ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุติดเชื้อเอชไอวี (Neurologic Complications of HIV Infection)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุติดเชื้อเอชไอวี

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุระบบประสาทติดเชื้อเอชไอวี ที่พบบ่อย คือ ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองติดเชื้อเอชไอวี ภาวะไขสันหลังเสื่อมเหตุไขสันหลังติดเชื้อเอชไอวี และเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบเหตุเส้นประสาทติดเชื้อเอชไอวี ต้องติดตามรายละเอียดของแต่ละภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

1. ภาวะสมองเสื่อมเหตุติดเชื้อเอชไอวี/ภาวะสมองเสื่อมฯ

1.1 ภาวะสมองเสื่อมฯคืออะไร?

ภาวะสมองเสื่อมฯ คือ ภาวะที่สมองเสื่อมที่พบในผู้ป่วยเอชไอวี โดยเกิดจากเชื้อเอชไอวีทำลายสมองโดยตรง

ข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกา พบภาวะนี้ได้ 15% ของผู้ป่วยเอชไอวีทั้งหมด โดยพบบ่อยในผู้ป่วยเอชไอวีที่มีเม็ดเลือดขาวชนิดซีดี 4 (CD4) ต่ำ มีภาวะซีด ผอม อายุมาก ผู้หญิงผู้ ใช้ยาฉีดเข้าหลอดเลือด และในผู้มีปริมาณเชื้อเอชไอวีจำนวนมากในร่างกาย

ภาวะสมองเสื่อมฯนี้เกิดจากเซลล์แมคโคฟาสต์ (Macrophage/เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง) บริเวณรอบๆหลอดเลือดมีการติดเชื้อเอชไอวี และมีการสร้างท็อกซิน/สารพิษ (Toxin) และสารเคมีที่เกิดจากกระบวนการอักเสบหลายชนิด ส่งผลให้เนื้อสมองมีการถูกทำลายทั่วไปทั้งสมอง ทำให้เนื้อสมองมีการเหี่ยวทั่วๆไป โดยเฉพาะเนื้อสมองส่วนที่เรียกว่าสมองเนื้อขาว (White matter) มีการบวม และถูกทำลายทั่วๆไป

1.2 ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมฯมีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมฯจะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ในเวลาหลายๆเดือน โดยมีความจำ พฤติกรรม การเรียนรู้ และการเคลื่อนไหวผิดปกติ ระยะแรกๆจะเสียด้านความจำตอบ สนองต่อสิ่งต่างๆช้าลง อ่านหนังสือได้ช้า ความเข้าใจสมเหตุสมผลน้อยลง เฉยเมย ต่อมามีการเดินผิดปกติ สั่น ทำกิจกรรมที่มีรายละเอียดไม่ได้ ตรวจพบรีเฟล็กซ์มีความผิดปกติ สูญเสียความสามารถในด้านต่างๆ และอาจพบร่วมกับความผิดปกติของไขสันหลัง/ไขสันหลังเสื่อม และ/หรือ เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม

1.3 เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อมีอาการทางสมองที่ผิดปกติติดต่อกันหลายๆวัน โดยอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

1.4 แพทย์วินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมฯนี้ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมฯนี้ได้จาก ประวัติติดเชื้อเอชไอวี อาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ การตรวจร่างกาย การตรวจทางระบบประสาท (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาทตอน 1 และ บทความเรื่อง วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาทตอน 2) ร่วมกับ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอสมอง และการตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (CSF) ในกรณีมีไข้ร่วมด้วย เพื่อดูว่ามีภา วะติดเชื้อในสมองร่วมด้วยหรือไม่ เนื่องจากในผู้ป่วยบางราย มีภาวะติดเชื้อราหรือเชื้อวัณโรค ในสมองที่อาจ ทำให้มีอาการคล้ายกันได้

1.5 ภาวะสมองเสื่อมฯนี้รักษาอย่างไร?

การรักษาหลัก คือ การให้ยาต้านไวรัส เพื่อลดจำนวนเชื้อเอชไอวี และเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดซีดี 4 ให้สูงขึ้น นอกจากนี้ยังมียาอื่นๆอีกหลายชนิดที่อยู่ระหว่างการศึกษา เช่น ยาต้านแคลเซียม แอนติออกซิแดนท์/Antioxidant (ยาในกลุ่มเป็นสารต้านอนุมูลอิสสระ) เป็นต้น

