ฟอสโฟมัยซิน (Fosfomycin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฟอสโฟมัยซิน(Fosfomycin หรือ Phosphomycin หรือ Fosfomycin sodium หรือ Fosfomycin trometamol หรือ Fosfomycin tromethamine) หรืออีกชื่อว่า ฟอสโฟโนมัยซิน (Phosphonomycin) เป็นยาปฏิชีวนะที่สามารถออกฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด (Broad-spectrum antibiotic) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแบคทีเรียชนิด Streptomyces ยาฟอสโฟมัยซินเป็นยาที่ผลิตโดยกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมี มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทานและยาฉีดที่มีประสิทธิภาพสูง กล่าวคือ ทางคลินิกใช้ยาฟอสโฟมัยซินรักษาการติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ โดยให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้ในขนาดเข้มข้นเพียงครั้งเดียวก็สามารถรักษาอาการป่วยให้หายขาด หรือนำยานี้มารักษาอาการติดเชื้อที่ปอดด้วยโรค Cystic fibrosis(โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อย ยังไม่พบในคนไทย โดยจะมีการทำลายเยื่เมือกปกติอย่างรุนแรงของหลายอวัยวะ เช่น ปอด และระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้สารคัดหลั่งจากอวัยวะต่างๆเหล่านั้นเหนียวข้นมาก จนทำให้อวัยวะเหล่านั้นทำงานได้น้อยลงและติดเชื้อต่างๆได้สูง) โดยต้องใช้ร่วมกับยา Tobramycin ซึ่งก็ได้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ

ยาฟอสโฟมัยซินถูกค้นพบและตีพิมพ์ในเอกสารทางวิชาการตั้งแต่ปี ค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) อีก 2 ปีถัดมา จึงถูกผลิตออกมาจำหน่ายในรูปแบบยาแผนปัจจุบัน ที่สำคัญ ก่อนใช้ฟอสโฟมัยซิน ผู้ป่วยต้องรับการตรวจร่างกายจากแพทย์เพื่อประเมินความเหมาะสมในการรักษา ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อหายาฟอสโฟมัยซินมารับประทานเอง

ในด้านเภสัชจลนศาสตร์ พบว่าหลังการรับประทานยาฟอสโฟมัยซิน จะมีตัวยาเพียง 30–40% ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด หลังจากนั้นยาฟอสโฟมัยซินจะกระจายผ่านไปตามของเหลวในร่างกาย และสามารถซึมผ่านเข้าน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลัง (CSF) ผ่านเข้าน้ำดี ตลอดจนซึมเข้าน้ำนมของมารดา และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดยาฟอสโฟมัยซินทิ้งไปกับปัสสาวะและมีบางส่วนไปกับอุจจาระ

ผู้ที่ได้รับยาฟอสโฟมัยซิน อาจมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่สามารถพบเห็นได้ เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน เกิดผื่นคัน ท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ และเบื่ออาหาร เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไป อาการข้างเคียงดังกล่าวจะหายได้เองเมื่อหยุดใช้ยานี้

นอกจากนี้การใช้ยาฟอสโฟมัยซินกับผู้ป่วยโรคไต แพทย์อาจต้องปรับขนาดการใช้ยานี้ลดลง

ยาฟอสโฟมัยซิน โซเดียม(Fosfomycin sodium) ได้รับการบรรจุลงในบัญชี ยาหลักแห่งชาติของไทย โดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุเงื่อนไขการใช้ยานี้ดังนี้ “สำหรับการติดเชื้อดื้อยาชนิด Methicillin Resistant S. aureus (MRSA) ที่มีอาการรุนแรงน้อยถึงปานกลาง โดยใช้ร่วมกับยาอื่นเพื่อป้องกันการดื้อยา”

ยาฟอสโฟมัยซิน จัดอยู่ในประเภทยาอันตราย ซึ่งการใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น โดยเราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้ได้ตามร้านขายยาขนาดกลาง–ขนาดใหญ่ และมีการใช้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐบาล-เอกชนโดยทั่วไป

ฟอสโฟมัยซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ฟอสโฟมัยซิน

ยาฟอสโฟมัยซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียใน ระบบทางเดินปัสสาวะ(โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ) การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน(โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน) การติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติด้ชื้อ) การติดเชื้อในกระดูก(กระดูกอักเสบ) การติดเชื้อที่ต่อมน้ำเหลือง(ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ) การติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ(กระเพาะปัสสาวะอักเสบ)
  • ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในผู้ป่วยที่ต้องรับการผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยวิธีส่องกล้อง(Transurethral prostatectomy)

ฟอสโฟมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาฟอสโฟมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ในแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยานี้ ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถกระจายพันธุ์ และตายลงในที่สุด

ฟอสโฟมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟอสโฟมัยซิน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยารับประทานชนิดผง ที่ประกอบด้วยตัวยา Fosfomycin trometamol ขนาด 3 กรัม/ซอง
  • ยาฉีดที่ประกอบด้วยตัวยา Fosfomycin sodium ขนาด 1 และ 2 กรัม/ขวด(Vial)

ฟอสโฟมัยซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาฟอสโฟมัยซินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก.สำหรับป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียก่อนเข้ารับการผ่าตัดต่อมลูกหมาก:

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 3 กรัม ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง ก่อนรับการผ่าตัดต่อมลูกหมาก และหลังการผ่าตัดให้ผู้ป่วยรับประทานยาขนาด 3 กรัม อีก 1 ครั้ง

ข.สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียที่ไม่มีความรุนแรง:

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 3 กรัม ก่อนอาหารเพียงครั้งเดียว

ค.สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีความรุนแรง:

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: ใช้ยาฟอสโฟมัยซินชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ แพทย์อาจใช้ยาได้ถึง 20 กรัม/วัน

อนึ่ง:

  • ไม่ควรใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมาซึ่งรวมถึงในเด็กด้วย
  • ยาฟอสโฟมัยซินชนิดรับประทานมีลักษณะเป็นผงแห้ง ต้องนำยามากระจายตัว ในน้ำอย่างเพียงพอก่อนรับประทาน ห้ามรับประทานยาในรูปผงแห้ง
  • ห้ามซื้อยานี้มารับประทานเองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฟอสโฟมัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจติดขัด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคระบบโลหิต/ระบบเลือด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟอสโฟมัยซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาฟอสโฟมัยซิน สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้โดยต้องรับประทานขณะท้องว่าง โดยการรับประทานยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

ฟอสโฟมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟอสโฟมัยซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้ ปวดท้อง เบื่ออาหาร อาจมีการขย้อนอาหาร/อาเจียนเกิดขึ้น ปากแห้ง ท้องอืด
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปวดศีรษะไมเกรน ง่วงนอน หูอื้อ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เยื่อจมูกอักเสบ คออักเสบ หายใจขัด/หายใจลำบาก อาจมีภาวะหอบหืด
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร ภาวะเกลือโซเดียมในเลือดสูง เกลือโปแตสเซียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ลดลง ฮีโมโกลบินต่ำลง เกิดภาวะเลือดจาง
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น มีไขมันสะสมในตับมากขึ้น(ไขมันพอกตับ) ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง ตับอักเสบ ตัวเหลืองตาเหลือง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย รู้สึกสับสน
  • ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน
  • อื่นๆ: เช่นในสตรี อาจเกิด ช่องคลอดอักเสบ ประจำเดือนผิดปกติ

มีข้อควรระวังการใช้ฟอสโฟมัยซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟอสโฟมัยซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้าเคียงจากยานี้สูงขึ้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง และใช้ยานี้ตามขนาดรับประทานที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ยาเปลี่ยนสี ยาตกตะกอนขุ่น(กรณียาน้ำ)
  • ห้ามใช้ยานี้ต่อเนื่องนานหรือบ่อยครั้ง เพื่อป้องกันภาวะติดเชื้อโรคที่ไม่ตอบสนองต่อยาฟอสโฟมัยซิน(เชื้อดื้อยา)
  • กรณีใช้ยานี้รักษาการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ แพทย์อาจต้อง ตรวจปัสสาวะผู้ป่วยเป็นระยะๆตามดุลพินิจของแพทย์ เพื่อหาผลของเชื้อโรคว่าถูกทำลายหรือยัง ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟอสโฟมัยซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ฟอสโฟมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟอสโฟมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟอสโฟมัยซินร่วมกับกลุ่มยาต่อไปนี้ อาทิเช่น Phentermine, กลุ่มยา Sympathomimetics (เช่นยา Albuterol), Amphetamine, และ Pseudoephedrine, ด้วยจะเสี่ยงต่อการได้รับอาการข้างเคียงจากยาเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น
  • ห้ามใช้ยาฟอสโฟมัยซินร่วมกับยา Metoclopramide ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาฟอสโฟมัยซินด้อยลง
  • ห้ามใช้ยาฟอสโฟมัยซินร่วมกับยา Lithium หรือกลุ่มยา Tetracyclines ด้วยตัวยาฟอสโฟมัยซินจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของกลุ่มยาดังกล่าวลดน้อยลง
  • ห้ามใช้ยาฟอสโฟมัยซินร่วมกับวัคซีนอหิวาตกโรค ด้วยยาฟอสโฟมัยซิน จะไปลดฤทธิ์การกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของวัคซีนนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลดังกล่าวผู้ป่วยควรรับวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคหลังจากใช้ยาฟอสโฟมัยซินไปแล้ว 14 วันเป็นอย่างต่ำ

ควรเก็บรักษาฟอสโฟมัยซินอย่างไร?

ควรเก็บรักษาฟอสโฟมัยซินดังนี้ เช่น

  • ยาฟอสโฟมัยซินชนิดผงสำหรับรับประทาน สามารถเก็บภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ยาฟอสโฟมัยซินชนิดฉีด ต้องจัดเก็บในช่วงอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส
  • ยาฟอสโฟมัยซินทุกรูปแบบ ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ฟอสโฟมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟอสโฟมัยซินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Fosfomin (ฟอสโฟมิน)Siam Bheasach
Fosmicin (ฟอสไมซิน)Meiji
Monurol (โมนูรอล)Zambon

อนึ่ง ชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Fosforal

บรรณานุกรม

  1. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/050717s007lbl.pdf[2017,May27]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Fosfomycin[2017,May27]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/monurol/?type=brief[2017,May27]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/fosfomin/?type=brief[2017,May27]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/fosfomycin/?type=brief&mtype=generic[2017,May27]
  6. https://www.drugs.com/dosage/fosfomycin.html[2017,May27]
  7. https://www.drugs.com/dosage/fosfomycin.html#Usual_Adult_Dose_for_Transurethral_Prostatectomy[2017,May27]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/cholera-vaccine-live-with-monurol-3772-0-1139-670.html[2017,May27]
  9. https://www.drugs.com/dosage/monurol.html[2017,May27]
  10. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/90#item-8621[2017,May27]