ภาวะขาดวิตามิน ดี (Vitamin D deficiency)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ภาวะขาดวิตามินดี (Vitamin D deficiency) เป็นภาวะผิดปกติที่เกิดจากร่างกายได้รับวิตามินดีน้อยกว่าความต้องการใช้งานของร่างกาย

ภาวะขาดวิตามินดี พบได้บ่อยในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กอ่อนไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุและในผู้ป่วยที่ต้องอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลานานๆ ทั้งนี้ในวัยทำงาน โอกาสพบโรคนี้จะสูงขึ้นในประเทศที่ไม่ค่อยมีแสงแดด เกิดเพราะวิตามินดี เป็นวิตามินที่ร่างกายสร้างขึ้นที่ผิวหนังด้วยปฏิกิริยาสังเคราะห์ระหว่างสารตั้งต้นของวิตามินดีที่ผิวหนังกับแสงแดด และการขาดวิตามินดียังพบได้สูงขึ้นในผู้มีผิวคล้ำดำ เพราะสารที่ทำให้เกิดสีผิวคล้ำ/เม็ดสี(Melanin)นั้น จะปกป้องแสงแดดไม่ให้มีปฏิกิริยากับสารตั้งต้นของวิตามินดีที่ผิวหนัง

โอกาสเกิดการขาดวิตามินดีในผู้หญิงจะสูงกว่าในผู้ชาย ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้หญิงไม่ค่อยชอบถูกแสงแดด แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะตั้งครรภ์และให้นมบุตร ไม่ได้เพิ่มความต้องการวิตามินดีของร่างกาย

วิตามินดี มีมากใน นม เนย ถั่วเหลือง โยเกิร์ต นมเปรี้ยว อาหารเช้าซีเรียล (Cereal)ที่เสริมอาหารด้วยวิตามินดี น้ำมันตับปลา ไข่แดง ปลาทะเล (เช่น ชาลมอน และทูนา) เห็ดบางชนิด เช่น เห็ดชิตาเกะ เป็นต้น

ร่างกายต้องการวิตามิน ดีวันละเท่าไร?

ภาวะขาดวิตามินดี

ตามคำแนะนำสำหรับคนทั่วไปต่อปริมาณวิตามิน ดี ที่ควรบริโภคต่อวัน (DRI, Dietary reference intakes) ของสถาบันการแพทย์แห่งชาติ แห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Nutrition Board, Institute of Medicine, National Academies) ปีค.ศ. 2010 คือ

วิตามิน ดีมีประโยชน์และโทษอย่างไร?

ประโยชน์ หรือหน้าที่ของวิตามินดีที่สำคัญ คือ เพื่อคงความแข็งแรงและการเจริญเติบโตของกระดูก (โดยการรักษาสมดุลของ แคลเซียม และฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นเกลือแร่/ธาตุอาหารที่สำคัญในการเสริมสร้างกระดูก) ลดโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุน, ภาวะกระดูกหักจากกระดูกพรุน, และโรคกระดูกอ่อนในเด็ก ซึ่งนอกจากในเรื่องของกระดูกแล้ว การศึกษาหลายการศึกษายังชี้แนะว่า การขาดวิตามินดี อาจเกี่ยวข้องกับ โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, การเกิดโรคมะเร็งที่พบได้บ่อย เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเต้านม, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง/โรคเอมเอส, โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง, และโรคซึมเศร้า

โทษ หรือผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากการบริโภควิตามินดีสูงจากเสริมอาหารอย่างต่อเนื่อง เช่น เบื่ออาหาร ผอมลง อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ คันตามเนื้อตัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก สับสน ภาวะมีหินปูนจับในเนื้อเยื่อต่างๆ โดยเฉพาะในไต และอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเสริมเกิดภาวะไตวายได้

ส่วนผลต่อทารกในครรภ์ และในเด็กอ่อน คือ อาจก่อให้เด็กเกิดภาวะปัญญาอ่อน และมีกระดูกใบหน้าผิดรูปได้

อนึ่ง วิตามินดี เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน จึงสะสมอยู่ในร่างกายได้นานตามเนื้อเยื่อไขมัน และในตับ จึงมีโอกาสที่ร่างกายจะเกิดมีภาวะวิตามินดีสูงเกินจนก่อโทษจากการกินเสริมอาหารได้สูง ดังนั้นทุกๆคน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ไม่ควรกินวิตามินดีเสริมอาหารเอง ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