1.6 ภาวะสมองเสื่อมฯก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผู้ป่วยสมองเสื่อมฯจะสูญเสียความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ แม้กระทั่งกิจวัตรประ จำวัน การอาบน้ำ แต่งตัว การขับถ่าย จึงส่งผลให้ผู้ป่วยและญาติผู้ดูแลได้รับผลกระทบ ญาติต้องให้การช่วยเหลือในทุกๆกิจกรรม และอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อฉวยโอกาสได้ง่ายขึ้น เพราะการดูแลสุขภาวะต่างๆไม่ดี และการทานยาต่างๆที่แพทย์แนะนำ ก็มักทานได้ไม่สม่ำเสมอ

1.7 ภาวะสมองเสื่อมฯมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ผู้ป่วยสมองเสื่อมมักมีการพยากรณ์ที่ไม่ดี เป็นภาวะที่รักษาไม่หาย และภาวะสมองเสื่อมฯมักเกิดในระยะสุดท้ายของโรคเอดส์/เอชไอวี ผู้ป่วยจึงมีอายุต่อได้อีกไม่นาน เพียงไม่กี่เดือน การรักษาจึงเป็นเพียงแค่ชะลอการดำเนินโรค

1.8 ผู้ป่วยควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีสมองเสื่อมฯ?

ผู้ป่วยสมองเสื่อมฯควรทานยาให้ครบ พบแพทย์ตามนัด ดูแลตนเองให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ หยุดดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ และถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ไข้ ซึม ชัก มองไม่ชัด /ตามัว แขนขาอ่อนแรง ปวดขามาก ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

1.9 ภาวะสมองเสื่อมฯป้องกันได้หรือไม่?

ภาวะสมองเสื่อมฯนี้ป้องกันได้ โดยการได้รับยาต้านไวรัสเมื่อมีข้อบ่งชี้ คือ เม็ดเลือดขาวชนิดซีดี 4 ต่ำกว่า 350 ตัวต่อซีซี (c.c/cubic centimeter)

2. ภาวะไขสันหลังเสื่อมเหตุติดเชื้อเอชไอวี/ภาวะไขสันหลังเสื่อมฯ

2.1ภาวะไขสันหลังเสื่อมฯคืออะไร?

ภาวะไขสันหลังเสื่อมฯคือ ภาวะที่ไขสันหลังเสื่อมที่เกิดจากเชื้อเอชไอวี และส่งผลให้ผู้ ป่วยมีอาการผิดปกติต่างๆที่เกิดจากความผิดปกติของไขสันหลัง ภาวะนี้ พบได้ประมาณ 5-10 % ของผู้ป่วยโรคเอดส์/เอชไอวี โดยมักพบร่วมกับภาวะสมองเสื่อมฯ และพบภาวะนี้ได้สูงขึ้นในผู้ป่วยเอชไอวีที่ติดเชื้อรา Pneumocystic carinii ซึ่งเป็นเชื้อฉวยโอกาสที่ก่อการติดเชื้อในระ บบทางเดินหายใจ

2.2 อาการผิดปกติจากภาวะไขสันหลังเสื่อมฯเป็นอย่างไร?

อาการผิดปกติของไขสันหลังเสื่อมฯ ได้แก่ อาการอ่อนแรงของขา 2 ข้าง ร่วมกับอาการชา (โดยอาการชามักเกิดตั้งแต่ระดับอกลงมา) เดินเซ ปัสสาวะลำบาก กลั้นปัสสาวะไม่ได้

2.3 เมื่อไรควรไปพบแพทย์?

ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อมีอาการ ชา อ่อนแรงของขาและ/หรือปัสสาวะไม่สะดวก

2.4 แพทย์วินิจฉัยภาวะไขสันหลังเสื่อมฯนี้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะไขสันหลังเสื่อมฯได้ โดยพิจารณาจาก อาการผิดปกติดังกล่าวในหัว ข้อ อาการ ประวัติติดเชื้อเอชไอวี การตรวจร่างกาย การตรวจระบบประสาท (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาทตอน 1 และ บทความเรื่อง วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาทตอน 2) ร่วมกับการตรวจเอมอาร์ไอภาพไขสันหลัง และตรวจสืบ ค้นเพิ่มเติม เพื่อดูว่ามีสาเหตุอื่นๆที่ทำให้เกิดอาการที่เหมือนกันได้หรือไม่ เช่น ตรวจเลือดดูการติดเชื้อซิฟิลิส ดูภาวะขาดวิตามินบี 12 ดูภาวะการติดเชื้องูสวัด เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

2.5 รักษาภาวะไขสันหลังเสื่อมฯอย่างไร?

