ภาวะขาดวิตามินบี-6 (Vitamin B-6 deficiency)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำและแหล่งอาหาร

ภาวะขาดวิตามินบี-6 (Vitamin B-6 deficiency หรือ Pyridoxine deficiency) คือ ภาวะความผิดปกติที่เกิดจากร่างกายขาดวิตามินบี-6 (Vitamin B-6 หรือ อีกชื่อ คือ Pyridoxine)

ภาวะขาดวิตามินบี-6 พบเกิดได้ในทุกวัยและในคนทั้งสองเพศในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม ไม่ค่อยพบภาวะขาดวิตามินบี-6 เพียงอย่างเดียว แต่มักเกิดร่วมกับการขาดวิตามินบีชนิดอื่นๆร่วมด้วยเสมอ เช่น วิตามินบี-1, วิตามินบี-3, และวิตามินบี- 12 เป็นต้น ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงจึงเป็นจากภาวะขาดอาหาร โดยเฉพาะธัญพืชเต็มเมล็ด (Whole grain) ซึ่งเป็นแหล่งวิตามิน-บี ยกเว้น ข้าวโพด ซึ่งจะไม่มีวิตามินบี-3

อย่างไรก็ตาม

  • โอกาสเกิดการขาดวิตามินบีที่รวมถึงวิตามินบี6 จะสูงขึ้นในผู้สูงอายุ เพราะขาดอาหารจากขาดคนดูแล และเซลล์ลำไส้เสื่อมตามอายุ การดูดซึมสารอาหารทุกชนิดจึงด้อยประสิทธิภาพลง
  • และรวมถึงในคนติดสุรา เพราะสุรา/แอลกอฮอล์ทำลายวิตามินต่างๆโดยตรงร่วมกับเป็นสาเหตุให้ขาดอาหาร และเป็นโรคตับแข็ง จึงส่งผลถึงประสิทธิภาพในการทำงานของวิตามินบี6 เพราะตับมีส่วนช่วยในการแปรรูปเพิ่มประสิทธิภาพวิตามินบี-6 ที่ร่างกายดูดซึมจากลำไส้

วิตามินบี-6 ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายที่ลำไส้เล็ก และถูกแปรรูป เพิ่มประสิทธิภาพโดยตับก่อนที่ร่างกายจะนำไปใช้ บางส่วนถูกสะสมเก็บไว้ในกล้ามเนื้อ ส่วนน้อยเก็บสะสมในตับ และส่วนที่เหลือจะถูกขับออกทางปัสสาวะเนื่องจากเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำเช่นเดียวกับวิตามินบีชนิดอื่นๆ

ทั้งนี้ ปริมาณวิตามินบี-6 ในอาหารจะลดลงเมื่อเก็บไว้นาน แช่เย็นไว้นาน หรือแปรรูป เช่น เป็นอาหารกล่องหรือกระป๋อง และจากความร้อนในการปรุงอาหาร

แหล่งอาหาร:

วิตามินบี-6 มีในอาหารเกือบทุกชนิด แต่ที่พบได้มาก ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ ปลา เป็ด ไก่ ธัญพืชเต็มเมล็ด ผักใบเขียว กล้วย ลูกนัทต่างๆ และผลไม้ต่างๆที่ไม่มีรสเปรี้ยว

ร่างกายต้องการวิตามินบี-6วันละเท่าไร?

ภาวะขาดวิตามินบี6

ตามคำแนะนำสำหรับคนทั่วไป ต่อปริมาณวิตามินบี-6ที่ควรบริโภคต่อวัน (DRI, Dietary reference intakes) ของสถาบันการแพทย์แห่งชาติ แห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Nutrition Board, Institute of Medicine, National Academies) ค.ศ.2011 คือ

วิตามินบี-6มีประโยชน์และโทษอย่างไร?

ประโยชน์:

ประโยชน์ หรือ หน้าที่ของวิตามินบี-6 คล้ายคลึงกับวิตามินบี-3 เพราะเป็นตัวช่วยการเปลี่ยนสารที่เรียกว่า Tryptophan (สารโปรตีน หรือ กรดอะมิโน/ Amino acid สำคัญชนิดหนึ่ง)ให้เป็นวิตามินบี-3 และสารสื่อประสาท ดังนั้น การขาดวิตามินบี-6 จึงส่งผลให้เกิดการขาดวิตามินบี-3 และมีผลต่อสมองในด้านการรับรู้และความจำเช่นเดียวกับวิตามินบี-3

วิตามินบี-6 ยังเป็นส่วนประกอบและตัวช่วยในการทำงานของเอนไซม์หลากหลายชนิดมากกว่า 100 เอนไซม์ ในกระบวนการที่ร่างกายจะนำ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน มาใช้ นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง และสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายด้วย

โทษของวิตามินบี3:

ส่วนโทษ หรือ ผลข้างเคียงจากวิตามินบี-6 มักไม่เกิดจากการบริโภคอาหาร แต่พบได้จากการเสริมอาหารในปริมาณสูง โดยอาการที่พบได้ คือ

  • เส้นประสาทอักเสบ ส่งผลให้เกิดอาการเดินเซ ไม่สามารถทรงตัวได้ตามปกติ
  • มีผื่นผิวหนังอักเสบ ซึ่งมักร่วมกับอาการเจ็บในบริเวณผื่น และผื่นจะเลวลงเมื่อโดนแสงแดด
  • นอกจากนั้น คือ
    • อาการ คลื่นไส้
    • อาการแสบร้อนกลางอก
    • เบื่ออาหาร
    • มีรายงานว่า เมื่อบริโภควิตามินบี6 เสริมอาหารในขณะตั้งครรภ์ในปริมาณสูงต่อเนื่อง อาจเป็นสาเหตุให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้

