ฟาโมทิดีน (Famotidine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง
  • ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
  • ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
  • แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
  • กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)
  • โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
  • โรคตับ (Liver disease)
  • โรคไต (Kidney disease)
  • กลุ่มยาแก้ปวดและยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
  • ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหาร (Gastric acid suppression medications)
  • โซลลิงเจอร์เอลลิสัน (Zollinger Ellison syndrome)
  • บทนำ: คือยาอะไร?

    ยาฟาโมทิดีน (Famotidine)คือ ยาลดการหลั่งกรด/ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหาร นำมาใช้ในผู้ป่วยทีมีแผลในกระเพาะอาหาร หรือ ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน โดยยับยั้งการทำงานของตัวรับฮีสตามีนชนิดที่ 2 (Histamine-2 blockers) ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร

    ยาฟาโมทีดีนได้รับการวิจัยมาตั้งแต่ราวพุทธศักราชที่ 2520 และเริ่มออกสู่ตลาดในปี พ.ศ. 2524 ปัจจุบันฟาโมทีดีนจัดอยู่ในประเภท “ยาอันตราย” ซึ่งต้องจำหน่ายโดยเภสัชกรหรือ แพทย์สั่งจ่ายยาเท่านั้น ก่อนการใช้ยานี้จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง

    ยาฟาโมทิดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

    ยาฟาโมทีดีน

    ยาฟาโมทีดีนมีข้อบ่งใช้/สรรพคุณรักษา:

    • โรคแผลในกระเพาะอาหารหรือในลำไส้เล็ก (โรคแผลเปบติค)
    • บรรเทาอาการโรคกรดไหลย้อน (GERD)
    • บรรเทาอาการโรคที่ร่างกายหลั่งกรดมากเกินไป อาทิเช่น กลุ่มอาการโซลลิงเจอร์เอลลิสัน (Zollinger-Ellison Syndrome)
    • นอกจากนี้ศัลยแพทย์
      • อาจพิจาณาให้ยาฟาโมทิดีนก่อนการผ่าตัดเพื่อลดอาการพะอืดพะอมหลังการผ่าตัด
      • หรืออาจมีการพิจารณาใช้ยาตัวนี้กับกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์/ เอ็นเสด (Non-steroidal Anti-inflammatory Drugs: NSAIDs) เพื่อลดอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรือลดความเสี่ยงการเกิดแผลในกระเพาะอาหารจากยากลุ่มเอ็นเสดนั้นๆ

    ยาฟาโมทิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

    ยาฟาโมทีดีนออกฤทธิ์โดยยับยั้งตัวรับ (Receptor)ฮีสตามีนชนิดที่ 2 (Histamine-2 Receptors) แบบแข่งขันตัวรับฮีสตามีนชนิดที่ 2 ที่มีส่วนในการกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร เมื่อมีการยับยั้งตัวรับนี้จึงทำให้การหลั่งกรดในกระเพาะอาหารลดลง นำไปสู่การลดความระคายเคืองในกระเพาะอาหาร

    ยาฟาโมทิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

    ูปแบบการจัดจำหน่ายของยาฟาโมทิดีน:

    • ยาเม็ดเคลือบขนาดความแรง 20 มิลลิกรัมและ 40 มิลลิกรัม

    ยาฟาโมทิดีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

    ยาฟาโมทิดีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยา เช่น

    • ยาฟาโมทีดีน อาจรับประทานพร้อมหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้ โดยปกติมีขนาดใช้อยู่ที่วันละ 1 - 2 เม็ดหรือตามแพทย์สั่ง ควรรับประทานยานี้อย่างเคร่งครัดตามแพทย์สั่งเพื่อประโยชน์สูง สุดจากยา
    • หากการรับประทานยานี้เพื่อป้องกันอาการแสบร้อนกลางอก ควรรับประทานก่อนอาหาร 15 - 30 นาที
    • หากแพทย์สั่งให้รับประทานวันละ1ครั้งโดยส่วนมากคือให้รับประทานก่อนนอน ควรสอบทานกับเภสัชกรทุกครั้งก่อนการรับยาว่าควรรับประทานเวลาไหนของวันเพื่อการใช้ยาที่ถูกต้อง
    • หากต้องรับประทานยาลดกรดร่วมด้วยให้ทานยานี้ก่อนยาลดกรดอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