การรักษาภาวะไขสันหลังเสื่อม มักเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ (เช่น ยาบรร เทากล้ามเนื้อเกร็ง ยาแก้ไขปัญหาปัสสาวะลำบาก และการทำกายภาพบำบัดกรณีขาอ่อนแรง) เพราะการให้ยาต้านไวรัสไม่ได้ประโยชน์ แต่มีการศึกษาพบว่าการให้สาร Methionine อาจได้ ผลบ้างในผู้ป่วยบางราย

2.6 ภาวะไขสันหลังเสื่อมฯก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากภาวะนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านการเดิน การขับถ่าย ก่อให้เกิดปัญหาการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ และแผลกดทับได้ง่าย ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการทรมาน มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี

2.7 ภาวะไขสันหลังเสื่อมฯมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของภาวะไขสันหลังเสื่อมฯไม่ค่อยดี เพราะเป็นภาวะที่ยังไม่มียารักษาที่มีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยมักมีชีวิตอยู่ได้เป็นเดือนหลังพบเกิดอาการ

2.8 การดูแลตนเองในภาวะไขสันหลังเสื่อมฯทำอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะไขสันหลังเสื่อมฯ คือ ควรหมั่นทำกายภาพบำบัด ฝึกการขับ ถ่ายตามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด สอน ถ้ามีอาการผิดปกติเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ไข้ ปัสสาวะไม่ออก กล้ามเนื้อขากระตุก/เกร็งมากขึ้น อ่อนแรงมากขึ้น ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

2.9 ป้องกันภาวะไขสันหลังเสื่อมฯได้อย่างไร?

ผู้ป่วยเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัส และยาป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาส สม่ำเสมอตามแพทย์แนะนำ ร่วมกับดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ก็จะลดโอกาสการเกิดภาวะไขสันหลังเสื่อมฯนี้ลงได้

3. ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบเหตุติดเชื้อเอชไอวี/เส้นประสาทส่วนปลายอัก เสบฯ

3.1 ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบฯคืออะไร?

ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบฯ คือ ภาวะที่เส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ ที่พบเกิดในผู้ป่วยเอชไอวี โดยเกิดจากเชื้อเอชไอวีทำลายเส้นประสาทโดยตรง พบภาวะนี้ได้ประมาณ 30% ของผู้ป่วยเอชไอวีที่นอนรักษาในโรงพยาบาล พบบ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ที่ขาดวิตามิน ดื่มแอลกอฮอล์ และมีเม็ดเลือดขาวชนิดซีดี 4 (CD4) ต่ำ

ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบฯ เกิดจากเชื้อเอชไอวีแพร่เข้าไปบริเวณปมรากประ สาท (Dorsal root ganglion) ทำให้เกิดสารที่เป็นพิษต่อเส้นประสาท จากกระบวนการอักเสบที่ซับซ้อน ทำให้เกิดการเสื่อมของเส้นประสาทส่วนปลายแบบที่เรียกว่า Axonopathy คือเสื่อมจากส่วนปลายมาส่วนต้น และเส้นประสาทอักเสบบางส่วน ก็เกิดจากผลข้างเคียงของยาต้านไว รัส

3.2 ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบฯมีอาการผิดปกติเป็นอย่างไร?

อาการผิดปกติที่พบบ่อยของภาวะนี้ คือ ปวด รู้สึกไม่สบายที่ เท้า ขา (อาจพบที่ มือ นิ้วมือ ได้) ออกแสบร้อน เหมือนไฟเผาบริเวณฝ่าเท้า นิ้วเท้า ปวดมากกลางคืน และหลังจากเดิน ถูกสัมผัสเบาๆก็เจ็บปวด ซึ่งถ้าเป็นจากยาต้านไวรัส จะมีอาการปวดที่รุนแรงกว่า

3.3 เมื่อไรควรพบแพทย์?

ผู้ป่วยควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อมีอาการดังกล่าวข้างต้น โดยที่อาการไม่ดีขึ้นถึง แม้จะดูแลตนเองอย่างดีแล้ว หรือมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น จนรบกวนต่อการใช้ชีวิต

3.4 แพทย์วินิจฉัยภาวะเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบฯได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะนี้ได้ โดยพิจารณาลักษณะอาการผิดปกติดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ ประวัติการติดเชื้อเอชไอวี ประวัติการใช้ยาต่างๆ ประวัติโรคประจำตัวต่างๆ ที่ก่อให้มีการอักเสบของเส้นประสาท เช่น โรคเบาหวาน การตรวจร่างกาย การตรวจระบบประสาท (อ่านเพิ่ม เติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาทตอน 1 และ บทความเรื่อง วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาทตอน 2)

ทั้งนี้ แพทย์ต้องวินิจฉัยแยกโรคว่า อาการผิดปกตินั้น ไม่ได้เกิดจากโรคประจำตัวต่างๆ หรือจากผลข้างเคียงของยา ซึ่งเมื่อพบว่าไม่มีโรคต่างๆเหล่านั้น และไม่ได้เกิดจากยา แพทย์จึงวินิจฉัยว่า อาการที่ผิดปกตินั้นมีสาเหตุจากเชื้อเอชไอวี

3.5 ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบฯรักษาอย่างไร?

