ฟีนิลโพรพาโนลามีน (Phenylpropanolamine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฟีนิลโพรพาโนลามีน (Phenylpropanolamine) เป็นสารเคมีที่มีสูตรโครงสร้างหลัก เหมือนกับสาร Norephedrine (สารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่หลายอย่าง เช่น เกี่ยวข้องกับประสาทอัตโนมัติ) และสาร Nor pseudoephedrine (สารกระตุ้นให้สมองตื่นตัว/Stimulant ชนิดหนึ่ง) จึงทำให้มีคุณสมบัติออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทได้ด้วย

ในสหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกการใช้ยาตัวนี้จากท้องตลาด เพราะก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โดยเฉพาะในสตรีวัยรุ่น แต่ในแถบยุโรปยังมีจำหน่ายอยู่โดยจัดเป็นหมวดยาที่ช่วยบรรเทาอาการของหวัดและมีอาการไอร่วมด้วย

สำหรับในประเทศไทยเรายังมีจำหน่ายอยู่บ้างทั้งในรูปแบบ ยาเดี่ยว และยาผสมทั้งชนิดน้ำและชนิดเม็ด

หากศึกษาจากข้อมูลเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยาจะพบว่า ฟีนิลโพรพาโนลามีนถูกดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร ใช้เวลาไม่เกิน 1 - 2 ชั่วโมงก็ทำให้ระดับยาในเลือดเพิ่มได้สูงสุด ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยา และร่างกายคนต้องใช้เวลา 3 - 5 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาออก ไปจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับน้ำปัสสาวะเสียเป็นส่วนมาก ด้านหนึ่งของการออกฤทธิ์ของยานี้จะส่งผลถึงระบบการทำงานของหัวใจ รวมถึงยังมีผลข้างเคียงเกี่ยวกับระบบหลอดเลือด ดังนั้นการใช้ยาให้ปลอดภัยถูกต้องเหมาะสม จึงต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาฟีนิลโพรพาโนลามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ฟีนิลโพรพาโนลามีน

ยาฟีนิลโพรพาโนลามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้บรรเทารักษาอาการหวัด คัดจมูก

ยาฟีนิลโพรพาโนลามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ฟีนิลโพรพาโนลามีนเป็นสารที่ออกฤทธิ์คล้ายกับสารสื่อประสาทในระบบประสาทอัตโนมัติ (Sympathomimetic) ลดการบวมและการหลั่งสารคัดหลั่งของเยื่อเมือก จึงทำให้การ คัดจมูกของผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น

ยาฟีนิลโพรพาโนลามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟีนิลโพรพาโนลามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด ขนาดความแรง 25 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ด ชนิดผสมร่วมกับยาอื่นขนาด 12.5 และ 25 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำผสมร่วมกับยาชนิดอื่น ขนาด 5 และ 12.5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

ยาฟีนิลโพรพาโนลามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาฟีนิลโพรพาโนลามีนมีขนาดรับประทานเพื่อบรรเทาอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 มิลลิกรัมทุกๆ 4 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 2 - 6 ปี: รับประทาน 6.25 มิลลิกรัมทุก 4 ชั่วโมง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 37.5 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 7 - 12 ปี: รับประทาน 12.5 มิลลิกรัมทุก 4 ชั่วโมง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุมากกว่า 12 ปี: รับประทาน 25 มิลลิกรัมทุกๆ 4 ชั่วโมง ขนาดรับประทานสูง สุดไม่เกิน 150 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟีนิลโพรพาโนลามีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟีนิลโพรพาโนลามีนอาจส่ง ผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาฟีนิลโพรพาโนลามีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลา ใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาฟีนิลโพรพาโนลามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟีนิลโพรพาโนลามีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้าง เคียง) เช่น

  • อาจเกิดอาการชักในผู้ป่วยบางราย
  • ประสาทหลอน
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • วิงเวียน
  • ง่วงนอน
  • ปวดศีรษะ /ปวดหัว
  • นอนไม่หลับ
  • วิตกกังวล
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • และเหงื่อออกมาก เป็นต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีนิลโพรพาโนลามีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีนิลโพรพาโนลามีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาฟีนิลโพรพาโนลามีน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคต้อหิน โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมลูกหมากโต ภาวะลำไส้อุดตัน
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ด้วยส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์มารดา
  • ไม่ควรใช้ยานี้เกิน 3 - 5 วัน และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 3 เดือน
  • ระวังการใช้ยากับเด็ก รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยามดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟีนิลโพรพาโนลามีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาฟีนิลโพรพาโนลามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟีนิลโพรพาโนลามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาฟีนิลโพรพาโนลามีนร่วมกับยาแก้ปวด เช่นยา Tamadol อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยมีอาการชัก หากไม่มีความจำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาฟีนิลโพรพาโนลามีนร่วมกับยาลดน้ำหนัก/ยาลดความอ้วน เช่นยา Phentermine อาจก่อให้เกิดผลต่อระบบการทำงานของหัวใจ เช่น มีอาการเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็วมาก/หัวใจเต้นระรัว วิงเวียน เป็นลม ขา-เท้าบวม จากอาการข้างต้น จึงห้ามใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาฟีนิลโพรพาโนลามีนร่วมกับยารักษาโรคพาร์กินสัน เช่นยา Selegiline สามารถทำให้ความดันโลหิตสูงมาก จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากต้องใช้ยาร่วมกัน ควรต้องหยุดการใช้ยา Selegiline อย่างน้อย 14 วัน
  • การใช้ยาฟีนิลโพรพาโนลามีนในผู้ป่วยโรคหัวใจ สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสูบฉีดโลหิตมากขึ้น และเพิ่มความต้องการออกซิเจนของร่างกายมากขึ้น อาจเกิดภาวะความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจขาดเลือดจนถึงขั้นตาย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากับผู้ป่วยโรคหัวใจ

ควรเก็บรักษายาฟีนิลโพรพาโนลามีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาฟีนิลโพรพาโนลามีนชนิดรับประทาน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิระหว่าง 20 - 25 องศาเซล เซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาฟีนิลโพรพาโนลามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟีนิลโพรพาโนลามีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Aorinyl (เอโอไรนิล) Medicine Products
Clinepect (คลิเนเพค) Bangkok Lab & Cosmetic
Phenylpropanolamine Pharmasant (ฟีนิลโพรพาโนลามีน ฟาร์มาซัน) Pharmasant Lab
T Man Cough Syrup (ทีแมนคัพไซรัป) T. Man Pharma

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Phenylpropanolamine#Legal_status [2020,April18]
2 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fphenylpropanolamine%3fmtype%3dgeneric [2020,April18]
3 http://www.drugs.com/dosage/phenylpropanolamine.html [2020,April18]
4 http://www.drugs.com/sfx/phenylpropanolamine-side-effects.html [2020,April18]
5 http://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=569&drugName=&type=4 [2020,April18]
6 http://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=569&drugName=Phenylpropanolamine%20(HCl)&type=11 [2020,April18]
7 http://www.drugs.com/pregnancy/phenylpropanolamine.html [2020,April18]
8 http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/lookup.cfm?setid=0b2249cb-ecf4-4be9-a6b2-0fe6ca2a7a36 [2020,April18]