    *****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

    เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

    เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาฟาโมทิดีน ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

    • แจ้งประวัติการแพ้ยาทุกชนิดที่ทานแล้วมีอาการ ขึ้นผื่นคัน, ริมฝีปากหรือเปลือกตา/หนังตาบวม, แน่นหน้าอก/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย, โดยเฉพาะยาในกลุ่มเดียวกับยาฟาโมทิดีน เช่น ยารานิทีดีน (Ranitidine), ยาไซเมทิดีน (Cimetidine)
    • แจ้งประวัติโรคประจำตัว หรือยาที่กิน/ที่ใช้อยู่ รวมถึงยาวิตามิน, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ซื้อทานเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีประวัติ โรคไต โรคตับ โรคมะเร็ง โรคกระเพาะอาหาร , โรคแผลเลือดออกในกระเพาะอาหาร (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร), มีปัญหาเกี่ยวกับการกลืน, หรือมีประวัติโรคหัวใจ
    • หากตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกชนิดเสมอรวมถึงยาฟาโมทิดีน เพราะยาอาจส่งผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ หรือปนออกมาในน้ำนมส่งผลต่อทารกที่ดื่มนมแม่ได้

    หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

    หากลืมรับประทานยาฟาโมทิดีน ให้รับประทานทันที่นึกขึ้นได้ หากใกล้มื้อถัดไปให้ข้ามยามื้อที่ลืมไป โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

    ยาฟาโมทิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

    ยาฟาโมทิดีนอาจก่อผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

    • วิงเวียน
    • ปวดหัว
    • ท้องผูกหรือท้องเสีย
    • หากรับประทานแล้วเกิดอาการวิงเวียนอย่างรุนแรง หรือปวดกล้ามเนื้อ หรืออ่อนเพลียอย่างมาก ให้หยุดยาทันที และรีบด่วนปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาล

    อนึ่ง เมื่อรับประทานยาฟาโมทิดีนแล้วพบว่ามีอาการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน แน่นอก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม ริมฝีปากบวม เปลือกตา/หนังตาบวม ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดหรือนำส่งแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที/ฉุกเฉิน

    มีข้อควรระวังการใช้ยาฟาโมทิดีนอย่างไร?

    ข้อควรระวังในการใช้ยาฟาโมทิดีน เช่น

    • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาหรือส่วนประกอบของยานี้
    • หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยานี้
    • ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับ โรคระบบทางเดินอาหารทุกชนิด, โรคตับ, โรคไต ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยานี้
    • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
    • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
    • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

    ***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาฟาโมทิดีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด ) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

    ยาฟาโมทิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

    ยาฟาโมทิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น จากการที่ยาฟาโมทิดีนออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร จึงทำให้สภาวะกรด - ด่างในกระเพาะอาหารเปลี่ยนแปลงไป อาจส่งผลต่อการดูดซึมของยาบางชนิด โดยยาบางชนิดอาจมีการดูดซึมลดลงทำให้ประสิทธิภาพทางการรักษาลดลง หรือบางชนิดอาจถูกดูดซึมมากขึ้นจนอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาหรือพิษจากยา ดังนั้นหากใช้ยาดังต่อไปนี้ร่วมกับยาฟาโมทิดีน ควรแจ้งให้แพทย์และ/หรือเภสัชกรของท่านทราบ เพื่อประโยชน์ในการประเมินประสิทธิผลทางการรักษาหรือเฝ้าระวังอา การข้างเคียงจากยา

    ก. หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟาโมทิดีนกับยาเหล่านี้ เพราะยาฟาโมทิดีนอาจทำให้ระดับยาเหล่านี้ในเลือดเพิ่มขึ้น ยาเหล่านี้เช่น

    • ยาดาซาทินิป (Dasatinib) และยาโพนาทินิป (Ponatinib) ที่รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
    • ยาดีลาวิดีน (Delavidine) และยาซาควินาเวียร์ (Saquinavir) ที่รักษาโรคเอดส์
    • ยา ไรซีโดรเนต (Risedronate) ยารักษาโรคกระดูกพรุน
    • ยาเดกส์เมทิลฟีนิเดท (Dexmethylphenidate) และยาเมทิลเฟนิเดต (Methylpheni date) ที่เป็นยารักษาโรคสมาธิสั้น และ
    • ยาวาเรนิคลิน (Varenicline) ที่รักษาผู้ป่วยติดนิโคติน

