ภาวะขาดไบโอติน (Biotin deficiency)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? และแหล่งอาหาร

ภาวะขาดไบโอติน หรือ ภาวะขาดไบโอทิน (Biotin deficiency) คือโรค/ภาวะที่ร่างกายมีสารไบโอติน/ไบโอทิน สารที่จัดอยู่ในกลุมวิตามินบีน้อยกว่าความต้องการของร่างกายอย่างต่อเนื่อง จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆขึ้น เช่น อาการทางผิวหนัง เส้นผม และทางระบบประสาท ซึ่งถ้าเกิดการขาดอย่างรุนแรงอาจทำให้เกิด อาการโคม่า และจนถึงอาจตายได้

แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะขาดโอติน/ภาวะขาดไบโอทิน มีโอกาสเกิดได้น้อยมากๆ เพราะในแต่ละวันร่างกายต้องการไบโอตินน้อยมาก

ไบโอติน หรือ ไบโอทิน(Biotin) เป็นวิตามินจำเป็นชนิดหนึ่งในกลุ่มวิตามินละลายในน้ำ ชื่ออื่น คือ ‘วิตามินบี 7 (Vitamin B 7)’ ชื่อในอดีตคือ ‘วิตามิน เอช(Vitamin H)’ หรือ ‘โคเอนไซม์ อาร์(Coenzyme R)’

แหล่งอาหาร:

ไบโอติน/ ไบโอทิน มีมากใน เครื่องในสัตว์ โดยเฉพาะ ตับ, เนื้อสัตว์ เนื้อปลา อาหารทะเล ไข่แดง เนยแข็ง ธัญพืช ผลนัท เมล็ดพืชชนิดรับประทานได้ ถั่วเหลือง/นมถั่วเหลือง มันฝรั่ง ผักกะหล่ำ ถั่วกินฝัก เห็ด กล้วย

ทั้งนี้ เซลล์ร่างกายคนเรา ไม่สามารถสร้าง/ผลิตไบโอติน/ไบโอทินได้ แต่แบคทีเรียประจำถิ่นบางชนิดในลำไส้สามารถสร้างไบโอติน และร่างกายจะดูดซึมไบโอตินส่วนนี้ร่วมไปกับการดูซึมไบโอตินจากอาหาร อย่างไรก็ตาม ปริมาณไบโอตินจากแบคทีเรียนี้ยังไม่เพียงพอ ร่างกายจึงยังต้องการไบโอตินจากอาหารที่บริโภคร่วมด้วย

อนึ่ง การบริโภค ไข่ขาวสด ในปริมาณสูงต่อเนื่อง ร่างกายจะขาดไบโอติน เพราะในไข่ขาวสดมีสารไกลโคโปรตีนชนิดที่ชื่อ ‘Avidin’ ที่จะลดการดูดซึมของไบโอตินจากระบบทางเดินอาหาร

ร่างกายต้องการไบโอตินวันละเท่าไร?

ตามคำแนะนำสำหรับคนทั่วไปต่อปริมาณไบโอติน/ไบโอทินที่ควรบริโภค/ความต้องการต่อวัน(AI, Adequate intake )ของสถาบันการแพทย์แห่งชาติ แห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Nutrition Board, Institute of Medicine, National Academies)ในปีค.ศ. 2011 คือ

อายุ ปริมาณไบโอติน(ไมโครกรัมต่อวัน)
ชายและหญิง
0-6 เดือน
5
7-12 เดือน
6
1-3 ปี
8
4-8 ปี
12
ชายและหญิง
9-13 ปี
20
14-18 ปี
25
19-มากกว่า70 ปี
30
หญิงตั้งครรภ์
14-50 ปี
30
หญิงให้นมบุตร
14-50 ปี
35

ไบโอตินมีประโยชน์และโทษอย่างไร?

ไบโอตินมี/ไบโอทินประโยชน์และโทษดังนี้

ก. ประโยชน์ของไบโอติน: ที่สำคัญ คือ

  • ช่วยในกระบวนสันดาป/ เมตาโบลิซึม(Metabolism)/การใช้พลังงานของร่างกาย/เซลล์ทุกเซลล์ จาก คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และรวมถึงของโปรตีน/กรดอะมิโนต่างๆ
  • ช่วยในการสร้างกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย
  • ช่วยการเจริญเติบโต/การทำงานของ ต่อมเหงื่อ, เยื่อเมือกต่างๆ เช่น ของช่องปาก เยื่อตา, เส้นผม, ผิวหนัง, ความแข็งแรงของเล็บ
  • ช่วยการทำงานของไขกระดูก
  • ช่วยการทำงานของเซลล์ประสาท
  • ช่วยคงสมดุลของน้ำตาลในเลือด

