ภาวะปวดข้อศอกด้านใน: กายภาพบำบัด (Medial epicondylitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะปวดข้อศอกด้านในคืออะไร?

ภาวะ/อาการปวดข้อศอกด้านใน (Medial epicondylitis) หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อ ‘อาการปวดข้อศอกของนักกอล์ฟ (Golfer’s elbow)’ คือ ภาวะการอักเสบชนิดไม่ใช่การจากการติดเชื้อ ของกลุ่มเอ็นกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกและคว่ำข้อมือ (Flexor-pronator group) นอกจากนี้ ยังอาจมีการฉีกขาดของเอ็นกล้ามเนื้อกลุ่มนี้ร่วมด้วย

สาเหตุที่ถูกเรียกกันอย่างแพร่หลายในชื่อ อาการปวดข้อศอกของนักกอล์ฟ นั้นเพราะว่า เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยในนักกอล์ฟ เนื่องจากเป็นกีฬาที่ต้องใช้การทำงานของกลุ่มเนื้อกระดกและคว่ำข้อมืออย่างหนักโดยฉับพลัน

นอกจากพบในผู้เล่นกีฬากอล์ฟแล้ว ยังสามารถพบอาการ/ภาวะนี้ได้บ่อยในผู้ที่เล่นกีฬาที่มี การโยน การเหวี่ยง หรือการขยับข้อศอก ในทิศทางซ้ำๆ และยังสามารถพบได้ในบุคคลทั่วไปด้วย

ทั่วไป กล้ามเนื้อกลุ่มนี้ไม่ค่อยถูกใช้ในชีวิตประจำวันบ่อยนัก จึงมีความแข็งแรงต่ำ เมื่อถูกใช้งานอย่างรุนแรงจึงเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย เช่น การทำงานบ้าน ตอกตะปู ทาสี ยกของหนัก หรือการอุ้มเด็กทารก

และทั่วไป สามาถพบอาการนี้ได้ทุกช่วงอายุ แต่ที่พบได้มากที่สุดคือ ช่วงอายุระหว่าง 20-49 ปี และพบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิงในอัตราส่วน 2:1

อาการของของภาวะปวดข้อศอกด้านในมีอะไรบ้าง?

ภาวะปวดข้อศอกด้านใน

ลักษณะอาการที่สำคัญของภาวะปวดข้อศอกด้านในที่พบได้บ่อยมีดังนี้

1. ปวดบริเวณปุ่มกระดูกด้านในของข้อศอก ซึ่งเป็นลักษณะของอาการที่สำคัญที่สุด

2. อาจพบจุดกดเจ็บบนกล้ามเนื้อบริเวณข้อศอกด้านใน

3. อาจมีอาการปวดตึงบริเวณศอกด้านในทั้งข้อศอก ในผู้ป่วยบางรายอาจะพบอาการปวดตึงล่ามลงไปถึงข้อมือ

4. ในผู้ป่วยบางราย อาจพบอาการ บวม และแดง ของข้อศอกด้านในร่วมด้วย

5. อาการปวดสัมพันธ์กับการขยับข้อศอก ข้อมือ หรือ การกำและแบมือ นอกจากนี้ในกิจกรรมที่มีการเกร็งของกล้ามเนื้อรอบๆข้อศอกก็จะทำให้อาการปวกมากขึ้นได้ด้วย

6. ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการมาเป็นระยะเวลานาน อาจมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อมือหรือคว่ำข้อศอกร่วมด้วย

การวินิจฉัยทางกายภาพบำบัดของภาวะปวดข้อศอกด้านในทำได้อย่างไรบ้าง?

