ภาวะคอเลสเตอรอลอุดตันเส้นเลือด (Cholesterol Embolism Syndrome)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

คอเลสเตอรอล(Cholesterol)เป็นสารประเภทไขมันชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อร่างกายในฐานะเป็นสารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมนบางชนิดเพื่อควมคุมการทำงานของร่างกาย อย่างไรก็ดี การที่ร่างกายได้รับปริมาณคอเลสเตอรอลที่มากเกินไป จะเกิดภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง ส่งผลทำให้คอเลสเตอรอลเกิดการสะสมตัวตามผนังเส้นเลือด/หลอดเลือด จนเกิดเป็นคราบบนผนังหลอดเลือด(Artheromatous Plaque) ส่วนมากพบในเส้นเลือดเอออร์ตา/ท่อเลือดแดง (Aorta) หรือหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ (Large Artery) ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆได้ รวมไปถึงภาวะคอเลสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือด

ภาวะ/กลุ่มอาการคอเลสเตอรอลอุดตันเส้นเลือด หรือ ภาวะ/กลุ่มอาการคอเลสเตอรอลอุดตันหลอดเลือด(Cholesterol Embolism Syndrome) เกิดจากคอ เลสเตอรอลที่เกาะเป็นคราบตามผนังของหลอดเลือดเกิดการแตกออก ทำให้เกิดส่วนของผลึกหรือก้อนของคอ เลสเตอรอลหลุดเข้าในกระแสเลือด ผลึกหรือส่วนที่แตกออกมานี้จึงอาจนำไปสู่การอุดตัน/อุดกั้นของเส้นเลือดขนาดเล็กๆ หรือตามเส้นเลือดฝอย/หลอดเลือดฝอยที่ผลึกไขมันฯไม่สามารถผ่านไปได้ ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ซึ่งอาการจะขึ้นกับอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากการอุดตันของหลอดเลือด อาการทั่วไปที่พบได้ จะเกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองต่อการอักเสบของร่างกาย เช่น มีไข้ หากตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ จะพบว่ามีค่าเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล(Eosinophil)สูง (Hypereosinophilia) ส่วนภาวะที่มีความจำเพาะกับแต่ละอวัยะ เช่น อาการที่สังเกตได้จากผิวหนัง เช่น เกิดภาวะเนื้อเน่าตาย หรือนิ้วเท้าเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน-ม่วง (Blue Toe Syndrome) หรือ อาการจากไตทำงานผิดปกติ เช่น เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรังตามมา เป็นต้น

แม้ว่ากลุ่มอาการนี้ จะได้รับการอธิบายและการศึกษามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1862(พ.ศ. 2405) แต่ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติในการรักษาโรคนี้โดยเฉพาะ ในปัจจุบัน มีการใช้ยาลดคอเรสเตอรอลในกลุ่มสแตติน (Statins) ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการในส่วนของอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากการอุดตันของหลอดเลือด

ภาวะคลอเรสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือดมีสาเหตุจากอะไร?

ภาวะคอเลสเตอรอลอุดตันเส้นเลือด

โดยทั่วไปแล้ว ภาวะคอเลสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือดไม่ได้เป็นภาวะที่พบได้บ่อย หนึ่งในสี่(1/4)ของผู้ป่วยที่เกิดภาวะนี้ เกิดจากการมีคราบคอเลสเตอรอลเกาะตามผนังของเส้นเลือดแดงขนาดใหญ่อย่างรุนแรง ในขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่หรือสามในสี่(3/4) เกิดจากการมีปัจจัยกระตุ้น เช่น การได้รับการผ่าตัดหลอดเลือด การตรวจเอกซ์เรย์ภาพหลอดเลือดแดงด้วยการฉีดสารทึบแสง(Angiography) การสวนหลอดเลือดหัวใจ(Coronary Catheterization)ในการตรวจรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ การผ่าตัดหัวใจ (Cardiac Surgery) หรือการได้รับยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) หรือยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic) ซึ่งเชื่อว่ายาเหล่านี้จะกำจัดเลือดที่แข็งตัวที่ปกคลุมคราบคอเลสเตอคอลบนผนังหลอดเลือด ทำให้คราบคอสเลสเตอรอลมีโอกาสแตกออกเข้าสู่กระแสเลือดได้มากขึ้น

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะคลอเรสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือด ?

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerotic disease) ถือว่ามีความเสี่ยงในการเกิดภาวะคอเลสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือด รวมไปถึงผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจหรือการทำบายพาส (Coronary artery bypass surgery; CABG) จะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้หากผู้ป่วย

  • มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป
  • มีประวัติโรคความดันโลหิตสูง
  • มีประวัติโรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease)
  • Aortoiliac disease (โรคที่เกี่ยวกับเส้นเลือดแดงเอออตาร์/Aortaกับเส้นเลือด Common iliac artery/หลอดเลือดแดงในช่องท้อง เช่นโรค Aortoiliac occlusive disease ที่เกิดการตันของเส้นเลือดเอออร์ตา เป็นต้น
  • Mitral annular calcification คือ โรคที่เกิดจากมีแคลเซียมเกาะที่บริเวณลิ้นหัวใจที่ชิ่อMitral Valve(ลิ้นหัวใจระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายกับหัวใจห้องล่างซ้าย)

