ฟีโนไฟเบรต (Fenofibrate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฟีโนไฟเบรต (Fenofibrate) เป็นยาในกลุ่มไฟเบรต (Fibrate) มีโครงสร้างใกล้เคียงกับกรด ฟีโนไฟบริก (Fenofibric acid, กรดที่ทำงานช่วยลดไขมันในเลือด) ทางคลินิกใช้เป็นยาลดไขมันคอเลสเตอรอลในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ

ยาฟีโนไฟเบรตถูกนำมาใช้รักษาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) และเป็นที่แพร่หลายมาจน ถึงปัจจุบันตัวยาฟีโนไฟเบรตสามารถลดไขมันในเลือดชนิดแอลดีแอล (LDL-cholesterol) วีแอลดีแอล (VLDL-cholesterol) รวมถึงไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) และช่วยเพิ่มระดับของไขมันที่ดีอย่างเฮชดีแอล (HDL-cholesterol) รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้เป็นยาชนิดรับประทาน

หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ยาฟีโนไฟเบรตจะเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 99% และต้องใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

การใช้ยาฟีโนไฟเบรตกับผู้ป่วยกลุ่มต่างๆมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไปเช่น

  • แพทย์จะไม่ใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้ กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยทางคลินิกมารับรองการใช้ยานี้
  • นอกจากนี้แพทย์ยังต้องพิจารณาประวัติสุขภาพของผู้ป่วยร่วมด้วยอาทิ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ในขั้นรุนแรง โรคของถุงน้ำดี ก็เข้าข่ายที่ไม่น่าใช้ยาฟีโนไฟเบรต หรือการจะใช้ยากับผู้ป่วยโรคเบา หวาน โรคหัวใจ โรคต่อมไทรอยด์ และผู้ที่มีประวัติป่วยด้วยตับอ่อนอักเสบ ควรต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมากก่อนที่จะใช้ยานี้

ทั้งนี้การใช้ยาฟีโนไฟเบรตให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดยังต้องอาศัยการรับประทานยานี้อย่างถูกต้อง โดยรับประทานพร้อมอาหารเพื่อช่วยการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดียิ่งขึ้น และต้องไม่ปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเอง กรณีที่ผู้ป่วยมียาอื่นรับประทานอยู่ก่อนเช่น Cholestyramine, Colesevelam (ยาลดไขมันในเลือด), Colestipol จะต้องรับประทานยาเหล่านี้ไปแล้ว 4 ชั่วโมงจึงจะรับประทานยาฟีโนไฟเบรต หรือไม่ให้รับประทานยาฟีโนไฟเบรตน้อยกว่า 1 ชั่วโมงก่อนที่จะรับประทานยาอื่นๆดังกล่าว

นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่เหมาะสม การออกกำลังกาย และการพักผ่อนอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์พยาบาลล้วนแต่เป็นข้อสนับสนุนประสิทธิภาพของยาฟีโนไฟเบรตได้เป็นอย่างดี

ประการสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ผู้ป่วยต้องมาตรวจระดับไขมันในเลือดตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ ผลการตรวจจะเป็นตัวบ่งบอกถึงการใช้ยาว่ามีประสิทธิภาพจริง อาจต้องใช้ยาต่อเนื่องอีกสักระยะหรือสามารถหยุดการใช้ยาได้แล้วหรือต้องปรับแนวทางการรักษา

ยาฟีโนไฟเบรตมีผลข้างเคียงบางประการที่ต้องเฝ้าระวัง ด้วยตัวยาสามารถส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อลายสลายและมีอาการไตวายติดตามมา เราอาจจะสังเกตผลข้างเคียงดังกล่าวจากผู้ป่วยรู้สึกปวดกล้ามเนื้ออย่างไม่มีเหตุผลหรือกดบริเวณกล้ามเนื้อแล้วมีอาการเจ็บ เหนื่อยง่าย ปัสสาวะมีสีคล้ำจัด เป็นต้น หากพบอาการเหล่านี้ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน

ยาฟีโนไฟเบรตเป็นยาอีกหนึ่งรายการที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยและจัดเป็นยาอันตราย การใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัยเหมาะสมจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยาฟีโนไฟเบรตได้ทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนอีกทั้งมีจำหน่ายตามร้านขายยาโดยทั่วไป

ฟีโนไฟเบรตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ฟีโนไฟเบรต

ยาฟีโนไฟเบรตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เป็นยาลดไขมันในเลือดทั้งไขมันชนิดแอลดีแอล (LDL) วีแอลดีแอล (VLDL) ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) และช่วยเพิ่มระดับไขมันชนิดดีอย่างเฮชดีแอล(HDL)

ฟีโนไฟเบรตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาฟีโนไฟเบรต มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Lipoprotein lipase (เอนไซม์เกี่ยวข้องกับการทำงานของไขมันในร่างกาย) ส่งผลให้เกิดการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) และส่งเสริมการเผาผลาญไขมันคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอลต(LDL) วีแอลดีแอล(VLDL) นอกจากนี้ยังสนับสนุนการสร้างไขมันดี เช่น เฮชดีแอล(HDL)เพิ่มมากขึ้น จากกลไกเหล่านี้ จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการลดไขมันในเลือดตามสรรพคุณ

ฟีโนไฟเบรตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟีโนไฟเบรตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 145 และ 160 มิลลิ กรัม/เม็ด สำหรับประเทศไทยรูปแบบยานี้ที่ระบุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติคือ ยาแคปซูลชนิดรับประทานขนาด 100, 200 และ 300 มิลลิกรัม/แคปซูล

ฟีโนไฟเบรตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาฟีโนไฟเบรตมีขนาดรับประทานเช่น

ก. สำหรับภาวะไขมันแอลดีแอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมีระดับสูง (Hyperchole sterolaemia type IIa + Hypertriglyceridaemia type IV):

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทาน 300 มิลลิกรัมวันละครั้งพร้อมอาหาร

ข. สำหรับภาวะไขมันแอลดีแอลสูง (Hypercholesterolaemia type IIa):

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป : รับประทาน 145 มิลลิกรัมวันละครั้งพร้อมอาหาร

ค. สำหรับภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง (Hypertriglyceridaemia type IV):

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป : รับประทาน 145 มิลลิกรัมวันละครั้งพร้อมอาหาร

ง. สำหรับภาวะไขมันแอลดีแอล วีแอลดีแอลและไตรกลีเซอไรด์สูง (Hyperlipidemia type IIb and type III):

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18ปี ขึ้นไป: รับประทาน 300 มิลลิกรัมวันละครั้งพร้อมอาหาร

*อนึ่ง

  • เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ขนาดรับประทานของเด็กให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ปกติไม่แนะนำการใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฟีโนไฟเบรต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟีโนไฟเบรตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาฟีโนไฟเบรตสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาฟีโนไฟเบรตตรงเวลา

ฟีโนไฟเบรตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟีโนไฟเบตรสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อการทำงานของตับ: เช่น ก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง มีเอนไซม์การทำงานของตับ เช่น ทรานซามิเนส (Transaminase) ในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้อลายสลาย
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีภาวะท้องอืด อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้อง ผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผิวหนังแพ้แสงแดดง่าย เกิดกลุ่มอาการลูปัส (Lupus-like syndrome) มีภาวะศีรษะล้าน ผิวแห้ง ผิวหนังเกล็ดปลา
  • ผลต่อการทำงานของไต: เช่น เกิดภาวะไตวาย
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น นอนไม่หลับ อารมณ์ทางเพศถดถอย วิงเวียน วิตกกังวล และรู้สึกสับสน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีภาวะไซนัสอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ ไอ
  • ผลต่อตา: เช่น ระคายเคืองตา ตาพร่า เยื่อตาอักเสบ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ระดับฮีโมโกลบินลดลง เกล็ดเลือดและเม็ดเลือดขาวต่ำ อาจเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำรุนแรง (Thrombocytopenia) และเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง (Agranulocytosis)
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เกิดภาวะเต้านมโตโดยเฉพาะในเพศชาย