เมื่อผู้ป่วยมาพบนักกายภาพบำบัดด้วยอาการปวดข้อศอกด้านใน การสอบถามประวัติทางการแพทย์ซึ่งประวัติอาการเป็นหัวข้อสำคัญหนึ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะสามารถใช้คัดกรอง และแยกภาวะปวดข้อศอกด้านในจากกลุ่มอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น การเสื่อมของกระดูกข้อศอก หรือการอักเสบของเส้นประสาท

หลังจากสอบถามประวัติทางการแพทย์จากผู้ป่วยแล้ว นักกายภาพบำบัดอาจเลือกวิธีการตรวจร่างกายเพื่อวางแนการรักษาต่อไปได้หลายแบบ โดยส่วนใหญ่แล้ววิธีการตรวจร่างกายที่อาจพบได้บ่อยมีดังนี้

1. การดู (Observation) นักกายภาพบำบัดสังเกตบริเวณโดยรอบข้อศอกข้างที่มีอาการของผู้ป่วยเพื่อประเมิณอาการ เช่น สีของผิวบริณนั้นถ้ามีอการอักเสบอยู่มากสีผิวจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเห็นได้ชัดกว่าบริเวณอื่น มีอาการบวมตึงของผิวหนังหรือไม่

2. การคลำ (Palpation) นักายภาพบำบัดใช้มือสัมผัสบริเวณรอบๆข้อศอกข้างที่มีอาการของผู้ป่วย เพื่อตรวจดูความผิดปกติต่างๆ เช่น อุณหภูมิของผิวหนัง ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้อาจใช้ปลายนิ้วกดเบาๆเพื่อตรวจหาจุดที่กระตุ้นอาการเจ็บหรือปวดได้มากที่สุด ในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่งเพราะสามารถใช้ยืนได้ตำแหน่งของเอ็นกล้ามเนื้อได้

3. การตรวจพิเศษ(Special test)ต่าง ๆ เพื่อยืนยันว่าเป็นการอักเสบของข้อเอ็นกล้ามเนื้อกลุ่มที่ใช้กระดกและคว่ำข้อมือ โดยการตรวจที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย คือ

  • ‘Golfer’s elbow test โดยนักกายภาพบำบัดอาจขอให้ผู้ป่วยนอนลงหรือสามารถทำได้ท่านั่งก็ได้ นักกายภาพฯจะขอให้ผู้ป่วยคว่ำมือและงอศอก 90 องศา หลังจากนั้นนักกายภาพบำบัดจะค่อยๆหงายข้อมือของผู้ป่วยขึ้นพร้อมกับค่อยๆเหยียดข้อศอกและกระดกข้อมือลง’

ซึ่งถ้ามีอาการปวดเกิดขึ้นที่บริเวณด้านในของข้อศอกก็จะสามารถยืนยันได้ว่ามีการบาดเจ็บหรืออักเสบข้อเอ็นกล้ามเนื้อกลุ่มที่ใช้กระดกและคว่ำข้อมือข้างนั้นจริง

นอกจากการตรวจพื้นฐานเบื้องต้นดังที่ได้กล่าวไปแล้ว หากผู้ป่วยมีอาการอื่นๆร่วมด้วยนักกายภาพบำบัดก็อาจจะเลือกการตรวจร่างกายอื่นๆ ที่เหมาะสมกับอาการนั้นๆ ของผู้ป่วยมาใช้ด้วย เช่น

  • ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อกระดอกข้อมือร่วมด้วย นักกายภาพบำบัดอาจจะทำการทดสอบกำลังกล้ามเนื้อด้วยมือ (Manual muscle testing) ด้วย
  • หรือถ้าพูดป่วยเล่าว่ามีอาการชาบริเวณข้อศอก นักกายภาพบำบัดอาจจะตรวจการทำงานของข้อศอกด้วยการใช้ค้อนยางเล็กๆ เคาะไปบนเอ้นกล้ามเนื้อต่างๆ ของข้อศอกและข้อมือร่วมด้วยได้

การฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดมีอะไรบ้าง?