ผู้ป่วยภาวะคลอเรสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือดมีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยภาวะคอเลสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือด อาจมีอาการแสดงที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากการอุดตันของหลอดเลือดจากคอเลสเตอรอล อาการโดยทั่วไปที่พบได้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ อาการที่เกิดจากการตอบสนองการอักเสบของร่างกาย ได้แก่ มีไข้ รู้สึกไม่สบายเนื้อตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำหนักตัวลด ส่วนการอุดตันของคลอเรสเตอรอลที่บริเวณขาทำให้นิ้วเท้าเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินจึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “Blue Toe Syndrome” หรือ “ภาวะ/กลุ่มอาการนิ้วเท้าน้ำเงิน” รวมไปถึงการเกิดการเน่าตายของเซลล์บางส่วน (Gangrene) ซึ่งเซลล์ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อส่วนที่ตายจะกลายเป็นสีดำ ที่ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บ/ปวดมาก

ในผู้ป่วยบางรายจะพบว่า เกิดการอุดตันของคอเลสเตอรอลที่ไต ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน ส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้ ความอยากอาหารลดลง ความดันโลหิตสูงขึ้น รวมไปถึงการเกิดความผิดปกติของอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte) นำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ในบางครั้งพบว่ามีเลือดในปัสสาวะ/ ปัสสาวะเป็นเลือด และ/หรือมีโปรตีนในปัสสาวะ

หากผลึกของคอเลสเตอรอลไปอุดตันที่หลอดเลือดระบบทางเดินอาหาร จะทำให้ผู้ป่วยมีความอยากอาหารลดลง อาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น สำลักเป็นเลือด/อาเจียนเป็นเลือด มีเลือดปนออกมากับอุจจาระ/อุจจาระเป็นเลือด หรือเกิดอาการตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute Pancreatitis)

ระบบประสาทส่วนกลาง และ/หรือเส้นประสาทส่วนปลาย เป็นอีกระบบหนึ่งที่อาจได้รับผลกระทบหากเกิดการอุกตันของหลอดเลือดจากคอเลสเตอรอล การอุดตันในบริเวณสมองอาจทำให้เกิดอาการคล้ายกับการเกิด Stroke ปวดศีรษะ สูญเสียการมองเห็นของตาข้างหนึ่ง และการอุดตันของหลอดเลือดในไขสันหลังอาจทำให้เกิดอัมพาตได้

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ผู้ป่วยภาวะคอเลสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือดที่เข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลส่วนใหญ่ จะมาด้วยลักษณะและอาการของอวัยวะส่วนปลาย(เช่น แขน ขา)อวัยวะหนึ่งหรือมากกว่า ได้รับผลกระทบจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน ร่วมกับการเกิดอาการที่ร่างกายตอบสนองต่อกระบวนการอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการโดยทั่วไปคือ มีไข้ น้ำหนักตัวลด เบื่ออาหาร อาการปวดกล้ามเนื้อ ส่วนอวัยวะส่วนปลายที่ได้รับผลกระทบจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน อาจเกิดอาการใดอาการหนึ่งตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นในหัวข้อ”อาการฯ”

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหลอดเลือดแดงแข็ง และพบว่าตัวเองมีอาการดังที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อ”อาการฯ” ควรรีบเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหลอดเลือด ผ่าตัดหัวใจ ทำการสวนหลอดเลือดหัวใจ หรือผู้ป่วยที่มีประวัติการใช้ยาต้านแข็งตัวของเลือด และ/หรือยาละลายลิ่มเลือด

แพทย์วินิจฉัยภาวะคลอเรสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือดได้อย่างไร?

ในเบื้องต้น แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะคอเลสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือดโดยการวิเคราะห์จากประวัติอาการของผู้ป่วย โรคประจำตัว ปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดภาวะนี้ ประวัติการเข้ารับการผ่าตัด และประวัติการใช้ยาต่างๆของผู้ป่วย ร่วมกับอาการแสดง ณ เวลาที่ผู้ป่วยเข้าพบแพทย์ เช่น มีไข้ น้ำหนักตัวลด อยู่ในภาสะไฮเพอร์เมตาบอลิก (Hypermetabolic State, ภาวะมีMetabolismในร่างกายสูงเกินปกติ เช่น อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ) ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

ส่วนอาการเฉพาะของอวัยวะต่างๆ เช่น

1. อาการทางหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงมากจนควบคุมไม่ได้ ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน/โรคหลอดเลือดหัวใจ

2. อาการทางระบบประสาท: เช่น สับสน (Confusion) คุ้มคลั่ง(Delirium) หรือเกิดอัมพาตส่วนขา (Paraplegia) โรคสมองขาดเลือด(Ischaemic Stroke) อาจมีปัญหาด้านการมองเห็น