ภาวะขาดวิตามิน ดีมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

ภาวะขาดวิตามินดี เกิดจากการที่ร่างกายได้รับวิตามินดีน้อยลง ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ซึ่งมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น

  • อายุ: โอกาสเกิดภาวะขาดวิตามินดีจะสูงขึ้นในเด็กอ่อน และในเด็กเล็กที่ได้อาหารจากนมมารดาที่ขาดวิตามินดี หรือภายหลังอายุ 6 เดือนแล้วยังไม่ได้อาหารเสริมที่มีวิตามิน ดี หรือในผู้สูงอายุ ซึ่งสุขภาพร่างกายเสริมให้มีภาวะขาดอาหารที่รวมถึงอาหารที่มีวิตามินดี ซึ่งอาจจากปัญหาขาดคนดูแล ปัญหาทางเศรษฐกิจ และจากโรคประจำตัวต่างๆที่ส่งผลต่อกระบวนการต่างๆที่ร่างกายจะนำวิตามินดีมาใช้ รวมทั้งมีการลดลงของปริมาณสารตั้งต้นของวิตามินดีในเซลล์ผิวหนัง ดังนั้นการสร้างวิตามินดีโดยเซลล์ผิวหนังเมื่อได้รับแสงแดดจึงลดลง
  • เพศ: เพศหญิงมีโอกาสขาดวิตามินดีสูงกว่าเพศชาย เพราะมีการออกกำลังกาย และการรับแสงแดดที่น้อยกว่า
  • ผิวคล้ำ ผิวดำ: เพราะสารให้สีผิว/เม็ดสี จะปกป้องเซลล์ผิวหนังจากแสงแดด เซลล์ผิวหนังจึงไม่สามารถสร้างวิตามินดีได้เพียงพอ
  • ฐานะทางเศรษฐกิจ: เพราะวิตามินดี มีสูงในผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ซึ่งมีราคาแพงกว่า พืช ผัก ผลไม้มาก
  • ภาวะขาดอาหารทั้งจากฐานะทางเศรษฐกิจและจากการกินอาหารไม่มีประโยชน์ หรือจากการมีโรคเรื้อรังของลำไส้ เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ทั้งนี้เพราะวิตามินดี จะถูกดูดซึมจากลำไส้เล็ก
  • โรคอ้วน: คนที่เป็นโรคอ้วนมักขาดวิตามินดี ด้วยเหตุผลที่ยังไม่แน่ชัด แต่บางคนอธิบายว่า คนอ้วนอาจมีการสันดาปอาหารที่ผิดปกติจึงส่งผลถึงการขาดวิตามินดี หรือวิตามินดีที่ดูดซึมถูกเก็บสะสมในเนื้อเยื่อไขมัน ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ จึงก่อให้เกิดภาวะขาดวิตามินดี เพราะวิตามินดีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน
  • ขาดการได้รับแสงแดด: ร่างกายจึงสร้างวิตามินดีไม่ได้
  • โรคตับเรื้อรัง และ/หรือโรคไตเรื้อรัง: เพราะทั้งสองอวัยวะมีหน้าที่ช่วยให้วิตามินดีทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง: เพราะขาดน้ำย่อยอาหารซึ่งจะย่อยไขมัน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยดูดซึมวิตามินดี
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ลดการดูดซึมวิตามินดี: เช่น ยากันชัก ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ยาบางชนิดที่รักษาวัณโรค และยาต้านไวรัสโรคเอดส์

ภาวะขาดวิตามิน ดีมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบได้จากภาวะขาดวิตามินดี คือ

  • ปวดกระดูกและกดเจ็บบริเวณที่ปวด พบบ่อยที่กระดูกสันหลังตอนล่าง กระดูกเชิงกราน และกระดูกขา จึงมักส่งผลให้มีท่าเดินที่ผิดปกติ และล้มได้ง่าย ทั้งนี้ในเด็กเล็กมักทำมีขาโก่ง
  • ในเด็ก กระดูกจะอ่อนกว่าปกติ แต่ในผู้ใหญ่จะมีกระดูกบาง
  • มีโรคกระดูกพรุน
  • ปวดกล้ามเนื้อ และกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมัดที่อยู่ใกล้กับลำตัว (Proximal muscle)
  • กล้ามเนื้อกระตุก (Muscle twitching) มักเกิดกับกล้ามเนื้อในส่วน ใบหน้า มือ และเท้า

