ฟีนิลโทลอกซามีน (Phenyltoloxamine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฟีนิลโทลอกซามีน (Phenyltoloxamine) เป็นยาที่ใช้ต้านสารฮีสตามีน (Antihistamine) ซึ่งมีฤทธิ์สงบระบบประสาทและบรรเทาอาการปวดได้ด้วย ปกติมักจะพบเห็นการใช้ยานี้ในสูตรตำรับที่ผสมร่วมกับยาอื่นๆอย่าง Acetaminophen, Dihydrocodeine, Codeine และ Hydrocodone สูตรตำรับยานี้ที่มีการใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลกได้แก่ สูตรที่ผสมร่วมกับ Codeine โดยระบุสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ ยาฟีนิลโทลอกซามีนเป็นยาที่ไม่ก่อให้เกิดฤทธิ์ของการเสพติด แต่การบริโภคยานี้เป็นปริมาณมากๆก็อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) คล้ายกับได้รับยา Atropine

สำหรับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่สามารถพบได้หลังการใช้ยาฟีนิลโทลอกซามีนได้แก่ เกิดอาการง่วงนอน ปากและจมูกแห้ง แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ และรู้สึกไม่สบายในท้อง

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาฟีนิลโทลอกซามีนจะเป็นยาชนิดรับประทาน โดยมีสัดส่วนผสมของตัวยาอื่นๆที่แตกต่างกันออกไปทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละสูตรตำรับยานั้นๆ สำหรับประเทศไทยจะพบเห็นการใช้ยานี้ผสมร่วมอยู่กับยา Codeine ทำให้สูตรตำรับยาดังกล่าวต้องถูกขึ้นทะเบียนเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 3 ซึ่งการใช้ยาตำรับนี้จะต้องได้รับใบสั่งจากแพทย์และมีใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

ฟีนิลโทลอกซามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ฟีนิลโทลอกซามีน

ยาฟีนิลโทลอกซามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • ช่วยลดอาการแพ้ต่างๆ และ
  • มักใช้ร่วมกับยาแก้ไอและยาแก้ปวด เป็นต้น

ฟีนิลโทลอกซามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาฟีนิลโทลอกซามีนมีกลไกการออกฤทธิ์เป็นยาต้านสารฮีสตามีน (Antihistamine) ซึ่งสาร Histamine เป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายเกิดอาการแพ้ต่างๆ หลังการใช้ยาร่างกายจะรู้สึกบรรเทาและทุเลาจากอาการแพ้เช่น อาการไอ นอกจากนี้ยาฟีนิลโทลอกซามีนยังมีฤทธิ์ในการระงับอาการปวดจึงเหมาะที่จะใช้เป็นยาร่วมกับยาอื่นเพื่อบรรเทาอาการไอและอาการปวดโดยไม่ก่อให้เกิดอาการติดยา

ฟีนิลโทลอกซามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟีนิลโทลอกซามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น Codeine 30 มิลลิกรัม + Phenyltoloxamine 10 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น Codeine 11.11 มิลลิกรัม + Phenyltoloxamine 3.67 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

ฟีนิลโทลอกซามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

เนื่องจากยาฟีนิลโทลอกซามีนที่จำหน่ายในประเทศไทยเป็นสูตรตำรับที่ผสมร่วมกับยา Codeine ที่จัดอยู่ในหมวดยาเสพติดให้โทษ จึงขอยกตัวอย่างขนาดรับประทานจากสูตรตำรับดังกล่าวเฉพาะในผู้ใหญ่เช่น รับประทานครั้งละ 1 แคปซูลวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็นหลังอาหาร และ*ห้ามรับประทานสูตรตำรับยานี้ติดต่อกันนานเกิน 7 วัน ส่วนการใช้ยานี้ในเด็กอยู่ในดุลพินิจิของแพทย์ผู้รัก ษาเป็นกรณีไป

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฟีนิลโทลอกซามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟีนิลโทลอกซามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาฟีนิลโทลอกซามีนสามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิภาพของการรักษาควรรับประทานยาฟีนิลโทลอกซามีนตรงเวลา

ฟีนิลโทลอกซามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ที่สามารถพบได้จากการยาใช้ยาฟีนิลโทลอกซามีนสูตรตำรับผสมร่วมกับยา Codeine เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ปวดศีรษะเล็กน้อย เหนื่อยง่าย หายใจขัด/หายใจลำบาก และตัวยานี้อาจกระตุ้นการเกิดต้อหินได้

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีนิลเอฟรีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีนิลเอฟรีนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาฟีนิลโทลอกซามีน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ในสูตรตำรับยานี้ที่มียา Codeine ร่วมด้วยจะถูกห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหอบหืด ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะโคม่า ผู้ที่มีภาวะต่อมลูกหมากโต ผู้ที่เป็นโรคต้อหิน และต้องระวังการติดยา Codeine ดังนั้น จึงห้ามใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 7 วัน
  • ระหว่างใช้ยานี้ระวังการเกิดความดันในกะโหลกศีรษะสูงรวมถึงอาการท้องผูก
  • การใช้ยานี้เกินคำสั่งแพทย์อาจก่อให้เกิดภาวะทางจิตตามมา
  • ระวังการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรขณะมีการใช้ยานี้ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจากตัวยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอนและวิงเวียน
  • หากพบอาการแพ้ยานี้เช่น ตัวบวม ผื่นคันขึ้นเต็มตัว หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีและรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์และเภสัชกรขณะที่มีการใช้ยาฟีนิลโทลอกซามีนที่ผสมร่วมกับา Codeine
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟีนิลโทลอกซามีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ฟีนิลโทลอกซามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟีนิลโทลอกซามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟีนิลโทลอกซามีนร่วมกับยาที่ออกฤทธิ์กดการทำงานของสมอง/ระบบประสาท (CNS depressants หรือ Central nervous system depressant) ด้วยจะทำให้เกิดอาการง่วงนอนและวิงเวียนมากขึ้นเช่นยา Diazepam, Alprazolam
  • ห้ามรับประทานยาฟีนิลโทลอกซามีนร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยานี้เพิ่มมากขึ้น

ควรเก็บรักษาฟีนิลโทลอกซามีนอย่างไร?

ควรเก็บยาฟีนิลโทลอกซามีนภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ฟีนิลโทลอกซามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟีนิลโทลอกซามีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Codipront Syrup (โคดิพรอนท์ ไซรัป)Mack
Codipront Olic (โคดิพรอนท์ โอลิค)Olic
Codipront (โคดิพรอนท์)Asmeco

อนึ่งยาชื่อการค้าของยาฟีนิลโทลอกซามีนที่จำหน่ายในต่างประเทศเช่น Aceta-Gesic, Ed-Flex, Dologesic, Duraxin, Flextra-650, Novagesic, Pain-gesic, Phenylgesic

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Phenyltoloxamine [2016,July9]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/codipront/?type=brief [2016,July9]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/codipront%20olic/ [2016,July9]
  4. http://psychologytoday.webmd.com/drugs/2/drug-15252/aceta-gesic-with-phenyltoloxamine-oral/details/list-contraindications [2016,July9]
  5. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-64797/phenyltoloxamine-pe-cpm-oral/details#side-effects [2016,July9]