ภาวะเสียการระลึกรู้ (Agnosia)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 27 ธันวาคม 2556
- Tweet
ภาวะเสียการระลึกรู้ คือ การสูญเสียความสามารถในด้านการรู้หรือการระลึกถึงชื่อสิ่งต่างๆ เช่น วัตถุ บุคคล เสียง รูปร่าง กลิ่น การมองเห็น โดยที่ผู้ป่วยมีความจำปกติ และอวัยวะส่วนที่เกี่ยวข้องในการมองเห็น การได้ยิน หรือการดมกลิ่นก็ปกติ แต่มีความผิดปกติในสมองเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับวงจรการรู้ หรือระลึกถึงชื่อของสิ่งกระตุ้น/สิ่งเร้าต่างๆ
สาเหตุของภาวะเสียการระลึกรู้ เกิดจากการผิดปกติของวงจรของการรู้ หรือระลึกถึงชื่อสิ่งกระตุ้น สิ่งเร้า และการแปลความหมายในสมองผิดปกติไป ซึ่งตำแหน่งของสมองที่ผิดปกติและส่งผลให้เกิดอาการผิดปกตินี้ ได้แก่ สมองใหญ่ส่วนหลัง (Occipital lobe) และสมองใหญ่ส่วนกลีบขมับ (Parietal lobe) โดยโรคที่เป็นสาเหตุหลักๆของความผิดปกตินี้ ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง และเนื้องอกในสมอง
อาการที่พบบ่อยของภาวะเสียการระลึกรู้ คือ การเสียการระลึกรู้จากการมองเห็น (Visual agnosia) ตัวอย่างของ Visual agnosia คือ บอกไม่ได้ว่าสิ่งที่มองเห็นเรียกว่าอะไร โดยที่มีการมองเห็นสิ่งนั้นชัดเจน ซึ่งถ้าใช้การสัมผัสหรือคลำจะทราบว่าเป็นอะไร และทราบว่าสิ่งนั้นใช้ทำอะไร แต่ถ้าใช้มองเห็น จะไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นอะไร ดังตัวอย่าง เช่น
- ลำดับที่ 1 ให้มองกุญแจ แล้วถามว่าสิ่งที่เห็นคืออะไร ผู้ป่วยจะตอบไม่ได้ (Visual agno sia)
- ลำดับที่ 2 ให้วาดรูปสิ่งที่เห็น ผู้ป่วยจะวาดได้ แสดงว่าการมองเห็นปกติ
- ลำดับที่ 3 ถามว่าอะไรใช้ปิดล็อกหรือไขสิ่งนี้ได้ ผู้ป่วยตอบได้ว่า กุญแจ แสดงว่ามีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกุญแจ
- ลำดับที่ 4 ให้คลำโดยไม่มอง ผู้ป่วยจะตอบได้ว่า กุญแจ แสดงว่าการสัมผัสก็สามารถรับรู้ได้ว่าสิ่งที่สัมผัสนั้นคืออะไร
- ลำดับที่ 5 ถามซ้ำใหม่ว่า สิ่งที่มองเห็นคืออะไร ผู้ป่วยจะยังคงตอบไม่ได้ว่าเป็นกุญแจ ซึ่งช่วยยืนยันว่า ผู้ป่วยมีภาวะผิดปกตินี้ ทั้งนี้ Visual agnosia แตกต่างกับปัญหาการจำชื่อไม่ ได้ ซึ่งเป็นอาการหนึ่งในภาวะเสียความจำ (Naming amnesia) ที่ผู้ป่วยไม่สามารถจำชื่อสิ่งที่เห็นหรือที่สัมผัส หรือจำความรู้ที่เกี่ยวกับสิ่งนั้นได้
ทั้งนี้ เมื่อมีอาการดังกล่าว ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ ซึ่งการรักษาภาวะนี้ คือ รักษาโรคที่เป็นสาเหตุ ร่วมกับการพยายามฝึกฝน (ตามวิธีการที่แพทย์ พยาบาล นักกายภาพ บำบัดแนะนำ) ว่า สิ่งที่เห็นต่างๆนั้นคืออะไร