    ข. หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟาโมทิดีนกับยาเหล่านี้ เพราะยาฟาโมทิดีนอาจทำให้ระดับยาเหล่านี้ในเลือดลดลง เช่น

    • ยาต้านเอชไอวี เช่น ยาอะทาซานาเวียร์ (Atazanavir), ยาโฟแซมพรีนาเวียร์(Fosamprenavir), ยาอินดีนาเวียร์ (Indinavir), ยาเนลฟินาเวียร์ (Nelfinavir), ยาริลพิวิรีน (Rilpivirine)
    • กลุ่มยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น ยาเซฟดิโทเรน (Cefditoren), ยาเซฟูรอกซีม (Cefuro xime)
    • กลุ่มยารักษาโรคมะเร็งเช่น ยาโบซูทินิป (Bosutinib), ยาดาบราฟินิป (Dabrafenib), ยาเออร์โลทินิป (Erlotinib), ยาจีฟิทินิป (Gefitinib), ยานิโลทินิป (Nilotinib), ยาโพนาทินิป (Ponatinib), ยาวิสโทเดจิป (Vismodegib)
    • กลุ่มยาต้านเชื้อราเช่น ยาอิทราโคนาโซล (Itraconazole), ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole), ยาโพซาโคนาโซล (Posaconazole)
    • กลุ่มยาออกฤทธิ์ลดการอักเสบเช่น ยามีซาลามีน (Mesalamine)

    ควรเก็บรักษายาฟาโมทิดีนอย่างไร?

    ควรเก็บยาฟาโมทิดีน:

    • เก็บยาในภาชนะบรรจุดั้งเดิม
    • ปิดฝาภาชนะเก็บยาให้สนิท
    • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง ในที่แห้ง หลีกเลียงบริเวณที่ถูกแสงแดดโดยตรง
    • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
    • ไม่เก็บยาในห้องน้ำและในรถยนต์

    ยาฟาโมทิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

    ยาฟาโมทิดีน มียาชื่อการค้าอื่นๆ และบริษัทผู้ผลิต เช่น

    ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
    Famosia (ฟาโมเซีย) Asian Pharm
    Famotidine March Pharma (ฟาโมทิดีน มาร์ช ฟาร์มา) March Pharma
    Pharmotidine (ฟาร์โมทิดีน) Community Pharm PCL
    Famotab (ฟาโมแทป) Bangkok Lab & Cosmeti
    Pepfamin (เปปฟามิน) Siam Bheasach (L.P.)
    Vesmotidine (เวสโมทิดีน) Vesco Pharma
    Agufam (อะกูแฟม) ST Pharma
    Famoc (ฟาม็อก) Berlin Pharm
    Famonox (ฟาโมน็อก) Charoen Bhaesaj Lab
    Famopsip (ฟามอปซิป) Remedica
    Pepcine (เปปซีน) Masa Lab
    Peptoci (เปปโทซี) Central Poly Trading
    Ulfamet (อัลฟาเมต) T.O. chemicals
    Fad (แฟด) T.Man Pharma
    Famocid (ฟาโทซิด) Sum Pharma
    Famopac (ฟาโมแพก) Inpac Pharma
    Fasidine (ฟาซิดีน) Siam Medicare
    Pepdenal (เปปดีนาล) MacroPhar
    Ulceran (อัลเซอแรน) Medochemie

    บรรณานุกรม

    1. Amanda H. Corbett, Susan Cornell, Marilyn Cortell, et al. Drug Information Handbook with International Trade Names, Famotidine. 23; 2014:845-846.
    2. Nick Buckley, et al. Drugs for dyspepsia, reflux and peptic ulcers. Australian Medicines Handbook 2014. 2014: 485-489.
    3. Famotidine: mims Thailand
    4. https://www.drugs.com/famotidine.html [2021,May29]
    5. https://www.medicinenet.com/famotidine/article.htm [2021,May29]
    6. https://ir.horizontherapeutics.com/news-releases/news-release-details/horizon-pharma-announces-fda-approval-duexisribuprofenfamotidine [2021,May29]