ฟอร์โมเทอรอล (Formoterol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาฟอร์โมเทอรอล (Formoterol) หรืออีกชื่อคือ Eformoterol คือ ยาในกลุ่ม เบต้า 2 อะโกนิสต์ประเภทที่ออกฤทธิ์ได้นาน (Long-acting Beta2 agonist) ค่าเฉลี่ยของเวลาออกฤทธิ์อยู่ที่ 12 ชั่วโมง ทางคลินิกได้นำยานี้ไปใช้รักษาโรคหืด (Asthma), และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/ โรคซีโอพีดี (Chronic obstructive pulmonary disease ย่อว่า COPD) มักใช้เป็นยาควบคุมอาการหอบหืดเรื้อรัง และไม่แนะนำการใช้ยานี้เมื่อป่วยด้วยอาการหอบหืดแบบเฉียบพลัน

รูปแบบยาฟอร์โมเทอรอลที่เป็นยาแผนปัจจุบันจะเป็นยาชนิดรับประทาน และ ยาพ่น บางสูตรตำรับจะผสมยาสเตียรอยด์ เช่นยา Budesonide ร่วมด้วยทั้งนี้เพื่อเพิ่มฤทธิ์ของการรักษาให้ดียิ่งขึ้น

หลังจากร่างกายดูดซึมยาฟอร์โมเทอรอลเข้าสู่กระแสเลือด ปริมาณยา 61 - 64% จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีน และตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยาฟอร์โมเทอรอลอย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดยาประมาณ 50% ออกจากกระแสเลือด และผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

เราสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลทั่วไป อีกทั้งมีจำหน่ายตามร้านขายยาขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามก่อนการใช้ยานี้ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจคัดกรองและมีคำยืนยันการใช้จากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ฟอร์โมเทอรอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ฟอร์โมเทอรอล

ยาฟอร์โมเทอรอลมีสรรพคุณรักษาโรค/ขอบ่งใช้: เช่น

  • รักษาโรค/ภาวะหลอดลมหดเกร็งตัว
  • ป้องกันการอุดตันของระบบทางเดินหายใจจากการหดเกร็งตัวของหลอดลม

ฟอร์โมเทอรอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟอร์โมเทอรอล คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่กล้ามเนื้อเรียบโดยเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า Beta 2-receptors ในผนังของหลอดลม ทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบ จึงส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น

ฟอร์โมเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟอร์โมเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น

  • ยาพ่นชนิดผงบรรจุในแคปซูล (ใช้ละลายในสารละลายก่อนพ่น) ขนาดความแรง 12 ไม โครกรัม/แคปซูล
  • ยาพ่นชนิดสารละลาย ขนาดบรรจุ 2 มิลลิกรัม/ขวด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 40 ไมโครกรัม/เม็ด

ฟอร์โมเทอรอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดยาฟอร์โมเทอรอลเฉพาะชนิดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 80 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ที่อายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป: รับประทาน 4 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานเป็น 2 - 3 ครั้ง/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน: ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนในการใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟอร์โมเทอรอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟอร์โมเทอรอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทาน/ใช้ยาฟอร์โมเทอรอล สามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทาน/การใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ฟอร์โมเทอรอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟอร์โมเทอรอลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น

  • มีอาการตัวสั่น
  • ปวดหัว
  • อ่อนเพลีย
  • วิงเวียน
  • ปากคอแห้ง
  • ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • กล้ามเนื้อเป็นตะคริว แ
  • คลื่นไส้

*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะพบอาการ เจ็บหน้าอก ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว ในผู้ป่วยบางรายอาจทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นเป็น 200 ครั้ง/นาที มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ หงุดหงิด ปวดหัว อาจเกิดอาการชัก กล้ามเนื้อเป็นตะคริว เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง นอนไม่หลับ ซึ่งหากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบด่วนนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ซึ่งการดูแลรักษาของแพทย์จะเป็นไปตามอาการของผู้ป่วย และแพทย์จะคอยควบคุมการทำงานของหัวใจผู้ป่วยให้กลับมาเป็นปกติ

มีข้อควรระวังการใช้ฟอร์โมเทอรอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟอร์โมเทอรอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยาที่สภาพบรรจุภัณฑ์ ชำรุด แตกหัก
  • ห้ามใช้ยานี้ขณะที่ผู้ป่วยเกิดอาการโรคหืดแบบทันทีทันใด/เฉียบพลัน
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เป็น โรคหลอดเลือดหัวใจ (โรคหัวใจ) เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยาพ่นกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติป่วยเป็น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ผู้ป่วยโรคลมชัก และผู้ป่วยโรคไทรอยด์
  • ผู้ป่วยต้องเข้าใจลักษณะการใช้ยารูปแบบพ่นให้ถูกต้องจาก แพทย์ พยาบาล และ/หรือ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และต้องอ่านดูรายละเอียด ลักษณะการใช้ยา จากเอกสารกำกับยา (ฉลากยา)ที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์ให้เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจวิธีใช้ยาต้องสอบถามเพิ่มเติมจากผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวให้เข้าใจก่อนใช้ยา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟอร์โมเทอรอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ฟอร์โมเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟอร์โมเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาฟอร์โมเทอรอล ร่วมกับ ยาที่เป็นอนุพันธุ์ของสารประเภทแซนทีน (Xanthine derivatives, กลุ่มยาขยายหลอดลม), สารสเตียรอยด์, หรือยาขับปัสสาวะ อาจทำให้เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาฟอร์โมเทอรอล ร่วมกับ ยาโรคหัวใจ เช่นยา Digitalis จะทำให้เพิ่มภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆ ไป
  • การใช้ยาฟอร์โมเทอรอล ร่วมกับ ยาบางตัวจะทำให้ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจีผิดปกติและเพิ่มความเสี่ยงของหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าวเช่นยา Quinidine, Disopyramide (ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ), Procainamide, Phenothiazines, MAOI, TCAs และกลุ่มยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine)

ควรเก็บรักษาฟอร์โมเทอรอลอย่างไร?

ควรเก็บยาฟอร์โมเทอรอล:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บในช่องแข็งตู้เย็น
  • เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ฟอร์โมเทอรอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟอร์โมเทอรอล มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Foradil (ฟอราดิล) Novartis
Perforomist (เพอร์ฟอโรมิสท์) Dey
Atock (เอทอกค์) Astellas
Atimos (อาติมอส) Chiesi
Symbicort (ซิมบิคอร์ท) Astra Zeneca
Formoterol (ฟอร์โมเทอรอล) SHOU CHAN INDUSTRIAL CO.LTD.

บรรณานุกรม

  1. https://www.mims.com/thailand/drug/info/formoterol?mtype=generic [2021,May22]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Formoterol [2021,May22]
  3. https://www.drugs.com/cdi/formoterol-inhaler.html [2021,May22]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/formoterol-index.html?filter=3&generic_only= [2021,May22]
  5. https://www.netdoctor.co.uk/medicines/allergy-asthma/a7296/oxis-turbohaler-formoterol/ [2021,May22]
  6. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/21000 [2021,May22]
  7. https://www.rxlist.com/symbicort-drug.htm [2021,May22]