ฟิแดโซมัยซิน (Fidaxomicin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 กันยายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- ฟิแดโซมัยซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ฟิแดโซมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟิแดโซมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟิแดโซมัยซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ฟิแดโซมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟิแดโซมัยซินอย่างไร?
- ฟิแดโซมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟิแดโซมัยซินอย่างไร?
- ฟิแดโซมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร (Gastrointestinal infection)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ลำไส้อุดตัน (Intestinal obstruction)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
บทนำ
ยาฟิแดโซมัยซิน(Fidaxomicin) เป็นยาปฏิชีวนะประเภท Macrocyclic antibiotic มีการออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางกลุ่มเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ยาฟิแดโซมัยซินสามารถผลิตได้จากกระบวนการหมักชีวภาพโดยใช้แบคทีเรียที่มีชื่อเรียกว่า Dactylosporangium aurantiacum ทางคลินิกใช้ยาชนิดนี้/ยานี้รักษาอาการท้องเสียที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Clostridium difficile
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาฟิแดโซมัยซินเป็นยาเม็ดแบบรับประทาน ด้วยยาชนิดนี้มีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ต่ำ จึงทำให้การออกฤทธิ์เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหารเสียเป็นส่วนใหญ่ ตัวยาฟิแดโซมัยซินในลำไส้เล็กจะผ่านกระบวนการไฮโดรไลซิส (Hydrolysis, ขบวนการเคมีที่ย่อยสารด้วยน้ำ) และได้สารประกอบที่ไม่มีคุณสมบัติต่อต้านแบคทีเรีย เฉลี่ยระยะเวลาที่ยาฟิแดโซมัยซินอยู่ในระบบทางเดินอาหารนานประมาณ 11 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระ
มีข้อมูลบางประการที่ผู้บริโภคควรทำความเข้าใจเพื่อใช้ยาฟิแดโซมัยซินได้อย่างถูกต้อง ดังนี้ เช่น
- ยานี้มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดภาวะท้องเสีย ไม่สามารถนำมารักษา โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส
- ไม่สามารถใช้ยาฟิแดโซมัยซินในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียตามอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่นอกระบบทางเดินอาหาร ด้วยตัวยามีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ต่ำ
- การใช้ยาชนิดนี้กับสตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจ ของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ด้วยยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยมารองรับ การใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้
- กรณีรับประทานยานี้แล้วเกิดอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว เช่น ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด มีไข้ หนาวสั่น ท้องผูกอย่างรุนแรง ปวดท้องมาก อ่อนเพลีย และรู้สึกหมดแรงอย่างมาก
ทั้งนี้ การใช้ยาฟิแดโซมัยซิน ให้เกิดประสิทธิผลสูงที่สุด ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยานี้ตรงตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ปัจจุบันยาฟิแดโซมัยซิน ถูกวางจำหน่ายภายใต้ยาชื่อการค้าว่า Dificid , Dificlir แต่ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย และอาจกล่าวได้ว่ายาฟิแดโซมัยซินเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของกลุ่มยารักษาอาการท้องเสียที่รอการนำเข้ามาใช้ในไทย
ฟิแดโซมัยซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาฟิแดโซมัยซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อ
- รักษาอาการท้องเสียจากการติดเชื้อ Clostridium difficile
ฟิแดโซมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาฟิแดโซมัยซิน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ชื่อRNA polymerase ในตัวแบคทีเรีย ส่งผลให้การสังเคราะห์สารพันธุกรรมชนิด RNA ถูกปิดกั้นลง ในสภาพนี้แบคทีเรียจะไม่สามารถสังเคราะห์โปรตีนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการแพร่พันธุ์ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้แบคทีเรียที่ได้รับยาฟิแดโซมัยซินตายลง และเป็นผลให้อาการท้องเสียดีขึ้นเป็นลำดับ
ฟิแดโซมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟิแดโซมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Fidaxomicin ขนาด 200 มิลลิกรัม/เม็ด
ฟิแดโซมัยซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาฟิแดโซมัยซิน มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่18ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลาต่อเนื่อง 10 วัน โดยสามารถรับประทานยาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- ผู้อายุต่ำกว่า18ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกในด้านความปลอดภัย ประสิทธิผล และขนาดยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฟิแดโซมัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคไต แผลในทางเดินอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร รวมทั้งกำลังกิน ยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟิแดโซมัยซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาฟิแดโซมัยซิน สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากระยะเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ห้ามรับประทานยาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าให้รับประทานที่ขนาดปกติเท่านั้น
อนึ่ง ในผู้ป่วยแต่ละรายแพทย์ อาจแนะนำวิธีใช้ยา เมื่อลืมรับประทานในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของโรค จึงควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าไว้ก่อนว่าควรทำอย่างไรเมื่อตนเองลืมใช้ยาฟิแดโซมัยซิน
ฟิแดโซมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟิแดโซมัยซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร : เช่น อาเจียน ปวดท้อง เลือดออกในทางเดินอาหาร ปากบวม แน่นท้อง เบื่ออาหาร ท้องอืด เกิดภาวะลำไส้อุดตัน
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้นเป็นบางชนิด
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดNeutrophilต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดสูง มีภาวะเลือดเป็นกรด ระดับเกลือไบคาร์บอเนตในเลือดต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้ฟิแดโซมัยซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟิแดโซมัยซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้รักษาผู้ป่วยในภาวะติดเชื้อกับระบบอวัยวะอื่นๆที่นอกเหนือจากระบบ ทางเดินอาหาร
- การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุรา
- ห้ามปรับขนาดรับประทานโดยไม่ได้ขอคำแนะนำจากแพทย์
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยโรคตับ และผู้ป่วยโรคไต
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟิแดโซมัยซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ฟิแดโซมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟิแดโซมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟิแดโซมัยซินร่วมกับยา Sodium picosulfate ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยา Sodium picosulfate ลดต่ำลง
- การใช้ยาฟิแดโซมัยซินร่วมกับยาMizolastine จะทำให้ระดับความเข้มข้นของยา Mizolastine เพิ่มมากขึ้นในเลือดจนเป็นเหตุให้เกิดอาการข้างเคียงสูงขึ้นจากยาMizolastineตามมา กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาฟิแดโซมัยซินให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟิแดโซมัยซินร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด อย่างเช่นยา Estriol เพราะ จะทำให้ฤทธิ์การคุมกำเนิดด้อยประสิทธิภาพลง
ควรเก็บรักษาฟิแดโซมัยซินอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาฟิแดโซมัยซิน ดังนี้ เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
ห้ามทิ้งยาลงคูคลองสาธารณะหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
ฟิแดโซมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟิแดโซมัยซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Dificid (ดิฟิซิด) | Optimer Pharmaceuticals, Inc. |
Dificlir (ดิฟิเคลียร์) | Astellas Pharma Europe B.V. |
บรรณานุกรม
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/201699s000lbl.pdf [2018,Aug25]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/fidaxomicin/?type=brief&mtype=generic [2018,Aug25]
- http://www.ema.europa.eu/docs/en_GB/document_library/EPAR_-_Product_Information/human/002087/WC500119705.pdf [2018,Aug25]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Fidaxomicin [2018,Aug25]
- https://www.drugs.com/mtm/fidaxomicin.html [2018,Aug25]
- https://www.drugs.com/ppa/fidaxomicin.html [2018,Aug25]