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดวิตามิน ดีได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดวิตามิน ดี ได้จากประวัติอาการ ประวัติการกินอาหาร ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกาย การเอกซเรย์ภาพกระดูก และการตรวจเลือดดูค่าวิตามินดี และสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวิตามินดี และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ ทั้งนี้ขึ้นกับความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดดูการทำงานของตับและของไต และการตรวจภาพตับและ/หรือไต ด้วย อัลตราซ่าวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

รักษาภาวะขาดวิตามิน ดีอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะขาดวิตามิน ดี คือการให้วิตามินดีเสริมอาหาร อาจโดยการกิน หรือการฉีด ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ นอกจากนั้น คือ การกินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบทุกมื้ออาหารโดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินดีสูง และการรักษาโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น การรักษาภาวะท้องเสียเรื้อรัง เป็นต้น

ภาวะขาดวิตามิน ดีรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

การขาดวิตามินดี เป็นภาวะที่รักษาหายได้ มักไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ทำให้เสียคุณภาพชีวิต จากภาพลักษณ์ที่กระดูกผิดรูป ปวดกระดูก จากโรคกระดูกพรุน และจากภาวะกระดูกหักง่าย

ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากการขาดวิตามินดี คือ ความผิดปกติของรูปทรงกระดูก ทำให้มีท่าเดินที่ผิดปกติ จึงล้มได้ง่าย นอกจากนั้น คือ โรคกระดูกพรุน และกระดูกหักได้ง่ายที่เป็นผลตามมาจากโรคกระดูกพรุน

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการจากการขาดวิตามิน ดี คือ การพบแพทย์ ไม่ควรซื้อวิตามิน ดี กินเอง เพราะมีโทษได้ง่าย จนถึงอาจก่อให้เกิดภาวะไตวายได้

ส่วนเมื่อรู้แล้วว่า มีภาวะขาดวิตามิน ดี การดูแลตนเอง คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆตามแพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง
  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบทุกมื้อ โดยเฉพาะอาหารมีวิตามิน ดีสูง
  • ตากแดดอ่อนๆ อย่างน้อยวันละ 15 นาที โดยไม่ต้องทาโลชันกันแดด แต่อย่าตากแดดจัด หรือนานเกินไป เพราะแสงแดดเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้
  • รักษา ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ มีอาการเลวลง และ/หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม และ/หรือเมื่อมีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน (เช่น ท้องเสีย หรือท้องผูกมาก หรือวิงเวียนศีรษะมาก) และ/หรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะขาดวิตามิน ดีอย่างไร?

สามารถป้องกันภาวะขาดวิตามินดีได้โดย

  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินดี สูง
  • ตากแดดอ่อนๆวันละประมาณ 15 ดังกล่าวแล้วในหัวข้อการดูแลตนเอง
  • ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ

บรรณานุกรม

  1. Bordelon, P. et al. (2009). Recognition and management of vitamin D deficiency. Am Fam Physician. 80, 841-846.
  2. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  3. Cunnell, J. et al. (2008). Diagnosis and treatment of vitamin D deficiency. EXPERT Opin Phamacother. 9, 1-12.
  4. Holick, M. (2007). Vitamin D deficiency. N Engl J Med. 357, 266-281.
  5. Holick, M., and Chen, T. (2008). Vitamin D deficiency: a world problem with health consequences. Am J Clin Nutr. 87(suppl), 1080s-1086s.
  6. http://www.nationalacademies.org/hmd/~/media/Files/Activity%20Files/Nutrition/DRI-Tables/1_%20EARs.pdf?la=en [2018,Feb24]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_D_deficiency [2018,Feb24]
  8. http://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_D [2018,Feb24]
  9. http://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminD-HealthProfessional/ [2018,Feb24]
  10. http://emedicine.medscape.com/article/128762-overview#showall [2018,Feb24]