ผู้ป่วยร้อยละ 80-95 สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด การรักษาทางกายภาพบำบัดสามารถแบ่งออกไปเป็น 2 ระยะใหญ่ๆ ตามอาการคือระยะที่ยังมีการอักเสบอยู่มาก(Inflammatory phase), และระยะฟื้นฟู (Rehabilitation phase)

ก. ระยะที่ยังมีการอักเสบ: ข้อบ่งชี้ที่สำคัญของระยะนี้คือ ผู้ป่วยยังมีอาการ ปวด บวม แดง หรือร้อน ของบริเวณด้านในข้อศอก การเคลื่อนไหวข้อศอกทำได้ยาก ในระยะนี้นักกายภาพบำบัดจึงมุ่งการรักษาไปที่การลดความเจ็บปวดและการส่งเสริมการฟื้นฟูเนื้อเยื่อที่มีอาการผิดปกติ(Managing Pain and Promoting Healing) ดังนี้

1. เนื่องจากภาวะปวดข้อศอกด้านในเป็นอาการที่เกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้ออย่างไม่ถูกวิธีจนนำไปสู่การบาดเจ็บ

  • เบื้องต้นนักกายภาพบำบัดอาจจะให้คำแนะนำเรื่องการปรับเปลี่ยนท่าทางเพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น
  • การยืดกล้ามเนื้อก่อนใช้งาน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อก่อนใช้งาน
  • การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณข้อศอกและข้อมือ
  • นอกจากนี้อาจมีการใช้การรักษาด้วยมือ(Manual Therapy)ร่วมด้วยการรักษาด้วยวิธีนี้แล้วแต่อาการของผู้ป่วย โดยนักกายภาพอาจหวังผลได้หลายอย่างจากการรักษาด้ววยวิธีนี้ เช่น
    • ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ(Muscle tone)
    • ลดการบวม (Edema)เป็นต้น
  • รวมทั้งอาจแนะนำให้พักการใช้งานข้อศอกหรือข้อมือ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละรายไป

2. นักกายภาพบำบัด อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้อุปกรณ์พยุงข้อศอก(Elbow support ) เพื่อลดการทำงานของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณด้านในข้อศอก ซึ่งระยะเวลาของการใส่อุปกรณ์พยุงนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย

3. การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด(Physical modalities) เพื่อลดความเจ็บปวดและเพิ่มกระบวนการซ่อมแซมตัวเอง (Pain management and healing process promoting) เช่น การนวดด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound) และการประคบเย็น

  • อัลตราซาวด์ เป็นคลื่นเสียงความที่สูงที่ถูกดัดแปลงเพื่อใช้อย่างแพร่หลายในวงการกายภาพบำบัด ใช้ได้ในหลายวัตถุประสงค์ สำหรับในระยะที่ยังมีการอักเสบมากอยู่ นักกายภาพบำบัดจะเลือกใช้อัลตราซาวด์ที่มีคลื่นความถี่ 1-3 เมกะเฮิซส์ (Megahertz: MHz) แบบคลื่นแบ่งเป็นช่วงๆ (Pulse) โดยใช้เจลที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำทาลงบนบริเวณบริเวณที่มีอาการปวด ก่อนจะวางและวนหัวของเครื่องอัลตราซาวด์ช้ารอบๆบริเวณนั้นเป็นระยะเวลา 3-5 นาที
  • การประคบเย็น (Icing) เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่นักกายภาพบำบัดใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อลดการอักเสบ ผลของการประคบเย็นนี้จะทำให้หลอดเลือดบริเวณที่ได้รับความเย็นหดตัว(Vasoconstriction) ทำให้กระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้น ลดลง สามารถทำได้หลายวิธี เช่นใช้น้ำแข็งห่อด้วยผ้าขนหนู หรือใช้เจลให้ความเย็น (Cold pack) ก็ได้

และภายหลัง เมื่อความเจ็บปวดลดลงเข้าสู่ระยะที่เหมาะแก่การเคลื่อนไหว นักกายภาพจะมุ่งการรักษามาที่การเพิ่ม ความยืดหยุด ความแข็งแรง ของกล้ามเนื้อ เพื่อฟื้นฟูให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ การรักษาที่พบได้บ่อยในระยะนี้ เช่น

  • การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Strengthening exercise)
  • การยืดกล้ามเนื้อ(Stretching exercise)
  • การเพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อ (Endurance training exercise)
  • การรักษาด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด (Physical modalities) เช่น
    • การใช้ไฟฟ้าเพื่อลดปวด (Electrical stimulation)
    • การใช้เลเซอร์ (LASER Therapy)
    • และการใช้คลื่นกระแทก (Shock wave) เพื่อกระตุ้นกระบวนการซ่อมแซมตัวเอง(Healing process)
    • การประคบด้วยความร้อน/การประคบร้อน (Heating)
    • รวมทั้งการให้คำแนะนำเกี่ยวกับท่าทาง
    • การปรับกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำ ในที่นี้จะมุ่งในไปที่การออกกำลังกาย/การบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และการยืดกล้ามเนื้อเป็นหลัก ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้

ก. การบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ:

1. การเพิ่มความแข็งแรงของความเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อมือ (Wrist flexor muscles) วางแขนพาดบนโต๊ะในท่าหงายฝ่ามือขึ้น ให้ข้อมือพ้นขอบโต๊ะออกมาเล็กน้อย กำมือ แล้วค่อยๆกระดกข้อมือขึ้นจนสุดการเคลื่อนไหว จากนั้นค่อยๆกระดกข้อมือลงจนสุดการเคลื่อนไหว เมื่อทำได้ดีขึ้นอาจจะเพิ่มความยากด้วยถือขวดน้ำ หรือดัมเบลขนาดเล็ก เริ่มจากน้ำหนักน้อยๆก่อน ค่อยๆเพิ่มน้ำหนักตามความเหมาะสม

2. การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหงายและคว่ำข้อมือ (Pronator and supinator muscles) วางแขนพาดบนโต๊ะในท่าหงายฝ่ามือขึ้น ให้ข้อมือพ้นขอบโต๊ะออกมาเล็กน้อย กำมือจากนั้นค่อยๆคว่ำข้อมือลงจนสุดการเคลื่อน แล้วเปลี่ยนเป็นหงายขึ้นจนสุดการเคลื่อนไหว การเพิ่มความยากและจำนวนครั้งเหมือนข้อ 1.

3. การเพิ่มความแข็งแรงของความเนื้อที่ใช้ในการกำและแบมือ (Finger flexor and extensor muscles) ทำได้ได้โดยการกำและแบมือเปล่าๆ ถ้าไม่มีอาการเจ็บหรือปวดอาจจะเพิ่มความยากด้วยการกำลูกบอลล์ยางขนาดพอดีมือ หรือดินน้ำมันก็ได้

4. การเพิ่มความแข็งแรงของความเนื้อที่ใช้ในการหุบและกางนิ้ว (Lumbricals muscles) ทำได้โดยการแบมือ เหยียดข้อนิ้วทุกข้อ ค่อยๆ ออกแรงรวบปลายนิ้วทุกนิ้วมาชนกัน และกางออกให้สุด การเพิ่มความยากสามารถทำได้โดยคล้องหนังยาง1วงไว้ที่ปลายนิ้ว ก่อนจะออกแรงกางนิ้วออกจนสุด สามารถเพิ่มจำนวนวงของหนังยางเพื่อเพิ่มความยากได้

*อนึ่ง

  • ทำซ้ำในทุกท่าบริหาร 10-15 ครั้ง พัก30วินาที-1นาที ทำซ้ำ 3 เซต วันหนึ่งทำ 1-2 รอบ
  • ในระยะแรกของการเริ่มทำ อาจจะเริ่มทำช้าๆ ระวังไม่ให้มีอาการเจ็บเกิดขึ้น
  • *ถ้ามีอาการเจ็บหรือปวดข้อศอกด้านในให้หยุดทำ/หยุดบริหารทันที

ข. การออกกำลังกายด้วยการยืดกล้ามเนื้อ:

การยืดกล้ามเนื้อกลุ่มที่ทำหน้าที่กระดกข้อมือ สามารถทำได้ทั้งในท่านั่งและท่ายืนตรง โดย