ภาวะขาดวิตามินบี-6มีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

ภาวะขาดวิตามินบี-6 มีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง จากขาดอาหารที่มีวิตามินบี-6, จากร่างกายดูดซึมวิตามินบี-6 ลดลง, จากวิตามินบี-6 ด้อยประสิทธิภาพลง, และจากร่างกายสูญเสียวิตามินนี้เพิ่มขึ้น

ก. ขาดอาหารที่มีวิตามินบี-6: มักพบในคนที่มีฐานะยากจน หรือการขาดอาหารในผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแล และในผู้ติดสุราดังได้กล่าวแล้วใน “บทนำ”

ข.ร่างกายดูดซึมวิตามินบี-6 ลดลง: จากการมีโรค มีการอักเสบ หรือมีการเสื่อมของเซลล์ในระบบทางเดินอาหาร เช่น

  • มีโรคเรื้อรังของทางเดินอาหาร เช่น โรคท้องเสียเรื้อรัง, โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง, โรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง และ
  • ผู้สูงอายุ ที่เซลล์ต่างๆรวมถึงเซลล์ระบบทางเดินอาหารเสื่อมลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น

ค.วิตามินบี-6 ด้อยประสิทธิภาพลง: เช่น

  • จากสุรา/การดื่มแอลกอฮอล์
  • จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยารักษาวัณโรคบางชนิด ยาขยายหลอดลมบางชนิด และยากันชักบางชนิด
  • จากการที่ตับมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง และโรคตับแข็ง ตับจึงไม่สามารถแปรรูปให้วิตามินบี-6 ที่ร่างกายดูดซึมแล้วให้มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น

ง.ร่างกายสูญเสียวิตามินบี6เพิ่มขึ้น: เช่น ในผู้ป่วยล้างไต ทั้งล้างไตทางหน้าท้อง และจากการฟอกเลือด

ภาวะขาดวิตามินบี-6มีอาการอย่างไร?

อาการจากภาวะขาดวิตามินบี-6 มีได้หลายอาการ ที่พบได้บ่อย เช่น

  • การอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น เยื่อตาอักเสบ ลิ้นอักเสบ และมีแผลที่มุมปาก
  • อาการทางระบบประสาท เช่น ง่วงซึม สับสน หรือ อาจนอนไม่หลับ หรืออาจชัก
  • อาการจากเส้นประสาทอักเสบ เช่น ชาในบริเวณต่างๆ เช่น แขน ขา มือ เท้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • อ่อนเพลีย
  • ภาวะซีด

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดวิตามินบี-6ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดวิตามินบี-6 ได้จาก

  • ประวัติอาการ ประวัติการกินอาหาร ประวัติการใช้ยาต่างๆ การเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจดูค่าสารที่เกี่ยวข้องกับวิตามิน บี-6 ทั้งในเลือด และ/หรือในปัสสาวะ

รักษาภาวะขาดวิตามินบี-6อย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะขาดวิตามินบี-6 ได้แก่ การให้วิตามินบี-6 เสริมอาหาร และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การให้วิตามินบี-6 เสริมอาหาร โดยการกินเป็นยาเม็ด ร่วมกับเพิ่มอาหารที่มี วิตามินบี- 6 สูง แต่ในผู้ป่วยที่อาการรุนแรง แพทย์อาจให้วิตามินบี-6 โดยการฉีด

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด/เจ็บเมื่อมีอาการปวด/เจ็บแผลที่มุมปาก, ยาทาแผลมุมปากเมื่อเกิดแผลที่มุมปาก, ยาหยอดตาเมื่อมีเยื่อตาอักเสบ, หรือ ยากันชักเมื่อมีอาการชัก เป็นต้น

ภาวะขาดวิตามินบี-6 รุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ภาวะขาดวิตามินบี-6 เป็นภาวะที่รักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการพยากรณ์โรคที่ดีเมื่อได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ

ในส่วนผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการขาดวิตามินบี-6 คือ

  • ผื่นผิวหนังอักเสบ
  • ช่องปากอักเสบ
  • ภาวะซีด
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองที่สำคัญที่สุด คือ

  • การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดวิตามินบี-6 ด้วยการกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกวัน
  • และจำกัดการดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกินวันละ 2 ดริงค์ (Drink)ในผู้ชาย และ 1 ดริงค์ในผู้หญิง

ซึ่ง เมื่อป่วยด้วยภาวะขาดวิตามินบี6 แล้ว ควรดูแลตนเอง โดย

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • กินอาหารมีวิตามินบี-6 สูงในทุกมื้ออาหาร
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร
  • เลิกสุรา ไม่ดื่มสุรา
  • รักษา ควบคุมโรค ที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม
    • อาการต่างๆเลวลง
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะขาดวิตามินบี-6 อย่างไร?

สามารถป้องกันภาวะขาดวิตามินบี-6 ได้เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อการดูแลตนเองฯ’ ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกๆวัน
  • จำกัดการดื่มสุราโดย ผู้ชาย 2 ดริงค์/วัน ผู้หญิง 1 ดริงค์/วัน
  • ป้องกัน รักษา ควบคุม โรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ “สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ”

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill
  2. Spinneker, A. et al. (2007). Vitamin B 6, status, deficiency and consequences- an overview. Nutr Hosp. 22, 7-24.
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK56068/table/summarytables.t2/?report=objectonly[2019,July6]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/124947-overview#showall[2019,July6]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_B6[2019,July6]
  6. https://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminB6-HealthProfessional/[2019,July6]