มีข้อควรระวังการใช้ฟีโนไฟเบรตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีโนไฟเบรตเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาฟีโนไฟเบรต
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับโรคไตในระยะรุนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคถุงน้ำดี ผู้ป่วยด้วยโรคตับอ่อนอักเสบทั้งชนิดเรื้อรังและเฉียบพลัน
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามซื้อยานี้มารับประทานเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ระวังการเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายที่อาจสังเกตจากมีอาการปวดกล้ามเนื้อตามร่างกาย กดตามร่างกายแล้วมีอาการปวด
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานจะทำให้ระดับครีเอตินิน (Creatinine, สารที่เกี่ยวข้องกับไตและกล้ามเนื้อ) ในเลือดสูงขึ้น ดังนั้นระหว่างการใช้ยานี้ต้องมีการตรวจสอบระดับครีเอตินินในเลือดว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ตามแพทย์สั่ง
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้ยาเกิดขึ้นเช่น อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ใบหน้าบวม ผื่นขึ้นตามตัว จากนั้นรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดและเพื่อตรวจระดับไขมันในเลือดว่าเข้าสู่ภาวะปกติหรือไม่
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟีโนไฟเบรตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ฟีโนไฟเบรตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟีโนไฟเบรตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาฟีโนไฟเบรตร่วมกับยา Glimepiride สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำมาก สังเกตจากมีอาการวิงเวียน ง่วงนอน คลื่นไส้ หิวอาหาร ร่างกายมีภาวะสั่น อ่อนแรง เหงื่อออกมาก เป็นต้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟีโนไฟเบรตร่วมกับยาลดไขมันเช่น Simvastatin เพราะสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายและเป็นเหตุให้ไตเสียหาย/ไตวายติดตามมาจนทำให้ผู้ป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • การใช้ยาฟีโนไฟเบรตร่วมกับยา Warfarin สามารถทำให้มีภาวะเลือดออกง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาฟีโนไฟเบรตร่วมกับ Ciclosporin/Cyclosporine อาจทำให้ความเข้มข้นของ Ciclo sporin ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลให้เป็นพิษกับไตจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน

ควรเก็บรักษาฟีโนไฟเบรตอย่างไร?

ควรเก็บยาฟีโนไฟเบรตที่อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้ พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ฟีโนไฟเบรตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟีโนไฟเบรตที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Adfen-160 (แอดเฟน) Meditab Specialities
Colestrim (โคเลสทริม) Mega Lifesciences
Febrate (ฟีเบรท) Umeda
Fenomed-200 (ฟีโนเมด-200) Mediorals
Fenox (ฟีนอค) Abbott
Fibril (ไฟบริล) Berlin Pharm
Lexemin (เลซีมิน) Unison
Lipanthyl (ไลแพนทิล) Abbott
Lipothin 200 (ไลโปทิน) T. O. Chemicals
Stanlip (สแตนลิป) Ranbaxy
Supralip NT145 (ซุปราลิบ เอ็นที 145) Abbott
Trilipix (ไตรไลปิค) Abbott

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugs.com/fenofibrate.html [2016,March26]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Fenofibrate [2016,March26]
  3. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/48#item-8441 [2016,March26]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Fenox/?type=brief [2016,March26]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Hyperlipidemia [2016,March26]
  6. https://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Fenofibrate [2016,March26]
  7. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Adfen-160/?type=brief [2016,March26]
  8. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Colestrim/?type=brief [2016,March26]
  9. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Supralip%20NT%20145/?type=full#Indications [2016,March26]
  10. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Lexemin/?type=BRIEF [2016,March26]
  11. http://www.drugs.com/drug-interactions/fenofibrate-i[2016,March26]ndex.html?filter=3&generic_only= [2016,March26]
  12. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21704241 [2016,March26]
  13. http://www.drugs.com/monograph/fenofibric-acid-fenofibrate.html [2016,March26]