ฟันผุซี่เดียวก่อปัญหาได้ทั่วตัว (ตอนที่ 5 และตอนจบ)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 20 มิถุนายน 2562
- Tweet
ผศ.ทพญ.ดร.จรัญญา อธิบายอีกว่า ไม่ปวดไม่ใช่ว่าไม่ผุ เพราะชั้นนอกสุดของฟันจะแข็ง ถ้าฟันผุช่วงแรกๆ จะไม่รู้สึกเลย เพราะไม่มีเส้นประสาทส่งมาถึง แต่ชั้นนี้ถ้าอาการผุอยู่ในระยะที่ไม่มากแล้วเราดูแลดี มันจะหยุดนิ่ง ไม่ลุกลามไปชั้นที่ 2 ที่เป็นชั้นเนื้อฟัน เพราะหากผุถึงชั้นนี้จะมีโอกาสจะเสียวฟัน เนื่องจากเนื้อฟันแข็งแรงน้อยกว่า และมีแร่ธาตุน้อยกว่าชั้นแรก เมื่อถึงชั้นนี้จะผุเร็วขึ้น ไปถึงโพรงประสาทฟันได้ไวขึ้น
มาถึงชั้นสุดท้ายโพรงประสาทฟันแทบจะไม่มีแร่ธาตุ มีแต่เส้นเลือดกับเส้นประสาท เมื่อผุแล้วจะปวดและมีการอักเสบได้ เพราะถูกทำลายระบบทั้งเลือดทั้งอะไรต่างๆ กลายเป็นว่าเป็นที่ปลายรากบวมขึ้นมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอาการเจ็บหรือไม่เจ็บ ไม่สัมพันธ์กับความรุนแรง เพียงแต่ว่าถ้าเจ็บคือเป็นมากแน่ แต่ไม่เจ็บก็ไม่ได้แปลว่าไม่เป็น อันนี้ทำให้คนพลาดท่าเสียทีจนกลายเป็นว่าฟันผุมากแล้ว
ส่วนสัญญาณเตือนว่าเป็นโรคฟันผุ ผศ.ทพญ.ดร.จรัญญา อธิบายว่า ปกติสีฟันจะออกเป็นสีนวลๆ แต่ถ้าฟันผุแร่ธาตุจะออกมากกว่าปกติ ทำให้เห็นฟันเป็นลักษณะขุ่นขาว ถ้าเราคุมอาการ แปรงฟันให้สะอาด ฟันจะแข็งขึ้น แต่สีขาวจะไม่เปลี่ยน และให้สังเกตว่าผิวฟันมีรูหรือไม่ โดยการเอาลิ้นดุน ถ้าสะดุดแสดงว่ามีอาการฟันผุแล้ว
และถ้ามีอาการเสียวฟันร่วมด้วย แสดงว่าผุไปอย่างน้อยชั้นที่ 2 ส่วนอันถัดไปถ้าปวดฟันรุนแรง ต้องไปให้ทันตแพทย์ตรวจ แต่บางทีผุแต่ไม่เสียว ไม่ปวด แม้กระทั่งเวลาทันตแพทย์ตรวจบางครั้งก็ยังมองไม่เห็นเลย ต้องมีการเอกซเรย์ดู
ทั้งนี้ ผศ.ทพญ.ดร.จรัญญา ยังแนะอีกว่า ให้หมั่นสังเกตแผ่นคราบจุลินทรีย์ ซึ่งมีวิธีง่ายๆ ทั้งการดูด้วยตาเปล่า การเอาลิ้นดุนดูว่าฟันว่าลื่นหรือไม่ รวมไปถึงการใช้เล็บที่สะอาดเขี่ยเบาๆ ที่โคนฟันและซอกฟัน และอีกเทคนิคสำหรับเด็กเล็กคือ ใช้หลอดดูดน้ำสีเข้ม ตัดปลายแฉลบให้ทำให้มีความโค้งมน ลากจากโคนฟันขึ้นมา ถ้าติดขี้ฟันขึ้นมาก็จะเห็นอย่างชัดเจน
และสุดท้าย ผศ.ทพญ.ดร.จรัญญา ยังได้ฝากเคล็ดลับวิธีป้องกันฟันผุที่ทุกคนสามารถทำเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งทันตแพทย์ ก็คือการแปรงฟันให้สะอาดหมดจดทุกซี่ เพราะหากมีสุขภาพฟันที่ดีแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดโรคร้ายต่างๆ ตามมาได้
โดยเราต้องเชื่อว่าเรื่องนี้ทำได้ง่าย เป็นแค่เรื่องการทำความสะอาดและใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ตั้งแต่ฟันซี่แรก ต้องใช้ความเข้มข้น หนึ่งพันส่วนต่อล้านส่วน แปรงให้นานอย่างน้อย 2 นาที ทุกซี่ทุกด้าน แปรงตามลำดับ บ้วนน้ำน้อยๆ หรือไม่บ้วนเลย บ้วนแค่ฟองทิ้ง ก็จะได้ฟลูออไรด์ที่เต็มที่
นอกจากนี้ การลดน้ำตาล ถ้าให้ดี ต้องลดตั้งแต่เด็กๆ พยายามไม่เติมน้ำตาล หรือหลีกเลี่ยงอาหารหวาน ต้องมีวินัยในการกิน ทั้งในบ้านและข้างนอก พยายามกินให้อยู่ในมื้อ และถ้าจะกินอาหารว่าง ควรกินเป็นผลไม้ หรือจะของที่มีประโยชน์ เช่น ปลาหรือโปรตีน จะดีกว่า
ควรหัดตรวจฟันและตรวจแผ่นคราบจุลินทรีย์ด้วยตัวเองบ่อยๆ การใช้ไหมขัดฟัน ก็จะช่วยโรคเหงือกได้ด้วย และอีกอย่างหนึ่งคือ ไปพบทันตแพทย์บ้าง แรกๆ ไปปีละ 2 ครั้ง แต่ถ้าเราพอจะเริ่มดูแลตัวเองได้ ทันตแพทย์จะบอกเองให้เป็นปีละครั้ง หรือ 2 ปีครั้ง
แหล่งข้อมูล:
- ฟันผุไม่ใช่เรื่องเล่นๆ! “ติดเชื้อ – หนองลาม – ตาเกือบบอด”!! https://mgronline.com/live/detail/9610000117587[2019, Jun 19].