3. ไต: เช่น ปัสสาวะออกน้อย หรือมีอาการของโรคไตวายเฉียบพลัน

4. ผิวหนัง: เช่น การเกิดเนื้อตายเน่า(Gangrene) มีแผล/ผื่นลายรูปแห (Livedo reticularis) ภาวะนิ้วเท้าสีน้ำเงิน (Blue Toe Syndrome) เป็นต้น

5. ระบบทางเดินอาหาร: เช่น เกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร ปวดท้อง ตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น

อนึ่ง เพื่อการวินิจฉัยแยกโรค แพทย์อาจพิจารณาจากค่าการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการต่างๆ เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count) การตรวจยูเรียไนโตรเจนในเลือด (BUN) ระดับครีทีนีน (Creatinine) การตรวจปัสสาวะ การตรวจหาค่าปฏิบัติการเกี่ยวกับการอักเสบ ร่วมกับการถ่ายภาพอวัยวะที่เกิดอาการ เช่น การตรวจเอกซ์เรย์หัวใจ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (Echocardiography) หรือที่นิยมเรียกกันว่าเอคโค การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีแสกน (CT Scan) และ/หรือเอมอาร์ไอ (MRI) และการตัดชิ้นเนื้อ(Biopsy)เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาอวัยวะที่เกิดอาการ

รักษาภาวะคลอเรสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือดได้อย่างไร?

การรักษาภาวะคอเลสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือด เป็นการรักษาในลักษณะการรักษาประคับประคองตามอาการตามอาการแสดงของผู้ป่วย และเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง) หรือป้องกันภาวะนี้ที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น เช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจหากผู้ป่วยมีปัญหาด้านการหายใจ หรือการล้างไตหากการทำงานของไตลดลง อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดจากคอเลสเตอรอลต้องถูกจำกัด อาทิ การเลิกสูบบุหรี่ การควบคุมความดันโลหิต และการควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดให้เป็นปกติ

นอกจากนั้น แพทย์อาจพิจารณาใช้ยากลุ่มลดระดับคอเลสเตอรอลในกลุ่มสแตติน (Statins) หรือ ใช้การผ่าตัดเพื่อเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน

การพยากรณ์โรคในภาวะคลอเรสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือดเป็นอย่างไร?

ผู้ป่วยที่เกิดภาวะคอเลสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือดที่ทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆล้มเหลว มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดีนัก อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 58-90(50-90%)ในผู้ป่วยที่เกิดภาวะนี้ขั้นรุนแรง โดยอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 90(90%) ในช่วง 3 เดือนแรกของการรักษา, ส่วนผู้ที่เป็นไม่มาก ไม่รุนแรง อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16(16%)

มีผลข้างเคียงจากภาวะคลอเรสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือดไหม?

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า กลุ่มอาการ/ภาวะคอเลสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือด อาจทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะต่างๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีหรือการรักษาที่เหมาะสม อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ในขณะที่อวัยวะที่ได้รับผลกระทบหรือเกิดการทำงานล้มเหลว หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีอาการลักษณะเรื้อรัง เช่น ไตวายเรื้อรัง, หรือเนื้อและผิวหนังโดยเฉพาะส่วนขาและเท้า หากหลอดเลือดมีการอุดตันมาก อาจทำให้กล้ามเนื้อตาย ซึ่งต้องผ่าตัดออก, หรือผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหารที่จะก่อให้เกิดเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร จนทำให้เลือดในร่างกายลดลง/ร่างกายขาดเลือด ผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงถึงเสียชีวิตได้

สามารถดูแลตนเองและป้องกันภาวะคลอเรสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือดได้อย่างไร?

โรคหลอดเลือดแดงแข็ง เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิด ภาวะคอเลสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือด ดังนั้น การควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและไขมันในเลือดจึงมีความจำเป็น เริ่มต้นจากการเลือกรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง จำกัดปริมาณไขมันในแต่ละมื้ออาหาร หมั่นออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพ และตรวจร่างกายประจำปี หากได้รับการผ่าตัดและหัตถการใดๆทางการแพทย์ หรือการใช้ยาละลายลิ่มเลือด หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด ควรรับฟังข้อมูลจาก แพทย์ พยาบาลและเภสัชกรในส่วนของผลข้างเคียงที่อาจตามมาจากกระบวนการผ่าตัดหรือการใช้ยาดังกล่าว หากสงสัยว่า มีอาการจากภาวะนี้ โดยเฉพาะในผู้มีความเสี่ยงเกิดภาวะนี้ คือ มี โรคหลอดเลือดแดงแข็ง หรือมีการใช้ยาต่างๆดังกล่าว ควรต้องรีบเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว

บรรณานุกรม

  1. Itzhak Kronzon. Muhamed Saric. Cholesterol Embolism Syndrome. Circulation. AHA. 2010;122:631-41.
  2. Itzhak Kronzon. Muhamed Saric. Embolism from atherosclerotic plaque: Atheroembolism (cholesterol crystal embolism). Uptodate. April 2017.
  3. Lisa Kirkland, Vincent Lopez Rowe et al. Cholesterol Embolism. Medscape. 2017. https://emedicine.medscape.com/article/46042[2017,Dec16]