ฟิโลดิปีน (Felodipine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 ตุลาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ฟิโลดิปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ฟิโลดิปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟิโลดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟิโลดิปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ฟิโลดิปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟิโลดิปีนอย่างไร?
- ฟิโลดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟิโลดิปีนอย่างไร?
- ฟิโลดิปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
- แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- โรคตับ (Liver disease)
บทนำ: คือยาอะไร?
ฟิโลดิปีน (Felodipine) คือ ยาลดความดันโลหิต จัดอยู่ในยากลุ่มแคลเซียมแชน แนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker) ชื่อการค้าที่รู้จักกันดีคือ “Plendil” และ “Renedil” รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยารับประทาน
ตัวยาฟิโลดิปีนสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ค่อนข้างดี เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะถูกลำเลียงไปเผาผลาญและถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 25 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อกำจัดปริมาณยาครึ่งหนึ่งออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ หลังการรับประทาน ยาจะเริ่มออกฤทธิ์ภายในช่วงเวลา 2.5 - 5 ชั่วโมง แพทย์/เภสัชกรจะแนะนำให้รับประทานยาพร้อมกับน้ำเปล่าเท่านั้น ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานพร้อมกับน้ำผลไม้ด้วยน้ำผลไม้บางชนิดจะตรวจพบสาร Bergamottin ซึ่งจะเพิ่มความเป็นพิษหรือเพิ่มอาการข้างเคียง (ผลข้าง เคียง) ของยาฟิโลดิปีนได้อย่างมาก
การใช้ยาชนิดนี้ยังมีข้อห้ามอีกหลายประการอย่างเช่น ผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ยาในกลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์อยู่ก่อน ผู้ป่วยโรคหัวใจที่เป็นชนิดกลุ่มอาการ Sick sinus syndrome และรวม ถึงชนิดกลุ่ม Second and third degree AV heart block ฯลฯ
ตัวผู้ป่วยเองควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์และโรคประจำตัวที่เป็นอยู่โดยละเอียดด้วยจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษา และแพทย์สามารถสั่งจ่ายหรือปรับขนาดการรับประทานยาได้ง่ายยิ่งขึ้น คำแนะนำเพิ่มเติมที่แพทย์มักจะแนะนำให้กับผู้ป่วยระหว่างการรับประทานยานี้เช่น
- หากพบอาการวิงเวียนให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือเลี่ยงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุราด้วยจะก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายมากขึ้น
- กรณีที่รับประทานยานี้แล้วในช่วงสัปดาห์แรกๆผู้ป่วยอาจมีอาการเหนื่อยง่าย แต่จะค่อยๆดีขึ้น กรณีที่มีอาการแย่ลงต้องรีบกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- กรณีตั้งครรภ์หรือเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดาควรต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง หรือแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นรับประทาน
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วยเองควรต้องปฏิบัติและรับประทานยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด
ฟิโลดิปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาฟิโลดิปีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง
- รักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
ฟิโลดิปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาฟิโลดิปีนซึ่งเป็นยาประเภทแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยา จะทำให้ผนังกล้ามเนื้อเรียบบริเวณหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจเกิดการคลายตัว ส่งผลให้มีเลือดและออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้มากขึ้น จากกลไกนี้ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตลดลง ประกอบกับลดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ตามสรรพคุณ
ฟิโลดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟิโลดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 2.5, 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด
ฟิโลดิปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาฟิโลดิปีนมีขนาดรับประทาน: เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น เริ่มต้นรับประทาน 5 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดยาที่ใช้คงระดับการรักษาคือ 5 - 10 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้สูงอายุ: เริ่มต้นรับประทาน 2.5 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดรับประทานของเด็กยังมิได้มีการระบุยืนยันอย่างมีหลักฐานทางคลินิก