ข. โทษของไบโอติน/ ไบโอทิน: ทั่วไป ยังไม่มีรายงานเรื่องโทษของไบโอติน รวมถึงโทษที่เกิดจากการบริโภคไบโอตินที่สูงอย่างต่อเนื่อง เพราะร่างกายมักกำจัดไบโอตินส่วนเกินออกจากร่างกายได้ทั้งหมดผ่านทางปัสสาวะ/ทางไต แต่อย่างไรก็ตาม การบริโภคไบโอตินจากอาหารเสริม หรือจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในปริมาณสูง ควรปรึกษา แพทย เภสัชกร หรือโภชนากร ก่อนเสมอ เพราะการยังไม่มีรายงานโทษ ไม่ได้หมายความ100%ว่าไบโอตินไม่มีโทษ เป็นแต่เพียงแพทย์อาจยังไม่สามารถตรวจพบได้

ภาวะขาดไบโอติน มีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

ภาวะขาดไบโอติน/ภาวะขาดไบโอทิน มีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจาก

ก. ร่างกายได้รับไบโอตินน้อยลง: สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง สำคัญ ได้แก่

  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด: เช่น
    • ยาที่เพิ่มการทำลายไบโอตินในร่างกาย เช่น ยากันชักบางชนิด เช่น ยา Phenytoin, Carbamazepine
    • ยาปฏิชีวนะ: จากที่ยากลุ่มนี้ที่เมื่อใช้ต่อเนื่องในระยะยาว จะมีส่งผลฆ่าแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ที่รวมถึงชนิดสร้างไบโอตินให้ร่างกาย
  • จากภาวะทุพโภชนา: คือร่างกายขาดอาหารมีประโยชน์ต่อเนื่อง จึงขาดสารอาหารที่รวมถึงไบโอติน จากพฤติกรรมการบริโภค หรือ จากปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือจากการขาดคนดูแล เช่น ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว กรณีผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยอดอาหารต่อเนื่องเพื่อลดน้ำหนักตัว
  • ทุพโภชนาจากมีโรคระบบทางเดินอาหารเรื้อรัง จึงส่งผลให้ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารต่างๆที่รวมถึงไบโอตินได้อย่างเพียงพอ เช่น โรคโครห์น เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่ได้อาหารทางสายให้อาหารต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยเฉพาะการให้อาหารทางหลอดเลือดดำ เช่น ในผู้ป่วยผ่าตัดลำไส้ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ข. ร่างกายต้องการไบโอตินสูงกว่าปกติ: เช่น กรณีหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร

ค. พันธุกรรมผิดปกติ: โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยมากๆๆ ที่ร่างกายขาดสารที่จะนำไบโอตินมาใช้

ภาวะขาดไบโอตินมีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะของภาวะขาดไบโอติน/ภาวะขาดไบโอทิน แต่เป็นอาการทั่วไปที่คล้ายกับในโรคต่างๆ โดยอาการที่พบได้บ่อย เช่น

  • ผิวแห้ง ผิวตกสะเก็ด
  • ตาแห้ง เยื่อตาอักเสบบ่อย
  • มุมปากมีแผลบ่อย
  • ผมร่วง ผมบาง ผมเปราะ
  • เล็บเปราะ หักง่าย
  • ภาวะซีด
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • อาการทางระบบประสาท เช่น ไม่มีสมาธิ ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ถ้าขาดไบโอตินรุนแรง อาจมีอาการชัก
  • อาการอื่นๆทั่วไป เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ”อาการฯ” และอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการเลวลงหลังดูแลตนเองประมาณ 1-2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุ

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดไบโอตินได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดไบโอติน/ภาวะขาดไบโอทิน ได้จาก

  • ประวัติอาการ โรคประจำตัวต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ และรวมถึงพฤติกรรมการบริโภคอาหาร
  • การตรวจร่างกาย
  • และที่ให้ผลการวินิจฉัยได้แน่นอนคือ การตรวจปัสสาวะ (ปัสสาวะ: การตรวจปัสสาวะ) ดูค่าไบโอตินในปัสสาวะที่จะต่ำผิดปกติ

รักษาภาวะขาดไบโอตินอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะขาดไบโอติน / ภาวะขาดไบโอทิน ได้แก่

