ฟีนิลบิวตาโซน (Phenylbutazone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 2 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ฟีนิลบิวตาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ฟีนิลบิวตาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟีนิลบิวตาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟีนิลบิวตาโซนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ฟีนิลบิวตาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟีนิลบิวตาโซนอย่างไร?
- ฟีนิลบิวตาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟีนิลบิวตาโซนอย่างไร?
- ฟีนิลบิวตาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- เกาต์ (Gout)
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- กลุ่มยาแก้ปวดและยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
- ข้ออักเสบ (Arthritis)
บทนำ: คือยาอะไร?
ฟีนิลบิวตาโซน (Phenylbutazone) คือ ยาแก้อักเสบกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ทางคลินิกใช้เป็นยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ และอาการปวดจากโรคข้อรูมาตอยด์, โรคข้อสันหลังอักเสบแบบติดยึด, โรคเกาต์, และข้อกระดูกอักเสบ
ยาฟีนิลบิวตาโซน ยังถูกใช้รักษาอาการปวดตั้งแต่ระดับต่ำไปจนกระทั่งการปวดระดับกลางอีกด้วยเช่น ปวดจากบาดแผล ปวดประจำเดือน รวมถึงอาการปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น
การใช้ยาฟีนิลบิวตาโซนกับมนุษย์มักจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) ที่รุนแรงได้ประการหนึ่งคือ เกิดภาวะเป็นพิษต่อไขกระดูก ส่งผลให้การสร้างเม็ดเลือดขาวของร่างกายทำได้ต่ำ ลง และยังเกิดภาวะโลหิตจางร่วมได้ด้วย จากเหตุผลดังกล่าวส่งผลให้บางประเทศยกเลิกการใช้ยาชนิดนี้ในคนและนำไปใช้รักษาอาการป่วยในสัตว์เท่านั้น
สำหรับรูปแบบการจัดจำหน่ายที่พบเห็นมากของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน ด้วยสามารถดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร ระยะเวลาที่เริ่มออกฤทธิ์หลังจากการรับประทานยาอยู่ที่ประมาณ 30 - 60 นาที ตัวยาที่เข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนถึงประมาณ 98% ยาฟีนิลบิวตาโซนสามารถซึมผ่านเข้าในเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายได้ค่อนข้างดี ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างของยานี้ให้เป็นสารที่เป็นตัวออกฤทธิ์ (Active compounds) คือ Oxyphenbutazone และ Hydroxyphen butazone และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 50 - 100 ชั่วโมงเพื่อกำจัดปริมาณยานี้ 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของผู้บริโภคการใช้ยานี้ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้นและก่อนการใช้ยานี้แพทย์มักสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยอาทิ เช่น
- เคยแพ้ยากลุ่มเอ็นเสด/NSAIDs หรือไม่
- มีโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือ ลำไส้อักเสบหรือเป็นแผลหรือไม่
- ผู้ป่วยมี โรคหัวใจ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคหืด โรคต่อมไทรอยด์ หรือโรคซีด หรือไม่ เพราะโรคเหล่านี้จะแสดงอาการรุนแรงมากขึ้นเมื่อใช้ยาฟีนิลบิวตาโซน
- ถ้าเป็นสตรีอาจได้รับคำถามว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในระหว่างเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดาหรือไม่
- ปัจจุบันมีการรับประทานยาอะไรอยู่บ้าง
ทั้งนี้ รายละเอียดต่างๆดังกล่าวข้างต้นจะเป็นประโยชน์และใช้เป็นฐานข้อมูลในการรักษาและสั่งจ่ายยาของแพทย์
ฟีนิลบิวตาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาฟีนิลบิวตาโซนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- รักษาอาการปวดอักเสบจาก โรคข้อรูมาตอยด์, ข้ออักเสบ, โรคเกาต์, และข้อสันหลังอักเสบแบบติดยึด, รวมถึงอาการปวดบาดแผล, และปวดประจำเดือน
ฟีนิลบิวตาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟีนิลบิวตาโซนคือ ตัวยาจะเข้าจับกับเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin, สารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆรวมไปถึงการเกิดอาการปวด) ชื่อ Prostaglandin H synthase และ Prostacyclin synthase และทำให้เอนไซม์ทั้ง 2 ตัวไม่สามารถทำงานได้ส่งผลให้การสังเคราะห์ Prostaglandin ลดน้อยลง จึงทำให้การอักเสบตามเนื้อเยื่อต่างๆลดลงเช่นเดียวกัน
ฟีนิลบิวตาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟีนิลบิวตาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 100 และ 200 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 200 มิลลิกรัม/แคปซูล
ฟีนิลบิวตาโซนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาฟีนิลบิวตาโซนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานในช่วง 2 วันแรก 400 - 600 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานวันละ 2 - 3ครั้ง จากนั้นแพทย์อาจปรับลดขนาดรับประทานลงมาเป็น 200 - 300 มิลลิกรัม/วัน และควรรับประ ทานยานี้หลังอาหารทันที
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ทั่วไปไม่แนะนำการใช้ยานี้ในเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟีนิลบิวตาโซน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟีนิลบิวตาโซนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเอาจกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาฟีนิลบิวตาโซน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ฟีนิลบิวตาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟีนิลบิวตาโซนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ท้องอืด
- แสบร้อนกลางอก
- ปวดท้อง
- มีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร
- ผู้ป่วยบางรายอาจพบเลือดออกทางจมูก
- คลื่นไส้อาเจียน
- อุจจาระมีสีดำ หรือมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ/อุจจาระเป็นเลือด
- ผื่นคัน
- โรคซีด
- เกิดแผลในคอและในปาก
- ปวดหัว
- มีไข้
- เม็ดเลือดขาวต่ำ
- ท้องเสีย
- ปวดท้องแบบปวดบีบ
- ตาพร่า
- ปวดกระบอกตา/เบ้าตา
*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่แพ้ยานี้ มักพบอาการ หายใจลำบาก การกลืนลำบาก ใบหน้า-ปาก- คอบวม หากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ฟีนิลบิวตาโซนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีนิลบิวตาโซน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคหืด ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยด้วยโรคเลือด
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของไตล้มเหลว
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยด้วยโรคต่อมไทรอยด์
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีการทำงานของไต ของตับ ผิดปกติ ผู้ที่มีภาวะอาหารไม่ย่อย
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟีนิลบิวตาโซนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ฟีนิลบิวตาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟีนิลบิวตาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาฟีนิลบิวตาโซนร่วมกับยา Tenofovir จะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่เป็นพิษกับไตได้มากยิ่งขึ้น กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- ห้ามใช้ยาฟีนิลบิวตาโซนร่วมกับยา Cidofovir ด้วยอาจทำให้เกิดความเสียหายกับไตของผู้ป่วย
- การใช้ยาฟีนิลบิวตาโซนร่วมกับยา Warfarin อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายหรือตกเลือด หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาฟีนิลบิวตาโซนร่วมกับยา Hydrocortisone อาจก่อให้เกิดอาการปวดท้อง เลือดออกในทางเดินอาหาร วิงเวียน อุจจาระมีสีดำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันและเพื่อป้องกันผลข้างเคียงดัง กล่าว แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
ควรเก็บรักษาฟีนิลบิวตาโซนอย่างไร?
ควรเก็บยาฟีนิลบิวตาโซน: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ฟีนิลบิวตาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟีนิลบิวตาโซน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Butarzol (บิวทาร์ซอล) | New York Chemical |
Butazone (บิวตาโซน) | SSP Laboratories |
K.B. Tazone (เค.บี. ทาโซน) | K.B. Pharma |
Leophen (ลีโอเฟน) | Charoen Bhaesaj Lab |
Pantazone (แพนตาโซน) | Picco Pharma |
Phenazone (ฟีนาโซน) | Chinta |
Phenylbutazone A.N.H. (ฟีนิลบิวตาโซน เอ.เอ็น.เฮท) | A N H Products |
Phenylbutazone Acdhon (ฟีนิลบิวตาโซน แอคดอน) | Acdhon |
Phenylbutazone K.B. (ฟีนิลบิวตาโซน เค.บี.) | K.B. Pharma |
Phenylbutazone Patar (ฟีนิลบิวตาโซน พาตาร์) | Patar Lab |
Pyrazolone (ไพราโซโลน) | Utopian |
Rhumacap (รูมาแคป) | Acdhon |
Rhumatab (รูมาแทบ) | Acdhon |
Leophen (ลีโอเฟน) | Charoen Bhaesaj Lab |
Sugrarine (ซูกรารีน) | Chew Brothers |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Phenylbutazone [2021,Oct30]
- https://www.medicinenet.com/phenylbutazone/article.htm[2021,Oct30]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/phenylbutazone?mtype=generic[2021,Oct30]
- https://www.drugs.com/cdi/phenylbutazone.html[2021,Oct30]
- https://go.drugbank.com/drugs/DB00812 [2021,Oct30]