แพทย์ให้การรักษาภาวะนี้ด้วย ยาต้านไวรัสสูตร HAART (Highly-active-antiretroviral -therapy) ร่วมกับการให้ยาลดอาการปวดเหตุระบบประสาท เช่น ยาต้านอาการซึมเศร้า ยากันชัก ส่วนใหญ่รักษาไม่หาย แต่อาการควบคุมได้

3.6 ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบฯก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบฯ คือ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเจ็บปวด ออกร้อนหรือไม่สบายที่ มือ เท้า ส่งผลให้รบกวนต่อการดำรงชีวิต ถ้าอาการรุนแรง อาจทำให้มีอา การอ่อนแรงได้ ยิ่งทำให้เดินหรือหยิบจับของลำบาก ดำรงชีวิตลำบากมากขึ้น และล้มง่ายขึ้น

3.7 ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบฯมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของภาวะนี้ ค่อนข้างดี ถึงแม้จะรักษาไม่หายขาด แต่ก็ตอบสนองต่อยารักษาตามอาการได้ดี ไม่ส่งผลต่ออายุขัยของผู้ติดเชื้อเอชไอวี

3.8 ผู้ป่วยภาวะเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบฯควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะนี้ คือ ระวังเรื่องการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด หรือแพ้ยากันชัก พยายามนอนให้หลับ จะช่วยลดอาการปวดลงได้ ถ้ามีอาการผิดปกติรุนแรงขึ้น ก็พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดได้

3.9 ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบฯป้องกันได้หรือไม่?

ป้องกันภาวะนี้ได้โดยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ถ้าได้รับยาต้านไวรัสบางสูตรยาและมีผลข้างเคียง ก่อให้เกิดอาการปวดแสบร้อนเท้า ก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อปรับเปลี่ยนสูตรยา

สรุป

  • ปัจจัยเสี่ยง: ผู้ป่วยเอชไอวีที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุจากติดเชื้อเอชไอวี ได้แก่ ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัสหรือได้ยาไม่สม่ำเสมอ มีเม็ดเลือดขาวซีดี 4 ต่ำ สูงอายุ ดื่มแอลกอฮอล์ มีภาวะขาดสารอาหาร ติดเชื้อฉวยโอกาส
  • การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุจากติดเชื้อเอชไอวี: ผู้ป่วยเอชไอวีต้องได้รับการรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง พบแพทย์ตามนัด ทานยาให้สม่ำเสมอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และปรับตัวและจิตใจให้เข็มแข็ง เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ดี
  • การรักษา: การรักษาเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุจากติดเชื้อเอชไอวี คือ การดูแลรักษาตนเองให้มีสุขภาพกาย/สุขภาพใจแข็งแรง เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ปกติหรือใกล้เคียงปกติ, เพื่อลดจำนวนเชื้อเอชไอวีในร่างกาย, และเพื่อเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาวซีดี 4 เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อฉวยโอกาสซ้ำซ้อน โดยการรักษา ประกอบด้วย การให้ยาต้านไวรัส, ยาป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาส, และยาอื่นๆ ตามดุลพินิจของแพทย์ เพื่อคงภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรคของร่างกาย
  • การพยากรณ์โรค: เมื่อมีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุจากติดเชื้อเอชไอวี การพยากรณ์โรคในภาพรวมไม่ค่อยดี เพราะภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวนั้น มักพบในระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ ซึ่งมักไม่มียาที่สามารถรักษาให้หายได้ การมีอายุยืนยาวหรือไม่นั้นมักขึ้นกับปัจจัยหลัก คือ การติดเชื้อฉวยโอกาสหรือเชื้ออื่นๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชี วิต ส่วนใหญ่แล้วถ้ามีภาวะสมองเสื่อมหรือไขสันหลังเสื่อม มักจะมีอายุอยู่อีกไม่นาน เพียงเป็นเดือน แต่ถ้าได้รับการรักษาที่ดีเต็มที่ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆซ้ำเติมอีก ก็อาจมีชีวิตอยู่ได้เป็นปี
  • ในภาพรวมเมื่อติดเชื้อเอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี ถึงแม้จะรักษาไม่หาย มีภาวะแทรก ซ้อนหลายอย่าง แต่ถ้าผู้ป่วยดูแลสุขภาพให้ดี พบแพทย์สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงยาเสพติด หยุดดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่ง ชาติ) ก็สามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆให้น้อยลงได้