  • เหยียดข้อศอกข้างที่มีอาการออกไปด้านหน้า ให้ขนานกับพื้นในท่าหงายฝ่ามือขึ้นด้านบน
  • กระดกข้อมือให้ปลายนิ้วทั้งหมดชี้ลงพื้น
  • ถ้ารู้สึกตึง แต่ไม่มีอาการเจ็บปวดใช้มือมือข้างค่อยๆกดฝ่ามือและนิ้วในทิศทางเข้าหาลำตัว ค้างไว้10-30 วินาที ทำซ้ำ 3 เซต
  • ถ้ารู้สึกเริ่มเจ็บให้หยุดทำทันที
  • ทำบริหารดังกล่าว วันละ1-2 รอบ

ค. การเพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อ:

การเพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อ สามารถทำได้ด้วยวิธีเดียวกับการออกกำลังกาย/การบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อนั้น แต่

  • จะใช้น้ำหนักที่น้อยลง
  • และจำนวนครั้งที่มากขึ้น
  • เน้นไปที่การทำซ้ำๆ 30-100 ครั้ง ทำซ้ำ 3 เซต
  • สามารถทำได้วันละ1-2 รอบ

ทั้งนี้ในผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง รักษาด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัดแล้วผลไม่เป็นที่น่าพอไป นักกายภาพอาจพิจารณาส่งต่อผู้ป่วยไปพบแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบกระดูกและกล้ามเนื้อต่อไป การรักษาในขั้นตอนที่อาการเรื้อรังนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละรายไป *ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เช่น

  • การทานยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตรียรอยด์(NSAIDs)
  • การฉีดยาที่เป็นสเตรียรอยด์ไปยังบริเวณจุดที่มีอการการปวดมากที่สุดโดยตรง
  • หรือการผ่าตัด

การฟื้นฟูและดูแลตนเองที่บ้านทำได้อย่างไรบ้าง?

ในเบื้องต้นของการดูแลตนเองที่บ้านหลังจากมีอาการ สามารถทำได้โดยยึดหลักการ ที่เรีกยว่า ‘RICE’ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันและใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการกายบำบัด ดังนี้

1. R (Rest): พักการใช้งานข้อศอกทันทีเมื่อมีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้นขณะออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่าง

2. I (Icing): ประคบด้วยความเย็น/ประคบเย็น เป็นเวลา15-20 นาที รอบบริเวณบริเวณข้อศอกข้างที่มีอาการ

3. C (Compressing): พันศอกข้างที่มีอาการด้วยผ้ายืด (Elastic band/ Bandage) หรืออุปกรณ์พยุงข้อศอก (Elbow support) เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อศอก และลดการบวม การพันผ้ายืดหรือใส่อุปกรณ์พยุงต้องระวังไม่ให้แน่นเกินไป เพราะอาจจะก่อให้เกิดอาการบวมที่ปลายแขนหรือมือได้

4. E (Elevation): ยกข้อศอกที่มีอาการให้สูงกว่าระดับหัวใจเล็กน้อยเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดกลับไปยังร่างกาย ป้องกันอาการบวม เป็นระยะเวลา20-30 นาที

ทั้งนี้ ในอาการปวดข้อศอกนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือหลีกเลี่ยงและการปกป้องไม่ให้เกิดอาการขึ้น สามารถทำได้ได้ด้วย

  • การเตรียมกล้ามเนื้อให้พร้อมก่อนเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ (Warm up)
  • ยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำ
  • เรียนรู้ท่าทางที่ถูกต้องสำหรับแต่ละกิจกรรม
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่มีการใช้ข้อศอกซ้ำๆมากเกินไป
  • รวมทั้งการเลือกอุปกรณ์กีฬาให้มีความเหมาะสม ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง

บรรณานุกรม

  1. Hattam P. Smeatham A.Special Tests in Musculoskeletal Examination: An evidence-based guide for clinicians.2010. Elsevier Limited.3.93-95.
  2. https://sites.google.com/site/activecarephysiotherapyclinic/medial-epicondylitis[2018,Nov24]
  3. http://warakornclinic.com/content/41.pdf [2018,Nov24]