  • การให้ไบโอตินเสริมอาหาร
  • การเพิ่มการบริโภคอาหารที่มีไบโอตินสูง
  • การรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
  • และการรักษาตามอาการ

ก. การให้ไบโอตินจากอาหารเสริม อาจเป็นในรูปแบบรับประทาน หรือรูปแบบยาฉีด ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ข. เพิ่มปริมาณอาหารที่มีไบโอตินสูงในทุกมื้ออาหาร ซึ่งอาหารที่มีไบโอตินสูง ดังได้กล่าวในหัวข้อ ”บทนำฯ”

ค.การรักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง(ดังได้กล่าวในหัวข้อ”สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ” ) ซึ่งจะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันตามแต่ละสาเหตุ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในแต่ละสาเหตุในเว็บ haamor.com เช่น โรคโครห์น การตั้งครรภ์

ง. การรักษาตามอาการ: เช่น

  • การใช้ครีมบำรุงผิวกรณีผิวแห้ง
  • การใช้ครีมบำรุงเล็บกรณีเล็บเปราะ หักง่าย
  • การใช้น้ำตาเทียมกรณีตาแห้ง

ภาวะขาดไบโอตินมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ภาวะขาดไบโอติน/ภาวะขาดไบโอทิน เป็นภาวะมีการพยากรณ์โรคที่ดี โอกาสเกิดการขาดจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตพบได้น้อย เพราะแพทย์สามารถให้การรักษาควบคุมภาวะนี้ได้ดีเมื่อพบแพทย์แต่เนิ่นๆ

อนึ่ง ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถรักษา ควบคุม สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะขาดไบโอตินได้ ผู้ป่วยก็สามารถกลับมามีภาวะขาดไบโอตินซ้ำได้อีกเสมอ

ในส่วนผลข้างเคียงจากการขาดไบโอติน ก็คือ การเกิดภาวะทุพโภชนานั้นเอง

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะขาดไบโอติน/ภาวะขาดไบโอทิน จะเช่นเดียวกับการดูแลตนเองในกรณีทุพโภชนาจากการขาดสารอาหารต่างๆ เช่น

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร
  • กินอาหารที่มีไบโอตินสูงในทกมื้ออาหาร
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงที่รวมถึงการออกกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขสภาพสม่ำเสมอทุกวัน เพราภาวะทุโภชนาที่เกิดร่วมกับการขาดสารอาหารต่างๆที่รวมถึงไบโอติน จะส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ร่างกายจึงติดเชื้อต่างๆได้ง่าย
  • ดูแล รักษา ควบคุม โรค/ภาวะที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ ดังกล่าวในหัวข้อ”สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ”ให้ไดดี
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลงทั้งที่ปฏิบัติตนและกินยาตามแพทย์สั่ง
    • มีอาการผิดปกติที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ชาตามปลายมือ ปลายเท้า บวม เท้า หรือ เนื้อตัวบวม หรือมีอาการชัก
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนมาก ท้องผูกมาก
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะขาดไบโอตินอย่างไร?

การป้องกันภาวะขาดไบโอติน/ภาวะขาดไบโอทิน ได้แก่

ก. กรณีคนทั่วไป: การป้องกันคือ

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ในทุกๆวัน ในปริมาณที่เหมาะสมที่ไม่ก่อให้เกิด

โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ถ้าเป็นไปได้ ควรเป็นทุกมื้ออาหาร

ข. กรณีมีโรคประจำตัว หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะขาดไบโอติน : การป้องกัน ได้แก่

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน ถ้าเป็นไปได้ควรทุกมื้ออาหาร
  • ดูแล รักษา ควบคุม ภาวะ/โรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงฯ ดังกล่าวในหัวข้อ”ปัจจัยเสี่ยงฯ”ให้ไดดี

ค. กรณีมีพันธุกรรมที่ผิดปกติ การป้องกันภาวะขาดไบโอติน คือ

  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลสม่ำเสมอตามแพทย์นัด
  • ปฏิบัติตน และใช้ยาต่างๆตามคำแนะนำของแพทย์ ที่รวมถึงอาหารเสริมไบโอติน

บรรณานุกรม

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK56068/table/summarytables.t2/?report=objectonly [2020,Dec5]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Biotin [2020,Dec5]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Biotin_deficiency [2020,Dec5]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/984803-overview#showall [2020,Dec5]
  5. https://ods.od.nih.gov/factsheets/Biotin-HealthProfessional/ [2020,Dec5]