*อนึ่ง:
- แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานได้ตามการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยานี้
- ห้ามเคี้ยวยานี้ก่อนรับประทาน
- ให้กลืนยานี้พร้อมน้ำดื่มที่สะอาดอย่างเพียงพอ
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟิโลดิปีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟิโลดิปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาฟิโลดิปีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ฟิโลดิปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟิโลดิปีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) โดยแบ่งออกเป็นระดับดังนี้
ก. อาการข้างเคียงที่พบบ่อย: เช่น
- ใบหน้า-แขน-มือ-ขาและเท้ามีอาการบวม
- น้ำหนักตัวเพิ่ม
- อาจเป็นเหน็บชาที่มือหรือเท้า
ข. อาการข้างเคียงที่พบน้อย: เช่น
- ปวดตามร่างกาย
- ไอแห้งๆ
- หนาวสั่น
- อึดอัด/หายใจลำบาก
- หูอื้อ
- มีไข้
- ปวดหัวมาก
- เสียงแหบ
- คัดจมูก, จาม
- เจ็บคอ/ คออักเสบ
- อ่อนเพลีย
ค. *กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาด: จะพบอาการรู้สึกตัวอุ่นๆ ใบหน้า-แขน-คอ-หน้าอกส่วนบนมีอาการแดง
*อนึ่ง: อาการข้างเคียงบางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษาแต่อย่างใด ด้วยร่างกายจะค่อยๆปรับสภาพจนทำให้อาการข้างเคียงเหล่านั้นหายไป
อย่างไรก็ตาม หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนต่อการดำรงชีวิตประจำวันหรือเมื่อกังวลในอาการหรืออาการรุนแรง ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล หรือมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น เพื่อแพทย์ปรับแนวทางการรักษาและดูแลรักษาอาการข้าง เคียงที่เกิดขึ้น
มีข้อควรระวังการใช้ฟิโลดิปีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟิโลดิปีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ยาในกลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ ผู้ที่มีโรคหัวใจชนิด AV heart block ในระดับที่ 2 หรือ 3 และชนิด Sick sinus syndrome
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟิโลดิปีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควร ต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ฟิโลดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟิโลดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาฟิโลดิปีน ร่วมกับยา Ketoconazole, Itraconazole ด้วยอาจทำให้ระดับของยาฟิโลดิปีนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงตามมาได้เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ตัวบวม ภาวะหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตต่ำมากๆ
- การใช้ยาฟิโลดิปีน ร่วมกับ ยา Ibuprofen อาจเป็นเหตุให้ความดันโลหิตสูงมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟิโลดิปีน ร่วมกับ ยากลุ่ม Hydrocortisone ด้วยสามารถทำให้ฤทธิ์การรักษาของฟิโลดีปีนด้อยลง มักเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวหลังจากใช้ยา Hydrocortisone ไปแล้วนานกว่าสัปดาห์ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยาฟิโลดิปีน ร่วมกับ ยา Codeine อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงของความดันโลหิตต่ำอย่างมากพร้อมกับมีอาการ ปวดหัว วิงเวียน เป็นลม อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาฟิโลดิปีนอย่างไร?
สามารถเก็บยาฟิโลดิปีน: เช่น
- เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ฟิโลดิปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟิโลดิปีน มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Felodipin Stada (ฟิโลดิปิน สตาดา) | Stada |
Feldil SR (เฟลดิล เอสอาร์) | Standard Chem & Pharm |
Felim (เฟลิม) | Sandoz |
Felodipine Sandoz (ฟิโลดิปีน แซนดอซ) | Sandoz |
Felopine 5 (ฟิโลดิปีน 5) | Berlin Pharm |
Feloten (ฟิโลเทน) | Biolab |
Plendil (เพลนดิล) | AstraZeneca |
Topidil (ทอปิดิล) | T. O. Chemicals |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Felodipine [2021,Sept25]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=felodipine [2021,Sept25]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/felodipine%20sandoz [2021,Sept25]
- https://www.drugs.com/mtm/felodipine.html [2021,Sept25]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/felodipin%20stada%202-5-5-10%20retard/?type=BRIEF [2021,Sept25]
- https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a692016.html#storage-conditions [2021,Sept25]