูแล ช่วยพยุง ซึ่งการมีขีดจำกัดในการเคลื่อนไหวร่างกายจะยิ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้อัตราเกิดมวลกล้ามเนื้อน้อยเพิ่มสูงขึ้นและในระยะเวลารวดเร็วขึ้น

ปัจจุบัน โรค/ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย/กล้ามเนื้อพร่อง/กล้ามเนื้อน้อยจึงกลายเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก เพราะประชากรสูงอายุทวีจำนวนขึ้นต่อเนื่องตลอดเวลา

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อเริ่มมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ จึงควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที ป้องกันความรุนแรงและเพื่อลดอัตราเร่งในการเกิดโรค/ภาวะนี้ 

 

แพทย์วินิจฉัยโรค/ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยได้อย่างไร?

แพทย์มักวินิจฉัยโรค/ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย/กล้ามเนื้อพร่อง/กล้ามเนื้อน้อยได้จากลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วย คือ อายุ, อาการต่างๆ, ร่วมถึงการมีโรคประจำตัวในกลุ่มโรคเอนซีดี ร่วมกับการตรวจร่างกาย

นอกจากนี้ อาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อยืนยันโรคหรือเพื่อการวินิจฉัยแยกโรคทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย, ความผิดปกติที่พบจากการตรวจร่างกาย, และดุลพินิจของแพทย์ เช่น

  • ตรวจหาความหนาแน่นมวลกระดูก เพราะโรคนี้มักเกิดร่วมกับโรคกระดูกพรุน กระดูกบาง
  • การตรวจเฉพาะทางต่างๆเพื่อประเมินความแข็งแรงและการทำงานของกล้ามเนื้อ เช่น การตรวจอัตราความเร็วของการเดิน, การตรวจความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือในการหยิบ จับ กำสิ่งของ

 

รักษามวลกล้ามเนื้อน้อยอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรค/ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย/กล้ามเนื้อพร่อง/กล้ามเนื้อน้อยมีจุดมุ่งหมายในการดูแลรักษาเพื่อให้คงปริมาณมวลกล้ามเนื้อที่เพียงพอต่อการทำงาน ร่วมกับการดูแลรักษาให้กล้ามเนื้อแข็งแรงทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่เป็นตัวเพิ่มอัตราเร่งของการเกิดมวลกล้ามเนื้อน้อยตามธรรมชาติของการเสื่อมของเซลล์กล้ามเนื้อตามอายุ  ซึ่งวิธีรักษาทั่วไปได้แก่

ก. การออกกำลังกาย: โดยเฉพาะด้วยวิธีที่เรียกว่า Resistance-based physical therapy ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลรักษาจาก นักกายภาพบำบัด แพทย์ และพยาบาล ซึ่งต้องปฏิบัติสม่ำเสมอตลอดไป

ข. อาหารและอาหารเสริม: ได้แก่

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร และเพิ่มอาหารโปรตีนให้มากพอ
  • แพทย์บางท่าน อาจแนะนำอาหารเสริม เช่น ในกลุ่มกรดอะมิโนชนิด Leucine ที่เชื่อว่าช่วยเสริมการสร้างและเพิ่มความแข็งแรงของมวลกล้ามเนื้อ เช่น Hydroxymethylbutyrate (HMB) ชื่อเต็ม คือ  Beta-hydroxy beta- methylbutyrate

ค. ใช้ยารักษาโรค: ซึ่งมีหลายกลุ่มยา ทั่วไป เช่น

  • ฮอร์โมนต่างๆ: เช่น
    • การเสริมฮอร์โมนเพศหญิงในผู้ป่วยสตรีวัยหมดประจำเดือน
    • การเสริมฮอร์โมนเพศชายเพื่อช่วยสร้างมวลกล้ามเนื้อ เช่น เทสทอสเทอโรน  
    • เสริมฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต(HGH)ซึ่งเป็นฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง

ง. ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคประจำตัวโดยเฉพาะในกลุ่มโรคเอนซีดี(อ่านรายละเอียดโรคนี้จากเว็บ haamor.com)

 

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีโรค/ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย/กล้ามเนื้อพร่อง/กล้ามเนื้อน้อย ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ นักกายภาพบำบัด พยาบาล
  • ออกกำลังกายตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัดและแพทย์ต่อเนื่องตลอดชีวิต เพราะโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่ปัจจัยเกิดฯที่สำคัญที่สุดคือ การเสื่อมตามอายุของเซลล์กล้ามเนื้อ
  • ต้องเลิกใช้ชีวิตนั่งๆนอนๆ ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆตลอดทั้งวัน
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร และเพิ่มอาหารโปรตีนในทุกมื้ออาหารให้มากพอ ซึ่งรวมถึงโปรตีนทั้งจากสัตว์และจากพืช
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

 

โรคมวลกล้ามเนื้อน้อยรุนแรงไหม?

โรค/ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย/กล้ามเนื้อพร่อง/กล้ามเนื้อน้อย เป็นโรคที่ดูแลรักษาป้องกันได้ หรืออย่างน้อยสามารถป้องกันความรุนแรงของและลดอัตราเกิดโรคฯได้ในระดับที่ยังคงประสิทธิภาพและปริมาณของกล้ามเนื้อที่ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้  แต่การดูแลรักษา(ดังกล่าวในหัวข้อ การรักษาฯ)ต้องทำอย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิต ซึ่งจะช่วยให้คงคุณภาพชีวิตได้อย่างดี รวมถึงลดโอกาสเกิดการล้ม และเกิดอุบัติเหตุรุนแรงจากการล้ม เช่น กระดูกหักโดยเฉพาะกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ, และอัมพาตจากภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะจากล้มศีรษะกระแทก ที่เป็นสาเหตุของ การนอนติดเตียง และ/หรือถึงตายได้

 

ป้องกันโรคมวลกล้ามเนื้อน้อยได้อย่างไร?

โรค/ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย/กล้ามเนื้อพร่อง/กล้ามเนื้อน้อยเป็นโรค/ภาวะที่ป้องกันได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคนี้ ที่สำคัญคือ

  • ไม่ใช้ชีวิตแบบนั่งๆนอนๆ ต้องมีการเคลื่อนไหว(Physical activity)สม่ำเสมอตลอดเวลา
  • ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ ตลอดชีวิต
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • เมื่อเข้าวัยผู้สูงอายุควรเพิ่มอาหารโปรตีนให้มากพอในทุกมื้ออาหาร
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตรวจสุขภาพปุกปี
  • ป้องกัน ควบคุมกลุ่มโรคเอนซีดีให้ได้ดี

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sarcopenia [2022,March19]
  2. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2405580821000856 [2022,March19]
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4269139/ [2022,March19]
  4. https://www.healthline.com/health/sarcopenia [2022,March19]
  5. https://www.thelancet.com/article/S0140-6736(19)31138-9/fulltext [2022,March19]      
  6. https://bmcendocrdisord.biomedcentral.com/articles/1186/s12902-019-0432-x [2022,March19]